ThaiPublica > คอลัมน์ > หมดเวลา “นาจิบ” เมื่อคอร์รัปชันล้มรัฐบาลอัมโน (ตอนที่ 1)

หมดเวลา “นาจิบ” เมื่อคอร์รัปชันล้มรัฐบาลอัมโน (ตอนที่ 1)

22 พฤษภาคม 2018


Hesse004

ผลการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา นับว่าสั่นสะเทือนการเมืองมาเลเซียและการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนอยู่ไม่น้อย

การหวนคืนสังเวียนอีกครั้งของ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Bin Mohamad) ในวัย 92 ปี นับเป็นอีกปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เพราะแทนที่อดีตผู้นำซึ่งครองอำนาจยาวนานมากว่า 22 ปี (ค.ศ. 1981-2003) จะได้พักผ่อนในช่วงบั้นปลาย แต่ต้องกลับมาเพื่อแก้ไขความผิดพลาดของตัวเองที่เคยสนับสนุนให้ นาจิบ ราซัก (Najib Razak) ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ

ขณะเดียวกัน ดร.มหาเธร์ ก็ต้องการ “ไถ่โทษ” ให้กับ อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) อดีตศิษย์รักซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกวางตัวให้เป็นทายาททางการเมืองต่อจากเขา… แต่หลังวิกฤติการณ์การเงินภูมิภาคเอเชียเมื่อปี 1997 อันวาร์และมหาเธร์กลับกลายเป็นศัตรูทางการเมืองชนิดที่ “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ”

แต่จนแล้วจนรอด ประโยคที่ว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร” ก็ยังคงเป็นสัจธรรมทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นคนชาติใดก็ตาม

มหาเธร์ นาจิบ และอันวาร์ สามตัวละครสำคัญบนเวทีการเมืองมาเลเซียยุคใหม่
ที่มาภาพ : http://www.mysinchew.com/photodisplay.php?file=%2Ffiles%2Fman_0.jpg

การเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2561 ได้รับการขนานนามว่าเป็น mother of all elections หรือ มารดาแห่งการเลือกตั้งทั้งปวง เพราะเป็นการเลือกตั้งที่สะท้อนถึง “ความอัดอั้นตันใจ” ของชาวมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน ชาวอินเดีย ซึ่งถูกมองเป็นพลเมืองกลุ่มน้อยในสังคมมาเลเซียมาตลอดหกสิบกว่าปี รวมถึงกลุ่มภูมิบุตร (Bumiputera) ซึ่งเคยสนับสนุนพรรคอัมโน (United Malays National Organisation: UMNO) แต่ในรอบหลายปีมานี้พวกเขาผิดหวังกับผลงานการบริหารประเทศของพรรคอัมโน ภายใต้การนำของนาจิบ ราซัก ซึ่งนับวันจะทำให้มาเลเซีย “ถอยหลังเข้าคลอง” โดยเฉพาะปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น

…ที่สำคัญ พวกเขาต้องการคำตอบกรณีเรื่องอื้อฉาวทุจริตกองทุน 1Malaysian Development Berhad หรือ กองทุน 1 MDB ที่มีนายราจิบ ราซัก เข้าไปพัวพันอยู่ด้วย

และท้ายที่สุด ผลการเลือกตั้งคือคำตอบที่สะท้อนว่าชาวมาเลเซียในวันนี้คิดอย่างไรกับนาจิบ ราซัก และพรรคอัมโน

ดร.มหาเธร์ นำแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน ‘ปากาตัน ฮาราปัน’ (Pakatan Harapan: PH) ที่แปลว่า “แนวร่วมแห่งความหวัง” มีชัยเหนือแนวร่วมพรรครัฐบาล ‘บีเอ็น’ หรือ Barisan Nasional ซึ่งนำโดยพรรคอัมโน

…การเมืองใหม่ของมาเลเซียกำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่อีกครั้ง ผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พรรคอัมโนพ่ายแพ้ในสมรภูมิเลือกตั้งนับตั้งแต่ประกาศเอกราชเมื่อปี 1957

ความพ่ายแพ้ดังกล่าวนำไปสู่การรื้อฟื้นการสอบสวนกองทุนฉาว 1MDB โดยเร็ว เพราะเพียงแค่สามวันหลังการปราชัย…นาจิบและภรรยาถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2561 ตำรวจมาเลเซียกว่าสิบนายเข้าตรวจค้นบ้านพักอดีตนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งร่วงจากอำนาจ ตำรวจได้อายัดกระเป๋าถือและของใช้ส่วนตัวแบรนด์เนมหรูหราของนาจิบและภรรยา

ภาพที่ปรากฏในสำนักข่าวต่างประเทศเป็นภาพที่ตำรวจมาเลเซียเคลื่อนย้ายกล่องขนาดใหญ่หลายร้อยกล่อง รายงานระบุว่าทรัพย์สินต่างๆ ที่ถูกอายัดไว้ในกล่องรวมกันได้ 284 ใบ…ทรัพย์สินที่ถูกอายัดส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินมีค่า กระเป๋าแบรนด์เนมหลายร้อยใบ เงินสดหลากหลายสกุล รวมถึงเครื่องประดับ

กระเป๋าแบรนด์เนมยี่ห้อแอร์เมส เป็นของสะสมของภรรยานายนาจิบ “นางรอสมาห์ มานเซอร์” แต่ละใบมีมูลค่าตั้งแต่ 12,000 ดอลลาร์ ถึง 300,000 ดอลลาร์…นับว่ารสนิยมราคาแพงเหล่านี้กำลังนำไปสู่หายนะของครอบครัวราซักโดยแท้

น่าสนใจว่า การกลับสู่สังเวียนรอบนี้ของมหาเธร์มีภารกิจสำคัญ คือ การจัดการกับเรื่องทุจริตเงินกองทุน 1MDB ที่นาจิบถูกพาดพิงว่ามีเงินจำนวน 700 ล้านดอลลาร์จาก 1MDB ถูกโยกย้ายและโอนเข้าบัญชีส่วนตัว ช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2013 และยังมีข้อกล่าวหาต่อไปอีกว่าเงินเหล่านี้ถูกฟอกและผ่องถ่ายเป็นทรัพย์สินต่างๆ ในต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี นาจิบปฏิเสธทุกข้อหาและบอกว่าเป็นเงินบริจาคทางการเมืองจากเชื้อพระวงศ์ซาอุดีอาระเบีย

ท้ายที่สุด ในปี 2015 มหาเธร์ออกมาเรียกร้องให้นาจิบแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ แต่นาจิบกลับเพิกเฉย จนทำให้มหาเธร์ลาออกจากอัมโนและตั้งพรรคแข่งกับนาจิบ โดยประกาศสนับสนุนอันวาร์ อิบราฮิม

ปี 2016 ชนวน 1MDB ทำให้ทั้งมหาเธร์และอันวาร์หันมา “คืนดี” และประกาศจับมือล้มนาจิบ ราซัก บนเวทีเลือกตั้งครั้งใหญ่

ทันทีที่มหาเธร์ได้รับโปรดเกล้าจากสุลต่านให้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาประกาศที่จะติดตามทรัพย์สินที่ถูกยักยอกฉ้อฉลไปจากองทุน 1MDB โดยให้สัมภาษณ์ว่า

“เงินเหล่านี้เป็นของประเทศมาเลเซียและมันมาจาก 1 MDB พวกเราจะอุทธรณ์เอาเงินเหล่านี้กลับมามาเลเซียให้ได้”

หากจะว่าไปแล้ว ตัวละครทางการเมืองของมาเลเซียยุคใหม่ วนเวียนอยู่บุคคลสามคน คือ มหาเธร์ อันวาร์ และนาจิบ โดยมหาเธร์เปรียบเสมือน “อาจารย์ใหญ่” แต่เมื่อเขาคิดจะวางมือทางการเมือง…ทายาททางการเมืองคนแรก คือ “อันวาร์” กลับขัดแย้งกับเขา และมหาเธร์จัดการสั่งสอนอันวาร์จนหมดอนาคตทางการเมืองไปแล้ว พร้อมกับสนับสนุนนาจิบให้ก้าวขึ้นมาเป็นทายาทแทน

แต่ใครเล่าจะรู้ว่า การผลักดัน นาจิบ ราซัก ขึ้นมา กลับทำให้ ดร.มหาเธร์ ต้องแบกสังขารในวัย 92 ปี มา “แก้ไขความผิดพลาดของตัวเอง” ในการเลือกตั้งใหญ่รอบนี้

อันที่จริงแล้ว ปัญหาคอร์รัปชันของมาเลเซียไม่ได้แตกต่างอะไรจากประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียน เพียงแต่มาเลเซียมีระบบการจัดการปัญหาที่ดีกว่า…ดัชนีสำรวจเรื่องคอร์รัปชันของมาเลเซียนั้นอยู่ในระดับที่เหนือกว่าประเทศอาเซียนเกือบทั้งหมด จะแพ้ก็เพียงสิงคโปร์ประเทศเดียว

Corruption Perceptions Index ของมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 1995-2017
ที่มา: https://tradingeconomics.com/malaysia/corruption-index

จากกราฟแสดงค่าคะแนนความโปร่งใสของมาเลเซีย (Corruption Perceptions Index) หรือ CPI ตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา ค่าคะแนนความโปร่งใสโดยเฉลี่ยของมาเลเซียอยู่ที่ 49.61 (เกือบๆ 50 คะแนน จากคะแนนเต็มร้อย) ถ้านับในอาเซียนแล้ว มาเลเซียจัดว่าโปร่งใสเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์

อย่างไรก็ดี เมื่อดูแนวโน้มคะแนนจะเห็นว่า นับตั้งแต่รัฐบาลของนาจิบขึ้นบริหารประเทศ ค่า CPI ของมาเลเซียค่อยๆ ลดลงตามลำดับ โดย CPI ปีล่าสุด 2017 มาเลเซียได้ 47 คะแนน ตกลงมาอยู่อันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และบรูไน

กลับมาดูที่อันดับความโปร่งใสกันบ้าง พบว่า ตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา อันดับเฉลี่ยความโปร่งใสของมาเลเซียอยู่ที่อันดับที่ 43 โดยปี 1995 ซึ่งเป็นปีแรกของการจัดอันดับความโปร่งใสของ Transparency International นั้น มาเลเซีย ยุคของ ดร.มหาเธร์ ถูกจัดอันดับความโปร่งใสไว้ที่อันดับ 23 (จากประเทศที่จัดอันดับทั้งหมด 41 ประเทศ)

ปีล่าสุด อันดับความโปร่งใสของมาเลเซียรูดลงมาอยู่ที่ 62

อันดับความโปร่งใสของมาเลเซียตั้งแต่ปี 1995
ที่มา: https://tradingeconomics.com/malaysia/corruption-rank

ในตอนหน้า เราจะมาดูผลสำรวจกันว่าคนมาเลเซียคิดอย่างไรกับปัญหาคอร์รัปชันในรอบหลายปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของรัฐบาลนาจิบ