ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลแพ่ง ไม่ออกหมายจับ ก.ก. “รพ.กรุงเทพ” – สั่งจัดพยาบาล – เปิดห้อง VIP รักษาฟรี สมาชิก “ไลฟ์พริวิเลจคลับ”

ศาลแพ่ง ไม่ออกหมายจับ ก.ก. “รพ.กรุงเทพ” – สั่งจัดพยาบาล – เปิดห้อง VIP รักษาฟรี สมาชิก “ไลฟ์พริวิเลจคลับ”

17 พฤษภาคม 2018


นางจุฑาทิพย์ สนิทพันธุ์ สมาชิกโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ (แถวแรกคนที่ 2 นับจากขวา)

ตามที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ให้โรงพยาบาลกรุงเทพ (จำเลย) คืนสิทธิรักษาพยาบาลฟรีตลอดชีพแก่นางจุฑาทิพย์ สนิทพันธุ์ และพวกรวม 6 คน ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 928/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ ผบ. 5679/2560 รวมทั้งเปิดสโมสรไลฟ์พริวิเลจคลับ และปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสโมสรตามที่ระบุในแผ่นพับโฆษณา ต่อมานางจุฑาทิพย์ และพวกรวม 6 คน มาร้องเรียนต่อศาลเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 ว่าโรงพยาบาลกรุงเทพได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลแพ่งเพียงบางส่วน จึงขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับคดี และภายหลังศาลได้พิจารณาข้อร้องเรียนของโจทก์ จึงมีคำสั่งให้ออกหมายเรียก กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย มาไต่สวนรวม 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 และวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ตามลำดับ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.00 น. ศาลแพ่ง มีความเห็นว่า ในชั้นนี้ยังไม่สมควรออกหมายจับ แต่มีคำสั่งให้จำเลยจัดให้มีพยาบาล เพื่อประสานงานเกี่ยวกับการใช้บริการของโจทก์ทั้ง 6 คน และหมายเลขโทรศัพท์ที่เป็นหมายเลขเฉพาะ เพื่อใช้ในการติดต่อนัดหมายได้ตลอดเวลา รวมถึงการจัดห้องผู้ป่วยพิเศษ ห้องตรวจแพทย์ และห้องรับรองพิเศษสำหรับโจทก์ทั้ง 6 คน ตามคำแถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวนับแต่วันมีคำสั่ง ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยอื่นที่ไม่ใช่การให้บริการรักษาพยาบาลโดยตรง, การป้องกันโรคโดยแพทย์ และการบริการในเหตุเร่งด่วนฉุกเฉินในการรักษาพยาบาล ให้งดการบังคับคดีไว้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289(2)

รายงานข่าวจากศาลแพ่ง เปิดเผยว่า จากการพิจารณาแผ่นพับโฆษณาที่ระบุว่า ให้สมาชิกโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ (Life Privilege Club) ได้รับเอกสิทธิ์พิเศษ เช่น สามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากศูนย์ Custom Service ที่คอยให้ความช่วยเหลือใน “กรณีฉุกเฉิน” และ “ให้คำแนะนำเบื้องต้น” และมี Member Lounge เพื่อพักผ่อนระหว่างรอแพทย์ หรือรอรับยา รวมทั้งกฎระเบียบข้อบังคับระบุให้มีคลับไลฟ์ พริวิเลจ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการสมาชิก มีสถานที่ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย เลาจน์พักผ่อน สันทนาการ เสริมสร้างความรู้ และอำนวยความสะดวกต่างๆ

จากโฆษณาและกฎระเบียบข้อบังคับดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นการให้บริการแก่สมาชิกที่แตกต่างจากการให้บริการแก่ลูกค้าปกติทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นด้านบริการและสถานที่ แต่เมื่อพิจารณาจากคำแถลงข้อเท็จจริงของจำเลยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 กลับแถลงว่า การให้บริการและการประสานงานของพนักงานจำเลยก่อนยุติโครงการพิพาท เป็นเรื่องวิธีการเฉพาะตัวของพนักงานจำเลยแต่ละคน และจำเลยเพิ่งส่งหมายเลขโทรศัพท์ให้กับสมาชิกใช้ติดต่อนัดหมาย เพื่อลดข้อโต้แย้งในการปฏิบัติตามคำพิพากษาช่วงที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาล แสดงให้เห็นว่านอกจากค่ารักษาพยาบาลแล้ว สมาชิกยังไม่ได้รับการปฏิบัติจากจำเลย เพื่อให้มี “เอกสิทธิ์พิเศษ” แตกต่างจากลูกค้าทั่วๆ ไปเลย

นอกจากนี้ ตามแผ่นพับโฆษณาและกฎระเบียบข้อบังคับได้ระบุถึงการมี Member Lounge และคลับเพื่อบริการสมาชิก แสดงให้เห็นว่า ต้องมีห้อง หรือพื้นที่ที่เป็นสัดส่วนให้บริการแก่สมาชิกโดยเฉพาะ หากพิจารณาจากคำแถลงข้อเท็จจริงของจำเลย กลับไม่ยืนยันว่ามีสิ่งเหล่านั้น แต่กลับแถลงในเชิงปฏิเสธว่า กฎระเบียบ และแผ่นพับโฆษณา ไม่มีการกำหนดรายละเอียดของพื้นที่โดยชัดเจน แต่เพื่อให้เป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยจึงได้จัดให้มีพื้นที่ และห้องดังกล่าว ตลอดจนหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้เป็นการเฉพาะ โดยจำเลยขอสงวนสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายจากโจทก์ทั้ง 6 คน กรณีศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าโครงการพิพาท เป็นสัญญาประกันภัย อาจเป็นการแสดงให้เห็นได้ว่า เมื่อมีคำพิพากษา จำเลยก็ไม่ประสงค์ที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาในส่วนของการจัดตั้งคลับ และการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกเป็นพิเศษ

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยยังปฏิบัติตามคำพิพากษาในส่วนของการให้เปิดโครงการหลัก กล่าวคือ การรักษาพยาบาลโดยคิดค่าบริการในอัตราเหมาจ่าย 100 บาท/ครั้ง และอยู่ในวิสัยที่จำเลยจะปฏิบัติตามคำพิพากษาในรายละเอียดปลีกย่อยดังกล่าวได้บ้าง ตามคำแถลงข้อเท็จจริงของจำเลยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 และเพื่อไม่ให้โจทก์ทั้ง 6 คน และสมาชิกอื่นที่เป็นผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากการออกหมายจับกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย ซึ่งเป็นผลจากการที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ในรายละเอียดปลีกย่อยดังกล่าว ในชั้นนี้ศาล ยังไม่ออกหมายจับ แต่ให้โรงพยาบาลกรุงเทพ ปฏิบัติตามตามระเบียบข้อบังคับของสโมสรตามที่กล่าวข้างต้น

อ่านเพิ่มเติมในซีรีส์ คดีผู้บริโภค…กรณีตัวอย่าง “ไลฟ์พริวิเลจคลับ”