ThaiPublica > เกาะกระแส > SCB EIC เจาะ 3 อุตสาหกรรมเด่นรับ EEC “ศูนย์ซ่อมอากาศยาน – IoT Solution – หุ่นยนต์”

SCB EIC เจาะ 3 อุตสาหกรรมเด่นรับ EEC “ศูนย์ซ่อมอากาศยาน – IoT Solution – หุ่นยนต์”

15 กุมภาพันธ์ 2018


นายวิธาน เจริญผล ผู้อำนวยการอาวุโสคลัสเตอร์ธุรกิจบริการ Economic Intelligence Centerธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

นายวิธาน เจริญผล ผู้อำนวยการอาวุโสคลัสเตอร์ธุรกิจบริการ Economic Intelligence Center (EIC)ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) แถลงผลวิเคราะห์ “เจาะลึกอุตสาหกรรมเด่นขานรับโครงการ EEC” ว่า อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็น 3 อุตสาหกรรมที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในช่วงต้นของการพัฒนาพื้นที่ EEC จากศักยภาพของผู้ประกอบการ ทักษะแรงงาน และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน

นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการพลิกโฉมโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยจากการดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง มีศักยภาพที่ตอบโจทย์ปฏิรูปประเทศไทย

EEC มีการพัฒนาพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทราซึ่งเป็นฐานอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญของประเทศในปัจจุบัน เพื่อสร้างแรงดึงดูดระลอกใหม่ให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งแบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนและมีการดำเนินการแล้วในปัจจุบันหรือกลุ่มอุตสาหกรรม First S-curve และ 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ กลุ่มอุต สาหกรรม New S-curve ซึ่งจะสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อพัฒนาประเทศในอนาคต

โดยกลุ่มอุตสาหกรรม First S-curve ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่(next generation automotive) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (smart electronics) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กลุ่มที่สร้างรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (affluent, medical and wellness tourism) อุตสาหกรรมการเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (agriculture and biotechnology) และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (food for the future)

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (robotics and automation) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (aviation and logistics)อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (biofuels and biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิทัล (digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (medical hub)

“EIC ประเมินว่า 3 อุตสาหกรรมที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในช่วงแรกของการพัฒนา EEC คือ หนึ่งอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สองธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และสามอุตสาหกรรมดิจิทัล เพราะ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้จะหนุนอุตสาหกรรมอื่นที่เหลือใน EEC ให้เกิดได้ดีขึ้น”

ศูนย์ซ่อมอากาศยานรับการบินโต

การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเพื่อรองรับการท่องเที่ยว จะเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อผู้ประกอบการไทยในการซ่อมบำรุงอากาศยาน และการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ในประเภทชิ้นส่วน และชิ้นส่วนรอง ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าการเดินทางโดยเครื่องบินในเอเชียจะเติบโตราว 6% และจะส่งผลให้จำนวนเครื่องบินเพิ่มขึ้น 2 เท่า

ปัจจุบันไทยมีมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอากาศยานกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอากาศยานราว 60% ชุดระบบสายไฟราว 30% และที่เหลือเป็นส่วนประกอบเครื่องยนต์และยางล้อเครื่องบิน

ธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่เน้นรองรับเครื่องบินลำตัวแคบ (narrow body) จะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในอนาคต เพราะเครื่องบินลำตัวแคบที่สายการบินต้นทุนต่ำเลือกใช้มีสัดส่วนกว่า 70% ของเครื่องบินที่ผ่านเข้าออกสนามบินของไทยทั้งหมดและมีปริมาณจะเติบโตอีกกว่า 1.5 เท่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ผู้ประกอบการด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานในไทยมี 7 รายมีทั้งผู้ประกอบการต่างประเทศ และต่างประเทศร่วมทุนกับไทย(Joint Venture) เช่นเดียวกับด้านการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่ผู้ประกอบการต่างประเทศ กับ Joint Venture เป็นหลักแม้จะมีผู้ประกอบการไทยบ้าง ทั้งนี้ผู้ประกอบการด้านชิ้นส่วนอากาศยานที่มีศักยภาพส่งออกราว 20 ราย

นอกจากนี้การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาจะช่วยให้รองรับนักท่องเที่ยวได้มากถึง 60 ล้านคนในอีก 5 ปี หรือเติบโตในอัตรา 4-5% ต่อปี รวมไปถึงส่งผลต่อการพัฒนาเมืองในพื้นที่รอบนอกรัศมี 20-30 กิโลเมตร และต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

โอกาส IoT ในภาคเกษตร

อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้มข้นประกอบด้วย 1. สินค้าดิจิทัลซึ่งมี 3 กลุ่มหลัก คือ เนื้อหาดิจิทัลและข้อมูลดิจิทัล ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะและ ซอฟต์แวร์และระบบอัจฉริยะ 2.บริการดิจิทัล เช่น ธุรกิจให้บริการเกี่ยวกับหน่วยจัดเก็บข้อมูลและการประมวลผลออนไลน์(cloud computing) และ 3. โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น เครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลจะสร้างแรงดึงดูดการลงทุนด้าน Internet of Things (IoT) ซึ่งจะสร้างโอกาสต่อผู้ประกอบการในการพัฒนา IoT solution ในอุตสาหกรรมต่างๆ ปัจจุบันการใช้จ่ายด้าน IoT ของไทยยังกระจุกตัวอยู่ที่อุตสาหกรรมการผลิตและโลจิสติกส์ ขณะที่ภาคการเกษตรยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีนี้มากนัก สะท้อนจากสัดส่วนการใช้ embedded software ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้อุปกรณ์ต่างๆ มีความสามารถในการสื่อสารในภาคเกษตร มีการใช้เพียง 0.1% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีการใช้ถึง 76% ของอุปกรณ์ทั้งหมด

