ThaiPublica > เกาะกระแส > สำรวจพฤติกรรมการชำระเงินไทยยุคดิจิทัลพุ่งเกือบ 400 ล้านล้านบาท/ปี ผ่านมือถือโตแรงสุด สาขาหดตัวมากสุด

สำรวจพฤติกรรมการชำระเงินไทยยุคดิจิทัลพุ่งเกือบ 400 ล้านล้านบาท/ปี ผ่านมือถือโตแรงสุด สาขาหดตัวมากสุด

9 เมษายน 2018


การยกเลิกค่าธรรมเนียมของธุรกรรมดิจิทัลในช่วง1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของระบบธนาคารพาณิชย์ในรอบหลายทศวรรษ ท่ามกลางกระแสของการถูกทำลาย หรือ disruption จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางการเงิน หรือฟินเทค (FinTech) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

การยอมเฉือนรายได้ค่าธรรมเนียมนับแสนล้านบาทในครั้งนี้ของระบบธนาคารพาณิชย์ เพื่อแลกกับการเติบโตของโลกดิจิทัลในภาคการเงินและข้อมูลจำนวนมหาศาลมีมูลค่ากว่ารายได้ค่าธรรมเนียมที่จะเสียไปในระยะสั้น ยังไม่รวมถึงความมีประสิทธิภาพของระบบการเงินที่ช่วยลดต้นทุนและให้ประโยชน์กับทุกๆ คน โดยสมาคมธนาคารไทยประเมินไว้ถึง 10,000 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและธนาคารพาณิชย์ได้มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” เริ่มจากโครงการ National e-Payment ของรัฐบาลตั้งแต่การเปิดตัวระบบพร้อมเพย์ ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ที่ทำให้ประชาชนสามารทำธุรกรรมการเงินสะดวกขึ้น ในชื่ออื่นๆ แทนเลขบัญชี (Any ID), มีการผลักดันการใช้บัตรพลาสติก ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 50 ล้านใบ แต่ที่ผ่านมามักถูกใช้เพียงเพื่อกดเงินสด, มีการผลักดันระบบการชำระภาษีและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการรั่วไหลของงบประมาณและการจัดเก็บภาษี, มีการเปิดกระบะทรายทดลอง หรือ Regulartory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นภายใต้การระมัดระวังความเสี่ยงอย่างรัดกุม ด้วยกระแสฟินเทคในตอนแรกที่ถูกมองว่าจะเข้ามาทำลายและทำหน้าที่แทนระบบธนาคาร แต่กลับกลายเป็นธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเข้ามาจับมือเป็นหุ้นส่วนกับฟินเทค ตั้งบริษัทลูกเพื่อพัฒนาการบริการทางการเงินของลูกค้าแทน โดยอาศัยฐานลูกค้า ความน่าเชื่อถือ และข้อมูลที่มี มาช่วยเสริมให้บริการที่ดีขึ้น

คำถามคือ ระบบการชำระเงินดิจิทัล หรือ e-Payment ของไทยใหญ่แค่ไหน ธุรกรรมที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น ทำไมธนาคารพาณิชย์ถึงกับยอมแลกรายได้ค่าธรรมเนียมนับแสนล้านบาท

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้รวบรวมข้อมูลระบบการชำระเงินของไทยย้อนหลัง 8 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2559 พบว่าปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นจาก 1,240.44 ล้านรายการ เป็น 3,323.62 ล้านรายการ และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 มีจำนวนธุรกรรมกว่า 3,071.64 ล้านรายการ โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นธุรกรรมการโอนเงินหรือชำระเงินรายย่อยถึง 87.4% เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่อยู่ที่ 69.77% ขณะที่การใช้เช็คทยอยลดลงจาก 9.24% เหลือเพียง 3% เช่นเดียวกับการโอนหรือชำระเงินครั้งละหลายรายการ (bulk payment) ที่ลดลงจาก 20.82% เหลือเพียง 9.69%

หากเจาะจงลงมาที่ช่องทางการโอนเงินหรือชำระเงินรายย่อย ได้แก่ เคาน์เตอร์สาขา เครื่องเอทีเอ็ม เครื่องรับบัตรเดบิตหรือเครดิต (EDC) อินเทอร์เน็ต มือถือ และเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) พบว่าช่องทางมือถือเพิ่มขึ้นจาก 16 ล้านรายการในปี 2553 เป็น 596 ล้านรายการในปี 2559 และเป็น 820 ล้านรายการ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 โดยมีการเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2557 ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าทุกๆ ปี ในแง่ของสัดส่วน มือถือเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเช่นกัน โดยเพิ่มจาก 1.67% ของปริมาณธุรกรรมรายย่อยในปี 2553 เป็น 20.41% ในปี 2559 และเป็น 30.05% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 ขณะที่สัดส่วนของรูปแบบอื่นต่างลดลงทั้งหมด โดยเฉพาะช่องทางเครื่องเอทีเอ็มที่ลดจาก 29.64% เป็น 10.05% ขณะที่ช่องทางอินเทอร์เน็ตลดลงจาก 16.53% เป็น 10.57% และช่องทางเครื่องรับบัตรลดลงจาก 27.38% เป็น 14.5%

ขณะที่สาขาธนาคารพาณิชย์ กลับกลายเป็นว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้เป็นช่องทางสำคัญของไทยแล้วและได้ลดความสำคัญลงเรื่อยๆ โดยในปี 2553 มีสัดส่วนปริมาณธุรกรรมเพียง 2.19% ของธุรกรรมทั้งหมดและลดลงเหลือ 0.8% ของธุรกรรม แม้ว่าจำนวนธุรกรรมจะค่อนข้างคงที่ที่ 20 ล้านรายการต่อปี แต่เป็นการเติบโตขึ้นของช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นสูงมากจนลดความสำคัญของสาขาลงไป

อย่างไรก็ตาม หากหันมาดูมูลค่าที่ใช้จ่ายในระบบการชำระเงินพบว่าเพิ่มขึ้นจาก 223.65 ล้านล้านบาท เป็น 388.63 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการโอนหรือชำระเงินขนาดใหญ่ผ่านระบบบาทเน็ต เฉลี่ยประมาณ 65% ของมูลค่าทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การโอนเงินและการชำระเงินรายย่อยมีทิศทางเพิ่มขึ้นจาก 16.65 ล้านล้านบาทในปี 2553 เป็น 40.8 ล้านล้านบาทในปี 2559 และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 7.45% ของมูลค่าธุรกรรมทั้งหมดเป็น 10.50%

หากแยกประเภทของธุรกรรมรายย่อย พบว่าการทำธุรกรรมผ่านสาขาธนาคารลดความสำคัญลงจากสัดส่วน 1.79% ของมูลค่าธุรกรรมรายย่อยรวมในปี 2553 เหลือเพียง 0.49% ในปี 2559 แม้ว่าตัวเงินจะไม่ได้ลดลงและอยู่ที่ประมาณ 210,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่เครื่องเอทีเอ็มมีมูลค่าธุรกรรมรายย่อยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.8 ล้านล้านบาท เป็น 3.87 ล้านล้านบาท แต่สัดส่วนกลับลดลงอย่างมากจาก 23.62% เหลือเพียง 9.43% เช่นเดียวกับเครื่องรูดบัตรที่มูลค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 780,000 ล้านบาทเป็น 1.67 ล้านล้านบาท แต่สัดส่วนลดลงจาก 6.59% เหลือ 4.07%

ช่องทางอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางที่มีมูลค่าและสัดส่วนสูงที่สุด โดยมีมูลค่าเพิ่มจาก 7.92 ล้านล้านบาทเป็น 29.85 ล้านล้านบาท และมีสัดส่วนเพิ่มจาก 66.91% เป็น 72.71% ขณะที่มือถือแม้ว่ามูลค่าจะน้อยแต่กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มจาก 110,000 ล้านบาท เป็น 5.37 ล้านล้านบาท และมีสัดส่วนเพิ่มจาก 0.93% เป็น 13.08% และเพิ่มขึ้นเป็น 22.91% ในเฉพาะ 9 เดือนแรกของปี 2561