งาน Bangkok Fintech Fair ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด SME and Consumer Financial Solutions ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ เมื่อวันที่ 19-20 มีนาคม ที่ผ่านมามีผู้เข้าชมงานร่วม 2,000 คน
วัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินด้วยการนำเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) มาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่ม SMEs และผู้บริโภครายย่อย ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ รวมทั้งเป็นการสื่อสารนโยบายการประยุกต์ใช้ฟินเทคในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินของประเทศให้มีการรับรู้เป็นวงกว้าง ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักถึงการป้องกันความเสี่ยงด้านภัยคุกคามไซเบอร์
ธนาคารพาณิชย์ทั้งไทยและต่างประเทศ สถาบันการเงินของรัฐ ผู้ให้บริการชำระเงินระดับโลก ที่ปรึกษาทางด้านนวัตกรรมการเงิน ผู้ให้บริการด้าน Cyber Security ผู้ให้บริการด้านฟินเทค ร่วมออกบูธโชว์นวัตกรรมทางการเงินจำนวนมาก โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ของไทยโชว์เคสจัดเต็มนวัตกรรมการเงินตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์-ธุรกิจยุคดิจิทัล
บรรยากาศภายในงานคึกคัก เนื่องจากผู้เข้าชมงานให้ความสนใจเยี่ยมชมร่วมกิจกรรมตามบูธๆ ต่าง และเข้าฟังการเสวนาที่จัดขึ้นในหลายหัวข้อ ทั้งด้าน Digital Bank, Cyber Security, โดยมีผู้ร่วมเสวนาที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร ตัวแทนจากผู้นำด้านเทคโนโลยีและฟินเทคในระดับโลกและภูมิภาค
จากการสำรวจและเยี่ยมชมงานของสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าพบว่า ธนาคารและสถาบันการเงินที่เข้าร่วมงานตอบโจทย์แนวคิดของงาน โดยนวัตกรรมที่นำมาแสดงส่วนใหญ่เป็นในด้านชำระเงิน (Payment) ซึ่งมีองค์ประกอบที่โดดเด่น 2 เรื่อง คือ เทคโนโลยี QR Code และเครื่อง EDC รุ่นใหม่ที่สร้างและรองรับการชำระเงินด้วย QR Code ที่มุ่งตอบสนองผู้บริโภครายย่อยและ SME ยุคดิจิทัล
ธปท. ใช้เทคโนโลยี API ปรับข้อมูลให้อ่านง่าย
เริ่มจากบูธ ธปท. เจ้าภาพจัดงาน ที่นำเสนอการใช้เทคโนโลยี API กับการให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของ ธปท. โดยปกติแล้วทั้งประชาชน สื่อมวลชน ผู้สนใจทั่วไป สามารถนำข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ ธปท. ไปใช้ได้อยู่แล้ว แต่การใช้ API ช่วยให้การอ่านข้อมูล การนำข้อมูลไปใช้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มฟินเทคที่สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ทันที ไม่ต้องดึงข้อมูลจากไฟล์ไปปรับอีก
แบงก์กรุงเทพนำเสนอ 4 บริการทางการเงินใหม่
นางสาวสุธีรา ศรีไพบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพได้ร่วมสร้างสรรค์พื้นที่บูธกิจกรรมด้วยแนวคิด “Inspiring Change – Innovation Forward” นำเสนอนวัตกรรมทางการเงินในรูปแบบต่างๆ ที่ธนาคารได้พัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและลูกค้าในบริการทางการเงิน โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ช่วยให้การทำธุรกรรมต่างๆ ของลูกค้าสะดวกรวดเร็วขึ้นและยังคงความปลอดภัย ซึ่งจะส่งเสริมให้คนไทยหันมาทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลแทนการใช้เงินสด สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านการเงินอย่างต่อเนื่อง
ไฮไลท์กิจกรรมภายในบูธแบ่งออกเป็น 2 โซน คือ โซน SME and Consumer Financial Solutions ที่นำเสนอ 4 บริการทางการเงินใหม่เพื่อตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันของลูกค้าให้สะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้น ประกอบด้วย
BeMerchant แอปฯ ที่ช่วยให้การซื้อขายเป็นเรื่องง่าย โดยสร้าง QR Code เพื่อให้ผู้ซื้อสแกนชำระเงินผ่าน Mobile Banking ของทุกธนาคาร ทั้งยังรองรับแอปฯ BeWallet ของธนาคารกรุงเทพ แค่สแกนก็ชำระด้วยบัตรได้เช่นกัน
BeWallet แอปฯ ที่กำลังจะเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะช่วยให้ใช้จ่ายผ่านบัตรได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องพกเงินสดหรือบัตร เพียงเปิดแอปฯ แล้วสแกน QR Code ปลอดภัย มั่นใจด้วยรหัสส่วนตัว และเช็คยอดได้ทันที
Thai QR Payment การชำระเงินรูปแบบใหม่ที่ช่วยให้ผู้ซื้อจ่ายเงินได้สะดวก ผ่าน Bualuang mBanking สะดวก ปลอดภัย ไม่ต้องพกเงินสด ไม่ต้องรอเงินทอน
Bualuang Smart Bill Payment บริการรับชำระบิลของธนาคารกรุงเทพและธนาคารที่ร่วมให้รายการ เข้ามาไว้ในบัญชีธนาคารกรุงเทพ ลดความยุ่งยาก จัดทำรายงานการชำระเงินได้ง่ายรวมทุกข้อมูลชำระเงิน
นอกจากนี้ โซน FinTech Innovation Interactive Wall นำเสนอ 2 โครงการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินที่กำลังพัฒนา ในรูปแบบการนำเสนอที่ทันสมัย เข้าใจง่าย บน Interactive Wall ประกอบด้วย Security Feature on Mobile Application ฟีเจอร์ใหม่ที่จะช่วยให้การทำธุรกรรมทางออนไลน์ปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยผู้ใช้งานสามารถอนุมัติรายการผ่านทางมือถือได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ด้วยระบบยืนยันตัวตนหลากหลายรูปแบบตามต้องการ และความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตร R3 (R3 Consortium) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินแบบใหม่ที่ใช้ Distributed Ledger Technology เข้ามาสนับสนุนการบริการธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรมในทุกขั้นตอน
แบงก์กรุงไทยจัด EDC คลุมทุกด้าน
ธนาคารกรุงไทยได้นำเสนอเครื่อง EDC ที่รองรับการชำระเงินทั้งการใช้บัตรและ QR Code โดยในด้านการชำระเงินด้วยบัตรนั้น กรุงไทยเป็นธนาคารเดียวที่ติดตั้งเครื่อง EDC ในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐครอบคลุมทั่งประเทศกว่า 20,000 เครื่อง เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไหลสามารถจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเพื่อการศึกษา วัตถุดิบการเกษตรกรรมได้สะดวก ง่ายดาย และรวดเร็ว ตลอดจนยังได้นำเสนอเครื่อง EDC รองรับ QR Code ผู้บริโภคทั่วไปอีกด้วย
นอกจากนี้ ธนาคารได้พัฒนาระบบบริจาคเงินให้กับวัดหรือหน่วยงานสาธารณกุศลต่างๆ ผ่านบริการ e-Donation ซึ่งผู้บริจาคจะได้รับใบอนุโมทนาบัตรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะสามาถส่งให้กับกรมสรรพากรเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี โดยติดตั้งเครื่อง EDC ให้กับวัด 11 แห่งทั่วประเทศไปแล้ว
ธ.กสิกรไทยชู K PLUS SHOP หนุน SME
ธนาคารกสิกรไทยได้นำ K PLUS SHOP ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับร้านค้า ที่พัฒนาครอบคลุมทั้งผู้ซื้อที่จ่ายเงินผ่าน K Plus และผู้ขาย โดยมีจุดเชื่อมคือ QR Code เพิ่มช่องทางการรับชำระเงิน รองรับการชำระผ่านโมบายแบงกิงของทุกธนาคารในไทย ไม่มีค่าธรรมเนียมการใช้งานทั้งฝั่งร้านค้าและฝั่งลูกค้าที่ซื้อสินค้าและบริการในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท เพิ่มความสะดวกให้ทั้งร้านค้าและผู้ซื้อ และเพิ่มโอกาสในการขายจากการที่ลูกค้าพกเงินสดมาไม่พอ ลดความผิดพลาดจากการทอนเงินผิด หรือกดเลขบัญชี/หมายเลขโทรศัพท์ผิดตอนโอนเงิน
