ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดคำร้อง ขสมก. อุทธรณ์คำสั่งศาลคุ้มครองชั่วคราว ยันบอร์ดลงมติซื้อรถเมล์ NGV ชอบด้วย กม.

เปิดคำร้อง ขสมก. อุทธรณ์คำสั่งศาลคุ้มครองชั่วคราว ยันบอร์ดลงมติซื้อรถเมล์ NGV ชอบด้วย กม.

23 พฤษภาคม 2018


วันที่ 10 เมษายน 2561 เวลา 13.30 น. นางพนิดา ทองสุข รักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ขสมก. (ซ้าย) และนายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ขวา) เดินทางมาฟังคำสั่งศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ

ภายหลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 โดยสั่งระงับการดำเนินการใดๆ ตามสัญญาซื้อ-ขายรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน ระหว่างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO เป็นชั่วคราว ก่อนครบกำหนดยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ขสมก. ได้มอบอำนาจให้อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลปกครองสูงสุด โดยคัดค้านการวินิจฉัยของศาลปกครองกลางมีประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

1. กรณีที่ประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 มีมติอนุมัติสั่งซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน กับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO [บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน)] และการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 16/2560 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ที่เห็นชอบรายงานการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ประเด็นนี้ศาลปกครองกลาง ได้วินิจฉัยจากรายงานถอดเทปการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 ว่า “ไม่ปรากฏข้อความใดที่ระบุว่ากรรมการของ ขสมก. ที่เข้าประชุม 9 คน ลงมติอนุมัติ ซึ่งสอดคล้องกับกรรมการ ขสมก. 4 คน ที่มาให้การต่อศาลปกครองกลาง ในฐานะพยานว่าในวันดังกล่าวนั้น ไม่ได้มีการลงมติอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ตามที่ระบุในรายงานประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 16/2560 ที่ ขสมก. เสนอให้บอร์ดรับรองแต่อย่างใด”

ทาง ขสมก. ขอยืนยันต่อศาลปกครองสูงสุดว่าการลงมติของที่ประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 และครั้งที่ 16/2560 ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตามข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการและอนุกรรมการลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2519 โดยเฉพาะในข้อที่ 5 กรณีกรรมการออกเสียงลงมติเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มอีก 1 เสียง เป็นเสียงชี้ขาด และธรรมเนียมปฏิบัติในการประชุมของ ขสมก. กล่าวคือในการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 วาระที่ 3 ขออนุมัติจัดซื้อจัดจ้างรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน มีกรรมการเข้าประชุม 9 คน ได้แก่ นายณัฐชาติ จารุจินดา, น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ, นายสมศักดิ์ ห่มม่วง, รศ.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ, นายชัยชนะ มิตรพันธ์, รศ.คณิต วัฒนวิเชียร, รศ.พัชรา พัชราวนิช, พล.ต.ต. ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ และนายสมศักดิ์ ประถมศรีเมฆ ส่วน พล.อ. วราห์ บุญญะสิทธิ์ ไม่เข้าประชุม

บรรยากาศการประชุมวันนั้นมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางหลายประเด็น นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานบอร์ด ขสมก. ได้สอบถามผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ขสมก. แล้วว่าสามารถสรุปเรื่องได้

นายณัฐชาติ จึงกล่าวสรุปว่า “คณะกรรมการมีความเห็นชอบตามเสนอ แต่ยกเว้นอนุมัติให้ ขสมก. ใช้มติที่ประชุมวันนี้ดำเนินการตามระเบียบ โดยให้ตอบข้อซักถามและข้อสังเกตของบอร์ดว่าสรุปอย่างไร และวันที่ 20 เราก็บันทึกอีกทีหนึ่ง ขอดูตรงนั้นอีกที ในหลักการอนุมัติ แต่ขอดูถ้อยคำกับการยืนยันดูการดำเนินการที่กล่าวไป เพราะ 2 วันเองไม่น่าจะได้ การบันทึกทั้งหมดที่ครอบคลุม ตามที่เราเสนอหรือเปล่า ถ้ามีบันทึกออกมาก่อนจะเวียนก่อนก็ดี ท่านกรรมการจะได้ดูและมีความเห็นแก้ไข และไปรับรองในวันที่ 20 เพราะ 2 วัน คงไม่มีผลอะไร”