EIC ประเมินว่าหากมีการใช้ IoT ในการเกษตรเพื่อควบคุมการให้น้ำ การควบคุมโรคและศัตรูพืช และการติดตามสภาพดิน จะสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ถึง 30-50% และหากนำไปใช้กับพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว จะทำให้เกษตรกรไทยสามารถเพิ่มผลผลิตได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยโลกซึ่งอยู่ที่ 480 กิโลกรัมต่อไร่ รวมทั้งลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชลงได้ โดยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาปริมาณการนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชขยายตัวถึง 5% ต่อปี ต้องสูญเงินที่ใช้ในการนำเข้ากว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี

ภาครัฐควรส่งเสริมและให้ความรู้แก่เกษตรกรและร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตร ปัจจุบันเกษตรกรมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ และส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยยังคงใช้องค์ความรู้ที่ถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งยังขาดความชำนาญในการใช้เครื่องมือ และเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงควรส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่รู้จักใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ภาครัฐควรร่วมกับผู้ประกอบการด้าน IoT เพื่อทดลอง วิจัย และคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการทำการเกษตรในไทย เพื่อเพิ่มผลผลิตควบคุมคุณภาพ และลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรไทย

โอกาสของผู้วางระบบ

ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และราคาหุ่นยนต์ที่ลดลง ถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้ความต้องการใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทั่วโลกและในไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประเมินว่าความต้องการหุ่นยนต์จะเพิ่มเป็นกว่า 500,000 ยูนิตในปี 2020 ทั่วโลก ขณะเดียวไทยมีการนำเข้าไม่ต่ำกว่า 10,000 ยูนิตต่อปี

ความคุ้มค่าของการลงทุนในหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในปัจจุบันและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยก้าวเข้าสู่ธุรกิจผู้ให้บริการด้านการรวมระบบ (System Integrator: SI) โดยเมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการทดแทนแรงงานและค่าใช้จ่ายในการลงทุน พบว่าการใช้ระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะคุ้มทุนภายในระยะเวลา 6-10 ปี

หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในปัจจุบันมีอายุการใช้งานสูงสุดราว 12 ปี ซึ่งจะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยก้าวเข้าสู่ธุรกิจผู้ให้บริการด้านการรวมระบบ (System Integrator: SI) ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ออกแบบ และจัดหาระบบอัตโนมัติจากผู้ผลิตหุ่นยนต์และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ มาติดตั้งตามความต้องการของ end users แม้ในอนาคตแรงงานกว่า 6.5 แสนคนมีโอกาสที่จะถูกทดแทนหากมีการนำระบบดังกล่าวมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็จะมีการสร้างงานใหม่ที่เกี่ยวข้องมากขึ้นเช่นกัน

สิทธิประโยชน์ 3 ชั้น

นายวิธานกล่าวว่า ภาครัฐยังมีการให้สิทธิพิเศษด้านภาษีทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ตลอดจน และการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในบริเวณ EEC อีกด้วย โดยนักลงทุนจะได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีเงินทุนสนับสนุนและการอำนวยความสะดวกเมื่อลงทุนใน EEC ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ สิทธิประโยชน์ที่ได้รับตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2560 (พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน) และพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ.2560 (พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถ) ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ทั่วไปที่นักลงทุนจะได้รับเมื่อผ่านข้อกำหนดของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และส่วนที่ 2 สิทธิประโยชน์ที่ได้รับตามพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมที่ให้เฉพาะการลงทุนในบริเวณ EEC (พ.ร.บ. EEC)

“สิทธิประโยชน์ทางภาษีและไม่ใช่ทางภาษี(non tax)สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC นับเป็นสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่าการลงทุนในพื้นที่อื่น โดยเฉพาะจากพ.ร.บ. EEC ที่ให้สิทธิประโยชน์แบบ non -tax มากขึ้น ซึ่ง non-tax มีความสำคัญมากสำหรับนักลงทุน ที่ต้องการการลดขั้นตอนและการอำนวยความสะดวกในการลงทุน”

คาด EEC ดันจีดีพีโตเฉลี่ย 5%

EIC ประเมินว่าแผนพัฒนาโครงการ EEC ในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2564 จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้เฉลี่ย 5% ต่อปี บนสมมติฐานที่ว่าการลงทุนใน EEC สำเร็จในทุกโครงการ สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะเติบโต 4% โดยการลงทุนภาครัฐจะขยายตัว 8.7% และการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 3% ที่ได้รับผลดีจากการลงทุนใน EEC เป็นหลัก

ด้วยพลวัตของสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นโยบาย EEC เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จนอกจากนโยบายที่ชัดเจนและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและสาธารณูปโภคแล้ว

ภาครัฐต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน การสร้างแรงงานที่มีทักษะเหมาะสม และการเตรียมพร้อมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่วนผู้ประกอบการภาคเอกชนควรมีการเตรียมพร้อมศึกษากฎระเบียบวิธีปฏิบัติในการลงทุน ข้อกำหนดต่างๆ และสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับจากการเข้าไปลงทุนในพื้นที่ EEC รวมถึงการศึกษาและวางแผนการใช้โครงสร้างพื้นฐานในด้านคมนาคมเพื่อพัฒนาระบบขนส่งทั้งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อนำมากำหนดกลยุทธ์ในการประกอบกิจการต่อไป

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม