ThaiPublica > สู่อาเซียน > คณะที่ปรึกษารัฐบาล ดร.มหาธีร์ เร่งดันนโยบายที่หาเสียงใน 100 วัน “โรเบิร์ต ก๊วก” เศรษฐีเบอร์หนึ่งมาเลเซียร่วมทีม

คณะที่ปรึกษารัฐบาล ดร.มหาธีร์ เร่งดันนโยบายที่หาเสียงใน 100 วัน “โรเบิร์ต ก๊วก” เศรษฐีเบอร์หนึ่งมาเลเซียร่วมทีม

17 พฤษภาคม 2018


คณะที่ปรึกษาอาวุโสรัฐบาล ดร.มหาธีร์
ที่มาภาพ
: http://says.com/my/news/the-5-members-of-tun-m-s-council-of-elders-and-their-bad-ass-achievements#cxrecs_ss

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 หลังจากที่ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของมาเลเซีย ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี 3 กระทรวงสำคัญ คือ นายลิม กวนเอ็ง มุขมนตรีรัฐปีนัง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายโมฮัมหมัด ซาบู เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนาย มุห์ยิดดิน มัสซิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วนอีก 7 กระทรวงที่เหลือรอให้พรรรคร่วมรัฐบาล (Pakatan Harapan) เสนอชื่อมาให้พิจารณา นอกจากนี้จะแต่งตั้งนางวัน อาซีซะห์ วัน อิสมาอิล ภริยานายอันวาร์ อิบราฮิม ให้เป็นรองนายกรัฐมนตรี

ในการแถลงข่าวได้ประกาศแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาอาวุโส (Council of Elders) ขึ้นเป็นครั้งแรก ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและมีวัยวุฒิสาขาๆ ต่าง 5 ราย ดร.มหาธีร์ กล่าวว่า คณะที่ปรึกษาฯ จะช่วยเหลือรัฐบาลในด้านการบริหาร เพราะมีประสบการณ์จากการเคยร่วมงานกับรัฐบาลมาก่อน เนื่องจากรัฐบาลใหม่มีความรู้เพียงน้อยนิดถึงขั้นที่ว่าไม่มีประสบการณ์ในด้านการบริหารประเทศ

Council of Elders จะให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลผสม Pakatan Harapan (PH) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการเงินในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล โดยที่คณะที่ปรึกษานี้จะมีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดาอิม ไซนุดดิน เป็นหัวหน้าทีม ส่วนที่ปรึกษารายอื่น ได้แก่ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย เซติ อักห์ตาร์ อาซิซ อดีตประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารปิโตรนาส ฮัสซัน เมริกัน เศรษฐีอันดับหนึ่งของมาเลเซียจากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes โรเบิร์ต ก๊วก และนักเศรษฐศาสตร์แถวหน้า ดร.โจโม ควาเม ซุนดาราม

ดร.มหาธีร์ กล่าวว่า คณะที่ปรึกษาซึ่งถือว่าเป็นมือฉมังที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเงิน จะช่วยรัฐบาลใหม่วางแนวนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลสามารถทำตามนโยบายที่ได้ประกาศในช่วงรณรงค์หาเสียง โดยจะเร่งดำเนินการให้ได้ภายใน 100 วันตามที่ให้คำมั่นกับประชาชน ดังนั้นคณะที่ปรึกษาจะมีเวลาทำงานเพียง 100 วัน โดยที่จะรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรี

คณะที่ปรึกษายังจะตรวจสอบในหลายประเด็นที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งด้วยประสบการณ์ของคณะที่ปรึกษานี้จะช่วยให้รัฐบาลแก้ไขและจัดการกับประเด็นที่อาจจะเกิดขึ้นได้

โรเบิร์ต ก๊วก รวยสุดอาวุโสสุด

โรเบิร์ต ก๊วก เศรษฐีอันดับหนึ่งของมาเลเซีย ที่มาภาพ: http://www.scmp.com/week-asia/politics/article/2145849/hong-kong-billionaire-robert-kuok-advise-mahathir-during-his

ในบรรดาคณะที่ปรึกษา โรเบิร์ต ก๊วก นับว่ามีอาวุโสสูงสุดเพราะมีวัยถึง 94 ปีโดยรายงานข่าวของStraits Times ให้ข้อมูลของคณะกรรมการแก่ละคนไว้ดังนี้

โรเบิร์ต ก๊วก มีฐานธุรกิจที่ฮ่องกง เป็นเศรษฐีที่รวยอันดับหนึ่งของมาเลเซียและอันดับหกของเอเชียจากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes มีความมั่งคั่ง 15.4 พันล้านดอลลาร์ จากกลุ่มธุรกิจก๊วกด้านอสังหาริมทรัพย์และปาล์ม ซึ่งเขาทำหน้าที่บริหารเป็นหลักร่วมกับสมาชิกในครอบครัว

โรเบิร์ต ก๊วก ซึ่งรู้จักกันดีในนามราชาน้ำตาลแห่งเอเชีย (Sugar King of Asia) โดยปกติแล้วมักไม่ค่อยปรากฏตัวให้สื่อเห็นมากนัก ได้เริ่มก่อตั้งโรงแรมแชงกรี-ลาในปี 1971 อีกด้วย ธุรกิจของก๊วกกรุ๊ปในระบบเศรษฐกิจมาเลเซียมีหลากหลาย ตั้งแต่ธุรกิจการเกษตร ผลิตอาหาร จำหน่ายแผ่นฟิล์ม อสังหาริมทรัพย์ โดยได้ลงทุนในไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตแป้งมัน อาหารสัตว์ เหมืองแร่ ธุรกิจการเงิน โรงแรม ห้องเย็น ธุรกิจการค้าและสิ่งพิมพ์ ก๊วกกรุ๊ปยังได้กระจายธุรกิจการลงทุนไปในหล่ายประเทศ ทั้งสิงคโปร์ ไทย จีน ฟิจิและออสเตรเลีย

ความมั่งคั่งของโรเบิร์ต ก๊วก หลักๆ มาจากการการถือหุ้นในวิลมาร์อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทค้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

สำหรับโรเบิร์ต ก๊วก ซึ่งเกิดที่รัฐยะโฮร์ทางตอนใต้ของมาเลเซียแล้ว การรับตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐบาลครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำหน้าที่ที่ปรึกษากับผู้มีอำนาจในวงการเมือง

ในหนังสือความทรงจำของโรเบิร์ต ก๊วก ที่จัดพิมพ์ในปีที่แล้ว โรเบิร์ต ก๊วก เล่าว่า เขาเข้าถึงผู้นำรุ่นเก่าๆ ของมาเลเซียได้ง่าย ทั้งนายกรัฐมนตรีตุนกู อับดุล ราะห์มาน และนายกรัฐมนตรีอับดุล ราซัก ผู้พ่อของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งล่าสุด

การแต่งตั้งโรเบิร์ต ก๊วก มีขึ้นหลังจากมีความขัดแย้งในเดือนมีนาคม ซึ่งคนของนาจิบ ราซัก กล่าวว่า เขาสนับสนุนทางการเงินให้กับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล แต่โรเบิร์ต ก๊วก ปฏิเสธข้อกล่าวหา พร้อมกับบอกว่าจะดำเนินคดีตามกฎหมาย

ในหนังสือเล่มเดียวกัน เขาได้วิจารณ์นโยบายเสมอภาคของมาเลเซียที่มีเป้าหมายสร้างความเท่าเทียมกันในด้านการศึกษาและธุรกิจระหว่างคนมาเลย์และกลุ่มคนเชื้อสายจีนและอินเดีย ( Bumiputra นโยบายภูมิบุตรของมาเลเซีย รัฐธรรมนูญมาเลเซีย มาตรา 153 บัญญัติให้ฐานะพิเศษแก่กลุ่มเชื้อชาติมาเลย์ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ที่เรียกว่าภูมิบุตร นโยบายภูมิบุตรหรือลูกของแผ่นดิน ให้สิทธิพิเศษแก่คนเชื้อสายมาเลย์ในการทำธุรกิจ การศึกษา รับราชการ ประมูลงานของรัฐ เป็นต้น เพื่อให้สามารถทำมาหากินเท่าเทียมกับกลุ่มคนเชื้อสายจีนและอินเดีย)

ดาอิม ไซนุดดิน มือหนึ่งแก้วิกฤติเศรษฐกิจ

ดาอิม ไซนุดดิน อดีตรัฐมนตรีคลัง ที่มาภาพ:
http://images.says.com/uploads/story_source/source_image/613561/f744.jpg

ดาอิม ไซนุดดิน อดีตรัฐมนตรีคลัง วัย 80 ปี เรียกขานกันว่า นักพยากรณ์ เพราะมักทำนายผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มาได้แม่นยำ แต่ครั้งล่าสุดได้สร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองหลังจากที่ประกาศยืนอยู่ข้างพรรคตรงข้ามรัฐบาลในนาทีสุดท้าย

ดาอิม ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 2 ครั้งช่วงปี 1984-1991 ในช่วงที่ ดร.มหาธีร์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตลอด 22 ปี นอกจากนี้ยังถูกกล่าวถึงในฐานะที่ผู้นำวางกลยุทธ์ดึงมาเลเซียออกจากวิกฤติเศรษฐกิจ ในช่วงปี 1980-1990 และได้กลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังอีกรอบในปี 1999-2001

ผลงานที่โดดเด่นของ ดาอิม คือ ในช่วงที่ทำหน้าที่รัฐมนตรีคลังครั้งแรกได้ตัดสินใจชำระคืนหนี้ต่างประเทศก่อนกำหนดจำนวน 6.8 พันล้านริงกิตในช่วงปี 1987-1989 รวมทั้งยังได้วางยุทธศาสตร์การปฏิรูป 4 ด้าน ได้แก่ การระดมพลังจากภาคเอกชน การสนับสนุนบทบาทภาคเอกชน นโยบายต่างประเทศเชิงรุก และการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนยังได้สร้างโอกาสเพื่อให้ผู้ประกอบการมาเลเซียสามารถที่จะแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ

เซติ อักห์ตาร์ อาซิซ หญิงแกร่ง

เซติ อักห์ตาร์ อาซิซ ที่มาภาพ:http://says.com/my/news/the-5-members-of-tun-m-s-council-of-elders-and-their-bad-ass-achievements#cxrecs_ss

เซติ อักห์ตาร์ อาซิซ วัย 70 ปี อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางคนที่ 7 (Bank Negara) แต่เป็นผู้ว่าการหญิงรายแรกของมาเลเซีย ด้วยการแต่งตั้งโดย ดร.มหาธีร์ในปี 2000 หลังจากที่รักษาการมานานถึง 2 ปี ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งเรื่องการตรึง (Peg) ค่าเงินริงกิตเพื่อควบคุมกระแสเงินทุนไหลเข้าออก ทั้งนี้ธนาคารกลางในช่วงที่เซติยังทำหน้าที่ผู้ว่าการนั้นได้กระตุ้นให้มีการดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัท วันมาเลเซีย ดีเวลลอปเมนท์เบอร์ฮัด (1MDB) กองทุนของรัฐ หลังจากที่ได้สั่งปรับกองทุนไปด้วยจำนวนเงินที่ไม่เปิดเผย ในช่วงไม่กี่วันก่อนที่ครบวาระการทำหน้าที่

เซติ ยังมีบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจการเงินในช่วงปี 1997-1999 อีกด้วย จนได้รับรางวัล Lifetime Achievement Award ในงานมอบรางวัล Central Banking Awards 2016

ผลงานที่โดดเด่นของเซติ คือ มีบทบาทสำคัญในช่วงวิกฤติการเงินด้วยการปรับปรุงระบบการเงินของมาเลเซียให้มีความทันสมัยมากขึ้น ผ่านการปฏิรูปและพัฒนาสถาบันการเงินในประเทศ พร้อมกับรักษาความเป็นอิสระของธนาคารกลางด้วยการออกกฎหมายธนาคารกลาง (Central Bank of Malaysia Act 1999) และยังผลักดันให้มีการก่อตั้งศูนย์การศึกษานานาชาติด้านอิสลามิกไฟแนนซ์

ด้วยเหตุที่เป็นผู้หญิงคนแรกที่เข้าทำหน้าที่ผู้ว่าการ ธนาคารกลาง ส่งผลให้มีผู้หญิงอีกหลายคนที่มีความสามารถได้ขึ้นมาทำหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงในภาคธนาคาร

ฮัสซัน เมริกัน มือวางด้านพลังงาน

ฮัสซัน เมริกัน อดีตประธานเปโตรนาส ที่มาภาพ:
http://www.energycouncil.com/event-speakers/tan-sri-hassan-marican/

ฮัสซัน เมริกัน อดีตประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือเปโตรนาส ในช่วงปี 1995-2010 ปัจจุบันมีวัย 65 ปี รับตำแหน่งประธานบริษัท เซมป์คอร์ปมารีน สิงคโปร์พาวเวอร์ พาวิลลเยนเอ็นเนอร์ยี่ และ ลัน ถิง โฮลดิ้ง รวมทั้งยังเป็นกรรมการใน ซาราวักเอ็นเนอร์ยี่ แลมเบิร์ตเอ็นเนอร์ยี่ และ เอ็มเอช เมริกัน แอดไวซอรี่ นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาอาวุโสด้านต่างประเทศ ของเทมาเสก อินเตอร์เนชั่นแนล แอดไวเซอร์

ฮัสซัน เมริกัน ได้รับการยอมรับกันว่าสร้างความเติบโตให้กับเปโตรนาสจากบริษัทน้ำมันเล็กเป็นบริษัทที่ติด 1 ใน 500 อันดับบริษัทใหญ่ของโลก ที่มียอดขายสูงสุด

ฮัสซัน เมริกัน ยังมีบทบาทสำคัญในการขยายธุรกิจเปโตรนาสไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ ด้วยการผลิตเครื่องยนต์เพื่อการพาณิชย์เป็นรายแรกของมาเลเซีย ต่อมาได้ผลิตรถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ NGV เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังทให้ำเปโตรนาสเป็นบริษัทน้ำมันรายแรกที่ประสบความสำเร็จในการขุดบ่อน้ำมัน 3 บ่อในซาราวัก

โจโม ควาเม ซุนดาราม เศรษฐศาสตร์นอกกระแส

โจโม ควาเม ซุนดาราม ที่มาภาพ
: http://images.says.com/uploads/story_source/source_image/613565/608e.jpg

โจโม ควาเม ซุนดาราม นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส เคยทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้รางวัลลีออนเทียฟ หรือ Leontief Prize (ชื่อรางวัลถูกตั้งตามชื่อของนักเศรษฐศาสตร์ Wassily Leontief ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบล) ในปี 2007 ซึ่งเป็นรางวัลเศรษฐศาสตร์นอกกระแสที่สร้างความคิดใหม่ๆ ปัจจุบันดูแลโครงการศึกษาระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัย Tun Hussein Onn และสถาบันยุทธศาสตร์

ศาสตราจารย์โจโม นักวิชาการเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการเมืองกับการพัฒนา โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีงานเขียนหลายเล่มและงานวิชาการหลายชิ้น ในช่วงที่ทำงานกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ ได้จัดทำข้อเสนอเพื่อปรับปรุงนโยบายเศรษฐกิจใหม่และนโยบายปฏิรูปช่วงหลังปี 1990

สูงวัยแต่ทำงานไว

แม้จะเปี่ยมไปด้วยวัยวุฒิ แต่คณะที่ปรึกษาอาวุโสก็ทำงานด้วยความรวดเร็ว เพราะหลังการประกาศแต่งตั้งก็ได้จัดการประชุมทันที โดยมีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ดาอิม ไซนุดดิน ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งกินเวลาไปถึงค่อนคืน และมีสมาชิกเข้าประชุมครบ ยกเว้น โรเบิร์ต ก๊วก ที่อยู่ต่างประเทศ

ดาอิม ไซนุดดิน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเบอร์นามา (Bernama) หลังการประชุมเสร็จสิ้นว่า คณะที่ปรึกษาได้รับฟังการบรรยายสรุปข้อมูลภาวะเศรษฐกิจ สถานะหนี้ของประเทศ ค่าเงินริงกิต ภาษีสำหรับสินค้าและบริการ (GST) การอุดหนุนพลังงาน และอื่นๆ

เขากล่าวอีกว่า คณะที่ปรึกษาจะเชิญหน่วยงานด้าน PPP ที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงที่เกี่ยวข้อง และรัฐวิสาหกิจ มาให้ข้อมูลเรื่องโครงการลงทุนขนาดใหญ่

นอกจากนี้ คณะที่ปรึกษาไม่เพียงให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลเท่านั้น แต่จะตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุน 1MDB ด้วย โดยจะมีทีมที่รับผิดชอบเป็นพิเศษ ซึ่ง ดาอิม ไซนุดดิน เปิดเผยว่า ได้กำหนดตัวบุคคลที่จะทำหน้าที่ไว้เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามผลการตรวจสอบจะนำเสนอคณะรัฐบาล ดังนั้นจึงขอให้นักลงทุนและผู้จัดการกองทุนมีความเชื่อมั่นว่าปัญหาที่มีผลกระทบเศรษฐกิจจะได้รับการแก้ไขและหนี้ของประเทศจะไม่เพิ่มขึ้นอีก

สำหรับประเด็นการยกเลิกภาษี GST ที่นักลงทุนกังวลนั้น เขากล่าวว่า ตลอด 57 ปีก่อนไม่มีภาษี GST ก็ไม่เห็นประเทศจะมีปัญหา ประเด็นสำคัญขณะนี้คือ การขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน ส่วนปัญหาอื่นที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนเช่นกัน คือ ปริมาณอาคารสำนักงานและบ้านจัดสรรที่อยู่ในภาวะล้นตลาด

ดาอิม ไซนุดดิน กล่าวว่า คณะที่ปรึกษาจะประชุมทุกวันตลอด 100 วัน เพื่อทำงานให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่กำหนด

ในวันที่ 14 พฤษภาคม เซติ อักห์ตาร์ อาซิซ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวผ่าน kiniTV ถึงการยกเลิกภาษี GST ว่า ต้องดำเนินการให้ถูกต้องและสอดคล้องกับกฎหมาย และกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งคณะที่ปรึกษาได้ประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การยกเลิกผ่านกระบวนการพิจารณาถึงผลกระทบต่อรอบด้าน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการยกเลิกภาษี GST เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนในกลุ่มรายได้น้อยและกลุ่มรายได้ปานกลาง ทั้งนี้ คณะที่ปรึกษาจะประกาศให้ประชาชนทราบถึงแผนงานที่จะดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม รวมไปถึงด้านสภานิติบัญญัติ

The Star online รายงานว่า เซติ อักคาร์ อาซิซ กล่าวว่า ประเทศกำลังอยู่ในช่วงการปรับตัว และเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกำลังขยับขึ้นเช่นกัน ซึ่งราคาน้ำมันดิบที่ซื้อขายกันเหนือระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลล์ ทำให้มีช่องในการปรับตัว ดังนั้น เป็นเวลาที่เหมาะสม ควรต้องใช้โอกาสนี้ในการประกาศใช้นโยบายต่างๆ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงความแข็งแกร่งและความสามารถของสถาบันหลักทั้งธนาคารกลางและกระทรวงการคลังด้วย

เซติ ได้ประชุมร่วมกับสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง Moody’s Investor S & P Global เพื่อให้ความชัดเจนด้านนโยบายของรัฐบาลใหม่รวมทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจมาเลเซีย ตลอดจนการยกเลิกภาษี GST

ประเด็นท้าทาย

เซาต์ไชนามอร์นิงโพสต์ ประเมินประเด็นที่ท้าทายรัฐบาล ดร.มหาธีร์ ไว้หลายข้อ ที่จะต้องนำมาตรการเศรษฐกิจออกใช้อย่างรวดเร็วภายใน 100 วันตามที่หาเสียงไว้ โดยข้อแรก คือ การยกเลิกภาษี GST ที่มีอัตรา 6% ซึ่งผลบังคับใช้เมื่อปี 2015 และเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เพราะเป็นต้นเหตุของค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และการนำมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานกลับมาใช้

ในปี 2017 ภาษี GST ที่จัดเก็บได้มีมูลค่า 41.5 พันล้านริงกิต คิดเป็นสัดส่วน 18% ของภาษีที่เก็บได้ทั้งหมด ซึ่ง ดร.มาหธีร์ กล่าวว่า จะนำภาษีการขายและบริการ (SST) กลับมาใช้ ซึ่งในปีสุดท้ายก่อนยกเลิก ภาษี SST จัดเก็บได้ 17 พันล้านริงกิต

นักวิเคราะห์มองว่า การยกลิกภาษี GST จะทำให้ฐานรายได้ของรัฐบาลแคบลง และทำให้ต้องพึ่งพารายได้จากน้ำมันมากขึ้น และแม้ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก จะถูกเพ่งเล็งกรณีกองทุน 1MDB แต่ก็ได้รับการชื่นชมด้านการปฏิรูปการคลัง ซึ่งรวมถึงการยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมันและการนำภาษี GST มาใช้

รายงานข่าว Bloomberg วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจว่า ขณะนี้เศรษฐกิจมาเลเซียเติบโตดี โดยในปีก่อนจีดีพีขยายตัว 5.9% และธนาคารกลางคาดว่าจะเติบโต 5.5-6% ในปีนี้ จากการค้าโลกที่กลับมาดีขึ้นและความต้องการภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ความตึงเครีดยทางการค้าโลกยังมีอยู่ และการส่งออกมีสัดส่วน 2 ใน 3 ของจีดีพี เศรษฐกิจจึงมีความเสี่ยงบ้าง

สำหรับผลการยกเลิกภาษี GST นั้น รายงานข่าวอ้าง Moody’s Investor Service ที่ว่า รายละเอียดของนโยบายที่ประกาศช่วงหาเสียงยังมีไม่มากพอ แต่นโยบายบางด้านจะมีผลในทางลบต่ออันดับความน่าเขื่อถือของมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกภาษี GST โดยไม่มีมาตรการอื่นมารองรับรายได้ที่หายไปและจะทำให้เศรษฐเพิ่มการพึ่งพารายได้จากน้ำมันและทำให้ฐานการจัดเก็บรายได้ของรัฐแคบลง

ก่อนหน้านี้ อดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบกล่าวไว้ว่า การยกเลิกภาษี GST จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 416 พันล้านริงกิต
การยกเลิกภาษี GST การนำมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันจะเพิ่งแรงกดดันให้กับการขาดดุลงบประมาณ ที่มาเลเซียพยายามลดลงมาได้เป็น 3% ของจีดีพี

มาเลเซียมีโอกาสที่จะประสบปัญหาการลงทุนลดลงอย่างรุนแรง หาก ดร.มหาธีร์ มีนโยบายกีดกันการลงทุนจากจีน ในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน

สำหรับนโยบายระยะยาวที่ปรับปรุงระบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และการเพิ่มการเรียนด้านอาชีวศึกษา จะเพิ่มศักยภาพด้านการเติบโตให้กับมาเลเซีย

ทางด้านนโยบายการเงินนั้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาธนาคารกลางได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.25% ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ หลังจากที่ปรับดอกเบี้ยไปในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และตลาดคาดว่าธนาคารกลางจะไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้นในเร็วๆ นี้

อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.3% ในเดือนมีนาคม ซึ่งค่าเงินที่แข็งค่าตั้งแต่ปีก่อนมีส่วนลดแรงกดดันด้านราคา ทั้งนี้ รัฐบาลคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.5-3.5% ปีนี้

ส่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน รัฐบาลผสมของ ดร.มหาธีร์ จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของธนาคารกลางที่จะวางยุทธศาสตร์เพื่อทำให้ค่าเงินริงกิตกลับมาอยู่ในระดับศักยภาพปกติภายใน 3 ปี แต่ก็บอกว่า หากจำเป็นก็พร้อมที่จะตรึงค่าเงินริงกิตและนำมาตรการคุมเงินทุนมาใช้เพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงิน

ปีนี้ค่าเงินริงกิตเป็นสกุลเงินที่มีการปรับตัวที่ดีที่สุดในภูมิภาค โดยแข็งค่าขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

เรียบเรียงจาก straitstimes,newstraitstimes,says.com,bernama,SCMP,