ThaiPublica > คนในข่าว > “จิราพร ขาวสวัสดิ์” หญิงแกร่งแห่ง PTTOR นักบัญชีที่ “ไม่สี่เหลี่ยม” กับหลักการไม่ใช่ลูกจ้างหัวหน้าแต่เป็นลูกจ้าง ปตท.

“จิราพร ขาวสวัสดิ์” หญิงแกร่งแห่ง PTTOR นักบัญชีที่ “ไม่สี่เหลี่ยม” กับหลักการไม่ใช่ลูกจ้างหัวหน้าแต่เป็นลูกจ้าง ปตท.

29 พฤษภาคม 2018


“จิราพร ขาวสวัสดิ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ท่ามกลางกระแสในโซเชียลมีเดียที่พยายามรณรงค์ให้ไม่เติมน้ำมันปั๊ม ปตท. ไม่ว่าจะด้วยการได้รับข้อมูลที่บิดเบี้ยว ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ต่างก็ทำให้ส่งผลกระทบต่อดีลเลอร์ที่เป็นเจ้าของปั๊มน้ำมัน ปตท. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกันค่อนข้างถ้วนหน้า

คนส่วนใหญ่รู้จัก ปตท. ในฐานะผู้ให้บริการปั๊มน้ำมัน และคนส่วนใหญ่รู้สึกว่า ปตท. คือรัฐ มีความได้เปรียบเอกชนที่เป็นคู่ค้าปั๊มน้ำมันด้วยกัน ปมนี้เป็นจุดอ่อนที่ถูกหยิบขึ้นมาปลุกกระแสได้ตลอดเวลา

ด้วยปมดังกล่าว บอร์ดหรือคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงมีมติเมื่อพฤศจิกายน 2559 ปรับโครงสร้างถอด “ยวง” สำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ ปตท. ออกมา นั่นคือการโอนกิจการของหน่วยธุรกิจน้ำมันทั้งหมดมายังบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ PTTOR และคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560

PTTOR จึงเป็น “บริษัทเอกชน” เพื่อให้ภาพลักษณ์ปั๊มน้ำมันที่ดูเหมือนจะได้เปรียบเอกชนรายอื่นๆ ทำให้ภาพรัฐจางไป และเข้าสู่สนามธุรกิจที่มีการแข่งขันค่อนข้างดุเดือดแบบไม่มี “ความพิเศษ” หรือตัวช่วยเหมือนที่ผ่านมา

ปัจจุบัน PTTOR อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ “จิราพร ขาวสวัสดิ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในระหว่างการโอนธุรกรรม โอนทรัพย์สินต่างๆ รวมทั้งขั้นตอนกระบวนการยื่นเตรียมกระจายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือนกรกฎาคม 2562

“จิราพร” เล่าว่าเหตุผลที่คณะกรรมการ ปตท. ต้องแยกธุรกรรมที่ ปตท. ทำ ที่เรียกว่าธุรกิจน้ำมัน ที่มีธุรกิจปั๊มน้ำมัน ธุรกิจขายน้ำมันให้โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจขาย LPG ให้โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจขายก๊าซหุงต้มที่ส่งตามครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งตามภาษาพลังงานเขาเรียกว่า “ผู้ค้ามาตรา 7” ปัจจุบันมี 42 ราย ทุกรายเป็นเอกชนหมดเลย มีเพียง ปตท. เท่านั้นที่ทำธุรกรรมนี้และเป็นหน่วยงานรัฐ คนส่วนใหญ่จึงคิดว่ารัฐเอื้อประโยชน์ให้กับ ปตท.

“ธุรกิจปั๊มน้ำมัน ปตท. คิดและพัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆ เป็นเจ้าแรกที่เอาน็อนออยล์เข้าปั๊มน้ำมัน ไม่ว่า 7-11 ร้านอาหาร จนทำให้แบรนด์ ปตท. เป็นที่ติดใจ มีรายได้เพิ่ม ยอดขายดี แต่สังคมเข้าใจว่ารัฐเอื้อให้ ปตท. จึงเป็นเหตุให้บอร์ด ปตท. มองว่าธุรกิจน้ำมันที่ทำซ้ำเหมือนเอกชน ควรแยกออกมาเป็นเอกชน และด้วยเหตุผลเพื่อความโปร่งใสเพื่อให้เห็นว่าตัวเลข(รายได้)ที่ได้ ไม่ใช่เพราะรัฐเอื้อประโยชน์ให้”

และอีกเหตุผลหนึ่งคือรัฐธรรมนูญมาตรา 75(2) ที่ระบุว่า “รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค การจัดทำบริการสาธารณะ”

