ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลแพ่ง นัดฟังคำสั่งบังคับคดี 17 พ.ค. นี้ กรณีสมาชิก “ไลฟ์พริวิเลจคลับ” ร้อง “รพ.กรุงเทพ” คืนสิทธิ์รักษาฟรีไม่ครบ

ศาลแพ่ง นัดฟังคำสั่งบังคับคดี 17 พ.ค. นี้ กรณีสมาชิก “ไลฟ์พริวิเลจคลับ” ร้อง “รพ.กรุงเทพ” คืนสิทธิ์รักษาฟรีไม่ครบ

16 พฤษภาคม 2018


นางจุฑาทิพย์ สนิทพันธุ์ สมาชิกโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ (แถวแรกคนกลาง)

หลังจากศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ในคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 928/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ ผบ. 5679/2560 ว่า “โครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ” (Life Privilege Club) ไม่ใช่ธุรกิจประกันภัย จึงมีคำสั่งให้โรงพยาบาลกรุงเทพ (จำเลย) คืนสิทธิรักษาพยาบาลฟรีตลอดชีพแก่นางจุฑาทิพย์ สนิทพันธุ์ และพวกรวม 6 คน (โจทก์) รวมทั้งปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสโมสรที่ระบุในแผ่นพับโฆษณา ซึ่งถือเป็นเอกสิทธิ์สำคัญที่โรงพยาบากรุงเทพมอบให้แก่สมาชิก

ปรากฏว่าโรงพยาบาลกรุงเทพปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลเพียงบางส่วน นางจุฑาทิพย์ สนิทพันธุ์ และพวกรวม 6 คนจึงมายื่นคำร้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 ขอให้บังคับคดี หลังจากศาลได้พิจารณาคำร้องของโจทก์แล้ว ได้มีคำสั่งให้กรรมการผู้มีอำนาจมาพบศาลในวันที่ 24 เมษายน 2561 ถึงกำหนดวันนัดไต่สวน นายประดิษฐ์ ทีฆกุล กรรมการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) พร้อมทนายความ เดินมาชี้แจงศาล ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจน ศาลได้นัดกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยมาไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เวลา 13.30 น. หากไต่สวนแล้วพบว่า “จำเลยยังไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา จะพิจารณาออกหมายจับกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยทุกคน”

ล่าสุด เมื่อถึงกำหนดนัดไต่สวนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เวลา 13.30 น. ปรากฏว่ากรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยไม่มา แต่ได้มอบหมายให้ทนายความชี้แจงต่อศาลแทน เวลา 14.20 น. ศาลจึงเริ่มกระบวนการไต่สวน โดยเริ่มจากทนายความฝ่ายโจทก์ชี้แจงศาลว่า ฝ่ายโจทก์ได้ไปโรงพยาบาลกรุงเทพเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 พบว่ามีการจัดห้องไว้ให้บริการสมาชิกโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับแล้ว แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลให้บริการ

ด้านทนายความฝ่ายจำเลยชี้แจงต่อศาลว่า ภายหลังจากโรงพยาบาลกรุงเทพสั่งยุติโครงการดังกล่าว ได้ย้ายบุคลากรที่ประจำอยู่ในห้องนี้ไปทำงานในแผนกอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ทางโรงพยาบาลกรุงเทพได้จัดเจ้าหน้าที่มาคอยให้บริการแก่สมาชิกแล้ว โดยทนายความฝ่ายจำเลยกล่าวย้ำว่า ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ทางโรงพยาบาลกรุงเทพได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นครบถ้วน

หลังจากที่ศาลได้รับฟังคำชี้แจงจากคู่ความ มีความเห็นว่า ได้ข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว ศาลจึงนัดคู่ความมาฟังคำสั่งศาลในวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 เวลา 9.00 น.

อนึ่ง ภายหลังศาลแพ่ง มีคำพิพากษาคดีแรกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 “ให้จำเลย (โรงพยาบาลกรุงเทพ) ปฏิบัติต่อโจทก์ทั้ง 6 คน ตามข้อตกลงของ “โครงการเอกสิทธิ์ของคุณภาพชีวิต” และเปิดสโมสรไลฟ์พริวิเลจคลับ กับปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสโมสรดังกล่าวตามแผ่นพับโฆษณา” โดยสาระสำคัญของแผ่นพับโฆษณาสรุปได้ดังนี้

1. สมาชิกตกลงจ่ายเงิน 1 ล้านบาท, 1.2 ล้านบาทและ 2 ล้านบาท เพราะต้องการ “เอกสิทธิ์ของคุณภาพชีวิต” ตามที่เขียนในแผ่นพับ เมื่อจ่ายเงินและเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ภายหลังจึงได้รับ “กฎระเบียบข้อบังคับของคลับ” ซึ่งในหลักการแล้วจะไปขัดต่อ “ข้อตกลงฯ ตามแผ่นพับโฆษณาไม่ได้ แต่ในรายละเอียดปลีกย่อย อาจปรับเพิ่ม ปรับลด หรือยกเลิกได้

2.“เอกสิทธิ์ของคุณภาพชีวิต”ตามแผ่นพับมี 4 ข้อ ดังนี้

    2.1 ด้านสุขภาพ ได้แก่ การตรวจสุขภาพประจำปี, ดูแลสุขภาพแบบผู้ป่วยนอกในอัตราสมาชิก 100 บาทต่อครั้ง และดูแลสุขภาพแบบผู้ป่วยใน ณ ห้องพัก VIP หรือมาตรฐานที่เหมาะสมในอัตราสมาชิก 100 บาทต่อครั้ง

    2.2 ด้านบริการ สมาชิกสามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากศูนย์ Custom Service ที่คอยให้ความช่วยเหลือใน “กรณีฉุกเฉิน” และ “ให้คำแนะนำเบื้องต้น” โดยให้สมาชิกติดต่อมาที่เบอร์โทร 081-734-7777 หรือ 02-310-3066

    2.3 ด้านกิจกรรมพิเศษ ได้แก่ การจัดแพทย์อบรมให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่สมาชิก, รับฟังบรรยายเรื่องสุขภาพและโรคต่างๆ, จัดส่งวารสารเกี่ยวกับกิจกรรมด้านสุขภาพ, สังสรรค์ในหมู่สมาชิกที่ Member Lounge, ออกกำลังกาย, เต้นรำ และร่วมกิจกรรมที่ให้ประโยชน์แก่สังคม

    2.4 ด้านอื่นๆ จัดให้มี Member Lounge โดยคู่สมรสและบุตรได้ส่วนลดค่ารักษาพยาบาลบางรายการ 10%

อ่านเพิ่มเติมในซีรีส์ คดีผู้บริโภค… กรณีตัวอย่าง “ไลฟ์พริวิเลจคลับ”