ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องเป็นเยี่ยงนี้ละหนาออเจ้า

เรื่องเป็นเยี่ยงนี้ละหนาออเจ้า

23 เมษายน 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

ละคร “บุพเพสันนิวาส” โด่งดังจนมิอาจเขียนถึงไม่ได้ แต่จะพยายามเอ่ยถึงประเด็นที่จะไม่ทำให้หน่ายเพราะได้ปะมาแล้ว

เหตุใดละครเพียงเรื่องเดียวสามารถทำให้ผู้คนเกิดความสนใจเรื่องราวของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและประเพณีที่เกี่ยวกับตนเองได้ถึงเพียงนี้ พออนุมานได้ว่าความตั้งใจของผู้ผลิต คุณภาพของละคร เหตุการณ์รอบข้าง จังหวะของการปล่อยละคร พฤติกรรมของผู้เล่นหลังที่ละครมีชื่อเสียง ฯลฯ พอประกอบกันเป็นคำอธิบาย อย่างไรก็ดีมันน่าจะมีเหตุผลสำคัญกว่านั้นกระมัง

โลกที่ผันผวนอย่างมากอันเกิดจากเทคโนโลยี ภาวะเศรษฐกิจ พฤติกรรมของผู้คน ความจำเป็นที่ต้องปรับตัว ฯลฯ รวมกันทำให้ผู้คนจำนวนมากเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต รู้สึกหวาดหวั่นอยู่ในใจลึก ๆ ว่าจะมีงานที่ดีทำต่อไปไหม คุณภาพชีวิตจะเป็นอย่างไรและจะปรับตนเองได้ดีเพียงใด

ดังนั้น “สภาวะปัจจุบัน” จึงเป็นตัวแทนของความผันแปร ไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร แต่ “สภาวะอดีต” นั้นมันจบสิ้นไปแล้ว รู้แล้วว่าเกิดอะไรอื่น มันเป็นสิ่งที่ “จับต้อง” ได้อย่างสบายใจ

ละครพีเรียด ภาพยนตร์ที่มีพล็อตจากเรื่องจริงในอดีต การชื่นชมและสะสมของเก่า การท่องเที่ยวสถานที่ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ล้วนเป็นคำตอบเชิงจิตวิทยาที่ช่วยลดความรู้สึกไม่แน่นอนของชีวิตในปัจจุบัน และนำไปสู่ความรู้สึกความมั่นคงกว่าที่อดีตมีให้เนื่องจากรู้ว่ามันจบไปแล้วและจบอย่างไร การชอบดูละครที่รู้ว่าต้องจบอย่าง happy-ending แน่นอน (จำพล็อตของลิเก และละครได้อย่างขึ้นใจ แต่ก็ยังชอบดู) ก็คือการตอกย้ำให้เกิดความรู้สึกมั่นใจมากขึ้น

ละครปัจจุบันมีอิทธิพลต่อผู้คนมากเพราะจำนวนผู้ชมและโอกาสที่จะสื่อไปในรูปแบบอื่น ๆ ได้อีกมากมาย เรื่องใดจับใจผู้ชมก็เปรียบเสมือนไฟไหม้ป่า สิ่งสำคัญในละครทุกเรื่องก็คือความรักในทุกลักษณะเพราะเป็นสิ่งใกล้ตัวและให้ความรู้สึกที่ดี

“บุพเพสันนิวาส” ไม่ใช่ละครเน้นประวัติศาสตร์ (เหมือนภาพยนตร์ “นเรศวรมหาราช”) หากเป็นละครรักกระจุ๋มกระจิ๋มแทรกภูติผีเมื่อประมาณ 330 ปีก่อน โดยมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นฉากเดินเรื่อง มีการสร้างฉากอย่างงดงาม พร้อมบทพูดที่มีสีสัน และอิงความจริงทางประวัติศาสตร์ เมื่อบวกการปล่อยละครหลังกระแส “งานอุ่นไอรัก” ตัวละครเล่นดีทั้งสวยและหล่อ แทรกมุกอารมณ์ขัน ฯลฯ อย่างลงตัว จึงเกิดสิ่งที่เราเห็นนี่แหละ

ผู้ผลิตได้เลือกช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ที่มีการจดบันทึกไว้อย่างกว้างขวางโดยพ่อค้าต่างชาติ โดยเฉพาะการเดินทางของราชทูตไทยไปถวายพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส (ครองราชย์ยาวนานมากในประวัติศาสตร์ยุโรป ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ จนถึง 77 พรรษา) ข้อมูลที่มากเช่นนี้เป็นเรื่องดี แต่ก็มีความขัดแย้งกันอยู่ไม่น้อยเพราะผู้บันทึกต่างมีผลประโยชน์ของตนเอง ฝ่ายตรงข้ามจึงเป็นผู้ร้ายเสมอ การฟังหูไว้หูจึงเป็นเรื่องสมควร Napoléon Bonaparte จักรพรรดิอีก 100 ปีต่อมาเคยกล่าวไว้ว่า

“ประวัติศาสตร์คือเวอร์ชั่นของเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งผู้คนตัดสินใจเห็นพ้องต้องกัน (ว่าให้เรื่องเป็นอย่างใด)”

ถ้าแบ่งช่วงเวลาของกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีอยู่ 417 ปีออกเป็นอย่างละครึ่ง การเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง (2112) และครั้งที่สอง (2310) ก็อยู่ในช่วงเวลาครึ่งหลัง และในครึ่งหลังนี้ก็สามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 80 ปี 32 ปี และ 80 ปี

80 ปีแรกนับจากเสียกรุงครั้งที่หนึ่งเป็นช่วงเวลาของสมเด็จพระนเรศวร พระเจ้าทรงธรรม พระเจ้าปราสาททอง ฯลฯ ส่วน 32 ปีต่อมา เป็นช่วงเวลาครองราชย์ของสมเด็จพระนารายณ์ และประมาณ 80 ปี ที่เหลือคือช่วงเวลาของพระเพทราชา พระเจ้าเสือ จนถึงเสียกรุงครั้งที่สอง (2310)

ใครที่ดูละครและเห็นความรุ่งเรืองงดงามของอยุธยาก็จงทำใจว่าทั้งหมดที่เห็นนั้นสิ้นสุดลงในเวลาอีกไม่ถึง 100 ปีต่อมา และถ้านับแต่ปีแรกของแผ่นดินพระเพทราชาผู้ตั้งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของอยุธยาทั้งหมดก็พินาศลงในเวลาอีก 80 ปีต่อมา

ที่มาภาพ : http://www.ch3thailand.com/news/scoop/11166

สมเด็จพระนารายณ์เป็นโอรสของพระเจ้าปราสาททองซึ่งเป็นขุนนางใหญ่ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม และปราบดาภิเษกตั้งราชวงศ์ปราสาททอง ก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์จะได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 27 ของอยุธยาในวัยเพียง 24 พรรษาก็ต้องต่อสู้โค่นล้มกษัตริย์สองพระองค์ก่อนหน้า

ทรงครองราชย์อยู่ 32 ปี ซึ่งถือว่าเป็นยุครุ่งรืองที่สุดยุคหนึ่งของอยุธยาอันเป็นผลจากการค้ากับต่างประเทศ ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชเยนทร์ เป็นพ่อค้ากรีกที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเมื่ออายุ 28 ปี ชีวิตรุ่งโรจน์อย่างรวดเร็วได้ขึ้นถึงตำแหน่งที่เปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีและตายเมื่ออายุ 40 ปี โดยใช้เวลาเพียง 12 ปี ว่ากันว่าพูดภาษาฝรั่งเศส กรีก ปอร์ตุเกส อังกฤษ มลายู และไทย ได้อย่างแตกฉานในเวลาเพียง 2 ปี จนเป็นล่ามได้ เมื่ออยู่อยุธยาได้ 6 ปี ก็แต่งงานกับมารี เดอร์กิมาร์ และเปลี่ยนมานับถือคริสต์นิกายโรมันคาธอริกตามภรรยา มีลูกชาย 2 คน ก่อนที่จะถูกตัดหัวโดยการปฏิวัติของพระเพทราชา