ดังนั้น จาก 2 เหตุผลนี้ ปตท. จึงทำเรื่องการปรับโครงสร้าง เอาธุรกรรมที่หน่วยธุรกิจทำอยู่ทั้งค้าปลีกน้ำมันและ LPG เอาออกจาก ปตท. มาไว้ที่บริษัท PTTOR

การปรับโครงสร้างครั้งนี้ ปตท. ยังถือหุ้นใน PTTOR ไม่ต่ำกว่า 45% แต่ไม่เกิน 48% โดย 3% นี้มีไว้เพื่อให้กองทุนที่เป็นภาครัฐลงทุน เช่น กองทุนวายุภักดิ์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม เป็นต้น เพื่อไม่ให้บริษัทนี้กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีก

ทั้งนี้ PTTOR ยังคงใช้เครื่องหมายการค้าใหม่แบบผสมที่มีรูปเปลวเพลิงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบในการดำเนินธุรกิจต่อไป ซึ่งแบรนด์ถูกตีราคามูลค่า 5 หมื่นล้านบาท

“จิราพร” เข้ามาบริหารจัดการ PTTOR เดือนตุลาคม 2560 เธอเล่าว่า “พอเข้ามา ก็ลงพื้นที่เยี่ยมดีลเลอร์ทันที ตั้งใจเข้ามาปรับปรุงระบบ ขบวนการ การเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น เข้าทีละสายงาน สายน้ำมัน สายหล่อลื่น สายต่างประเทศ

“เราไปรับรู้ปัญหา เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้เขา เจ้าของปั๊มบางแห่งเขาทำมา 40 ปี ตั้งแต่รุ่นปู่มาสู่พ่อแม่ วันนี้มาสู่รุ่นเหลน เขามีความผูกพัน แต่เขาขาดการสนับสนุน สภาพการแข่งขันเป็นแบบนี้ การลงทุน การซ่อมบำรุงช้า เขาแจ้งแต่ไม่มีคนแก้ปัญหาให้”

“จิราพร” เล่าว่า บางเรื่องดูแค่ในกระดาษดูไม่ออกว่าเขามีปัญหา อย่างกรณีการเปิดปั๊มน้ำมัน ที่ผ่านมา ปตท. เปิด เน็ตเวิร์กซ้ำซ้อน (ปั๊ม ปตท. อยู่ใกล้ๆ กัน) ดีลเลอร์บอกว่าถ้าแบรนด์อื่นมาเปิดใกล้ เขาไม่กลัว ยกเว้น ปตท. บางแห่งมาอยู่ใกล้กันมากเกินไป เราต้องมาเห็นจริงๆ ดูแค่กระดาษ ดูไม่ออก บางทีระยะห่างกัน 15 กม. แต่มีชุมชนก็สามารถอยู่ได้ แต่บางแห่งหากเป็นถนนเส้นตรง ไม่มีชุมชน หากปั๊มเปิดใกล้กันมาก มันกระทบกัน คนใหม่ก็แย่คนเก่าก็แย่ เพราะการลงทุนปั๊มหนึ่งไม่น้อย 40 ล้านบาท

เมื่อถามว่าอนาคตรายได้ PTTOR จะมาจากไหนบ้าง “จิราพร” เล่าว่า ธุรกิจน้ำมันประกอบด้วยการจัดหา จัดเก็บ ขนส่ง และขายผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงสำเร็จรูป ทั้งในรูปแบบขายส่ง ขายโรงงานอุตสาหกรรม ขายให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ขายผลิตภัณฑ์น้ำมันอากาศยานแก่สายการบิน ขาย LPG และขายปลีก ณ สถานีบริการ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการขายน้ำมันหล่อลื่น ครบวงจร

สำหรับปั๊มน้ำมันที่มี 1,600 สาขาทั่วประเทศ หากนับกำไร 100% มาจากหัวจ่ายน้ำมัน 30%, ร้านค้าต่างๆ เช่น ร้านค้าสะดวกซื้อ Food & Beverage (ไก่ทอดเท็กซัส, โดนัท-แดดดี้โด) 25% กาแฟอะเมซอน 35% ที่เหลือมาจากการให้เช่าพื้นที่ เช่น ข้าวแกง ธุรกิจบริการยานยนต์-Fit Auto เป็นต้น

“ตัวปั๊ม จะเสริมน็อนออยล์มากขึ้น แผนที่จะทำต่อ เช่น โรงแรมในปั๊ม ซึ่งเป็นปั๊มที่ต้องไม่อยู่ในชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งที่พักต้องมีระยะห่างตามกฎหมายในเรื่องความปลอดภัย ไม่มีบริการอาหาร ก็ไปใช้บริการร้านค้าในปั๊มได้ เพื่อเป็นที่พักสำหรับคนทำงาน เช่น เซลส์ นักเดินทาง คนทำงาน ไม่เน้นนักท่องเที่ยว เรียกว่า business hotel”

นอกจากนี้กำลังจะเอ็มโอยูกับบริษัทไปรษณีย์ฯ ทำเรื่องลอจิสติก ให้เขามาทำที่ปั๊ม และเอาสินค้าชุมชนมาขายในปั๊ม รวมทั้งกำลังทำคุยกับ “พัฟแอนด์พายของการบินไทย” มาลงในร้านกาแฟอะเมซอน

ขณะที่ร้านกาแฟอะเมซอน ต่อไปจะไปต่างประเทศ ที่ไปแล้ว ได้แก่ โอมาน ญี่ปุ่น ที่กำลังไปคือสิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ ขณะเดียวกันในอีกสเตปหนึ่ง จะบุกไปบราซิล โซนยุโรป โซนอเมริกา อาจจะเป็นกาแฟกระป๋อง แต่ก็ไม่ทิ้งร้านกาแฟ คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 2 ปีข้างหน้า

สำหรับการขยายปั๊มน้ำมันในเออีซี ปัจจุบันมีปั๊มน้ำมันในลาว เขมร ฟิลิปปินส์ ส่วนเวียดนามกำลังจะไป ด้านพม่าเพิ่งได้สิทธิ์ไปร่วมลงทุนทำคลังน้ำมัน ท่าเรือ ขายส่งขายปลีก

“ส่วนในประเทศ ในแง่จำนวนปั๊มเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่เพิ่มถนนเส้นหลัก เพราะปั๊มแข่งกันเต็มที่แล้ว แต่จะเพิ่มเส้นรอง เมืองรองตามนโยบาย ขนาดไม่ใหญ่แค่ 2 ไร่ มีร้านกาแฟอะเมซอนและ 7-11 คนลงทุนไม่ต้องใช้เงินทุนสูง”

“เราเองมีนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอี อย่างแรก สินค้าเกษตรกร ในฤดูกาลที่ล้นตลาด ให้มาเปิดขายได้ฟรี เพื่อให้ประชาชนสนับสนุนเกษตรกรได้โดยตรง อย่างที่ 2 ทางดีลเลอร์ที่เป็นเจ้าของปั๊มน้ำมันในท้องถิ่น เขารู้ว่าที่ไหนมีสินค้าเด่นอะไร ถ้าเป็นเรื่องของกิน เราจะช่วยทำให้เข้าสู่กระบวนการ อย. มาจำหน่ายในปั๊ม อยากให้ปั๊ม ปตท. เป็นที่รวมของสินค้าชุมชน ที่มีสินค้าแต่ละท้องถิ่น พัฒนาบรรจุภัณฑ์ มีคิวอาร์โค้ด รู้แหล่งกำเนิดมาจากที่ไหน อย่างไร และจะสั่งซื้อนอกปั๊มได้ ยกระดับให้ชุมชนเข้มแข็ง เพื่อให้ธุรกิจตรงนั้นอยู่ได้ นอกจากนี้ในแหล่งท่องเที่ยว เราทำปั๊มยูนีก เช่น ปั๊มที่เชียงคาน เป็นต้น”

“เรามีทั้งโอกาส ความรู้ กำลังเงิน และมีพาร์ทเนอร์ที่ดี ทั้งเอสเอ็มอีที่เป็นดีลเลอร์เจ้าของปั๊ม มีเอสเอ็มอีแบงก์ เราต้องทำเรื่องนี้ให้จริงจัง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอี”

ดังนั้น การเข้ามาบริหารจัดการต้องสร้างศรัทธาและความเชื่อใจทั้งลูกค้าและพนักงานว่า PTTOR มีโอกาสและอนาคตที่ดีรออยู่ เพื่อสร้างองค์กร ชุมชน และเศรษฐกิจ ของประเทศให้ยั่งยืน

การเป็นนักบัญชีต้อง “ไม่สี่เหลี่ยม”

“จิราพร” เป็นนักบัญชี จบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต (การบัญชี) จากคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาโทหลักสูตรการบัญชีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตร MBA-Finance มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งหลักสูตร Senior-Executive Program ที่ London Business School ประเทศอังกฤษ และหลักสูตรกรรมการบริษัท สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย

ชีวิตการทำงานไต่จากนักบัญชีของ ปตท. วันนี้ 31 ปีที่เธอใช้ชีวิตการทำงานอยู่ที่นี่ เธอบอกว่าเธอเป็นลูกจ้าง ปตท. ไม่ใช่ลูกจ้างหัวหน้า การทำงานของเธอจะมุ่งผลสำเร็จของ ปตท. เป็นเป้าหมาย เธอพร้อมที่จะถูกแขวนถ้าหากต้องทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และเธอก็เคยผ่านเรื่องนี้มาแล้ว แม้จะไม่ถูกแขวน แต่ปีนั้นการประเมินผลงานของเธอได้ B เป็นครั้งแรกในประวัติการทำงาน เพราะที่ผ่านมาเธอคว้า A มาครองตลอด

