ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ชี้ “คนอยากเลือกตั้ง” เห็นต่างได้ ต้องไม่ผิด กม.-มติ ครม. หนุน “ไทยนิยมฯ” เร่งจ่ายงบกลางปี 1.5 แสนล้าน

นายกฯ ชี้ “คนอยากเลือกตั้ง” เห็นต่างได้ ต้องไม่ผิด กม.-มติ ครม. หนุน “ไทยนิยมฯ” เร่งจ่ายงบกลางปี 1.5 แสนล้าน

22 พฤษภาคม 2018


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยบรรยาศรอบทำเนียบรัฐบาลในวันนี้แม้จะมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงกระจายกำลังรอบๆ ทำเนียบรัฐบาล โดยเฉพาะบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์มีเจ้าหน้าที่ประจำการกว่า 10 นาย ภายใต้การควบคุมของ พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ต. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เพื่อดูแลสถานการณ์การเคลื่อนไหวของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง”

ภายหลังการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนการตอบคำถามสื่อมวลชน ว่า “หากถามว่าผมอารมณ์ดีไหม ตอบว่าอารมณ์ดี จะไปซีเรียสอะไรนักหนา วันนี้ก็เป็นวันครบรอบ 22 พฤษภาคม ก็ดีตรงที่เราได้ไปทบทวนว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้างตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มาถึงวันนี้รัฐบาลทำอะไรไปเยอะแยะแล้วเหมือนกัน เป็นกำลังใจให้พวกเรากันเองดีกว่าในการทำงานต่อไป ไปสู่รัฐบาลหน้า”

ย้ำ “คนอยากเลือกตั้ง” เห็นต่างได้ ต้องไม่ผิด กม. – ยันต้นปี 62 เลือกตั้งแน่

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความเห็นต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ว่า หากอยากจะเรียกร้องก็เรียกร้องไป ท่านอ้างว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายมีอยู่ ฉะนั้น ให้เรียกร้องได้ตรงไหน ที่ไหน กฎหมายชุมนุมว่าอย่างไร ก็ไปว่ากันมาให้ครบ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีใครมีคดีความติดตัวอยู่หรือไม่ ยืนยันว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ใช้เอาไปบังคับผู้เห็นต่าง

ผมก็บอกแล้วว่าการเลือกตั้งเป็นไปตามขั้นตอนของผม คือ ต้นปี 2562 ไม่มีเร็วกว่านั้น ผมยืนยันในหลักการของผม ที่มันล่าช้าไป 3-4 เดือน ก็เป็นเรื่องความพร้อมของกฎหมาย ผมไม่อยากให้ไปสัมภาษณ์กับเขา ก็จะเป็นการขยายความให้เขา เขาต้องฟังเหตุผลที่รัฐบาลพูดอยู่บ้างว่าเราต้องการอะไรกันในวันนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราไปปิดกั้นเขา จะเห็นว่าข้อเรียกร้องต่างๆ ก็เป็นแบบเดิมๆ เห็นต่างได้แต่ต้องไม่ผิดกฎหมาย จำคำพูดของผมไว้ ฉะนั้น การดำเนินคดีต่างๆ ก็จะต้องเอาจริงเอาจังยิ่งขึ้นไม่อย่างนั้นประเทศจะเสียหาย ผมให้ประเทศเสียหายไม่ได้ อะไรที่เกิดในวันนี้เป็นอนาคตของประเทศในวันหน้าทั้งสิ้น ฝากทุกคนไว้ด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ชี้แยกแยะ “ปลดล็อก – ดำเนินคดี” แกนนำเพื่อไทย คนละประเด็น

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่ คสช. แจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำพรรคเพื่อไทย 8 คน ในการแถลงข่าวครบรอบ 4 ปี คสช. ดังนั้น จะให้ประเมินความเหมาะสมและช่วงเวลาปลดล็อกทางการเมือง ว่า การแจ้งความดำเนินคดีนั้นเป็นเรื่องของกฎหมาย เรื่องปลดล็อกก็คือเรื่องปลดล็อก มันคนละเรื่องกัน อย่างเอาเรื่องไปพันกันจะยุ่งกันไปใหญ่ เป็นการขยายความขัดแย้งไปเรื่อยๆ ไม่เกิดประโยชน์กับใครทั้งสิ้น ดังนั้น ในเรื่องของการประท้วงอะไรต่างๆ ตอนนี้เราก็พยายามผ่อนผันให้ตามที่เราสามารถให้ได้ เราไม่ต้องการจะปิดกัน

