ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > “Blue Carbon Society” ชวนสังคมอนุรักษ์-ฟื้นฟู ท้องทะเลและชายฝั่ง สร้างเครื่องฟอกอากาศของโลก

“Blue Carbon Society” ชวนสังคมอนุรักษ์-ฟื้นฟู ท้องทะเลและชายฝั่ง สร้างเครื่องฟอกอากาศของโลก

14 มีนาคม 2018


ดร.ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ และนางทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ เปิดตัว “บลูคาร์บอนโซไซตี้”(Blue Carbon Society)

กรีนคาร์บอนหรือป่าไม้ที่เป็นปอดของโลก กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตจากการตัดไม้ทำลายป่า ส่งผลให้ปัญหาภาวะโลกร้อน(Global Warming) ทวีความร้ายแรงขึ้นทุกวัน และยังคงเป็นปัญหาที่ทุกคนบนโลกต้องร่วมมือกันแก้ไข ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงเริ่มหันไปให้ความสนใจกับ‘บลูคาร์บอน’ มากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกในการช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน

“บลูคาร์บอน” หรือ คาร์บอนสีน้ำเงิน เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะทำให้โลกรอดพ้นจากภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) และภาวะโลกร้อนได้ โดยใช้ศักยภาพของท้องทะเลเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ผ่านองค์ประกอบหลักของระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่ง (Marine and Coastal Ecosystem Components) อาทิเช่น ป่าชายเลน หญ้าทะเล และที่ลุ่มน้ำเค็มทำหน้าที่เสมือน “เครื่องฟอกอากาศของโลก”

“บลูคาร์บอนโซไซตี้”(Blue Carbon Society) จึงถูกจัดตั้งขึ้นโดยดร.ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ ผู้มีบทบาทอนุรักษ์ท้องทะเลไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผู้ผลิต “เชลล์ดอน” แอนิเมชั่น 3 มิติ นำเสนอเรื่องราวชีวิตสัตว์ใต้ท้องทะเลอันดามันโลก และ นางทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ ผู้สร้างกลุ่มบริษัทดีที ช่วยเหลือผู้ขาดโอกาสในสังคม สร้างการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และมุ่งหวังให้บลูคาร์บอนโซไซตี้ มีส่วนร่วมปกป้องสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะสัตว์ทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์

ดร.ชวัลวัฒน์และนางทิพพาภรณ์ หวังจะให้ “บลูคาร์บอนโซไซตี้” เป็นที่สำหรับทุกคนเข้ามาร่วมสร้างความตระหนักและเรียนรู้ร่วมกันถึงความสำคัญของ “ท้องทะเลและชายฝั่ง” ในบทบาทการเป็นผู้พิทักษ์โลก ให้มีธรรมชาติที่สวยงาม น่าอยู่ เพื่อทุกชีวิตทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

ในงานเปิดตัวบลูคาร์บอนโซไซตี้เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ดร.ชวัลวัฒน์ กล่าวว่าพื้นที่ 3 ใน 4 ของโลกนี้เป็นพื้นที่น้ำทะเล หากมีการพัฒนาชายฝั่งทะเล เช่น พัฒนาปลูกป่าชายเลน เพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนคาร์บอนไดออกไซด์และปล่อยออกซิเจนออกมา จะช่วยทำให้ลดก๊าซเรือนกระจกได้

ดังนั้น บลูคาร์บอนโซไซตี้ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร จึงเชิญชวนคนไทยทุกคนให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่งทะเล โดยหวังขยายเครือข่ายผู้มีจิตอนุรักษ์ และเป็นพื้นที่ของทุกคนในการเรียนรู้ถึงความสำคัญในการดูแล รักษา และฟื้นฟูระบบนิเวศให้สมบูรณ์ยั่งยืน

“องค์กรนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ อยากได้แรงกำลังใจจากทุกคน ที่สำคัญคือเด็กรุ่นใหม่ที่จะเป็นพลังผลักดันให้องค์กรนี้เติบโตต่อไป และทุกคนสามารถร่วมเป็นสมาชิกองค์กรได้ สิ่งดีๆไม่มีกฎเกณฑ์อะไรมากมาย ขอแค่มีใจมาร่วมกัน มาผนึกกำลังกัน เพราะทีมงานทุกคนของบลูคาร์บอนโซไซตี้ตั้งใจและเต็มที่ที่จะทำสิ่งนี้มาก” ดร.ชวัลวัฒน์ กล่าว

ด้านนางทิพพาภรณ์ กล่าวว่า สัตว์ต่างๆบนโลกนี้มีชีวิตจิตใจ หากเรามีจิตใจรักเขา เขาก็จะรักเรา ทำให้สนใจเรื่องสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งได้ดูสารคดียิ่งรู้สึกว่าสัตว์ทุกตัวเป็นหนึ่งชีวิตบนโลกนี้ จึงอยากช่วยเขา และอยากให้คนที่รักสัตว์มาร่วมกันอนุรักษ์หรือมาช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำ หรือให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่จะช่วยให้องค์กรนี้ได้ทำประโยชน์ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเต็มที่

สำหรับพันธกิจของบลูคาร์บอนโซไซตี้ ประกอบด้วย

1. Blue content: เสริมสร้างศักยภาพของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งทะเล ในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
2. Blue diversity: ปกป้องและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งทะเล
3. Blue activity: พัฒนากิจกรรมเพื่อขยายความร่วมมือที่หลากหลาย ที่จะทำให้สังคมมนุษย์และระบบนิเวศทางธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล
4. Blue research: เป็นศูนย์ข้อมูลการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งทะเล
5. Blue partnership: สร้างและรวบรวมเครือขายพันธมิตรอย่างยั่งยืน เพื่อร่วมดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบลูคาร์บอน
6. Blue people: พัฒนาบุคลากรด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน

นายมาร์ติน ฮาร์ท-แฮนเซ่น รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ แต่สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด คือประเทศไทยทิ้งขยะลงแม่น้ำจำนวนมาก ส่งผลให้ขยะไหลลงสู่ทะเลเป็นอาหารสำหรับสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลาวาฬ

นอกจากนี้ยังพบว่าผลสำรวจพื้นที่ป่าในประเทศไทยเมื่อปี 1961 มีพื้นที่ป่าร้อยละ 53 แต่ในปี 2013 พื้นที่ป่าลดลงเหลือเพียงร้อยละ 31 ซึ่งการฟื้นฟูระบบนิเวศของไทยให้กลับมาอุดมสมบูรณ์และสวยงามอีกครั้ง จำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนสำหรับการฟื้นฟูมากกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 189,359,996,928 บาท) ซึ่งภาครัฐไม่สามารถแบกรับภาระได้เพียงผู้เดียวได้ จึงจำเป็นต้องมีภาคเอกชน รวมถึงองค์กรต่างๆ เข้ามาร่วมฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งบลูคาร์บอนโซไซตี้เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของภาคเอกชน ที่จะช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยนำความสวยงามของสิ่งแวดล้อมกลับมาในประเทศไทยอีกครั้ง

ภาพยนต์สารคดี “Earth One Amazing Day” พูดคุยเบื้องหลังการถ่ายทำกับ ริชาร์ด เดล (Richard Dale) ผู้กำกับ(ขวา) พร้อมโปรดิวเซอร์ สตีเฟน แมคโดโน (Stephen McDonogh)(ซ้าย)

อย่างไรก็ตามนอกจากการเปิดตัวบลูคาร์บอนโซไซตี้แล้ว ยังมีการฉายภาพยนตร์สารคดีแนวอนุรักษ์ระดับโลกจากบีบีซี เรื่อง “Earth : One Amazing Day” โดยก่อนชมภาพยนตร์ มีการพูดคุยถึงเบื้องหลังการถ่ายทำกับ ริชาร์ด เดล (Richard Dale) ผู้กำกับ พร้อมโปรดิวเซอร์ สตีเฟน แมคโดโน (Stephen McDonogh) ที่บินตรงจากประเทศอังกฤษมาถ่ายทอดประสบการณ์จากการถ่ายทำตลอดระยะเวลา 5 ปี และมีกำหนดฉายจริงวันที่ 15 มีนาคมนี้

ทั้งสองคนเล่าวว่า ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ถ่ายทอดชีวิตของสัตว์ 38 ชนิด จากหลายประเทศทั่วโลก ด้วยเฟรมเรท 1000 เฟรมต่อ 1 วินาที และไม่ใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกส์ โดยจะฉายให้เห็นถึงพฤติกรรมของสัตว์ต่างๆและความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายในหนึ่งวัน โดยมีดวงอาทิตย์เป็นพระเอกในการดำเนินเรื่อง

สตีเฟนเล่าว่า แรงบันดาลใจในการทำภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เกิดจากความคิดอยากทำภาพยนตร์ที่ทุกคนสัมผัสได้ นั่นก็คือเรื่องของสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และสัตว์โลก ซึ่งใช้ชีวิตร่วมกับมนุษย์บนโลกนี้ และจะทำอย่างไรที่จะกระตุ้นความคิดคนได้ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ว่าสัตว์และธรรมชาตินั้นมีความสำคัญ

สตีเฟนบอกว่า ความยากของสารคดีเรื่องนี้สำหรับช่างภาพคือ นักแสดงคือสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติและที่ไม่สามารถสั่งการได้เลยว่าจะให้เขาไปทำอะไร ส่วนคนตัดต่ออย่างริชาร์ดบอกว่า สิ่งที่ยากคือจำนวนฟุตเทจจำนวนมหาศาลจากที่สตีเฟนได้ถ่ายไว้ ซึ่งเทียบได้เท่ากับความจุแผ่นดีวีดีประมาณ 250,000 แผ่น และต้องใช้เวลาตัดต่อถึง 1 ปี

สตีเฟนกล่าวว่า อยากให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ผ่านสายตาเด็กๆให้ได้มากที่สุด เพื่อให้รู้ว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างไร และเด็กๆสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้ยังไง

ส่วนริชาร์ดหวังว่า หลังจากได้ดูภาพยนตร์แล้ว อยากให้ทุกคนเปลี่ยนมุมมองหรือภาพลักษณ์จากสิ่งที่ทุกคนเห็นสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติรอบตัวเราแล้วอาจจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดามาก จนมองข้ามความสำคัญไป และกลับมามองอีกมุมหนึ่งว่าเหมือนเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นความมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติ แล้วจะเข้าใจและรักในสิ่งที่อยู่รอบตัวเรามากยิ่งขึ้น

สำหรับผู้ที่สนใจร่วมกันพิทักษ์โลกไปกับ “บลูคาร์บอนโซไซตี้” สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทาง www.bluecarbonsociety.org หรือ www.facebook.com/bluecarbonsociety