เธอเล่าต่อว่าต้องกล้าเสนอความเห็น เธอมีโอกาสเข้าร่วมการประชุมระดับสูง บ่อยครั้งที่การประชุมมีอะไรต้องปรับปรุง มีมติให้ทำนั่นทำนี่ แต่ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น ผู้ใหญ่ก็ถามว่าคุณมีความเห็นอย่างไร เธอได้เสนอว่า มีการประชุมแต่ไม่มีเห็นมีการทำตามที่ประชุม ควรให้มีทีมติดตามงาน เพื่อมารายงานที่ประชุมในครั้งต่อไปว่าทำไปถึงไหน ถ้าไม่มีปัญหาก็รายงานความคืบหน้า ถ้ามีก็ให้ที่ประชุมช่วยแก้ เธอย้ำว่า “จะนั่งประชุมกันไปทำไม เพราะคนที่มาประชุมค่าตัวสูงๆ ทั้งนั้น”

เธอบอกว่าข้อดีคือเธอได้โอกาสเป็นหัวหน้าโครงการปรับปรุงขบวนการระบบและกระบวนการของ ปตท. ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน (Enterprise Resorce Planning: EPR) เนื่องจาก ปตท. มีหลายส่วน สำนักงานใหญ่, ก๊าซ, น้ำมัน, เทรดดิ้ง จึงทำให้รู้จักเนื้องานทุกหน่วยธุรกิจ และการรู้จักคนทุกหน่วยธุรกิจ เป็นการรู้คน รู้งาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมา เราได้ใจคน เป็นการได้เห็นบูรณาการการทำงาน เป็นการได้โอกาส มีเพื่อนทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง เราจริงใจกับทุกคน เชื่อใจกัน เป็นเรื่องที่ไม่ได้สร้างกันง่ายๆ 31 ปีที่อยู่ ปตท.

เธอย้ำว่า “โชคดีที่ได้เรียนรู้ทุกหน่วย เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน”

“จิราพร” เล่าต่อว่า การเป็นนักบัญชีต้อง “ไม่สี่เหลี่ยม” …กล่าวคือ ตามหลักการบัญชีที่เรียนมา มาตรฐานบัญชี แต่เขาให้เรามาประยุกต์กับธุรกิจที่ทำอยู่ มันสามารถมีทางออกแบบนี้ได้ ถ้าคุณทำแบบนี้ ทั้งเรื่องบัญชีและเรื่องภาษี หากเทียบกับคนอื่นบางคนก็บอกว่าไม่ได้หรอกหากต้องทำแบบนี้

เช่น แต่ก่อนการขายน้ำมัน ลูกค้าต้องโอนเงินล่วงหน้ามาให้ ปตท. ก่อนออกรถน้ำมันเอาน้ำมันไปส่ง ลูกค้าโอนล่วงหน้ามาให้ก่อน การทำอย่างนี้มีข้อเสียสองอย่าง 1. ลูกค้าต้องจ่ายเงินให้ ปตท. ก่อน เอาเงินมาจมอยู่ตรงนี้ สมมติลูกค้าสั่งน้ำมัน 15,000 ลิตร ลิตรละ 30 บาท/คัน เป็นเงินเท่าไหร่ และ 2. ทาง ปตท. ต้องออกใบกำกับภาษีทันที ถ้าไม่ออกใบกำกับภาษี ผิด ตอนนั้นเราก็คิดว่าต้องมีทางอื่นที่จะแก้ปัญหานี้ เราคุยกับธนาคาร ให้ลูกค้าเปิดบัญชีชื่อตัวเองสำหรับซื้อน้ำมัน ปตท. เท่านั้น เราคุยกับแบงก์ขอผูกระบบให้กันเงินลูกค้าไว้ไม่ให้ใช้อย่างอื่น ผลที่ได้คือลูกค้าไม่ต้องจ่ายเงินล่วงหน้าให้เรา และ ปตท. ไม่ต้องโดนเบี้ยปรับเงินเพิ่มจากที่ไม่ออกใบภาษี ปีหนึ่ง ปตท. ประหยัดเงินค่าปรับได้ 1,500 ล้านบาท และลูกค้าไม่ต้องเอาเงินมาจมที่ ปตท. ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายขายปฏิบัติกันมานานมา จนปี 2554 จึงมีทางออกดังที่กล่าวมา

นี่คือนักบัญชีต้องไม่ใช่ประเภทสี่เหลี่ยม