ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ “ริชาร์ด มิลล์ เอฟเฟกต์ – ผอ.นิด้าโพลลาออก-ปชช. โหวตอยากให้ประวิตรอยู่หรือไป – “เกาหลีใต้จัดถุงยาง 1.1 แสนชิ้น แจกนักกีฬาช่วงโอลิมปิก”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ “ริชาร์ด มิลล์ เอฟเฟกต์ – ผอ.นิด้าโพลลาออก-ปชช. โหวตอยากให้ประวิตรอยู่หรือไป – “เกาหลีใต้จัดถุงยาง 1.1 แสนชิ้น แจกนักกีฬาช่วงโอลิมปิก”

3 กุมภาพันธ์ 2018


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 27 ม.ค. – 2 ก.พ. 2561

  • ริชาร์ด มิลล์ เอฟเฟกต์ – ผอ.นิด้าโพลลาออก-ปชช. โหวตอยากให้ประวิตรอยู่หรือไป-ศรีวราห์สั่งลุยม็อบดันป้อม
  • คสช. แจ้งจับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งฐานฝ่าฝืนคำสั่ง
  • เตรียมตัว 1 ก.พ. เป็นต้นไปซื้อซิมใหม่ต้องลงทะเบียนแบบอัตลักษณ์
  • วิษณุ ยัน เลือกตั้งปี 62 “ไม่เลื่อน” – หวั่น เกิดปัญหาคาดการณ์ไม่ได้
  • เกาหลีใต้จัดถุงยาง 1.1 แสนชิ้น เตรียมแจกนักกีฬาช่วงโอลิมปิก
  • ริชาร์ด มิลล์ เอฟเฟกต์ – ผอ.นิด้าโพลลาออก-ปชช. โหวตอยากให้ประวิตรอยู่หรือไป

    พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
    ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
    ที่มาภาพ: หน้าเพจเฟซบุ๊ก THE STANDARD (http://bit.ly/2Ddjqdk)

    “ยกมือไม้สะเทือนถึงดวงดาว” คำกล่าวนี้คงไม่อาจเหมาะสมกับใครมากไปกว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ “พี่ใหญ่” ของน้องๆ ในกองทัพ ผู้ยกมือบังแดดเพียงครั้งเดียวก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ริชาร์ด มิลล์ เอฟเฟกต์” ซึ่งจนบัดนี้ ก็เป็นเวลาเกือบสองเดือนแล้ว และทำให้จำนวนนาฬิกาหรูที่บิ๊กป้อมสวมใส่ในหลากกรรมหลายวาระปรากฏชื่อยี่ห้อและเลขราคาแก่สังคมไปเกิน 20 เรือนแล้ว โดยที่นาฬิกาหรูเหล่านั้นไม่เคยไปปรากฏในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แม้แต่เรือนเดียว และจนถึงตอนนี้นั้น สิ่งที่สังคมรู้ก็มีเพียงถ้อยคำจากตัว พล.อ. ประวิตร ที่บอกว่านาฬิกาทั้งหมดล้วนแต่ยืมเพื่อนมาและคืนไปหมดแล้ว ขณะที่ทางด้าน ป.ป.ช. นั้น แม้จะบอกว่าหากยืมมาจริงและกรรมสิทธิ์ไม่ใช่ของ พล.อ. ประวิตร ก็ไม่มีความจำเป็นต้องยื่นแสดงในการบัญชีทรัพย์สิน แต่ถ้าเป็นของ พล.อ. ประวิตร ก็ต้องดูว่าได้มาก่อนหรือหลังเข้ารับตำแหน่ง หากได้มาหลังตำแหน่งก็ถือว่ายังไม่ถึงวาระต้องยื่นแสดง แต่กระนั้น ทาง ป.ป.ช. ก็ยืนยันจะตรวจสอบตามกฎหมายทุกข้อที่น่าจะเกี่ยวข้อง และยังคงดำเนินการตรวจสอบอยู่

    อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ความจริงจะยังไม่ปรากฏ แต่ริชาร์ด มิลล์ เอฟเฟกต์ ก็ได้กลายเป็นแรงสะเทือนที่ไม่เพียงสั่นคลอนชื่อเสียงด้านความโปร่งใสของพี่ใหญ่ท่านนี้ แต่ยังแผ่ขยายไปมีผลกับใครต่อใครในหลากหลายวงการอีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มีเหตุการณ์ที่นับได้ว่าเป็นผลพวงของริชาร์ด มิลล์ เอฟเฟกต์ เกิดขึ้นถึง 3 เหตุการณ์ด้วยกัน

    เริ่มกันจากกรณีที่เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มกราคม ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะผู้อำนวยการ “นิด้าโพล” ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Arnond sakworawich ประกาศเตรียมลาออกจากตำแหน่ง ผอ.นิด้าโพล ด้วยเหตุผลว่าโดนจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ โดยมีเนื้อหาดังนี้

    “ผมลาออกจากตำแหน่ง ผอ.นิด้าโพลล์ พรุ่งนี้เช้าครับ เสรีภาพทางวิชาการและการให้เกียรติกัน สำคัญที่สุดสำหรับผม แม้ไม่มีตำแหน่งใดๆ ผมก็มีที่ยืนในสังคมได้เพราะยืนอยู่บนความถูกต้องมาโดยตลอด. ผมสนับสนุนรัฐประหารและสนับสนุนรัฐบาลอยู่ แต่ถ้าสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ผมก็ไม่จำเป็นต้องเลีย top boot นะครับ ยิ่งมีหลักฐานทางวิชาการที่รัดกุมเป็นความคิดเห็นของประชาชน หน้าที่ผมในฐานะนักวิชาการยิ่งต้องนำเสนออย่างตรงไปตรงมา. ตำแหน่งบริหารใดๆ ในสถาบัน ผมไม่รับเงินค่าตอบแทนอยู่แล้วเพราะถือว่าเป็นตำแหน่งทางการเมือง ต้องทำด้วยความเสียสละ และยืนอยู่บนความกล้าหาญทางวิชาการ เสรีภาพทางวิชาการ และความกล้าหาญทางจริยธรรม หากไม่สามารถธำรงสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะอยู่ในตำแหน่ง ผอ.นิด้าโพลล์ ซึ่งต้องทำหน้าที่สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนอย่างซื่อสัตย์ และกล้าหาญ ผมจะไม่มีวันทรยศต่อประชาชนและความถูกต้อง”

    ในวันที่ 29 ม.ค. 2561 ดร.อานนท์ก็ได้แถลงข่าวการลาออกของตนเอง โดยยืนยันว่าตนนั้นเชื่อว่าการที่ทางนิด้าระงับการเผยแพร่ผลสำรวจนั้นไม่ได้เกิดจากคำสั่งของรัฐบาล แต่เป็นการเลือกจะเซ็นเซอร์ตัวเองของทางสถาบันเอง ซึ่งตนเห็นว่าการเซ็นเซอร์ตัวเองในสถาบันการศึกษา ถือว่าเป็นเรื่องที่รุนแรงและร้ายแรงกว่าการที่ผู้มีอำนาจสั่งเซ็นเซอร์สถานีโทรทัศน์หรือสำนักพิมพ์ รวมทั้งตนเพิ่งรู้ว่าผลสำรวจเรื่องการเมืองทุกฉบับนั้นต้องส่งให้อธิการบดีพิจารณาก่อน ทำให้ ดร.อานนท์ยิ่งรับไม่ได้ พร้อมทั้งบอกว่ากรณีนี้นั้นน่าจะเป็นครั้งแรกที่เกิดการระงับการเผยแพร่ผลสำรวจ พร้อมทั้งย้ำว่าผลสำรวจของนิด้าโพลไม่ได้ชี้นำ เพียงแต่สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนเท่านั้น ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าอธิการบดีดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะถูกโยงเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่นั้น ต้องสอบถามไปยังอธิการบดี เพราะตนไม่สามารถตอบคำถามได้ เช่นเดียวกับความน่าเชื่อถือของนิด้าโพลหลังจากนี้ ก็ต้องสอบถามอธิการบดีเช่นเดียวกัน

    เรื่องต่อมา เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ พล.อ. ประวิตร กล่าวเปิดใจโดยระบุว่า กองทัพทำหน้าที่สนับสนุนรัฐบาล-คสช. เต็มที่ตลอด 3 ปี 8 เดือน และการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีไม่ใช่การหาเสียงขณะเดียวกันยืนยันว่า ทำงานเพื่อบ้านเมืองมาร่วม 50 ปี ไม่เคยทำเรื่องเสียหาย แต่หากประชาชนไม่ต้องการแล้ว ก็พร้อมออกไปจากตำแหน่งนี้

    ถ้อยคำดังกล่าว ทำให้เกิดการสร้างแคมเปญในเว็บไซต์ change.org โดยใช้ชือว่า “อยากให้รองนายกประวิตรฯ ลาออก ตามที่ท่านได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 61 ที่กระทรวงกลาโหม” ซึ่งปัจจุบัน (3 ก.พ. 2561) มีผู้ลงชื่อสนับสนุนเกินห้าหมื่นคนไปแล้ว

    นอกจากนี้ หน้าเพจรายการที่นี่ ThaiPBS ยังได้เปิดให้ประชาชนเข้าร่วมตอบคำถามว่าอยากให้ พล.อ. ประวิตร อยู่หรือไป โดยเปิดให้คนเข้ามาตอบได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. – 1 ก.พ. 2561 ซึ่งผลการตอบคำถามนั้นออกมาว่า มีผู้แสดงความคิดเห็นประมาณ 192,000 รายชื่อ โดยลงคะแนน “อยากให้อยู่” ประมาณ 8,500 รายชื่อ (4%) และลงคะแนน “อยากให้ไป” ประมาณ 184,000 รายชื่อ (96%)

    อย่างไรก็ดี แม้จะมีคนชังแต่บิ๊กป้อมก็ยังมีคนรัก โดยเว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า ในวันที่ 1 ก.พ. 2561 ได้มีกลุ่มคนที่เป็นตัวแทนชาวบ้านคลองลาดพร้าว กลุ่มชาวบ้านตลิ่งชัน กลุ่มพ่อค้า อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และกลุ่มชาวบ้าน จ.สมุทรปราการ ราว 40 คน เดินทางมาให้กำลังใจพี่ใหญ่ประวิตรที่หน้ากระทรวงกลาโหม โดยยืนยันว่าไม่มีการนัดหรือจัดตั้งกันมาแต่อย่างใด ทว่า จากการกระทำดังกล่าว ก็ทำให้ พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้ตำรวจ สน.พระราชวังร้องทุกกล่าวโทษและดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลกลุ่มดังกล่าว ด้วยความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10 ที่ระบุเป็นความว่าผู้ที่ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะต้องแจ้งต่อผู้รับแจ้งก่อนการชุมนุมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งยังสั่งการให้ดูด้วยว่าเข้าข่ายมีความผิดตามมาตราอื่นๆ อีกหรือไม่

    จึงเป็นที่น่าติดตามกันต่อไปว่า บนเส้นทางแห่งการค้นหาความจริงที่สังคมรอคอยนี้ ริชาร์ด มิลล์ เอฟเฟกต์ จะก่อให้เกิดสิ่งใดขึ้นมาอีกบ้าง

    คสช. แจ้งจับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งฐานฝ่าฝืนคำสั่ง

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ (https://goo.gl/1VtQYF)

    เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า พ.ต.ท. สมัคร ปัญญาวงศ์ รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ปทุมวัน ได้รับแจ้งความจาก พ.อ. บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฎิบัติหน้าที่ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา หลังได้รับมอบอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้มาร้องทุกข์ กล่าวดำเนินคดี 1. นายรังสิมันต์ โรม 2. นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ 3. น.ส.ณัฎฐา มหัทธนา 4. นายอานนท์ นำภา 5. นายเอกชัย หงส์กังวาน 6. นายสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ 7. นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล  ข้อหา”ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ที่ทางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวระหว่างวันที่ 25 ม.ค. 2561 เวลา 21.00 น. และวันที่ 27 ม.ค. 2561 เวลา 19.00 น. ที่บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน

    สืบเนื่องจาก กองกำลังรักษาความสงบ กองทัพภาคที่ 1 ได้ตรวจสอบการใช้เฟซบุ๊กเพจ พลเมืองโต้กลับ Resistant citizen พบว่ามีการแชร์โพสต์ของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2561 เวลา 22.00 น. โดยมีข้อความว่า นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้งแสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช. ในวันเสาร์ที่ 27 ม.ค. 2561 เวลา 17.30 น. ที่สกายวอล์กปทุมวัน ซึ่งเป็นการเชิญชวนให้กลุ่มของตนเองและประชาชนที่มีแนวคิดเหมือนกันมาเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมต่อต้าน คสช.และยัง ได้อัพเดทข้อความนัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้งแสดงพลังต่อต้านสืบทอดอำนาจ คสช. ในวันเสาร์ที่ 27 ม.ค 2561 .เวลา 17.30 น.ที่สกายวอล์ค ปทุมวัน จึงได้รายงานให้ คสช. ทราบและดำเนินการสืบสวนหาข่าวการเคลื่อนไหวของกลุ่มนายรังสิมันต์กับพวก ทาง คสช. เห็นว่า การปราศรัยดังกล่าวเป็นการชุมนุมกันเกิน 5 คนในที่สาธารณะ เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งและเป็นการกระทำด้วยวาจาอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่อง จึงมอบหมายให้ พ.อ. บุรินทร์  มาแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา ส่วนนายสิรวิชญ์ หรือจ่านิว เคยถูกศาลจังหวัดขอนแก่นตัดสินจำคุก 6 เดือน โดยรอลงอาญาไว้ 2 ปี ห้ามออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ตอนนี้ผิดเงื่อนไขศาล ทางตำรวจต้องทำเรื่องส่งไปที่ศาลขอนแก่น เพื่อพิจารณาต่อไป

    ทั้งนี้ นอกจากรายชื่อข้างต้น ยังมีการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมรายอื่นๆ อีก โดยสามารถดูรายชื่อทั้งหมดได้ที่นี่

    วิษณุ ยัน เลือกตั้งปี 62 “ไม่เลื่อน” – หวั่น เกิดปัญหาคาดการณ์ไม่ได้

    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (http://www.thairath.co.th/content/607369)

    เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า วันที่ 31 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการตั้งกรรมาธิการร่วม (กมธ.) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. ว่า แม้จะมีการตั้งกมธ.ร่วม แต่โรดแมปการเลือกตั้งที่คิดเผื่อไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะไม่ขยับไปจากนี้ เพราะการตั้ง กมธ.ร่วมสามารถคาดการณ์ช่วงเวลาพิจารณาได้ แต่ที่จะเกิดปัญหาคือสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เช่น มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูกทั้งสองฉบับ เช่นเดียวกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่คาดคิดว่าจะมีเรื่องให้ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะการจะยื่นศาลต้องมีประเด็นที่สงสัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ หากไม่มีข้อสงสัยก็ไม่มีเหตุที่จะต้องส่งให้ตีความ เพราะถ้าส่งไปเล่นๆ ศาลก็จะส่งกลับมาเร็ว และตนไม่อยากชี้นำหรือพูดก่อนว่ามีประเด็นใดที่ควรส่งศาลรัฐธรรมนูญ

    นายวิษณุกล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีกรอบเวลาในการพิจารณา แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าประเด็นนี้จะเป็นสาเหตุของการเลื่อนโรดแมปหรือไม่ เพราะทั้งหมดยังเป็นการสมมติ เมื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญแล้วต้องดูด้วยว่ามีกี่ประเด็นที่ศาลต้องพิจารณา ถ้ามีมากและยากศาลอาจใช้เวลาวินิจฉัยนานเพราะต้องมีการสืบพยาน ทั้งนี้ หากจะส่งให้ตีความ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเป็นผู้ดำเนินการโดยใช้สมาชิก 1 ใน 10 หรือ 25 คน และอีกกรณีคือมีคนร้องให้นายกรัฐมนตรีส่งตีความ โดยนายกฯจะส่งหรือไม่ส่งก็ได้ ที่ผ่านมามีกรณีที่ สนช.ไม่สงสัย แต่สังคมสงสัย จึงเสนอมาที่นายกฯ รัฐบาลจึงต้องมาพิจารณาว่าจะส่งหรือไม่