ตามข้อความที่ปรากฏในรายงานถอดเทปดังกล่าว จึงถือว่าที่ประชุมมีมติอนุมัติให้สั่งซื้อรถเมล์ NGV แล้ว ตามที่ ขสมก. เสนอต่อบอร์ด ขสมก. 8 คน ที่นั่งอยู่ในห้องประชุม ก็ไม่มีกรรมการท่านใดสงวนสิทธิ หรือโต้แย้ง คำกล่าวสรุปของนายณัฐชาติแต่อย่างใด มีเพียง รศ. ดร.คณิต ที่เดินออกจากห้องประชุมไปก่อนหน้านี้ แต่เมื่อกลับเข้ามาที่ห้องประชุม ก็ไม่ได้ทักท้วงหรือสงวนสิทธิเช่นเดียวกับกรรมการท่านอื่น กรณีนี้ถือว่าเป็นการอนุมัติสั่งซื้อรถเมล์ NGV พร้อมซ่อมบำรุงจำนวน 489 คัน และถือเป็นเอกฉันท์

ทั้งนี้ ตามประเพณีปฏิบัติในการประชุมบอร์ดของ ขสมก. ที่ผ่านมา หลายกรณีที่เกี่ยวกับการลงมติในเรื่องสำคัญๆ หากกรรมการท่านใดไม่เห็นด้วย หรือใช้สิทธิโต้แย้งการลงมติ ต้องแสดงออกอย่างชัดเจน ในวาระการประชุมในเรื่องนั้นๆ หากกรรมการท่านใดไม่โต้แย้ง หรือ แสดงออกในขณะที่กำลังพิจารณา ถือว่าเห็นชอบกับวาระที่พิจารณานั้นแล้ว โดยการลงมติของ ขสมก. ไม่มีการขอให้กรรมการยกมือเพื่อเห็นชอบหรือคัดค้าน

ต่อมาในการประชุมบอร์ดครั้งที่ 16/2560 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 เพื่อลงมติรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 15/2560 มีกรรมการ ขสมก. เข้าประชุม 6 คน ในจำนวนนี้มีความเห็นไม่รับรอง 3 คน คือ รศ. ดร.คณิต วัฒนวิเชียร, พล.ต.ต. ประสิทธิ เฉลิมวุฒิศักดิ์ และนายสมศักดิ์ ประถมศรีเมฆ และมีกรรมการ 3 คน ลงมติรับรอง ได้แก่ นายณัฐชาติ จารุจินดา, นายสมศักดิ์ ห่มม่วง และ รศ.พัชรา พัชราวนิช เมื่อกรรมการใช้สิทธิออกเสียงเท่ากัน นายณัฐชาติ ในฐานะประธานที่ประชุม จึงใช้สิทธิออกเสียงเพิ่มอีก 1 เสียง ตามข้อบังคับ ขสมก. ว่าด้วยการประชุมฯ 2519 ข้อที่ 5 ดังนั้นในการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 16/2560 จึงมีมติรับรองรายงานการประชุมบอร์ดครั้งที่ 15/2560 ให้จัดซื้อรถเมล์ NGV ด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 3

ส่วนกรณีที่ รศ.พัชรา ใช้สิทธิงดออกเสียงเกิดขึ้นภายหลังจากที่ประชุมบอร์ด ขสมก. ได้มีมติรับรองรายงานการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว รวมทั้งการประชุมเพื่อพิจารณาในวาระอื่นก็ผ่านพ้นไปแล้วเช่นกัน โดยนายณัฐชาติได้แจ้งว่ามีเรื่องค้างพิจารณา 2 เรื่อง ถือว่าการประชุมครบวาระแล้ว รศ.พัชรา จึงได้กล่าวของดออกเสียง ภายหลังวาระการประชุมผ่านพ้นไปแล้ว ย่อมไม่ทำให้การออกเสียงก่อนหน้านี้เสียไป ถือเป็นการออกเสียงที่สมบูรณ์ ตามระเบียบข้อบังคับฉบับที่ 1 ที่ว่าด้วยการลงมติในเรื่องสำคัญต่างๆ ของการประชุมบอร์ด ขสมก. หากมีผู้ไม่เห็นด้วย หรือโต้แย้งมติ จะต้องแสดงออกอย่างชัดเจน หรือ สงวนสิทธิไว้ในวาระการประชุมในเรื่องนั้นๆ หากกรรมการท่านใดไม่โต้แย้ง หรือแสดงออกมาก็จะถือว่าเห็นชอบในระเบียบวาระที่พิจารณานั้นแล้ว

