ThaiPublica > เกาะกระแส > กระทรวงพลังงานประกาศ 5 บริษัทปิโตรเลียม ผ่านคุณสมบัติ – เข้ารอบชิง “สัมปทานแหล่งเอราวัณ – บงกช”

กระทรวงพลังงานประกาศ 5 บริษัทปิโตรเลียม ผ่านคุณสมบัติ – เข้ารอบชิง “สัมปทานแหล่งเอราวัณ – บงกช”

28 พฤษภาคม 2018


เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน (ซ้าย) และนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ร่วมแถลงผลการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น ผู้ประมูลสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แถลงผลการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น เพื่อเข้าร่วมการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 ตาม TOR การเปิดประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract: PSC) ในฐานะผู้ดำเนินงาน ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี

นายธรรมยศ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ผู้ประกอบการได้ส่งหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้นตามหลักเกณฑ์ที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำหนด เพื่อเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลง G1/61 และ G2/61 (แหล่งเอราวัณและบงกช) เมื่อวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2561 ขณะนี้ได้มีการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น และมีสิทธิเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แหล่งเอราวัณ (แปลง G1/61) มีจำนวน 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd., บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited, บริษัท MP G2 (Thailand) Limited, บริษัท Total E&P Thailand และบริษัท OMV Aktiengesellschaft

ส่วนแหล่งบงกช (แปลง G2/61) มีจำนวน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd., บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited, บริษัท MP L21 (Thailand) Limited และบริษัท OMV Aktiengesellschaft

ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติดังกล่าว มีคุณสมบัติครบถ้วนใน 2 หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ

    1. มีกิจการที่มีส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholder’s Equity) อย่างน้อย 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 2559 หรือ 2560 สำหรับผู้ที่จะร่วมประมูลในแปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และมีกิจการที่มีส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholder’s Equity) อย่างน้อย 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2559 หรือ 2560 สำหรับผู้ที่จะร่วมประมูลในแปลง G2/61

    2. เป็นผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินงานการผลิตปิโตรเลียมในทะเล (Offshore Gas Field Operate) อย่างน้อย 1 แหล่ง ที่มีอัตราการขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในระหว่างปี 2559 หรือ 2560

ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะประกาศผลผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นทางเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และจะแจ้งผลการพิจารณาไปยังทุกบริษัทที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น โดยขั้นตอนต่อไป ผู้ขอสิทธิที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว และประสงค์จะยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนให้กับรัฐ ต้องยื่นเอกสารแสดงความจำนงพร้อมชำระค่าเข้าร่วมประมูล จำนวน 7 ล้านบาท ในระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 – วันที่ 1 มิถุนายน 2561 จากนั้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเปิดให้ผู้ร่วมประมูลได้เข้าศึกษาข้อมูลเชิงลึกของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ในแปลง G1/61 และ G2/61 ที่ห้องศึกษาข้อมูล (Data Room) ที่ได้จัดเตรียมไว้ พร้อมรับมอบชุดข้อมูลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Data Package) จำนวน 1 ชุด เพื่อนำไปจัดทำข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และยื่นเสนอต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในวันที่ 25 กันยายน 2561

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การเปิดประมูลสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชในครั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คาดว่าจะมีบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติ ยื่นซองข้อเสนอและผลประโยชน์ตอบแทนให้กับรัฐไม่ต่ำกว่า 2 ราย หากบริษัทที่ผ่านมาการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว ประสงค์จะร่วมกันทำงาน ในลักษณะของ “กิจการค้าร่วม (Consortium) หรือ Joint Venture” ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้น ก่อนยื่นซองข้อเสนอฯ ในวันที่ 25 กันยายน 2561 คาดว่าจะประกาศชื่อผู้ชนะประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งภายในสิ้นปี 2561 และลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตประมาณต้นปี 2562

“สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้คะแนน คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการปิโตรเลียม กำหนดน้ำหนักในการพิจารณาข้อเสนอของผู้ประมูลที่สำคัญ คือ ข้อเสนอในการขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ให้กับรัฐในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ส่วนมีน้ำหนัก 65%, เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐไม่ต่ำกว่า 50% ของปริมาณการผลิตกำหนดน้ำหนักไว้ที่ 25%, เสนอผลตอบแทนพิเศษให้รัฐ เช่น Bonus การผลิต มีน้ำหนัก 5% และ ข้อเสนอในการจ้างคนไทยเข้าทำงานปีแรกไม่ต่ำกว่า 80% ของพนักงานทั้งหมด และเพิ่มขึ้นเป็น 90% ภายใน 5 ปี มีน้ำหนักของการให้คะแนน 5%” นายวีระศักดิ์ กล่าว

ภายหลังการแถลงข่าว นายวีระศักดิ์พาสื่อมวลชนเยี่ยมชมห้องศึกษาข้อมูล (Data Room) ซึ่งเป็นห้องที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจัดเตรียมไว้สำหรับให้ผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น เข้ามาศึกษาข้อมูลเชิงลึกของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลง G1/61 และ G2/61 อาทิ ลักษณะทางธรณีวิทยา หลุมสำรวจ หลุมผลิต ปริมาณสำรอง อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลที่มีในระบบดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีข้อมูลที่เพียงพอ พร้อมใช้ สำหรับผู้เข้าร่วมประมูลนำไปจัดทำข้อเสนอทางด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ในการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบทั้งต่อรายเดิมและรายใหม่

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

นอกจากนี้ ยังได้พาสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมห้องบริหารจัดการการผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(Petroleum Production Management Room: PPM) ซึ่งเป็นห้องติดตามการดำเนินงานผลิตปิโตรเลียมที่ผู้ประกอบการจะต้องรายงานผลการปฏิบัติงานด้านการผลิตปิโตรเลียม มายังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อให้สามารถตรวจสอบและกำกับการทำงานของผู้ประกอบการให้เกิดความโปร่งใส และเกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างสูงสุด

ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เชฟรอนผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น เป็นผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลในฐานะผู้ดำเนินงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกช เรามีความภาคภูมิใจในเกียรติประวัติอันยาวนานในฐานะผู้จัดหาพลังงานที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้ให้กับประเทศไทย เชฟรอนพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการในขั้นตอนถัดไป เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า เราคือพันธมิตรที่ควรได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ในการพัฒนาแหล่งพลังงานของประเทศ เพื่อประโยชน์ของคนไทยต่อไป”