ThaiPublica > เกาะกระแส > วิจัยกรุงศรีวิเคราะห์ระบบการกักเก็บพลังงาน กุญแจสำคัญสู่โลกพลังงานในอนาคต

วิจัยกรุงศรีวิเคราะห์ระบบการกักเก็บพลังงาน กุญแจสำคัญสู่โลกพลังงานในอนาคต

3 มีนาคม 2018


วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรี ออกรายงานเรื่อง “ระบบการกักเก็บพลังงาน กุญแจสำคัญสู่โลกพลังงานในอนาคต” โดยชี้ว่าตลาดพลังงานโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายเรื่องความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานในหลากหลายมิติ วิจัยกรุงศรีมองว่า การพัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพลิกโฉมตลาดพลังงานโลก ระบบการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) จะนำมาใช้อย่างแพร่หลายในระดับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ภายใน 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่ดีขึ้นและราคาที่ถูกลงจะช่วยลดระยะเวลาคุ้มทุน ส่งผลให้การนำ ESS มาใช้ในระดับครัวเรือนและใช้กับรถยนต์ไฟฟ้ามีความเป็นไปได้มากขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

วิจัยกรุงศรี กล่าวในรายงานเรื่อง “Energy Storage: A Missing Jigsaw Piece in the Energy Market” ว่า การใช้ ESS อย่างแพร่หลายไม่เพียงให้ประโยชน์โดยตรงกับผู้ใช้ แต่ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบพลังงาน ซี่งนำไปสู่การใช้ไฟฟ้าและการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกจึงได้รับประโยชน์จากการเข้ามาของ ESS และยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ได้รับประโยชน์ เช่น power grid โปรแกรมการจัดการระบบ การบริการด้านพลังงาน และการจัดการของเสีย

ความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทาน ทั้งในมิติของเวลา สถานที่ รูปแบบ และคุณภาพ อย่างเช่น ช่วงเวลาผลิตไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้าที่ไม่ตรงกัน พลังงานที่มาหลายรูปแบบ เช่น พลังงานกล พลังงานไฟฟ้า ความแตกต่างของอุณหภูมิ ตัวเก็บประจุ และพลังงานเคมี ซึ่งความไม่สมดุลเหล่านี้มักนำไปสู่ความต้องการแหล่งพลังงานเกินความจำเป็น

ระบบการกักเก็บพลังงานถูกมองว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลในตลาดพลังงานได้ ครัวเรือนจะสามารถใช้ ESS กักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้มากในช่วงเวลากลางวัน เพื่อนำไปใช้ในช่วงเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงแทน หรือผู้ผลิตไฟฟ้าใช้ตัวกักเก็บประจุในการเพิ่มคุณภาพของไฟฟ้าก่อนปล่อยออกมา เพื่อให้กระแสไฟฟ้าที่ปล่อยออกมามีแรงดันสมดุลเหมาะสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ

วิจัยกรุงศรีมองว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของ ESS มีทั้งหมด 5 ประการ คือ การเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะต่อการใช้งาน ความคุ้มค่า เทคโนโลยี ความยืดหยุ่นในการใช้งาน และความเชื่อมโยงในอุตสาหกรรม โดยสามปัจจัยแรกเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ (necessary condition) นอกจากนี้ ส่วนต่างระหว่างค่าไฟฟ้าในช่วงพีคและช่วงปกติ รูปแบบการใช้พลังงาน และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อระยะเวลาที่ ESS จะถูกนำมาใช้เชิงพาณิชย์

การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการนำ ESS มาใช้ในเชิงพาณิชย์ใน 3 กรณี คือ 1) การนำมาใช้ในระดับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ 2) การนำมาใช้ในระดับครัวเรือน และ3) การนำมาใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า พบว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานมีประโยชน์ต่อผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ต้องการความมั่นคงทางพลังงาน ขณะที่ยังมีข้อจำกัดในการใช้ ESS ในครัวเรือนและการนำมาใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า

  1. ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ ESS สามารถเพิ่มความมั่นคงและเสถียรภาพด้านพลังงานให้ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ และยังช่วยเพิ่มโอกาสการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น คาดว่าผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่จะนำ ESS มาใช้มากขึ้นในระยะเวลาอันสั้น
  2. ระดับครัวเรือน จากราคาของแบตเตอรี่ในปัจจุบัน ระยะเวลาคุ้มทุนของการติดตั้ง ESS นานถึง 20 ปี ขณะที่แบตเตอรี่ส่วนใหญ่ในท้องตลาดเริ่มเสื่อมสภาพก่อนหน้านั้น
  3. การใช้แบตเตอรี่ในรถไฟฟ้า จุดคุ้มทุนของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ราว 7-9 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับระยะเวลาเฉลี่ยในการใช้รถยนต์ อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังไม่สามารถแข่งขันกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปได้ในแง่ของระยะทางในการวิ่ง

อย่างไรก็ดี การพัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานที่รุดหน้าอย่างรวดเร็วจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพของ ESS ช่วยหนุนให้เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานสร้างความได้เปรียบมากขึ้นได้ในอนาคต ทั้ง BNEF (Bloomberg New Energy Finance), IRENA (International Renewable Energy Agency), และ EERA (European Energy Research Alliance) มีความเห็นในทางเดียวกันว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้าประสิทธิภาพของแบตเตอรี่มีแนวโน้มดีขึ้นมากกว่า 20% ขณะที่ราคาเฉลี่ยจะลดลงมากกว่าครึ่ง และหากมองไปถึงปี 2573 ราคาแบตเตอรี่คาดว่าจะเหลือเพียง 1 ใน 3 ของราคาในปัจจุบัน ส่งผลให้การใช้ ESS เชิงพาณิชย์มีความเป็นไปได้มากขึ้น ทั้งในระดับครัวเรือนและการใช้แบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า

ในระดับครัวเรือน อีก 5-10 ปีข้างหน้า ระยะเวลาคุ้มทุนของการติดตั้ง ESS จะลดลงเหลือต่ำกว่า 8 ปี ซึ่งจะเพิ่มการใช้ ESS ในระดับครัวเรือนและนำไปสู่การขยายโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) สำหรับการใช้แบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาประสิทธิภาพของแบตเตอรี่และราคาที่ถูกลงจะสามารถลดระยะเวลาคุ้มทุนเหลือ 3-4 ปี และสามารถเพิ่มระยะทางการวิ่งต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้งให้ใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาปภายใน ซึ่งจะทำให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าแพร่หลาย ถือเป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต

การพัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานจะนำไปสู่การใช้ ESS ในเชิงพาณิชย์ ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมการกักเก็บพลังงานเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ อุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ รวมถึงสวัสดิการสังคมก็จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจาก ESS จะเปลี่ยนวิธีการได้มาและใช้ไปของพลังงานซึ่งก่อให้เกิดความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานของการใช้พลังงานมากขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานจึงเป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ อาจช่วยร่นระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานในอนาคตได้เร็วยิ่งขึ้น