“ผมพูดหลายครั้งแล้ว คนเหล่านี้ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นหลายครั้งแล้ว รัฐบาลก็รับมาพิจารณา ดำเนินการในสิ่งที่สามารถกระทำได้ แต่เขาก็ยังทำต่อไปเรื่อยๆ ก็อย่าลืมว่ากฎหมายมีอยู่ พระราชบัญญัติต่างๆ เยอะแยะไปหมด แล้ววันนี้ศาลปกครองสูงสุดก็ตัดสินออกมาแล้วว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายแล้วจะให้ผมทำอย่างไร หากไปปฏิบัติเจ้าหน้าที่ก็มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ท่านจะมาอ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างเดียวคงไม่ได้ ผมบอกแล้วว่าจะทะเลาะเรื่องรัฐธรรมนูญกันต่อไปอีกหรือในวันนี้และวันหน้า ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย ใครมาเดินก็ไม่ได้ถ้าผิดกฎหมาย จะสนับสนุนรัฐบาลหรือไม่สนับสนุนก็แล้วแต่ ผิดกฎหมายทั้งหมด ผมไม่ต้องการให้กลับไปที่เดิม” นายกรัฐมนตรี กล่าว

เผยพอใจผลงาน คสช. 4 ปี

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องการประเมินผลงาน 4 ปี คสช. ว่า ตนพอใจในส่วนของตน ส่วนใครจะไม่พอใจนั้นไม่ทราบ แต่พอใจที่ได้เริ่มไว้ให้ในเรื่องการปฏิรูป ซึ่งทำไปหลายอย่างด้วยกันทั้งในเรื่องกฎหมาย เพื่อจะทำให้เกิดการปฏิรูปเกิดขึ้น ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ และกฎหมายต่างๆ ก็ออกมาแล้ว คราวนี้ต้องมาดูว่า ระยะเวลาต่อไปนี้ หลังจากปฏิรูปในขั้นต้นไปแล้วเรื่องโครงสร้าง กฎหมาย งบประมาณ และแผนงานต่างๆ เป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกิดการปฏิรูปได้ หลายอย่างก็เสร็จแล้ว หลายอย่างยังไม่เสร็จ ก็ต้องดูต่อไปว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

“เพราะเรามีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ อยู่ด้วยและมีคณะกรรมการปฏิรูปอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น ผมก็ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งกัน ระหว่างคณะกรรมการทั้ง 2 คณะที่ต้องติดตามการทำงานของรัฐบาลต่อไปในวันหน้า ผมก็กังวลในเรื่องเหล่านี้แต่มันจำเป็นต้องมี เพราะจะต้องมีกรอบ ไม่เช่นนั้นการใช้จ่ายงบประมาณจะไม่คุ้มค่า ซ้ำซ้อน ไม่ต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้จะเป็นกลไกที่ทำให้ประเทศไทยพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ผมก็พอใจตรงนี้ รัฐบาลได้เริ่มต้นไว้ให้แล้ว อย่ามาบอกว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานในระบบต้องทำอยู่แล้ว ถ้าต้องทำอยู่แล้วแล้วทำไมไม่ทำมาก่อน ก็ต้องไปดูกันตรงนู้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นอกจากนี้ยังยืนยันว่า ปัญหาของประชาชนตนนั้นรับทราบทั้งหมด ไม่ว่าใครร้องเรียนเรื่องอะไร เพราะตนติดตามหลายช่องทางด้วยกัน แล้วก็นำไปสู่การปฏิบัติ นำสู่การแก้ปัญหาใน ครม. สั่งการให้ไปหามาตรการที่เหมาะสม นั่นคือรัฐบาลนี้ ฉะนั้นก็อยากให้เข้าใจตรงนี้ด้วย

วอนสื่ออย่าให้ความสำคัญ ไมโครโฟน – นาฬิกา – รัฐสภาใหม่

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีปัญหาการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่มองกันว่า งบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ด้านไอซีที ไม่ว่าจะเป็นไมโครโฟน นาฬิกา มีราคาแพงเกินไปว่า เราอย่าไปให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องไมค์หรือนาฬิกา เพราะเรื่องนี้มีขั้นตอนอยู่แล้ว วันนี้ยังไม่มีใครผิดใครถูกหรอก เพราะเป็นการเสนอขึ้นมาตามหลักการเดิมที่รัฐบาลก่อนหน้านี้

“โครงการมีการออกแบบโดยคณะออกแบบ จนมาอย่างสวยหรู วันนี้ผมก็ทำอะไรไม่ได้เพราะออกแบบไปแล้ว และเขาตั้งไว้ว่าจะต้องเป็นรัฐสภาที่สวยงาม ทันสมัยที่สุดในภูมิภาค ดังนั้น จึงอาจทำให้มีราคาแพงเพราะเป็นของดี แต่เราก็ต้องมาดูว่ามีความจำเป็นแค่ไหน อย่างไร ซึ่งมีสถานการณ์ที่ต้องมาดูในเรื่องของงบประมาณด้วย เพราะฉะนั้น ระยะแรกควรจะเป็นแค่ไหน อย่างไรในอนาคตจะสามารถพัฒนาต่อได้หรือไม่ ผมจึงให้เขาไปทบทวน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ขออย่าเพิ่งไปพูดจาให้ร้ายกันไปมาเลย มันเสียหาย คนทำงานก็จะหมดกำลังใจ ต้องดูว่าการออกแบบเป็นอย่างไร วันนี้แก้ไขอะไรยังไม่ได้เลย เพราะนักออกแบบ บรรดาสถาปนิก สถาปัตย์ต่างๆ เขาบอกว่าความมุ่งหมายเขาเป็นแบบนี้และอนุมัติมาแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ควรดำเนินการไปอย่างนี้ จึงต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา อย่าเพิ่งไปพูดว่าใครผิด ใครถูกเลย โดยยืนยันว่าหากมีการทุจริตเกิดขึ้น ก็ต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเมื่อนั้น

ยันใช้ ม.44 แก้ทีวีดิจิทัล “ต้องดีขึ้น”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล ว่า เรื่องการครบกำหนดจ่ายค่าสัมปทานวันนี้รัฐบาลกำลังดูแลอยู่กำลังดำเนินการเรื่องมาตรา 44 อยู่ เดี๋ยวรอว่าจะออกมาแล้วจะดำเนินการได้อย่างไร แต่อย่างน้อยก็จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนด้านเศรษฐกิจได้ และตนขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันด้วย หลายๆ อย่างเรายังต้องแก้ไข ต้องดูแลทุกกลุ่มทุกฝ่ายให้เกิดความเป็นธรรม และช่วยเหลือผู้ประกอบการบ้าง

“การใช้คำสั่ง ตามมาตรา 44 เพื่อการแก้ไขปัญหานั้นจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสมว่าจะได้แค่ไหนอย่างไร แต่ผมก็ยืนยันว่ามันต้องดีขึ้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สั่ง สธ. ดูแลค่าจ้าง สสลท.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) เรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้างของลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุขของโรงพยาบาลทั่วประเทศ 88 แห่ง เนื่องจากมีอัตราค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ว่า ตนได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดูแลเรื่องนี้ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับไปดำเนินการ โดยจะต้องหามาตรการที่เหมาะสม

“ในเมื่อมีการปรับหลายอย่าง ทั้งในเรื่องการจ้างงาน การบรรจุข้าราชการ การบรรจุทดแทนผู้เกษียณอายุ เหล่านี้เป็นการปรับโครงสร้างใหม่ทั้งสิ้น ดังนั้น การจะเอาใครเข้ามาทำงานจะต้องไปดูว่ากฎระเบียบมีอยู่อย่างไร จำเป็นต้องแก้ไขหรือไม่ ทั้งนี้เป็นเรื่องของการคุ้มครองแรงงาน ก็เห็นใจ และเข้าใจ แต่จะต้องพิจารณาว่าจะตัดสินใจเรื่องงบประมาณอย่างไร” นายกรัฐมนตรีกล่าว

กลาโหม – อุตฯ – อีอีซี – สทอภ. จับมือหนุน “สตาร์ทอัพอวกาศ”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพปด้านอวกาศของไทย ว่า วันนี้มีการสนับสนุนอยู่แล้ว หลายอย่างอยู่ในการลงทุนของบีโอไอ ซึ่งสตาร์ทอัปเป็นส่วนหนึ่งของเอสเอ็มอี โดยรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งจะมีความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรม อีอีซี สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานความมั่นคง

“ซึ่งในวันหน้าเราต้องดำเนินการในสิ่งเหล่านี้ให้ได้ อะไรที่เราสามารถวิจัยพัฒนา ทั้งการต่อยอดหรือคิดค้นขึ้นมาใหม่เพื่อให้เกิดความร่วมมือเกิดขึ้น อย่างไรเราก็ต้องเดินไปสู่ตรงนั้น เพราะวันนี้เป็นการปฏิรูปอุตสาหกรรมระยะที่ 4 ของโลกด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล ซึ่งเราต้องเดินหน้าต่อไป” นายกรัฐมนตรี กล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

พล.อ. อนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะ แถลงผลความคืบหน้าโครงการไทยนิยมยั่งยืน ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เห็นชอบกฎหมายป่าชุมชน “คนกับป่าอยู่ร่วมกัน”

พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. …. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้ที่อยู่ใกล้ชุมชน เพื่อให้ทรัพยากรป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืน โดยปัจจุบันจากพื้นที่ของประเทศไทย 323 ล้านไร่ มีพื้นที่ป่า 102.4 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 32.4% ของพื้นที่รวม ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2557 ข้อมูลจากระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์พบว่าหยุดลดลงนับแต่รัฐบาล คสช. เข้ามาบริหาร สะท้อนความเอาจริงเอาจังในการปราบปรามการบุกรุกพื้นที่ป่าของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งกลับพบปัญหาว่าการบุกรุกป่าส่วนหนึ่งมาจากประชาชนยากไร้เข้าไปหาที่ทำกินและชุมชนที่อาศัยร่วมกับป่ามาตั้งแต่อดีตแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายปัจจุบัน เนื่องจากยังขาดความยืดหยุ่นและเน้นการควบคุม ยับยั้งปราบปรามเป็นหลัก และเป็นที่มาของคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66 ที่พยายามหาทางแก้ปัญหาตามความเหมาะสม รวมไปถึงยกร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับนี้มารองรับ

ทั้งนี้ เป้าหมายของป่าชุมชนมีทั้งสิ้น 19.1 ล้านไร่ 21,850 หมู่บ้าน 3 ล้านครอบครัว และ 12 ล้านคน ซึ่งเป็นป่าที่พัฒนามาจากป่าเสื่อมโทรมในอดีตเพื่อใช้ประโยชน์ โดยไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับป่าอนุรักษ์ของเดิมที่มีอยู่ โดยกฎหมายจะอนุญาตให้ชุมชนเข้าไปใช้ประโยชน์ได้จากการเก็บของป่าหรือการปลูกไม้มีค่า ซึ่งกฎหมายเดิมถือว่าเป็นความผิด โดยได้ประกาศการจัดตั้งป่าชุมชนไปแล้วจำนวน 11,000 หมู่บ้าน ออกใบอนุญาตไปแล้วประมาณ 2,000 หมู่บ้าน โดยในปี 2561 กระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะจัดทำให้แล้วเสร็จ 99 ป่า เป็นป่าชายเลย 20 แห่งและป่าบนบกทั่วไปอีก 79 แห่ง และตั้งเป้าหมายว่าในปี 2580 จะประเทศไทยจะมีป่าและพื้นที่สีเขียวถึง 55% ของพื้นที่ทั้งหมดให้ได้

“ของเดิมชุมชนเข้าไปดูแลพัฒนาป่าเสื่อมโทรมทำมา 20-30 ปีแล้ว จนกลายเป็นป่าขึ้นมา แต่กฎหมายกลับเป็นว่าไม่สามารถเอาอะไรจากป่าออกมาได้ ต่อท่อน้ำออกมาก็ไม่ได้ แต่กฎหมายนี้ทำให้ต่อไปทำได้ เข้าไปสร้างป่าได้ พัฒนาสร้างป่า อยู่กับป่าได้ เอาของป่ามาขาย ตัดไม้มีค่าได้ เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน ยกระดับรายได้ของชุมชน โดยหลักเกณฑ์หลักคือจะให้เป็นสิทธิร่วมของชุมชน ไม่ใช่สิทธิ์ขาดของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อป้องกันการนำไปขาย ที่ดินก็ยังเป็นของรัฐอยู่ แต่ก็ต้องออกเป็นกฎกระทรวงอีก 4 ฉบับ ในเรื่องขั้นตอนปฏิบัติ ก็อยากให้ทุกคนมาร่วมกันออกความเห็นว่าควรจะทำอย่างไรให้เหมาะสม”

นอกจากนี้ ในแผนยุทธศาสตร์ป่าไม้ในอนาคตของกระทรวงฯ ก็ได้เตรียมจะกำหนดระเบียบให้ราชการและเอกชนต้องใช้พื้นที่ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เท่าที่จำเป็นและลดการตัดไม้ทำลายป่าให้น้อยที่สุด โดยจะต้องพิจารณาไปถึงระดับการออกแบบว่าเหมาะสมที่สุดหรือไม่ ต่างจากเดิมที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณา ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ป่าและการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะในที่ห่างไกล

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ มีรายละเอียดดังนี้

    1. กำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งป่าชุมชน และพื้นที่ป่าที่มีการจัดตั้งเป็นป่าชุมชนแล้ว ให้คงอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎกระทรวงว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

    2. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายในการจัดตั้ง การจัดการป่าชุมชนและเครือข่ายป่าชุมชนหรือพิจารณาให้ความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับป่าชุมชน เสนอแนะในการออกกฎหมาย กำหนดระเบียบ พิจารณาอุทธรณ์ และเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อการกำหนดงบประมาณ มาตรการ หรือกลไกทางการเงิน