    เมื่อถามว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับปากว่าจะคุยกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงความจำเป็นที่ต้องปลดล็อกพรรคการเมือง รองนายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกับ คสช. เพราะยังไม่มีการประชุม คสช. หากจะประชุมเมื่อใดจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือ คสช. ส่วนจะพิจารณาออกมาอย่างไรเป็นเรื่อง คสช. คาดว่า คสช. คงรับทราบจากที่เป็นข่าวแล้ว

    เตรียมตัว 1 ก.พ. เป็นต้นไปซื้อซิมใหม่ต้องลงทะเบียนแบบอัตลักษณ์

    วันที่ 1 ก.พ. 2561 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไปผู้ที่ซื้อซิมการ์ดใหม่ทั้งแบบรายเดือน และแบบเติมเงิน รวมถึงบุคคลที่ไม่ใช่สัญชาติไทย จะต้องลงทะเบียนผู้ใช้บริการด้วยระบบการตรวจสอบอัตลักษณ์ ทั้งการตรวจสอบใบหน้า (face recognition) หรือสแกนลายนิ้วมือ (fingerprint) ที่ศูนย์ให้บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วประเทศ ตัวแทนจำหน่าย และลูกตู้ทั่วประเทศ

    ทั้งนี้ การลงทะเบียนซิมด้วยวิธีอัตลักษณ์ เป็นการส่งเสริมนโยบายของภาครัฐในการดำเนินธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเป็นต้องมีการจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อเป็นการยืนยันและพิสูจน์ตัวบุคคลของผู้ใช้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะไม่มีการจัดเก็บข้อมูลลายนิ้วมือและข้อมูลบัตรประชาชนไว้ที่จุดบริการ ผู้ที่ซื้อซิมการ์ดใหม่ที่ผ่านการตรวจสอบอัตลักษณ์แล้ว ระบบจะทำการลงทะเบียนโดยส่งข้อมูลตรงไปที่ฐานข้อมูลกลางเพื่อเปิดใช้งานซิมการ์ดและจัดเก็บข้อมูลของผู้ให้บริการทันที โดยผู้ให้บริการมีหน้าที่ดูแลและเก็บรักษาข้อมูลตามกฎหมาย

    “ประชาชนสามารถมั่นใจได้ว่าการลงทะเบียนซิมด้วยวิธีอัตลักษณ์จะปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ และป้องกันการปลอมแปลงการลงทะเบียนซิมการ์ด ผ่านการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลก่อนการลงทะเบียนและเปิดใช้งาน ทำให้การเก็บข้อมูลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นายก่อกิจกล่าว

    เกาหลีใต้จัดถุงยาง 1.1 แสนชิ้น เตรียมแจกนักกีฬาช่วงโอลิมปิก

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (https://www.prachachat.net/?p=111571)

    เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานข่าวจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า ฝ่ายจัดการแข่งขันมหกรรมโอลิมปิก เกมส์ ฤดูหนาว ที่เมืองพยองชาง ประเทศเกาหลีใต้ ได้จัดเตรียมถุงยางอนามัยไว้รองรับเหล่านักกีฬาจากทั่วโลกจำนวน 110,000 ชิ้น ซึ่งมากกว่าจำนวนในโอลิมปิก ฤดูหนาว ครั้งที่แล้ว ที่เมืองโซชิ ประเทศรัสเซีย 10,000 ชิ้น

    สำหรับการแข่งขันโอลิมปิก ฤดูหนาว 2018 มีนักกีฬาทั้งหมด 2,925 คน จาก 90 ชาติเข้าร่วมการแข่งขัน ระหว่างวันที่ 9-25 ก.พ. 2561 นี้

    ทั้งนี้ ฝ่ายจัดการแข่งขันโอลิมปิก ได้มีการเตรียมถุงยางอนามัยมาให้กับนักกีฬาครั้งแรก ในโอลิมปิก เกมส์ ฤดูร้อน ปี 1988 ที่โซล ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากเชื้อเอชไอวี ขณะที่การแข่งขันโอลิมปิก ฤดูร้อน ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 2016 ได้มีการแจกจ่ายถุงยางอนามัยให้กับนักกีฬาถึง 450,000 ชิ้น