ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > ประกันชีวิต ตอบโจทย์ชีวิตที่หลากหลาย

ประกันชีวิต ตอบโจทย์ชีวิตที่หลากหลาย

3 กุมภาพันธ์ 2018


การใช้ชีวิตในแต่ละวันของเราเต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง นอกจากนี้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนการแข่งขันของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งส่งผลให้โลกปัจจุบันมีความเสี่ยงมากขึ้น ประกันชีวิตจึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่น่าสนใจ เพราะจะช่วยบริหารความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุไม่คาดฝัน หรือแม้กระทั่งการต้องจากไปก่อนเวลาอันควร

ยิ่งกว่านั้น ประกันชีวิตยังเป็นตัวช่วยสำคัญในการวางแผนการออม เพื่อตอบสนองความต้องการของชีวิตในด้านต่างๆ เช่น การสร้างกองทุนเพื่อการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ การสร้างกองทุนมรดก โดยหากซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีระยะคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปยังสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

4 ประเภทประกันชีวิต

การประกันชีวิตเป็นการทำสัญญาระหว่างผู้เอาประกันและบริษัทประกัน ซึ่งเมื่อผู้เอาประกันชีวิตจ่ายเงินหรือเรียกว่าเบี้ยประกันให้บริษัทประกัน ผู้เอาประกันจะได้รับสัญญา หรือที่เรียกว่า “กรมธรรม์” ที่แสดงถึงความคุ้มครองที่จะได้รับเมื่อเกิดเหตุ ตลอดจนอาจจะมีผลตอบแทนด้วยในประกันชีวิตบางประเภท

ทั้งนี้ ประกันชีวิตมี 4 ประเภทหลัก (ที่มักใช้คำเรียกว่า “แบบ”) ซึ่งมีจุดประสงค์แตกต่างกัน ดังนี้

1. Whole Life Insurance ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เน้นการให้ความคุ้มครองตลอดชีพเป็นหลัก โดยส่วนใหญ่จะคุ้มครองจนอายุ 99 ปี ประโยชน์จากประกันนี้จะได้รับเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตในระหว่างอายุสัญญา ดังนั้น ประกันชีวิตแบบนี้จึงมีขึ้นเพื่อช่วยลดความกังวลของผู้เอาประกันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการต้องจากไปก่อนเวลาอันควร เพราะอย่างน้อย คนในครอบครัวจะได้รับการบรรเทาปัญหาทางการเงิน และมีเงินสำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่าจัดการศพ หรือแม้แต่ชำระหนี้ได้ส่วนหนึ่ง

2. Endowment Insurance ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ประกันแบบนี้ให้การคุ้มครองชีวิตไม่สูงนักเมื่อเทียบกับเงินเบี้ยประกันที่จ่ายไป แต่จะมีผลตอบแทนเพิ่มเติมให้ระหว่างทางเพื่อให้มีการวางแผนการเงินได้ โดยผลตอบแทนนี้จะได้รับในช่วงที่ผู้เอาประกันยังมีชีวิต

3. Term Life Insurance ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ให้การคุ้มครองระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ไม่มีผลตอบแทนกลับมาในรูปแบบของเงิน ยกเว้นผู้เอาประกันเสียชีวิตหรือทุพพลภาพในช่วงเวลาที่กำหนด เมื่อสิ้นสุดระยะของสัญญาความคุ้มครองจะสิ้นสุด ข้อดีของแบบประกันนี้คือ ความคุ้มครองสูงและเบี้ยประกันไม่แพงมาก

4. Annuity Life Insurance ประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำหรือแบบบำนาญ เหมาะสำหรับการวางแผนเกษียณ เพื่อเป็นแหล่งรายได้เมื่อเลิกทำงาน โดยสามารถออกแบบได้ว่าจะให้ประกันจ่ายเงินอย่างไร เช่น ทุก 6 เดือน หรือปีละครั้ง ส่วนการจ่ายเบี้ยประกันมีทั้งจ่ายในช่วงก่อนเกษียณหรือจ่ายหลังเกษียณ

นอกจากนี้ยังมีประกันชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่คาบเกี่ยวกับการลงทุนเรียกว่า Unit Linked Life Insurance ที่ให้ความคุ้มครองควบคู่กับการลงทุนในกองทุนรวม ประกันชนิดนี้มีความแตกต่างจากประกันอื่นตรงที่เบี้ยประกันของ Unit Linked จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกใช้สำหรับการคุ้มครอง ส่วนที่สอง ใช้ไปกับการลงทุนในกองทุน ซึ่งจะเป็นส่วนสร้างผลตอบแทน ที่ผู้เอาประกันสามารถเลือกกองทุนด้วยตัวเอง ทั้งนี้ กองทุนที่นำมาเสนอผู้เอาประกันจะต้องผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการคัดเลือกของบริษัทประกันมาแล้วเพื่อให้ได้กองทุนที่มีความมั่นคงพอสมควร ประกันชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับ Unit Linked Insurance คือ Universal Life Insurance เพียงแต่ประกันชนิดนี้ผู้เอาประกันไม่ต้องเลือกลงทุนเอง เพราะบริษัทประกันจะเป็นฝ่ายลงทุนหาผลตอบแทนกลับมาให้

ตอบโจทย์ชีวิตที่หลากหลาย

ประกันชีวิตมีหลายรูปแบบให้เลือก จึงสามารถตอบสนองเป้าหมายที่หลากหลายของทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยเริ่มทำงาน วัยสร้างครอบครัว ไปจนถึงวัยเกษียณ เช่น

ข้อแรก เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้คนที่เรารักมีความเดือดร้อนทางการเงิน และสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้หากเราจากไป ซึ่งเหมาะสำหรับคนมีภาระเลี้ยงดูคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนโสดที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ หรือคนมีครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูภรรยา-บุตร

ข้อสอง เพื่อตัวเอง กรณีที่ไม่มีครอบครัวไม่มีความกังวลหรือต้องเลี้ยงดูใคร แต่ต้องการจัดการธุระส่วนตัวให้เรียบร้อย ก็สามารถซื้อประกันชีวิตให้ตัวเองเพื่อจะได้มีค่าใช้จ่ายการจัดการงานศพของตัวเองโดยไม่เป็นภาระของผู้ที่รับผิดชอบเบื้องหลัง

ข้อสาม เพื่อสร้างความมั่งคั่ง จากแบบประกันที่เน้นให้ประโยชน์ในลักษณะผลตอบแทน เช่น แบบสะสมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนระหว่างปี ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยมากถึงน้อยที่สุด เพราะเป็นผลตอบแทนที่มีการรับประกันและส่วนใหญ่เป็นแบบให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดในขณะนั้น

ข้อสี่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณ เพราะผลประโยชน์จากประกันจะเป็นแหล่งรายได้หลังเลิกทำงาน ซึ่งประกันชนิดนี้สามารถเริ่มซื้อได้ในทุกช่วงวัยก่อนเข้าสู่วัยเกษียณ ส่วนใหญ่ประกันเกษียณจะเริ่มจ่ายเงินคืนแก่ผู้เอาประกันเมื่ออายุ 60 ปี โดยจะจ่ายเป็นรายปีหรือรายเดือนนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแบบ ส่วนเบี้ยประกันที่จะจ่ายขึ้นอยู่กับทุนประกันที่ผู้เอาประกันกำหนดว่าต้องการเงินต่อปีหรือต่อเดือนเท่าไร

เลือกแบบตรงเป้าหมาย

ความต้องการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนต้องการวางแผนมรดก บางคนต้องการวางแผนการศึกษาให้ลูก หรือบางคนต้องการมีแหล่งเงินหลังเกษียณ จึงควรเลือกแบบประกันให้ตรงกับความต้องการหรือเป้าหมาย

  • ซื้อประกันเพื่อการวางแผนมรดก แบบประกันที่ตอบเป้าหมายนี้ที่สุด คือ แบบประกันตลอดชีพที่ให้ความคุ้มครองสูง เนื่องจากเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตผู้รับผลประโยชน์จะได้เงินค่าสินไหมภายใน 7 วันตามกฎหมาย ด้วยขั้นตอนการเคลมประกันที่ไม่ยุ่งยาก เช่น การยืนยันตัวตน ต่างจากกรณีที่เป็นเงินลงทุนในกองทุนหรือเงินฝาก ที่ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย เช่น การแต่งตั้งผู้จัดการกองมรดก ซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะได้เงิน
  • ประกันแบบตลอดชีพ ความคุ้มครองจะเพิ่มสูงพอสมควรจากเงินที่ได้ลงไปเมื่อเทียบกับการเก็บเงินแบบเดิม เช่น เดิมต้องการเก็บเงินให้ลูกหลาน 10 ล้านบาท ก็ต้องฝากเงินทั้งก้อนหรือลงทุนทั้งก้อน แต่การเก็บเงินให้ลูกหลานผ่านประกันชีวิตอาจไม่ต้องใช้เงินถึง 10 ล้านบาท เพราะปัจจุบันมีประกันชีวิตในตลาดที่จ่ายเบี้ยประกันไม่มากนัก แต่ได้ความคุ้มครองถึง 10 ล้านบาท เงินส่วนที่เหลือดังกล่าว ผู้เอาประกันสามารถนำไปลงทุน หรือใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นของชีวิตได้

  • ซื้อประกันชีวิตเพื่อการวางแผนสร้างทุนการศึกษาให้ลูก แบบสะสมทรัพย์นับว่าตรงกับเป้าหมาย เพราะมีระยะเวลาจ่ายเบี้ย ระยะคุ้มครอง ระยะเงินคืนที่ชัดเจน สามารถวางแผนได้ ยกตัวอย่างเช่น แบบ 15/7 หมายถึงจ่ายเบี้ยประกัน 7 ปี คุ้มครอง 15 ปีตลอดทางจะมีการจ่ายเงินคืน ซึ่งนำมาเป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาได้
  • ประกันแบบสะสมทรัพย์นับว่าเป็นตัวช่วยที่ดีในการวางแผนชีวิต เพราะรู้ว่าจะได้เงินคืนช่วงไหนจึงสามารถวางแผนชีวิตช่วงนั้นให้สอดคล้องกับเงินคืนที่จะได้มา

    อายุน้อยจ่ายเบี้ยถูก

    การซื้อประกันชีวิตสามารถเริ่มเมื่อไรก็ได้ที่มีความพร้อมและมีความต้องการ แต่การเริ่มซื้อในช่วงอายุยังน้อยเบี้ยประกันจะถูกกว่าการซื้อในช่วงอายุที่สูงขึ้น

    โดยเบี้ยประกันจะถูกคำนวณด้วยตารางมรณกรรมที่แสดงอัตราการเสียชีวิตตามอายุและเพศเป็นมาตรฐาน สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่เริ่มทำงานควรจะเริ่มซื้อประกันชีวิตเลย เพราะอายุยังน้อยเบี้ยประกันไม่แพง โดยอาจเริ่มจากซื้อประกันชีวิตแบบคุ้มครองความต้องการพื้นฐานก่อน นอกจากมีข้อดีตรงจ่ายเบี้ยไม่สูงแล้ว ยังสามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขแบบประกันที่มีเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่เปลี่ยนไปเมื่อวัยสูงขึ้น

    ตัวอย่างเช่น คนโสดที่มีภาระเลี้ยงดูพ่อแม่ และได้ซื้อประกันแบบตลอดชีพไว้ ต่อมาเมื่อมีสถานะเป็นหัวหน้าครอบครัวมีภาระในชีวิตมากขึ้น ก็สามารถเพิ่มชื่อผู้รับผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นภรรยาหรือบุตร ไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับเดิมได้ อีกทั้งเมื่อมีกำลังเงินเพิ่มขึ้นก็สามารถซื้อประกันชีวิตเพิ่มเพื่อให้ได้ความคุ้มครองที่มากขึ้น เพื่อเป็นการดูแลครอบครัวในกรณีที่ต้องจากไปก่อนวัยอันควร อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะซื้อประกันเพิ่ม ควรต้องประเมินความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกัน ตลอดจนเป้าหมายว่าจะซื้อให้ใครให้ชัดเจนก่อน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

    ศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ

    ผู้ที่ต้องการจะซื้อประกันชีวิตควรศึกษาหาข้อมูลให้ดี เพื่อให้สามารถเลือกแบบประกันที่ตรงตามความต้องการและคุ้มค่าที่สุด โดยแนวทางการเลือกซื้อเริ่มจากการเลือกบริษัทประกัน แบบประกัน และตามด้วยช่องทางที่เสนอขายดังนี้

    ข้อแรก เลือกบริษัทประกันที่มีชื่อเสียง มีสถานะการเงินที่มั่นคง เป็นบริษัทที่นำเสนอสิ่งที่ดี ไม่เอาเปรียบผู้ซื้อ มีความสะดวกในการเคลม ไม่มีประเด็นในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลบริษัทได้จากรายชื่อที่เผยแพร่บนเว็บไซต์สำนักงาน คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ซึ่งมีทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจประกันภัย

    ข้อสอง เลือกแบบประกันที่ตรงตามความต้องการอย่างแท้จริง และเหมาะสมกับความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกัน

    ข้อสาม พิจารณาช่องทางขายซึ่งมีหลายช่องทาง ได้แก่ 1. ตัวแทนประกัน (Agent) 2. บริษัทนายหน้าประกัน (Broker) 3. ซื้อผ่านไปรษณีย์ (Direct Mail) 4. ธนาคาร (Bancassurance) 5. การขายผ่านโทรศัพท์ (Tele-marketing) และ 6. ช่องทางอื่นๆ เช่น ซื้อผ่านระบบออนไลน์

    การเลือกซื้อจากแต่ละช่องทางให้ดูว่า ช่องทางนั้นให้บริการที่ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อหรือไม่ เพราะบริการที่ได้รับจากแต่ละช่องทางแตกต่างกัน โดยช่องทางตัวแทนนั้นการบริการจะขึ้นอยู่กับตัวแทนแต่ละคน ส่วนช่องทางธนาคารนั้นได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากผู้ซื้อรู้จักธนาคาร และเชื่อว่าธนาคารมีการดำเนินการเป็นมาตรฐาน ทั้งในการเลือกบริษัทประกันที่เป็นพันธมิตรและการเลือกแบบประกัน รวมถึงการให้บริการที่มีการติดตามดูแล การให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้นอกเหนือจากการที่จะติดต่อตรงไปที่บริษัทประกัน

    ทางด้านช่องทาง Tele-marketing นั้นผู้ซื้อต้องเป็นคนตัดสินใจด้วยตัวเอง ซึ่งการซื้อผ่านช่องทางนี้มีระยะเวลาที่จะอ่านและทำความเข้าใจกับแบบประกันที่ซื้อ (free look) ประมาณ 30 วัน หากไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงสามารถยกเลิกได้ภายใน 30 วันดังกล่าว

    ให้ข้อมูลจริง

    ข้อสำคัญของการทำประกันคือ ต้องให้ข้อมูลจริงในใบสมัคร เพราะการทำประกันต้องทำโดยหลักสุจริตใจ การปกปิดหรือให้ข้อมูลเท็จ ถือว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะซึ่งบริษัทประกันมีสิทธิบอกล้างได้ การบอกล้างหมายถึงบริษัทประกันยกเลิกสัญญาแล้วคืนเบี้ยประกันให้กับผู้ซื้อ นอกจากนี้ ผู้ซื้อประกันต้องเขียนข้อมูลให้ชัดเจน และควรกรอกข้อมูลด้วยตัวเอง อย่าให้ใครเขียนให้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใส่ข้อมูลที่ไม่จริงหรือใส่ข้อมูลไม่ครบถ้วน

    ประกันชีวิตมีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์ได้ ผู้ซื้อต้องสอบถามข้อมูลจากบริษัทประกันให้หมดเพื่อประโยชน์ของผู้เอาประกันโดยตรง สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้เอาประกันต้องอ่านเอกสารอย่างละเอียด เพราะผู้ขายประกันมักไม่สามารถบอกเงื่อนไขได้ครบถ้วน 100% โดยอย่างน้อยต้องทำความเข้าใจในเรื่องความคุ้มครองและเงื่อนไขต่างๆ ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ให้ชัดเจน

    นอกจากนั้น กรมธรรม์ประกันชีวิตยังแสดงตารางมูลค่าเงินสด (Cash Value) หรือมูลค่าสำเร็จ ซึ่งจะบอกถึงมูลค่าของกรมธรรม์ โดยในช่วงปีแรกๆ มูลค่าเงินสดจะยังไม่มากนัก แต่ในระยะยาวจะเพิ่มขึ้น มูลค่าเงินสดนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้เอาประกันในกรณีที่มีปัญหาการเงินไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันต่อได้และต้องการเงินจำนวนหนึ่งมาใช้จ่าย มีทางเลือกที่จะเวนคืนกรมธรรม์แล้วนำมูลค่าเงินสดนั้นมาใช้จ่าย แต่ต้องยอมรับว่าเงินที่ได้จากการเวนคืนน้อยกว่าเบี้ยที่จ่ายไป

    คนหนึ่งคนสามารถซื้อประกันได้หลายฉบับขึ้นอยู่กับความจำเป็นและวัตถุประสงค์ แต่ไม่ต้องซื้อมากเกินความจำเป็น หลักการซื้อประกันที่สำคัญคือ ผู้เอาประกันควรศึกษาผลิตภัณฑ์ให้เข้าใจ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผูกพันระยะยาว และซื้อให้ตรงกับความต้องการ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการบริหารความเสี่ยงของตัวเอง ลดทอนโอกาสที่จะเกิดความสูญเสียให้มากที่สุด

    ซี่รี่ย์ Financial literacy สนับสนุนโดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร