ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% ต่อเนื่อง 3 ปี ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังจับตาการจ้างงาน – หนี้ครัวเรือน

กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% ต่อเนื่อง 3 ปี ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังจับตาการจ้างงาน – หนี้ครัวเรือน

16 พฤษภาคม 2018


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงข่าวการประชุม กนง. ครั้งที่ 3/2561 โดยมีกรรมการ 1 ท่านลาประชุม ว่า กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% นับเป็นการคงดอกเบี้ยต่อเนื่องมา 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งเป็นมติเอกฉันท์อีกครั้งหลังจากครั้งที่ผ่านมามีกรรมการ 1 ท่านเห็นว่าควรขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากความกังวลด้านเสถียรภาพของระบบการเงินในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานาน

ทั้งนี้ การคงดอกเบี้ยในครั้งนี้ กนง. ให้เหตุผลว่า แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยได้รับแรงส่งจากทั้งภาคต่างประเทศและอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้นและดีกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แต่ต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน โดยรวม กนง. เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ

ในรายละเอียดเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยได้รับแรงส่งจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว แม้ว่าการจ้างงานมีสัญญาณปรับดีขึ้น แต่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้ส่งผลดีต่อรายได้ครัวเรือนและการจ้างงานอย่างทั่วถึง อีกทั้งหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ซึ่ง กนง. เห็นว่าปัญหาดังกล่าวต้องแก้ไขด้วยนโยบายเชิงโครงสร้าง

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจ และยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงภายนอกที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เช่น ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐอเมริกา มาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐอเมริกา รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

“มติที่กลับมาเป็นเอกฉันท์ไม่เกี่ยวข้องกับกรรมการที่ลาประชุม เพราะบรรยากาศการหารือยังไม่ได้เปลี่ยนไป ยังคงพูดถึงการรักษาสมดุลของเป้าหมายนโยบายที่ต้องดูและทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพของระบบการเงิน แต่สิ่งที่ดีขึ้นชัดเจนคือภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวทั้งปัจจัยต่างประเทศและในประเทศ ตั้งแต่ส่งออกและท่องเที่ยว อย่างเรื่องสนามบินก็บริหารจัดการได้ดีกว่าที่คาด ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ด้านปัจจัยภายในประเทศก็ดีขึ้น เช่น การบริโภคสินค้าคงทนเห็นสัญญาณดีขึ้น เห็นการจ้างงานภาคการผลิตที่ดีขึ้นจากที่เคยกังวล เห็นรายได้การเกษตรที่ดีขึ้น”

แต่อีกด้านก็มีปัจจัยโครงสร้าง เช่น การย้ายแรงงานจากภาคการผลิตไปยังภาคบริการหรือการเกษตร ซึ่งรายได้ต่ำกว่าภาคการผลิต รวมไปถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจจะกดดันกำลังซื้อในกลุ่มที่มีรายได้น้อยอยู่ คือเห็นการขยายตัวแต่ไม่ได้เร่งขึ้น เทียบกับกลุ่มปานกลางและสูงที่สะท้อนจากการบริโภคสินค้าคงทนที่เพิ่มขึ้น ส่วนการปรับประมาณการต้องรอดูตัวเลขไตรมาสแรกของสภาพัฒน์ ซึ่งถ้าออกมาดีกว่าคาดก็ต้องมีแนวโน้มจะปรับดีขึ้นอยู่แล้ว แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่ยังไม่เกิดขึ้นด้วยที่อาจจะมากระทบ

นายจาตุรงค์ กล่าวว่าปัจจัยเสี่ยงครั้งนี้เพิ่มมากขึ้นจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกาและการตอบโต้ของประเทศจีน แต่ยังต้องรอดูความชัดเจนในครั้งต่อไปว่าจะมีผลกระทบอย่างไร เพราะปัจจุบันยังอยู่ในช่วงเจรจาอยู่ อย่างไรก็ตาม กนง. ได้ให้ติดตามผลกระทบในแต่ละภาคธุรกิจที่อาจจะได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน ทั้งกลุ่มผู้ส่งออกที่อาจจะกระทบโดยตรงจากการค้าโลกหรือทางอ้อมจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของตลาดและสายพานการผลิต ซึ่งไทยเป็นส่วนหนึ่งในนั้นทั้งกับสหรัฐอเมริกาและจีน แต่ที่ประชุมคาดว่าผลกระทบที่จะมาถึงไทยน่าจะมาจากการลดลงของการค้าโลกโดยรวมเป็นหลักมากกว่า

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ประเมินไว้ โดยเป็นผลจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จากราคาอาหารสดที่อยู่ในระดับต่ำตามผลผลิตที่ออกมามากจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่้า รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต เช่น การขยายตัวของธุรกิจ e-commerce และการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น ส้าหรับการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนโดยรวมปรับสูงขึ้น

“อัตราเงินเฟ้อกลับมาเข้ากรอบในเดือนเมษายนที่ 1% แล้วตามสัญญาและคาดว่าทั้งปีจะเป็นไปตามที่คาดไว้ อาจจะมีตัวเร่งคือราคาน้ำมันที่คิดว่าจะปรับสูงขึ้นกว่าการประเมินครั้งที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารสดยังคงผันผวนอยู่ค่อนข้างมาก เป็นความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบได้ยังคงต้องติดตามต่อไป” นายจาตุรงค์ กล่าว

ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นบ้าง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี เงินบาทเทียบสกุลเงินของประเทศคู่ค้าคู่แข่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยในช่วงที่ผ่านมา ในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวน โดยมีสาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงิน การคลัง และการค้าระหว่างประเทศของประเทศอุตสาหกรรมหลัก กนง. จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป

“ในช่วงที่ผ่านมาประเทศเกิดใหม่ก็มีเงินไหลออกมากน้อยแตกต่างกัน สำหรับของไทยถือว่าอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับภูมิภาค ขณะที่ผลกระทบที่แต่ละประเทศได้รับก็ขึ้นอยู่กัยปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งของไทยมีเงินสำรองมากเพียงพอรับความผันผวนได้และยังมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินอยู่ ส่วนที่ถามว่าค่าเงินที่อ่อนขึ้นและการกลับมาเพิ่มการออกพันธบัตรเหมือนเดิมแสดงว่า กนง. กังวลเรื่องค่าเงินแข็งลดลงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่แต่ละช่วงเวลา แต่ความผันผวนยังคงอยู่แน่นอน เพราะปัจจัยจากต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก” นายจาตุรงค์ กล่าว

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks)

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้ต่ำและธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