ThaiPublica > เกาะกระแส > ย้อนรอย ครม.สัญจร 4 ปี 9 จังหวัด สำรวจเม็ดเงินที่ลงไปในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ

ย้อนรอย ครม.สัญจร 4 ปี 9 จังหวัด สำรวจเม็ดเงินที่ลงไปในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ

12 พฤษภาคม 2018


แม้จะออกตัวว่าไม่ใช่ทั้งการหาเสียง และไม่มีนัยทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น แต่การที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หอบคณะรัฐมนตรีมาถึง “บุรีรัมย์” ฐานที่มั่นสำคัญของพรรคภูมิใจไทยครั้งนี้ กำลังถูกจับจ้องว่าอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับการเมืองไทยนับจากนี้ต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ

ในวันที่ปรากฏการณ์ “ดูด” ทวีความรุนแรง และ “พรรคทหาร” เริ่มเห็นเค้าลางเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน

จากที่ภาคส่วนต่างๆ ชงเรื่องตั้งโครงการขึ้นมารวมมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท สุดท้ายที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2561 ได้มีมติอนุมัติโครงการเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งจำนวน 20 โครงการ วงเงิน 3,476.65 ล้านบาท แบ่งเป็น

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ และชัยภูมิ จำนวน 7 โครงการ วงเงินรวม 3,177.65 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จ.บุรีรัมย์ วงเงิน 412 ล้านบาท โครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำอ่างเก็บน้ำสนม จ.สุรินทร์ วงเงิน 505 ล้านบาท โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำลำน้ำเชิญ จ.ชัยภูมิ วงเงิน 180 ล้านบาท พัฒนาแหล่งน้ำ ต.เพี้ยราม จ.สุรินทร์ วงเงิน 753 ล้านบาท ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยชาง จ.ชัยภูมิ วงเงิน 597.65 ล้านบาท พัฒนาแก้มลิงลุ่มน้ำชี จ.ชัยภูมิ วงเงิน 445 ล้านบาท

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค จ.บุรีรัมย์ จำนวน 13 โครงการ วงเงิน 299 ล้านบาท เป็นโครงการของปี 2561 รวม 5 โครงการ วงเงินรวม 150 ล้านบาท และปี 2562-2564 จำนวน 8 โครงการ วงเงินรวม 149 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบหลักการแผนพัฒนา กลุ่มภาคอีสานตอนล่างทั้งหมด 5 ด้าน ตามที่ภาคเอกชนได้มีการเสนอมาคือ 1. ด้านการเกษตร แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 2. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 3. การค้าการลงทุน และการค้าชายแดน 4. ด้านการท่องเที่ยว และ 5. การพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 121 โครงการ วงเงิน 20,706 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้พิจารณาเห็นชอบโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามความต้องการ เช่น การพัฒนาด้านการเกษตรและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 84 โครงการ ใช้งบประมาณ 3,476 ล้านบาท แบ่งเป็น 40 โครงการ วงเงิน 1,015 ล้านบาท สามารถทำได้ทันที ส่วนที่เหลืออีก 44 โครงการ วงเงิน 2,641 ล้านบาท จะนำเข้าสู่แผนปี 2562-2564

“การเดินทางมาประชุม ครม. ในครั้งนี้ไม่ใช่ลงมาเพื่ออนุมัติงบประมาณ 10,000-20,000 ล้านอย่างที่มีการกล่าวอ้าง ขอให้ทุกคนได้ใช้สติปัญญา ใคร่ครวญด้วย ไม่ใช่อะไรก็การเมืองทั้งหมด เพียงแต่ช่วงนี้เป็นการเดินหน้าสู่เรื่องของการเลือกตั้ง หลายคนจึงมองว่าเป็นงานการเมือง การที่รัฐบาลเดินทางมานี้ มุ่งหวังจะไปให้ครบทุกจังหวัด แม้จะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็เลือกไปให้ครบทุกกลุ่มจังหวัดก่อน ยืนยันว่ารัฐบาลต้องการไปทุกจังหวัดเพื่อรับฟังความต้องการของประชาชนโดยตรงสอดคล้องกับแผนที่รัฐบาลมีอยู่ในมือและที่ผ่านมาใน 4 จังหวัด 4 ปี” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับการประชุม ครม.สัญจร ย้อนไปก่อนหน้านี้ การประชุม ครม.สัญจรนัดแรกของ รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ เริ่มต้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ณ สวนสนประดิพัทธ์ ระหว่างวันที่ 27-28 มี.ค. 2558 ครั้งนั้น ที่ประชุมมีมติสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ คือการเห็นชอบให้เปิดจุดผ่อนปรนการค้าพิเศษด่านสิงขรเพื่อรองรับการค้าชายแดนไทย-พม่าที่จะเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากด่านสิงขรมีมูลค่าการค้าชายแดน 100-200 ล้านบาท หากยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวร มูลค่าการค้าจะสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท

จากการประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงภายในจังหวัด เพื่อพิจารณาแนวทางที่สามารถส่งเสริมและพัฒนาการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ได้ข้อสรุป “จุดผ่อนปรนการค้าพิเศษ ด่านสิงขร” โดยให้ดำเนิน 3 ข้อ คือ 1. กำหนดพื้นที่อนุญาตในการเดินทางผ่านแดนได้ถึง อ.เมืองประจวบฯ 2. เอกสารที่ใช้ในการเดินทาง คือ พาสปอร์ต บอร์ดเดอร์พาส และบัตรผ่านแดนชั่วคราว 3. ให้พักค้างได้ 1 คืน

นัดที่สอง จ.เชียงใหม่ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ระหว่างวันที่ 29-30 มิ.ย. 2558 การลงพื้นที่บุกฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มการเมืองเก่าของ พล.อ. ประยุทธ์ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในการประชุมไม่ได้มีมติเห็นชอบใดจาก 46 โครงการที่ทางจังหวัดเสนอเข้ามา

“โครงการต่างๆ จำนวน 46 โครงการ ผมยังไม่เห็นเลย ใจเย็นๆ สำหรับเชียงใหม่ให้เสนอผ่านกระทรวงแบบเป็นระบบ มาแล้วก็ต้องให้ แต่โครงการใช้เงินมหาศาล โดยเฉพาะโครงการขนส่งมวลชน จึงให้รับเรื่องไปเพื่อดูค่าใช้จ่าย เพราะเงินยังไม่มี โดยเฉพาะระบบขนส่งแบบรถรางหรือ Tram ก็ไม่ต่ำกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ปัญหาคือ เอาเงินที่ไหนทำ จึงยังไม่เห็นชอบแต่ให้เสนอแผนไปยังกระทรวงเพื่อนำเข้าสู่งบประมาณประจำปี” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

สอดรับกับ นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ออกมาชี้แจงว่า แม้ว่า ครม. ไม่มีการบรรจุวาระการพิจารณาโครงการทั้ง 46 โครงการของจังหวัดเชียงใหม่เข้าสู่ที่ประชุม แต่ พล.อ. ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อแล้ว

นัดที่สาม จ.นครราชสีมา ณ ห้องสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเมื่อวันที่ 21-22 ส.ค. 2560 การลงพื้นที่อีสานครั้งนี้ที่ประชุม ครม. มีมติที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่คือ อนุมัติงบประมาณ 2,600 ล้านบาท ในการก่อสร้างรถไฟทางคู่เพื่อยกระดับช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา และเห็นชอบให้กรมทางหลวงดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายปางปะอิน-นครราชสีมา (M6) กรอบวงเงินไม่เกิน 33,258 ล้านบาท

รวมทั้งอนุมัติจัดสรรงบกลางปี 2560 เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ผ่านรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมทั้งสิ้น 2,101 ล้านบาท ให้กระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย กรมทางหลวง จำนวน 1,620 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท จำนวน 480 ล้านบาท

ที่สำคัญ ยังได้เห็นชอบให้กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมทรัพยากรน้ำ เสนอโครงการที่มีความพร้อมเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพิ่มเติมรวม 348 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 8,820 ล้านบาท มีพื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 549,700 ไร่ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือใน 8 พื้นที่ ครอบคลุม 18 จังหวัด

อีกทั้งยังมีมีมติเห็นชอบ ร่างสัญญาการออกแบบรายละเอียด (Detailed Design Services Agreement) โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ในวงเงินค่าจ้าง 1,706.771 ล้านบาท

นัดที่สี่ จ.สุพรรณบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา ณ อาคาร 100 ปี ศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เมื่อ 18-19 ก.ย. 2560 การลงพื้นที่ภาคกลางตอนล่างครั้งนี้ ครม. มีมติอนุมัติวงเงินช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2560/61 ด้านการตลาด ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 87,216.17 ล้านบาท

นอกจากนี้ จากการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกรในภาคกลาง วันที่ 18 ก.ย. 2560 นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่หลายเรื่อง เช่น ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ เร่งพิจารณาศึกษาวิธีการบริหารจัดการน้ำบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำที่ระบายจากเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณชุมชนริมคลองโผงเผง

ไปจนถึงการมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาความเหมาะสมของการก่อสร้างสถานี Hi-speed Train ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยการออกแบบให้คำนึงถึงภูมิสถาปัตย์และอัตลักษณ์ของความเป็นเมืองมรดกโลก ที่สำคัญ มีข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติม คือ การพัฒนาเส้นทางรถไฟสายเก่าช่วงสุพรรณบุรี-อ่างทอง-ลพบุรี เชื่อมเส้นทางเหนือ-ใต้ การพัฒนาเส้นทางรถไฟนครหลวง-ภาชี ระยะทาง 1 กิโลเมตร

นัดที่ห้า จ.ปัตตานี และ จ.สงขลา ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เมื่อวันที่ 27-28 พ.ย. 2560 การลงพื้นที่ภาคใต้ครั้งนี้ ครม. อนุมัติกรอบอัตรากําลังพนักงานมหาวิทยาลัยเพิ่มเติมของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 374 อัตรา งบประมาณทั้งสิ้น จํานวน 138 ล้านบาท และจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณต่อเนื่อง พ.ศ. 2561-2569 สําหรับการให้ทุนการศึกษา 2,519 คน วงเงิน 570 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบมาตรการด้านการเงินสําหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขยายระยะเวลาโครงการรวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอนุมัติงบประมาณชดเชยไม่เกิน 2,837 ล้านบาท

รวมทั้ง มีมาตรการสำหรับพักชําระหนี้ลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คือขยายระยะเวลาและปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้และอนุมัติงบประมาณชดเชยไม่เกิน 90 ล้านบาท พร้อมเห็นชอบโครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อมุสลิม และอนุมัติงบประมาณชดเชยไม่เกิน 200 ล้านบาท ให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)

นัดที่หก จ.พิษณุโลก สุโขทัย ณ สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตสุโขทัย เมื่อวันที่ 25 -26 ธ.ค. 2560 การลงพื้นที่ภาคกลางตอนบนครั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบเห็นชอบโครงการแก้น้ำท่วมน้ำแล้งในลุ่มน้ำยม ตามแผนเร่งด่วน 1,900 ล้านบาท จากที่มีการขอทั้งหมด 6,500 ล้านบาท เน้นไปที่การขยายพื้นที่รับน้ำหลากบางระกำโมเดล เป็น 550 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปัจจุบัน 400 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการคลองชักน้ำ ทั้งฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำยม และประตูระบายน้ำท่านางงาม เพื่อตัดยอดน้ำก่อนเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

นอกจากนี้ ยังรับทราบแผนงานและโครงการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ในพื้นที่มรดกโลก เมืองประวัติศาสตร์และเมืองบริวาร สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ปี 2561-2564 งบประมาณ 1,115 ล้านบาท ที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ

รวมทั้งรับทราบภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งภาคเหนือตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งเป็นการสนับสนุนบทบาทและทิศทางการพัฒนาของภาคเหนือ ตามแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) เช่น ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ในพื้นที่ภาคเหนือ รวมระยะทาง 25,506 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณรวมในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2557-2561 เป็นวงเงินรวม 115,179 ล้านบาท

นัดที่เจ็ด จ. จันทบุรี ตราด ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จันทบุรี เมื่อวันที่ 5-6 ก.พ. 2561 การลงพื้นที่ภาคตะวันออกครั้งนี้ ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจร พร้อมทั้งให้กระทรวงพาณิชย์ไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจร เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีผลไม้เมืองร้อนจำนวนมาก ก้าวขึ้นเป็น “มหานครผลไม้ของโลก” พร้อมอนุมัติหลักการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) วงเงินการดำเนินการระยะที่ 1 มูลค่า 80 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งภาคตะวันออก ซึ่งกระทรวงคมนาคมรายงานว่า ในระหว่างปี 2557-2561 มีการใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาโครงสร้างทางถนนในพื้นที่ภาคตะวันออกวงเงินรวม 7.73 หมื่นล้านบาท รวมทั้ง การพัฒนาระบบขนส่งทางรางที่มีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 2.36 แสนล้านบาท

นัดที่แปด จ.สมุทรสาคร เพชรบุรี ณ โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 5-6 มี.ค. 2561 ที่ประชุมเห็นชอบการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ไปสู่ชุมชนอื่นๆ อย่างรวดเร็วในชุมชนชายฝั่ง จำนวน 500 ชุมชน ในระยะเวลา 2 ปี โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อดำเนินการธนาคารปูม้าและการอนุบาลลูกปูม้าชายฝั่งชุมชนละประมาณ 150,000-200,000 บาท โดยจัดสรรงบสำหรับปี 2561 ไว้ ที่ 153.9 ล้านบาท นอกจากนี้ ครม. ยังรับทราบแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก (The Royal Coast หรือ Thailand Riviera) วงเงิน 170.69 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน จากการประชุมยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัด ภาคกลางตอนล่าง 2 ร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนเอกชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร ครม. ได้เห็นชอบสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จ.เพชรบุรี ภายใต้โครงการการบรรเทาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 573 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 7,400 ล้าน จะมีการเสนอเป็นโครงการขนาดใหญ่ต่อไปนอกจากนี้ ได้เห็นชอบการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ริมแม่น้ำเพชรบุรีระยะที่ 3 ฝั่งซ้ายตั้งแต่สะพานวัดจันทราวาส อ.เมือง จ.เพชรบุรี ความยาว 250 เมตร วงเงิน 25 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้เป็นเส้นทางการลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อ ประชุม ครม.สัญจร 9 ครั้งที่ผ่านมาในรอบ 4 ปีของรัฐบาล คสช.

ป้ายคำ :