ดังนั้น กรณีที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัย การประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 16/2560 ไม่ได้มีการลงมติอนุมัติจัดซื้อรถเมล์ NGV จึงคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

2. สำหรับรายงานการถอดเทปการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 จำนวน 24 หน้า และครั้งที่ 16/2560 จำนวน 20 หน้า ที่นายบุญหนา ผู้รับมอบอำนาจจาก ขสมก. และบอร์ด ขสมก. นำส่งให้ศาลปกครองกลางตามหมายเรียกมาไต่สวนวันที่ 3 เมษายน 2561 ไม่อาจรับฟังเป็นที่ยุติได้ เนื่องจากนายบุญหนาไม่ได้ร่วมประชุม และไม่มีส่วนรู้เห็นการประชุมทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งการถอดเทปประชุมเป็นหน้าที่ของสำนักผู้อำนวยการ ขสมก. ภายหลังการไต่สวน ทางสำนักผู้อำนวยการฯ ได้จัดทำรายงานการทอดเทปฉบับสมบูรณ์ โดยการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 ฉบับสมบูรณ์มี 26 หน้า และการประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 16/2560 มี 24 หน้า ถือเป็นฉบับสมบูรณ์ จึงส่งให้ศาลพิจารณาตามเอกสารแนบที่ 19 และ 20

3. ขสมก. ขออุทธรณ์โต้แย้งว่า บริษัท สยาม สแตนดาร์ด เอ็นเนอจี จำกัด ผู้ฟ้องคดี ได้ซื้อ เอกสารประกวดราคาในวันที่ 18 ตุลาคม 2560 ช่วงที่ ขสมก. จัดประกวดราคา ครั้งที่ 7 กำหนดยื่นซองในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 แต่ไม่มายื่นซองเสนอราคา เมื่อได้รับหนังสือเชิญชวนประกวดราคาครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 กำหนดยื่นซองประกวดราคาวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ทางบริษัท สยามฯ ก็ไม่มายื่นซอง ทั้งๆ ที่มีเวลาเตรียมการ 50 วัน กรณีที่บริษัท สยามฯ ไม่ยื่นซองเสนอราคาทั้ง 2 ครั้ง จึงไม่อยู่ในฐานะผู้ได้รับความเสียหาย หรืออาจจะเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยง อันเนื่องมาจากการกระทำ หรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 806/2548

4. กรณีที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งระงับดำเนินการใดๆ ตามสัญญาจัดซื้อรถเมล์ NGV ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว และ ขสมก. ได้ตรวจรับรถเมล์ NGV ลอตแรก 100 คันเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 กำหนดชำระเงินค่ารถให้กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ภายใน 30 วัน นับจากวันส่งมอบรถ หาก ขสมก. ไม่ตรวจรับและชำระเงินค่ารถเมล์ให้กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ได้ตามสัญญา ถือเป็นการผิดสัญญา ขสมก. อาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย เช่นเดียวกับศาลปกครองพิพากษาให้ ขสมก. จ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทเบสท์รินฯ 1,159 ล้านบาทได้

5. ประเด็นที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า หากมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของบอร์ด ขสมก. ดังกล่าว ทาง ขสมก. ก็ยังมีรถเมล์ให้บริการแก่ผู้โดยสารทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ตามปกตินั้น