พระเพทราชา “ผู้ร้าย” ในสายตาคนต่างชาติจำนวนมาก เดิมเป็นชาวบ้านบ้านพลูหลวง (ปัจจุบันอยู่ในตำบลสนามชัย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี) มีน้องสาวเป็นสนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์ รับราชการมีอำนาจมาก เพราะสมเด็จพระนารายณ์ไว้วางพระทัย คู่กันก็คือหลวงสรศักดิ์ว่ากันว่าเป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์ โดยพระราชทานให้พระเพทราชาอุปถัมภ์เป็นลูกบุญธรรม และเป็นนักเลง “ผู้ร้าย (มาก)” ในสายตาของฝรั่ง ทั้งสองร่วมกันปฏิวัติก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์จะสวรรคต (ฝรั่งเขียนหนังสือไว้ชื่อ “Siamese Revolution of 1688” เล่าการต่อสู้แย่งชิงอำนาจอันปูพื้นไปสู่การโค่นล้มสมเด็จพระนารายณ์) ฆ่าพระปรีย์พระโอรสบุญธรรม เจ้าฟ้าชายอีก 2 พระองค์ ตัดหัวฟอลคอน และขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ที่ 28 ครองราชย์อยู่ 15 ปี ก่อนสิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุ 71 พรรษา

หากดูประวัติศาสตร์ก็จะเห็นว่าลูกหลานพระเพทราชาครองราชย์ต่อมาจนอยุธยาล่ม เริ่มจากพระเจ้าเสือ (หลวงสรศักดิ์) ครองราชย์ 5 ปี สิ้นพระชนม์อายุ 47 พรรษาอยุธยาล่ม พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ และพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (โอรสพระเจ้าเสือทั้งสองพระองค์ครองราชย์ 24 ปีและ 26 ปีตามลำดับ) พระเจ้าอุทุมพร (โอรสพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศครองราชย์ 10 วัน) และองค์สุดท้ายองค์ที่ 33 คือพระเจ้าเอกทัศน์ (โอรสพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครองราชย์ 9 ปี)

ละครเรื่องนี้เลือกประวัติศาสตร์ที่ฝรั่งต่างชาติเป็น “ผู้ร้าย” โดยมีฟอลคอนเป็นหัวโจก เมื่อพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ อิทธิพลของคนต่างชาติต่างศาสนาก็หมดไป ไม่ถูกจับ ถูกฆ่า ก็ต้องหนีตายกันจ้าละหวั่น (มารี เดอร์กีมาร์ หรือท้าวทองกีบม้า ทำงานในครัวรับใช้กษัตริย์อีกหลายพระองค์ ต่อมาลูกชายเติบโตขึ้นรับราชการ)

นักประวัติศาสตร์หลายคนถือว่าพระเพทราชามีบทบาทสำคัญในการหยุดการรุกคืบสยามผ่านอิทธิพลศาสนา อิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของหลายชาติที่ต้องการคุมเส้นทางการค้าขาย มีผู้วิจารณ์ว่าสมเด็จพระนารายณ์ต้องพึ่งคนต่างชาติและต้องจ้างทหารรับจ้างจากต่างประเทศ (เดินทางมาถึงไม่ทัน) ก็เพราะทรงตระหนักว่าอำนาจที่มาแรงยิ่งขึ้นนั้นมาจากข้าราชการหรือภายในเอง มิใช่ต่างประเทศ ชีวิตของสมเด็จพระนารายณ์ผ่าน “การปฏิวัติ” มาสองครั้ง ข้าราชการที่เป็นศัตรูเก่าและใหม่นั้นมีจำนวนไม่น้อยและเกิดขึ้นอีกตลอดเวลา

นิยายใหม่ร่วมสมัยพระนารายณ์ที่สนุกและขอแนะนำคือ “ข้ามสมุทร” ของดร.วิษณุ เครืองาม (2558) The Falcon of Siam 3 เล่ม โดย Axel Aylwen (1988) และ Falcon : At the Court of Siam โดย John Hoskin (2002)
หวังว่าที่ร่ายมาเยี่ยงนี้จะช่วยให้ออเจ้าทั้งหลายแล “บุพเพสันนิวาส” ด้วยจิตเบิกบานยิ่งขึ้น…….โอเคนะ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 10 เม.ย. 2561