ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > โครงการปันอาหารดี พี่ให้น้อง…เมื่อเด็กไทยยังไร้โอกาสในการเข้าถึงมื้ออาหารคุณภาพ

โครงการปันอาหารดี พี่ให้น้อง…เมื่อเด็กไทยยังไร้โอกาสในการเข้าถึงมื้ออาหารคุณภาพ

2 มีนาคม 2018


น้องๆ ร.ร. รุจิรพัฒน์ จ.ราชบุรี ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง มีจำนวนกว่า 1,200 คน

48% ของเด็กไทยคือจำนวนที่กรมอนามัยระบุว่าได้รับอาหารที่สมูบรณ์และสำคัญในการเจริญเติบโต

แล้วอีก 52% ล่ะ?

ตัวเลขนี้ไม่ได้สะท้อนถึงเพียงแค่ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริงในประเทศไทย แต่ยังสะท้อนถึงอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาชาติ ที่จะเกิดได้อย่างไร ในเมื่อมากกว่าครึ่งของประชากรเด็กไม่สามารถเข้าถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐานคืออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและสำคัญต่อการเจริญเติบโต

ภาพฟ้อง เรื่องน้องยังแชร์ทั่วโซเชียล

จากพฤติกรรมของคนยุคดิจิทัล ที่หันมาใช้เวลาในโลกโชเชียลวันละเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4.8 ชั่วโมง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพและเรื่องราวของเด็กในพื้นที่ห่างไกล ในสภาพขาดแคลนอาหารการกิน อดอยาก ดูสลดหดหู่ สร้างพลังสงสารที่ผลักให้เกิดการแชร์ เพื่อส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือผ่านมาทางมนุษย์โซเชียล

“แค่มีกินก็พอ… ความแกร่งของเด็ก 1 ปี 7 เดือน ที่ต้องสู้ๆๆๆ เพราะทุนชีวิตไม่ได้มีเหมือนใครเขา …อาหารกลางวันของเด็กๆ 24 คนคือ ปลากระป๋องสองกระป๋อง ผสมน้ำคลุกข้าวกิน พิกัด…ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา ‘แม่ฟ้าหลวง’ บ้านคะแนคอทะ ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ที่อยู่ในการส่งของบริจาค…. เมืองชัย ละอองฟ้าขจรกุล บ้านพอบือละปู่ 366 ม.4 ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง. จ.ตาก 63150 (ให้น้องๆ วันเด็กครับ) โทร.0863961147 อบต.เบียร์ อนุโมทนาสาธุกับทุกๆ ท่านด้วยครับ”

นี่เป็นหนึ่งในคลิปยูทิวบ์ที่มีผู้ส่งต่อๆ กันไปในกลุ่มผู้ใหญ่ใจดี ช่วงก่อนวันเด็กแห่งชาติประจำปีนี้ เหมือนเป็นการกระตุกเตือนให้ได้รู้กันว่า ณ พื้นที่อันห่างไกล ยังมีเด็กตัวน้อยๆ ที่ยังไร้โอกาสในการเข้าถึงอาหารมื้อคุณภาพ

เช่นเดียวกับภาพความรันทดของครอบครัวเด็กนักเรียนโรงเรียนรุจิรพัฒน์ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ที่กินมะขามสดต้มกับน้ำปลา กะปิ น้ำตาล กินกับข้าวสวย เป็นอาหารเย็นของครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคน บนเฟซบุ๊ก Tesco Lotus ชีวิตดีชุมชนดี

ดร.พจนพร จิตเจริญทวีโชค ผู้อำนวยการโรงเรียนรุจิรพัฒน์ บอกเล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ของเด็กนักเรียน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีจำนวนกว่า 1,200 คนว่า “เด็กๆ เหล่านี้ จะได้รับประทานอิ่มเพียงวันละหนึ่งมือคือมื้อกลางวันที่มาโรงเรียน กลับบ้านไป เรื่องคุณค่าอาหารไม่ต้องพูดถึง เคยไปดูครอบครัวหนึ่ง เขามีลูกเยอะ มื้อเย็นของเขาคือมะขามสดต้มกับกะปิ น้ำตาล น้ำปลา คลุกข้าว พี่คนโตจะเสียสละให้น้องๆ ได้กินเนื้อมะขาม ส่วนตัวเอง แค่น้ำคลุกกับข้าวประทังหิวก็พอแล้ว”

20 บาทต่อคน เพียงพอหรือไม่?

สำหรับโรงเรียนระดับประถมศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นักเรียนทุกคนจะรับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน วันละ 20 บาทต่อคน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บริหารจัดการงบอาหารมื้อกลางวันนี้ (มติคณะรัฐมนตรี 22 ตุลาคม 2556)

“ค่าอาหารกลางวันที่รัฐบาลสนับสนุน 20 บาทต่อคน แทบจะไม่เพียงพอ เราต้องมีโครงการเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เพื่อนำไข่มาปรุงเป็นอาหาร มีแปลงปลูกผัก มีนาข้าว เอาไว้ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบ พยายามพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด นอกจากนี้ก็จะมีผู้ใหญ่ใจดีบริจาคอีกส่วนหนึ่ง นั่นก็ยังไม่พอเลย เพราะเด็กๆ ที่นี่มีเยอะ อาทิตย์หนึ่งเราใช้งบประมาณราว 87,500 บาทต่อสัปดาห์ ถือว่าสูง แต่เราก็ต้องดูแลกันไป” ดร.พจนพร ผู้อำนวยการโรงเรียนรุจิรพัฒน์กล่าว

อาหารกลางวันที่โรงเรียนมีให้ จึงเป็นมื้อแห่งความหวังของเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ไร้ซึ่งการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน

“เรามีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 กว่า 1200 คน จำนวนนี้เป็นนักเรียนที่พักอยู่ในโรงเรียน 36 คนเนื่องจากพ่อแม่ทิ้งไปหางานทำในกรุงเทพฯ เด็กพิการอีก 12 คน ที่ต้องดูแลทั้งที่พักและอาหาร 3 มื้อ ค่าอาหารกลางวันที่รัฐบาลสนับสนุน 20 บาทต่อคน ถามว่าพอไหม? ตอบได้เลยว่า แทบจะไม่เพียงพอ ขนาดมีโครงการเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เพื่อนำไข่มาเป็นอาหาร มีแปลงปลูกผัก มีนาข้าว พยายามพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุดแล้ว รวมกับของบริจาคจากผู้ใหญ่ใจดี นั่นก็ยังไม่พอเลย เพราะเด็กๆ ที่นี่มีเยอะ อาทิตย์หนึ่งใช้งบประมาณราว 87,500 บาท ต่อสัปดาห์ ถือว่าสูง แต่เราก็ต้องดูแลกันไป เพราะที่นี่เป็นความหวังของพวกเขา”

นี่เป็นเพียงสถานการณ์หนึ่งเท่านั้น ยังมีสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศอีกมาก จากข้อมูลการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการภาครัฐที่ผ่านมาพบว่า ความยากจนในเมืองไทยที่ใช้เส้นวัดความยากจนอย่างเป็นทางการมีรายได้ 2,667 ต่อคนต่อเดือน ยังกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ มีสัดส่วนร้อยละ 12.96, 12.35 และ 9.83 ของประชากรในแต่ละภาคตามลำดับ

ในข้อมูลดังกล่าวยังพบด้วยว่า มี 10 จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดในปี 2559 โดยเรียงลำดับจากสัดส่วนคนจนสูงที่สุด คือ แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี กาฬสินธุ์ นครพนม ชัยนาท ตาก บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ น่าน

สอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีรายจังหวัด โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับยูนิเซฟ พบ มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ใน จ.นราธิวาส มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นสูงถึงร้อยละ 29 (ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 11) ส่วน จ.ตาก สภาพัฒน์ พบภาวะทุพโภชนาการเรื้อรัง ทำให้เตี้ย แคระแกร็นถึงร้อยละ 22

อาหารดี พี่ให้น้อง ช่วยบรรเทาทุพโภชนาการเด็ก

นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส

นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า เทสโก้ โลตัส ตระหนักถึงบทบาทของเรา ในการช่วยให้เด็กไทยสามารถเข้าถึงอาหารที่ดีมีประโยชน์ เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเงินบริจาคที่ได้รับทั้งหมดจะนำไปซื้ออาหารสดคุณภาพดีมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผักและผลไม้สด ปรุงเป็นมื้ออาหารกลางวันแก่เด็กไทยใน 77 โรงเรียน จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีเทสโก้ โลตัส เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างลูกค้ากับโรงเรียนและมูลนิธิที่ช่วยเหลือเด็กผู้ยากไร้ในแต่ละจังหวัด

“ตอนสำรวจพื้นที่โดยพนักงานของเราจากทั่วประเทศ สิ่งที่เราพบคือ หลายโรงเรียนพอมีอาหารให้เด็กรับประทาน แต่ไม่มีอาหารที่ดี เทสโก้ โลตัส จึงมุ่งมั่นทำโครงการนี้เพื่อจะสัญญาว่านอกจากเราจะคัดสรรอาหารที่ดีมีคุณภาพในราคาที่เอื้อมถึงได้ให้แก่ลูกค้าประชาชนแล้ว ยังจะมอบอาหารคุณภาพดีให้แก่น้องๆ ที่ขาดแคลนทั่วประเทศด้วย” นางสาวสลิลลากล่าว

โครงการนี้เปิดรับบริจาคเงินจากลูกค้าประชาชนในระยะเวลา 20 วัน ได้เงินจำนวน 2.5 ล้านบาท รวมกับเทสโก้ โลตัส สมทบอีก 6 ล้านบาท เป็น 8.5 ล้านบาท ซึ่งจะแปลงเป็นวัตถุดิบชั้นดี มีคุณค่าโภชนาการครบถ้วน ส่งไปถึง 77 โรงเรียน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ตลอดเดือนกุมภาพันธ์นี้เพื่อเป็นอาหารกลางวันให้เด็กๆ ทั้ง โรงเรียนรุจิรพัฒน์ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา ‘แม่ฟ้าหลวง’ จ.ตาก จะได้รับอาหารมีคุณค่าครบ 5 หมู่

เสียงดีใจของเด็กๆ อื้ออึง ตะลึงลานไปกับรสชาติอาหารที่ได้รับประทานเนื้อสัตว์มากกว่าเดิม ลิ้มรสแอปเปิล ผลไม้ในตำรา รวมถึงกับข้าวที่มีคุณค่า ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ที่พนักงานเทสโก้ โลตัส ทั่วประเทศ ทยอยเดินทางส่งต่ออาหารดีๆ ขยายการเข้าถึงมื้อที่อุดมไปด้วยคุณค่าโภชนาการ ไปยังพื้นที่ที่ยังขาดแคลน