ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > EXIM ส่งเสริมธุรกิจไทยรุก CLMV พร้อมสร้าง SMEs ส่งออก

EXIM ส่งเสริมธุรกิจไทยรุก CLMV พร้อมสร้าง SMEs ส่งออก

8 กุมภาพันธ์ 2018


หนุนผู้ประกอบการไทยรุกขยายการค้าการลงทุนในตลาด CLMV พร้อมสร้างผู้ส่งออก SMEs รายใหม่ มุ่งสู่ตลาดใหม่รับทิศทางเศรษฐกิจการค้าโลก

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.)หรือ EXIM BANK เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2560 ว่า มีกำไรสุทธิจำนวน 1,360 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 56 ล้านบาทจาก 1,304 ล้านบาทในปี 2559 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นไม่มาก เนื่องจากไม่ได้เน้นการดำเนินธุรกิจเพื่อทำกำไรจากผู้ประกอบการ แต่เป็นไปตามเป้าหมายที่มุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะกิจการขนาดเล็ก(Small Medium Enterprises :SMEs) ตามที่วางไว้ในแผนแม่บท 10 ปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.)แถลงข่าวผลการดำเนินงาน

การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ในช่วง 5 ปีแรก( 2559-2563) ส่งผลให้ยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจาก 83,169 ล้านบาทเป็น 91,886 ล้านบาทในปี 2560 หรือเติบโต 10.48% โดยเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติใหม่ของปี 2560 จำนวน 45,062 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 26,128 ล้านบาทในปีก่อน เติบโตสูงถึง 72.47% ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(Non Performing Loan:NPL) ยังทรงตัวในระดับ 3.57%

ลูกค้า SMEs มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 2,348 รายในปี 2560 จาก 1,901 รายในปี 2559 โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้บริการสินเชื่อ ขณะที่บริการรับประกันการส่งออกยังมีจำนวนน้อย โดยยอดคงค้างสินเชื่อ SMEs มีมูลค่า 37,141 ล้านบาท

ด้านการให้บริการประกันการส่งออกเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินจากคู่ค้าในต่างประเทศ ช่วยเพิ่มความมั่นใจและความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ทั้งในตลาดการค้าเดิมและตลาดใหม่ ในปี 2560 ธนาคารมีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 58,271 ล้านบาทเป็น 65,903 ล้านบาท โดยจำนวน 12,883 ล้านบาทเป็นธุรกิจส่งออกของ SMEs หรือ 19.55% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม

ธนาคารยังได้ขยายเครือข่ายพันธมิตร ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดโครงการและช่องทางใหม่ๆ ที่จะสนับสนุนด้านข้อมูลความรู้และบริการทางการเงินให้ SMEs ที่มีศักยภาพสามารถพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยและแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งปิดช่องว่างในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs ที่พร้อมเริ่มต้นส่งออกให้สามารถเข้าสู่ ตลาดการค้าโลกได้ เพื่อสร้างฐานรากเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง

นอกจากนี้ธนาคารมีโครงการนำร่องด้านนวัตกรรม อาทิ การให้บริการประกันการส่งออกออนไลน์ การทบทวนวงเงินสินเชื่อออนไลน์ และการพัฒนาธุรกรรมออนไลน์

สร้าง SMEs ส่งออกรายใหม่

สำหรับเป้าหมายปี 2561 ธนาคารตั้งเป้าเพิ่มยอดสินเชื่อคงค้างเป็น 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% และปล่อยสินเชื่อใหม่จำนวน 47,000 ล้านบาท พร้อมกับจะขยายฐานลูกค้า SMEs ให้มากขึ้น จากปัจจุบันสัดส่วนลูกค้า SMEs ของธนาคารต่อจำนวนผู้ส่งออก SMEs ทั้งระบบอยู่ที่ 9.3% โดยมุ่งเน้นบริการที่ตอบโจทย์ธุรกิจ SMEs ครบวงจร ตามนโยบายของรัฐที่มุ่งผลักดันให้ผู้ประกอบการเติบโตและขยายไปตลาดต่างประเทศมากขึ้น

“ธนาคารเดินตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือ SMEs ให้มากขึ้น เพราะบางรายไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ได้ เพราะไม่มีหลักทรัพย์มาค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อ ซึ่งลูกค้า SMEs ต่างจากลูกค้าทั่วไป ยอดสินเชื่อต่อรายจำนวนน้อย จึงต้องขยายฐานให้มีจำนวนมากขึ้น เราไม่ได้มุ่งแบบธนาคารพาณิชย์ แต่มุ่งช่วยเหลือมากกว่า จะเห็นได้ว่า SMEs ใน 2 ปีนี้โตมาก ยอดคงค้างสินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 29,183 ล้านบาทเป็น 31,141 ล้านบาทสูงขึ้น 27%”

ในปี 2561 ธนาคารได้พัฒนาบริการใหม่ภายใต้ชื่อ สินเชื่อส่งออกสุขใจ (EXIM Happy Credit) เป็นบริการสินเชื่อหมุนเวียน พร้อมวงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) วงเงินสูงสุด 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 4.50% ต่อปีในปีแรกสำหรับนิติบุคคลบัญชีเดียวตามนโยบายรัฐบาล อนุมัติภายใน 7 วันทำการ ไม่ต้องมีหลักประกัน ใช้เพียงบุคคลค้ำประกันเท่านั้น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่มีหลักประกันสามารถเริ่มต้นส่งออกได้ โดยมีเป้าหมายอนุมัติวงเงินให้แก่ผู้ส่งออก SMEs รายใหม่จำนวน 750 รายภายในปีนี้

ธนาคารได้พัฒนาบริการต่อเนื่องเพื่อตอบสนอง SMEs ทุกระดับ โดยสินเชื่อส่งออกสุขใจจะช่วย SMEs ที่เริ่มส่งออก ขณะที่ในปีที่แล้วได้เปิดตัวบริการ EXIM Instant Credit Super Value ช่วยผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท ส่วนรายกลางก็มีบริการ EXIM Export Credit Plus วงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท

ปีที่ผ่านมาธนาคารได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ที่มีศักยภาพให้แข่งขันได้มากขึ้นทั้งทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยปริมาณธุรกิจของ SMEs มีมูลค่า 99,612 ล้านบาท

ในปีนี้ยังมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ใช้บริการรับประกันการส่งออก(Export Credit Insurance) ให้มากขึ้น เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง โดยมุ่งส่งเสริมการให้ความรู้ความเข้าใจและเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกมากขึ้น ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์ได้วางเป้าหมายยอดรับประกันการส่งออก 3 ปีไว้ที่ 85,000 ล้านบาท ณสิ้นปี 2561

หนุนการค้าการลงทุน CLMV

นอกจากการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs แล้ว ยุทธศาสตร์ของธนาคารยังครอบคลุมไปถึงการส่งเสริมการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV อีกด้วย เนื่องจาก CLMV เป็นตลาดใหม่ที่สำคัญของไทย ด้วยมูลค่าส่งออกที่ขยายตัวเฉลี่ย 13% ต่อปี จาก 260,000 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 850,000 ล้านบาทในปี 2560

ส่วนยอดการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในตลาด CLMV ขยายตัวเฉลี่ย 30% ต่อปี โดยยอดคงค้างเงินลงทุนของไทยใน CLMV ในปี 2550 มีมูลค่า 33,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็นเป็น 470,000 ล้านบาทในไตรมาส 3 ของปี 2560

“ธนาคารพร้อมให้สินเชื่อขยายการลงทุนของผู้ประกอบการไทยใน CLMV เพราะการลงทุนไทยในต่างประเทศเองก็เพิ่มขึ้นเพื่อผลิตและขายในประเทศนั้นเอง และปีนี้ธนาคารจะขยายธุรกิจใน CMLV มากขึ้นเพราะมองว่าเป็นกลุ่มประเทศที่จะโตต่อเนื่องในอีก 3-5 ปีจากนี้ โดยกำลังอยู่ระหว่างการยื่นขอใบอนุญาตเปิดสำนักงานในสปป.ลาว ซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติภายใน2 เดือนนี้ และมีแผนที่จะเปิดที่กัมพูชาเป็นประเทศต่อไป”

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ธนาคารได้รุกการปล่อยสินเชื่อเพื่อการลงทุนเข้าสู่ตลาด CLMV ตั้งแต่ปี 2558 โดยยอดคงค้างสินเชื่อโครงการลงทุนใน CLMV ณ สิ้นปี 2560 มีมูลค่า 27,895 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 12% จากปี 2558 และมีสัดส่วนสูงถึง 30% ของการให้สินเชื่อรวมของธนาคาร ซึ่งการให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนใน CLMV ส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างพื้นฐานกับภาคพลังงาน

“ธุรกิจที่ธนาคารต้องการส่งเสริมมากซึ่งเป็นธุรกิจที่ไทยเรามีจุดแข็ง คือ บริการและการก่อสร้าง ยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีก ในปีก่อนยอดสินเชื่อของกลุ่มนี้รวม 1,062 ล้านบาทถือว่าน้อยเพราะส่วนเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ธนาคารจึงเน้นให้การสนับสนุน เพราะบางครั้งธุรกิจเหล่านี้มีหลักประกันสินเชื่อไม่เพียงพอ”

ปัจจุบันธนาคารมีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 67,160 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2560 จำนวน 36,216 ล้านบาท และในเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมาได้เปิดสำนักงานผู้แทนในย่างกุ้ง เมียนมา

รุกตลาดใหม่ New Frontier

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การค้าโลกมุ่งสู่ตลาดใหม่ที่เรียกว่า New Frontiers โดยเศรษฐกิจตลาดใหม่ในปี 2560 มีสัดส่วนกว่า 500% เทียบกับประมาณ 20% ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารจึงมีเป้าหมายขยายสินเชื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดใหม่เพิ่มมากขึ้น

การให้บริการในตลาดใหม่นี้จะอยู่ในรูปของสินเชื่อเพื่อการส่งออกและการรับประกันการส่งออกเป็นหลัก เนื่องจากการลงทุนของไทยในตลาดนี้ยังมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ โดยตลาดที่ธนาคารให้ความสำคัญคือ เอเชียใต้ อินเดีย ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจสูงใกล้เคียงกับจีน ส่วนอัฟริกาซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างพัฒนา ก็จะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกไปอัฟริกา โดยมุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่ายและได้เงินจากการขายสินค้า คาดหวังว่าจะเห็นผลในปี 2562