    3. กำหนดให้มีคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและประกาศคำขอ เพิ่ม ลด หรือเพิกถอนป่าชุมชน ตรวจสอบรายละเอียดที่ระบุในคำขอจัดตั้งเป็นป่าชุมชน ถอดถอนกรรมการจัดการป่าชุมชน แต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ป่าชุมชน และประเมินผลการจัดการป่าชุมชนในจังหวัดแล้วจัดทำรายงานเสนอคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

    4. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอจัดตั้งป่าชุมชน โดยในพื้นที่ป่าชุมชนจะต้องกำหนดบริเวณเพื่อการอนุรักษ์ และบริเวณเพื่อการใช้ประโยชน์ หรือบริเวณเพื่อการอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชน และวัตถุประสงค์ของป่าชุมชน และการจัดตั้งป่าชุมชนมีผลต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

    5. กำหนดให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนและสมาชิกป่าชุมชนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการป่าชุมชน และกำหนดให้มีแผนจัดการป่าชุมชน รวมทั้งกำหนดให้มีหลักเขต ป้ายหรือเครื่องหมายอื่นแสดงแนวเขตป่าชุมชนบริเวณเพื่อการอนุรักษ์และบริเวณเพื่อการใช้ประโยชน์ตามสมควร เพื่อให้ประชาชนเห็นได้ว่าเป็นเขตป่าชุมชน

    6. กำหนดให้มีการควบคุมดูแลป่าชุมชน กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป่าชุมชน และกำหนดการห้ามกระทำการภายในป่าชุมชน คือ ห้ามทำไม้ในบริเวณเพื่อการอนุรักษ์ ห้ามใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกิน ห้ามบุคคลใดก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า ขุดหาแร่ ล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือกระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าชุมชน เว้นแต่เป็นการกระทำตามที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้กระทำได้ ทั้งยังกำหนดเกี่ยวกับการอนุญาตให้บุคคลเข้าไปกระทำการใดๆ เพื่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย หรือสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ

    7. กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนป่าชุมชนทั้งแปลงหรือแต่บางส่วนได้โดยคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนขอให้เพิกถอนป่าชุมชน ทอดทิ้งไม่จัดการฟื้นฟูป่าชุมชนนั้น ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือระเบียบ หรือข้อบังคับที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ อันจะเป็นเหตุให้ป่าชุมชนได้รับความเสียหายหรือมีเหตุไม่ควรไว้วางใจให้จัดการป่าชุมชนต่อไป และเมื่อมีเหตุผลความจำเป็นทางด้านกิจการเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ซึ่งการเพิกถอนป่าชุมชนให้มีผลเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทั้งนี้ ทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชนที่ถูกเพิกถอนหากเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ให้กรมป่าไม้เก็บไว้เพื่อใช้ในกิจกรรมจัดการป่าชุมชน

    8. กำหนดให้บุคคลชำระเงิน ค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทน หรือค่าบริการ เนื่องในการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน โดยเงินที่เก็บได้ดังกล่าว เงินที่มีผู้บริจาค เงินสนับสนุนจากรัฐบาลและเงินรายได้อื่นๆ ให้เก็บรักษาไว้ใช้จ่ายในกิจกรรมการจัดการป่าชุมชน โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

    9. กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนระเบียบของคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนและข้อบังคับของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนเกี่ยวกับการจัดการป่าชุมชน และผู้กระทำการฝ่าฝืนการทำไม้ในบริเวณเพื่อการอนุรักษ์ใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกิน หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าชุมชน นอกจากนี้ บรรดาไม้หรือของป่าที่ได้มา หรือมีไว้เป็นความผิด หรือทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม

    10. กำหนดให้มีการออกกฎกระทรวง และระเบียบเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

7 รมต. แจงตวามคืบหน้า “ไทยนิยมฯ”-เร่งจ่ายงบกลางปี 1.5 แสนล้าน

พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการทำโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน” ในส่วนที่เกี่ยวข้องแต่ละกระทรวง

เริ่มจาก พล.อ. อนุพงษ์ กล่าวว่างบประมาณของโครงการไทยนิยมยั่งยืน ซึ่งอยู่ภายใต้งบประมาณกลางปี 2561 จำนวน 100,000 ล้านบาท มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 และต้องเบิกจ่ายทั้งหมดภายใน 120 วันตามกฎหมาย โดยรัฐบาลจะเริ่มเบิกจ่ายเม็ดเงินลงสู่พื้นที่ตั้งแต่ต้นเดือนมิถนายน 2561 ซึ่งโครงการไทยนิยมยั่งยืนเป็นโครงการที่รัฐบาลเริ่มต้นจากไปสำรวจความต้องการของประชาชนในเชิงลึกเป็นครั้งแรก โดยมีทีมงานกว่า 7,000 ทีมลงพื้นที่ทั่วประเทศ ก่อนจะนำมาประมวลผลและจัดทำโครงการเพื่อหยิบยื่นโอกาสให้ประชาชนได้ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาตัวเอง นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งสำหรับกระทรวงมหาดไทยมีงบส่วนแรกลงไปยัง 80,000 หมู่บ้านและชุมชน แห่งละ 200,000 บาท เพื่อไปทำโครงการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เช่น สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นโครงการเพิ่มคุณภาพชีวิตกว่า 20,000 โครงการ นอกจากนี้ ยังมีงบส่วนที่สอง 9,000 ล้านบาทเพื่อจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพสินค้าโอทอป ซึ่งจะเชื่อมโยงกับภาคท่องเที่ยวที่จะพัฒนาหมู่บ้านโอทอปท่องเที่ยว 3,200 แห่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขายสินค้าและท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน

“นอกจาก 100,000 ล้านบาทของงบกลางปีแล้ว ซึ่งจะเป็นโครงการเฉพาะเจาะจง แต่ก็มีงบประจำของแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็ให้บูรณาการเข้ามาด้วย เป็นข้อสั่งการของท่านนายกฯ ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องรู้ว่าเงินมาจากไหน แค่ให้ลงไปที่คนที่ประชาชนและพัฒนาได้จริง รัฐบาลต้องการให้ประชาชนมีรายได้ แต่ไม่ใช่การเอาปลาไปแจก แต่เอาเบ็ดไปแจกให้หาปลา คือจะทำเชิงลึกในรายบุคคล พัฒนาบุคคล ไม่ใช่จ่ายเงินให้แบบเดิมๆ แล้วถามว่าเวลาทำโครงการ อย่างอบรมพัฒนาอาชีพจะได้ผลหรือไม่ แล้วทำแล้วถ้าไม่รวยขึ้นล่ะ ท่านก็พูดแบบนั้นไม่ได้ เหมือนเรามีลูกมีหลานก็ส่งไปเรียนหนังสือ แล้วท่านไปตั้งคำถามว่าส่งไปเรียนแล้วมันจะได้อะไร ทำงานอะไร แต่ท่านต้องส่งเสริมหรือไม่ สิ่งที่ฟังมาทั้งหมดรัฐบาลให้โอกาสเขา ให้พัฒนา ทุกอย่างที่เรามีเครืองมือทำได้ แต่ท่านถามว่าจะได้ทุกคนหรือไม่ ก็ส่งไปเรียนหนังสือแล้วทำไมไม่สอบให้ได้เรียนฮาร์วาร์ดทุกคนละ ผมไม่เข้าใจ ก็ต้องเป็นไปตามความสามารถแต่ละคนด้วย แต่สำคัญคือเราให้โอกาส ให้กลุ่มคนที่ขาด ที่ชีวิตความเป็นอยู่ยังไม่ดี นี่คือสิ่งที่ทำ แต่มันก็มีขั้นตอนคัดกรองคัดเลือกโครงการอยู่ ก็ไปตามขั้นตอนถ้าผ่านเกณฑ์ก็ทำหมด”

ด้านนายอภิศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับกระทรวงการคลังเริ่มต้นตั้งแต่ลงทะเบียนคนจนและจัดทำโครงการบัตรสวัสดิการคนจน โดยในระยะแรกก็ได้ให้เป็นเงินสวัสดิการบรรเทาชีวิตความเป็นอยู่ เพราะคนกลุ่มนี้เรียกว่ารายได้น้อยจนอยู่ไม่ได้อยู่แล้ว ใช้งบประมาณปีละ 36,000 ล้านบาท หลังจากนั้นในโครงการไทยนิยม กระทรวงฯ ก็ทำเรียกว่าเป็นระยะที่ 2 ด้วยแนวคิดว่าจะต้องช่วยให้พ้นความยากจนอย่างยั่งยืนด้วยการพัฒนาตนเอง ซึ่งเริ่มให้ลงทะเบียนตั้งแต่เดือนกุ่มภาพันธ์ 2561 มีคนมาลงทะเบียนและส่งทีมเข้าไปสัมภาษณ์ชักจูงให้ร่วมโครงการ 7.2 ล้านคน ล้านคนจาก 11.4 ล้านคน ส่วนนี้รัฐบาลก็อุดหนุนเงินอีกประมาณเดือนละ 100-200 บาทต่อคน หรือรวมทั้งหมดประมาณ 24,000 ล้านบาทต่อปี รวมกันเป็นวงเงินเบื้องต้น 60,000 ล้านบาทต่อปี

โดยคนกลุ่มนี้จะแบ่งโครงการเป็น 2 ประเภท 1) กลุ่มเกษตรกร ซึ่งคิดเป็นประมาณ 73% ของคนจน ก็จะมีโครงการอบรมพัฒนาความรู้ต่างๆ ที่เหมาะสม 2) กลุ่มลูกจ้าง ก็จะประสานกระทรวงแรงงานฝึกอบรมและหางานทำที่ดีขึ้น ส่วนที่อยากค้าขายจะประสานกระทรวงพาณิชย์และธนาคารออมสินทำโครงการแฟรนไชส์ มีการอบรม การฝึกฝนจากภาคธุรกิจ รวมไปถึงอุดหนุนทุนราคาถูกให้ด้วย ขณะที่กลุ่มคนที่เหลืออีก 3 ล้านคนที่ไม่ประสงค์จะพัฒนาตนเอง ส่วนหนึ่งคือกลุ่มคนสูงอายุ จะประสานกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดทำโครงการพัฒาคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ โดยอาจจะไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นมาก แต่ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ อีกส่วนคือกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ซึ่งก็เข้าใจได้

“ในระยะที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจมหภาคก็ดีขึ้นมาก แต่ถามว่าทำไมเศรษฐกิจมหภาคถึงสำคัญ นั้นเพราะว่าเป็นการช่วยสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศ พอประเทศมั่งคั่งขึ้นก็จะค่อยๆ ไหลลงไปจากมหภาค แต่ว่าถ้าจะให้ไหลลงไปเร็วๆ ตามธรรมชาติ เศรษฐกิจมหภาคก็ต้องโตสูงมาก อย่าง 4.8% ในไตรมาสแรกก็ไหลได้เร็วขึ้นแล้ว แต่รัฐบาลอยากจะเร่งอีก จึงมีโครงการไทยนิยมยั่งยืน ช่วยปั๊มความรวยจากข้างบนลงไปให้คนกลุ่มฐานรากเป็นอยู่ดีขึ้น โดยภายหลังการพัฒนาก็มีเป้าหมายว่าจะให้พ้นจากเส้นความยากจนที่ 30,000 บาทต่อปีขึ้นมาประมาณ 50% แต่กระทรวงการคลังยังไม่แน่ใจมากนักก็ตั้งไว้ว่าให้ถึง 20% ใน 1 ปีก่อน แต่เป้าหมายภายในคือ 50% จะหาทางเข็นขึ้นไปให้ได้ โดย KPI หลักคือจะดูรายได้ที่เพิ่มขึ้นพ้นจากเส้นความยากจนได้กี่คน เราจะไม่วัดแบบว่าอบรมไปแล้วกี่คนๆ จะวัดตรงๆ ที่การยกระดับรายได้เลย” นายอภิศักดิ์ กล่าว

ขณะที่นายกฤษฎา กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯมีงบภายใต้โครงการนี้ 24,000 ล้านบาท ที่นำไปฝึกและพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรกรที่ผ่านมาคัดเลือกแล้ว ทางด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง รวม 21 โครงการ รวมทั้งมีโครงการส่งเสริมพัฒนาสถาบันเกษตรกร และให้เงิน 1,700 ล้านบาทกับสหกรณ์ 307 แห่งนำไปเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ตลอดจนมีโครงการช่วยอำนวยความสะดวกในการประกอบอาชีพเกษตรกร เช่น การจัดหาแหล่งน้ำทั้งในและนอกเขตชลประทาน

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้รับงบประมาณ 821 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ จะเน้นไปที่การพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชนให้เกิดความยั่งยืน ตั้งแต่สร้างสินค้าคือ OTOP สร้างเรื่องราวเรียกว่า “ค้นเรื่อง” มาขาย และสุดท้ายคืออบรมคนเล่าเรื่อง นอกจากนี้ จะร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทำการตลาดให้ชุมชนท่องเที่ยวด้วย

“เป้าหมายสำคัญคือให้ประชาชนเห็นช่องทางว่าการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการยกระดับความเป็นอยู่ได้ ขายเรื่องราว มีคนเล่าเรื่องได้ สร้างวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ใช่แค่ซื้อของโอทอปแล้วก็ไปแบบเดิม มีเรื่องราวให้นักท่องเที่ยวอยู่ต่ออีก รายได้ก็จะเพิ่มขึ้นไปอีกขั้น” นายวีระศักดิ์ กล่าว

ขณะที่นายศิริ กล่าวว่า ได้จัดงบ 3,000 ล้านบาทเพื่อจัดทำสถานีสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ 5,000 ชุด ไปให้เกษตรกรชาวสวนสูบน้ำใช่โดยไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้า ขาวยลดต้นทุนการผลิตไปในตัว โดยสามารถใช้ได้นานถึง 20 ปี

สุดท้าย ด้านนายสุวพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 79,000 แห่ง ยื่นของบฯ ได้แห่งละ 300,000 บาท รวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเอาไปต่อยอดโครงการประชารัฐ ส่วนกอบศักดิ์ กล่าวว่า จะร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดทำบิ๊กดาต้าข้อมูลของพื้นที่ในชนบท ในอนาคตจะได้เห็นว่าแต่ละพื้นที่มีพัฒนาการอย่างไรบ้าง

ไฟเขียวงบกลาง 145 ล้าน ทำ EIA – รถไฟทางคู่สู่ “อีอีซี”

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติการขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 145.30 ล้านบาท

โดยการดำเนินงานในโครงการดังกล่าวเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งตามแทนทางการพัฒนาพื้นที่อีอีซี โดยจะมีการปรับปรุงทางรถไฟเดิม ปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณและการปัญหาจุดตัดผ่านเสมอระดับ ช่วงหัวหมาก-สถานีชุมทางศรีราชา ระยะทาง 115 กิโลเมตร และเพิ่มเส้นทางรถไฟใหม่อีกหนึ่งเส้นทางช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 46 กิโลเมตร

รวมไปถึงงานก่อสร้างทางคู่ ช่วงชุมทางศรีราชา-ชุมทางเขาชีจรรย์-มาบตาพุด และชุมทางเขาชีจรรย์-สัตหีบ และก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองบริเวณชุมทางศรีราชา และชุมทางเขาชีจรรย์ ระยะทางประมาณ 85 กิโลเมตร

“การขออนุมัติงบประมาณเพื่อทำการศึกษาความเหมาะสมฯ และการจัดทำอีไอเอนั้นแสดงให้เห็นว่าโครงการรถไฟทางคู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งตามแนวทางการพัฒนาพื้นที่อีอีซีนั้นได้เริ่มดำเนินการแล้ว”  พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ตีกลับ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ปรับแก้ตัวชี้วัด – คาดประกาศใช้ ก.ค. นี้

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้สภาพัฒน์ฯ ได้เสนอร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ประกอบไปด้วยยุทธศาสตร์ 6 ด้าน 6 ตัวชี้วัด ต่อที่ประชุม ครม. อย่างไรก็ตามในครั้งนี้ ครม. มีมติให้สภาพัฒน์รับความเห็นจาก 39 หน่วยงานไปแก้ไขร่างยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว ก่อนจะนำเสนอให้ ครม. พิจารณาอีกครั้งในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

“ความเห็นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับแนวทาง และตัวชี้วัดบางตัวที่ยังมีความไม่ชัดเจน อาจจะยากในการวัด จึงให้สภาพัฒน์ฯ นำกลับไปปรับแก้ก่อนนำเข้า ครม. อีกครั้งในวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 8 มิถุนายน 2561 โดยจะมีระยะเวลาในการพิจารณา 30 วัน หาก สนช. เห็นชอบจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งคาดว่าภายในเดือนกรกฎาคม 2561 จะมีร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อย่างเป็นทางการ” นายดนุชา กล่าว

ตั้ง “ณัฐชาติ จารุจินดา” นั่งประธานบอร์ด ขสมก.

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติให้กรรมการอื่นที่ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พ้นจากตำแหน่งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 และแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการบริหารกิจการของ ขสมก.

โดยบอร์ด ขสมก. ชุดใหม่ ประกอบด้วย 1. นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานกรรมการ 2. พล.อ. วราห์ บุญญสิทธิ์ กรรมการ 3. น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ กรรมการ 4. นายสมศักดิ์ ห่มม่วง กรรมการ 5. นายธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ กรรมการ 6. นายยุกต์ จารุภูมิ กรรมการ 7.นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ กรรมการ 8. นายชัยชนะ มิตรพันธ์ กรรมการ 9. นายวันชัย รัตนวงษ์ กรรมการ และ 10. นายวิชิต จรัสสุขสวัสดิ์ กรรมการ

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ จำนวน 9 คน ดังนี้ 1. นายประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ 2. นางนันทวรรณ วิจิตรวาทการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสาธารณสุข 3. นายปกป้อง ศรีสนิท กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 4. นางทิชา ณ นคร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองสิทธิสตรีหรือสิทธิเด็ก 5. นายจิรชัย มูลทองโร่ย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสาร/ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค 6. นางสมศรี เผ่าสวัสดิ์ 7. นายอิศรา ศานติศาสน์ 8. น.ส.ลักขณา เติมศิริกุลชัย และ 9. นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรเอกชนที่มีวัตถุประสงค์มิใช่เป็นการแสวงหากำไร และดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป

อ่านมติ ครม. วันที่ 22 พฤษภาคม 2561เพิ่มเติมที่นี่