K PLUS SHOP สามารถสร้างบิลและส่งบิลให้กับลูกค้าได้ ลดภาระในการจัดการเงินสด ไม่ต้องนับเงินเมื่อหมดวัน เพราะเงินจะโอนเข้าบัญชีที่ผูกกับ K PLUS SHOP เมื่อปิดยอดทุกวัน หากเจ้าของร้านไม่ทำการปิดยอดขายด้วยตัวเอง ระบบจะทำการปิดยอดขายให้ทุกวันเวลา 22.00 น. โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังกำหนดลำดับชั้นผู้ที่เข้าระบบได้เพื่อความปลอดภัย เช่น ให้ลูกจ้างดูยอดขายได้ แต่ไม่สามารถปิดยอดขายได้
K PLUS SHOP จะแจ้งยอดเงินเข้าและสร้างรายงานยอดขาย ช่วยให้ร้านค้าสามารถบริหารจัดการข้อมูลทางการเงินของร้านได้ง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยทุกครั้งที่ร้านค้าได้รับชำระ K PLUS SHOP จะแจ้งเตือนยอดเงินเข้าแบบเรียลไทม์ และจะโอนเงินเข้าบัญชีทุกวันหลังปิดยอด นอกจากนี้ยังมีรายงานสรุปยอดขายแบบรายชั่วโมง รายวัน และรายเดือน
นอกจากนี้ K PLUS SHOP เป็นแอปพลิเคชันแรกของธนาคารไทยที่รองรับการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดของ Alipay และ WeChat Pay
ภายในบูธยังแสดงเครื่องรับชำระเงิน EDC ขนาดเล็ก (Mini EDC) รองรับการใช้งานกิจการตามขนาด ที่จะช่วยให้ร้านค้าสามารถสร้าง QR Code เป็นมาตรฐานประจำร้าน และรองรับโมบายแบงกิงได้ทุกธนาคาร
ธ.ไทยพาณิชย์โชว์นวัตกรรม Credit Scoring
นายสีหนาท ล่ำซำ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสาย Payments Product Development and Solutions ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ท่ามกลางกระแสการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของโลกทุกวันนี้ Financial Technology (FinTech) ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันอย่างมากและใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น การจัดงาน Bangkok FinTech Fair 2018: SME and Consumer Financial Solutions นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับบริการทางการเงินที่สะดวก รวดเร็ว สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ สร้างความแข็งแกร่งเสริมศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงสร้างประสบการณ์และผลักดันให้สังคมไร้เงินสดเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ธนาคารได้มอบประสบการณ์ใหม่ แม่มณีนางกวักยุคดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อบุคคลผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม “Credit Scoring” โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ที่ เอสซีบี อบาคัส (SCB Abacus) บริษัทในเครือธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้คิดค้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถแก่ธนาคารไทยพาณิชย์ในการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและเสนอบริการหรือสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการได้ตรงใจ ปลอดภัย และรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมักประสบปัญหาการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อมาขยายธุรกิจหรือเป็นเงินทุนหมุนเวียน
พนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ประจำบูธภายในงานได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภายในงานได้เปิดให้สมาชิกร้านค้าแม่มณีเข้าร่วมทดสอบ Credit Scoring ที่ใช้ชื่อภายในงานว่าน้ำแดง Score ด้วย น้ำแดงเพิ่มสมาชิกร้านค้าซึ่งเป็น SME ขนาดย่อมซึ่งโดยทั่วไปจะไม่มี Statement หรือการเดินบัญชีธนาคาร โดยทุกๆ ครั้งที่มีการซื้อสินค้าก็จะมีการบันทึกรายการไว้ด้วยน้ำแดง ยิ่งจำนวนรายการเยอะ ก็บ่งชี้ถึงโอกาสที่อาจจจะได้รับการพิจารณาสินเชื่อ
นางสาวพิมพ์ใจ ทองมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสาย Payments Product Sales and Delivery ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารเชื่อมั่นว่าก้าวแรกที่สำคัญของผู้ประกอบการในการสร้างมูลค่าและสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับธุรกิจมาจากกรอบแนวคิดพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเข้ามาช่วยทำให้มีข้อได้เปรียบด้านความเร็ว ช่วยลดต้นทุน รวมถึงสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจต่อไป
TMB Wave จ่ายด้วยชิปแบบ Contactless
ธนาคารทหารไทย (TMB) โชว์นวัตกรรมการชำระเงินที่จะนำมาให้บริการภายในไตรมาส 2 ปีนี้ โดยเป็นการชำระเงินด้วยชิปที่ไม่ได้มากับบัตร แต่เป็นนวัตกรรมชำระเงินรูปแบบใหม่ คือ Wearable Payment ตัวชิปที่สามารถพกพาไปได้ทุกที่หรือจะฝังไว้ในโทรศัพท์มือถือก็ได้ หรือ ฝังใน device ใดก็ได้ การใช้งานจะคล้ายกับบัตรเดบิตที่เมื่อชำระเงินก็จะตัดเงินจากบัญชีที่มีกับธนาคาร การใช้จ่ายด้วย TMB Wave ด้วยเทคโนโลยี Contactless เพียงแตะอุปกรณ์ที่ฝังชิปไว้กับเครื่องก็รับสินค้าได้ทันที การชำระเงินด้วยชิปแทนเงินสดมีความปลอดภัยสูงสำหรับลูกค้ารายย่อย
นอกจากนี้ธนาคารได้ให้ผู้เข้าชมบูธร่วมทดลองใช้บริการโมบายแอปพลิเคชันใหม่ Sabuy Shop สำหรับเอสเอ็มอี รับง่ายจ่ายคล่องตอบโจทย์เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของลูกค้าภายใต้แนวคิดตรงใจ ง่าย และสะดวกสำหรับลูกค้าUnionPay เตรียมเปิด Wearable Payment ในไทย
ทางด้านบูธผู้ให้บริการการชำระเงินชั้นนำของจีน UnionPay เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังเจรจากับหลายธนาคารไทยเพื่อนำบริการชำระเงินรูปแบบใหม่มานำเสนอผู้บริโภคในไทย นั่นคือ Wearable Payment คาดว่าจะเปิดตัวได้ภายในปีนี้ ซึ่ง UnionPay ใช้นาฬิกาข้อมือเป็นสื่อในการชำระเงิน โดยมีพันธมิตรสำคัญคือ Garmin, Huawei, Swatch ซึ่ง Wearable payment ได้ให้บริการไปแล้วในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง
เจ้าหน้าที่ UnionPay เปิดเผยว่า ตัวนาฬิกาจะมาจากพันธมิตร ส่วนโปรแกรมการชำระเงินที่จะฝังในตัวเรือนมาจากการพัฒนาของ UnionPay โดยประกอบไปด้วย e-wallet ที่สามารถใส่บัตรเครดิตลงไปได้ด้วย การใช้งานก็ง่าย เพียงผู้ใช้ปรับหน้าจอนาฬิกาให้เข้าสู่ฟังก์ชันชำระเงิน จากนั้นแตะนาฬิกาไปที่เครื่อง EDC รายการซื้อสินค้านั้นก็จะสำเร็จภายในไม่กี่วินาที
JCB โชว์บัตรเครดิตแบบ Biometric Transaction
JCB ผู้ให้บริการชำระเงินผ่านบัตรรายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้พัฒนาเทคโนโลยีการชำระเงินโดยใช้ลายนิ้วมือ ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกับธนาคารพาณิชย์ในไทยเพื่อเตรียมให้บริการบัตรเครดิตที่ใช้ลายนิ้วมือสำหรับการชำระเงินใช้จ่ายซื้อสินค้า
บัตรเครดิตที่จะพัฒนาขึ้นนี้จะมีทั้งชิปที่ฝังมากับบัตร และมีสลอตสำหรับสแกนลายนิ้วมือ มีความปลอดภัยสูงเนื่องจากหากบัตรหายก็ไม่มีใครสามารถนำไปใช้ได้ ความเสียหายจึงไม่มี ซึ่งการใช้งานก็ง่าย โดยเมื่อได้รับบัตรแบบใหม่นี้จากธนาคารแล้ว เจ้าของบัตรก็เปิดใช้ตามปกติ แต่แทนที่จะต้องโทรศัพท์ไปที่ธนาคารแบบเดิม ก็สามารถสแกนลายนิ้วมือลงในบัตรพร้อมตั้งค่ารหัส ส่วนการใช้ก็เช่นกัน ใช้ลายนิ้วมือแทนการเซ็นชื่อ
ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจาณาว่าจะให้ผู้ใช้ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันลงมือถือเพื่อการเปิดใช้บัตร หรือธนาคารพาณิชย์จะมีระบบอื่นมารองรับ
สำหรับบูธอื่นๆ ก็นำเสนอเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่และธุรกิจยุคดิจิทัลทั้งสิ้น เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนำแอปฯ SME D Bank มาโชว์ ซึ่งเป็นแอปฯ ขอรับบริการสินเชื่อ ส่วนธนาคารออมสินนำเสนอการชำระเงินผ่าน QR Code ขณะที่ บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นำเสนอบริการชำระเงินแบบไม่ต้องใช้บัตร