ขสมก. ขอชี้แจงว่ากรณีที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระหว่างที่พิจารณาคดี ถือเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐและการให้บริการต่อสาธารณะ เนื่องจากปัจจุบัน ขสมก. มีรถเมล์ธรรมดา 1,543 คัน รถปรับอากาศ 1,128 คัน และรถร่วมบริการ 11,319 คัน รถเมล์ธรรมดามีอายุเฉลี่ย 27 ปี ส่วนรถเมล์ปรับอากาศมีอายุเฉลี่ย 17- 27 ปี มีค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาเดือนละ 112 ล้านบาท ทาง ขสมก. จึงทยอยปลดระวางตั้งแต่ปี 2556 จำนวน 158 คัน ปี 2557 จำนวน 404 คัน ปี 2558 จำนวน 4 คัน ปี 2559 จำนวน 234 คัน ปี 2560 จำนวน 103 คัน และปี 2561 (ต.ค. 2560 – มี.ค. 2561) จำนวน 962 คัน ขณะที่มีประชาชนมาใช้บริการวันละ 1.13 ล้านคน

การที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จึงทำให้ ขสมก. ได้รับผลกระทบต่อแผนบริหารจัดการเดินรถ และรายได้ของ ขสมก. รวมไปถึงการให้บริการแก่ผู้มีรายได้น้อยที่จำเป็นต้องใช้บริการรถเมล์ และแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ด้วย

จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามที่กล่าวมาในข้างต้น จะเห็นได้ว่าการลงมติของที่ประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 อนุมติจัดซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน และมติที่ประชุมบอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 16/2560 เพื่อรับรองรายงานการประชุม บอร์ด ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 นั้น ชอบด้วยกฎหมาย การให้มติบอร์ด ขสมก. มีผลบังคับใช้ต่อไป ไม่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี และการที่ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้มติบอร์ด ขสมก. ระหว่างพิจารณาคดี ถือเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐและ ขสมก. ในการให้บริการสาธารณะ กรณีนี้จึงไม่เข้าเงื่อนไขในการทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครอง ตามาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และข้อ 72 วรรค 3 ตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

ครม. ตั้งบอร์ด ขสมก.ใหม่

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้กรรมการอื่นที่ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 18 (3) แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 และมีมติอนุมัติ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ ในคณะกรรมการบริหารกิจการของ ขสมก. ตามที่กระทรวงคมนาคม นำเสนอให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ มีรายชื่อดังนี้

    1. นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานกรรมการ
    2. พลเอก วราห์ บุญญสิทธิ์ กรรมการ
    3. นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)
    4. นายสมศักดิ์ ห่มม่วง กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงคมนาคม)
    5. รองศาสตราจารย์ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ กรรมการ
    6. นายยุกต์ จารุภูมิ กรรมการ
    7. นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ กรรมการ
    8. นายชัยชนะ มิตรพันธ์ กรรมการ
    9. รองศาสตราจารย์วันชัย รัตนวงษ์ กรรมการ
    10. นายวิชิต จรัสสุขสวัสดิ์ กรรมการ
    โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้ ขสมก. มีกรรมการ 10 คน โดยมีนายณัฐชาติ จารุจินดา เป็นประธานฯ กรรมการประกอบด้วย พล.อ. วราห์ บุญญะสิทธิ์, น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ, นายสมศักดิ์ ห่มม่วง, รศ.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ, นายชัยชนะ มิตรพันธ์, รศ.คณิต วัฒนวิเชียร, รศ.พัชรา พัชราวนิช, พล.ต.ต. ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ และนายสมศักดิ์ ประถมศรีเมฆ หลังเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งภายในบอร์ด ขสมก. เกี่ยวกับการลงมติอนุมัติและรับรองการจัดซื้อรถเมล์ NGV ปรากฏว่าบอร์ด ขสมก. ทยอยลาออก

ก่อน ครม. มีมติแต่งตั้งบอร์ด ขสมก. ชุดใหม่ เหลือกรรมการเพียง 2 คน คือ รศ.คณิต วัฒนวิเชียร และนายสมศักดิ์ ประถมศรีเมฆ ทำให้ไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่บริหารกิจการ ขสมก. ต่อไปได้ เนื่องจากไม่ครบองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ดังนั้น ที่ประชุม ครม. มีมติให้กรรมการที่เหลือ 2 คน พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ ทำหน้าที่บริการกิจการ ขสมก. ต่อไป