ThaiPublica > เกาะกระแส > รัฐบาลดัน EEC เตรียมปั้นระเบียงเศรษฐกิจผลไม้ตะวันออก สู่ “มหาอำนาจผลไม้เมืองร้อน”

รัฐบาลดัน EEC เตรียมปั้นระเบียงเศรษฐกิจผลไม้ตะวันออก สู่ “มหาอำนาจผลไม้เมืองร้อน”

7 กุมภาพันธ์ 2018


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสักขีพยานการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลักดันประเทศไทยให้เป็นมหานครผลไม้ของโลก ระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ หอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยบูรพา
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ครั้งแรกของปี 2561 เปิดประเดิมที่จังหวัดจันทบุรีและตราด โดยการลงพื้นที่ใน 2 จังหวัดระหว่างวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2560 ในครั้งนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเชื่อมโยงภาคการเกษตรและการท่องเที่ยวให้เข้ากับภาคอุตสาหกรรม ให้พื้นที่จันทบุรีและตราดสามารถเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีเป้าหมายใหญ่ในการให้ประเทศไทยเป็น “ชาติมหาอำนาจด้านการค้าผลไม้เมืองร้อนของโลก” ให้ภาคตะวันออกเป็นฐานตามโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยถึงภาพรวมของอีอีซีภายหลังการประชุม ครม. ว่า ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. จะออกมาเป็นรูปธรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 นี้ ซึ่งจะตอกย้ำความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้มากขึ้น และในการเชื่อมโยงภาคการเกษตรและการท่องเที่ยวนั้นตนได้รับการยืนยันจากกระทรวงคมนาคมว่ารถไฟทางคู่จะเชื่อมโยงมาถึงจังหวัดจันทบุรีและตราดได้อย่างแน่นอน

“ด้านการเกษตรจะให้พื้นที่ในแถบนี้เป็นศูนย์กลางของผลไม้ ส่วนด้านอุตสาหกรรมจะเป็นการสร้างห้องเย็นเพื่อเป็นตัวผสานระหว่างภาคเกษตรกับอุตสาหกรรม เพราะในอดีตผลิตผลออกมาไม่มีห้องเย็นรองรับ ต้องรีบขาย ทำให้เสียเปรียบ ครั้งนี้จะเป็นการร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทสยามซีเมนต์กรุ๊ป ซึ่งทาง ปตท. มีก๊าซหล่อเย็นจำนวนมากที่เคยปล่อยทิ้งเปล่าๆ ให้ สามารถสนับสนุนในการสร้างห้องเย็นนี้ได้ โดยพื้นที่ที่วางไว้จะเป็นพื้นที่ใกล้ต่อการขนส่งอย่างสนามบินอู่ตะเภา” นายสมคิดกล่าว

มีรายงานว่า ในการประชุม ครม. ได้เห็นชอบโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก และได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการในระยะที่ 1 จำนวน 80 ล้านบาท เริ่มดำเนินการในปี 2561 ในการศึกษาโครงการ ออกแบบโครงร่าง รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยจัดระบบการซื้อขายผลไม้ให้เป็นสากล ช่วยให้เกษตรกรมีอำนาจในการต่อรองราคา เนื่องจากปัจจุบันการซื้อขายผลไม้ของเกษตรกรมีการตกลงราคาซื้อขายกันล่วงหน้าโดยตรงระหว่างเกษตรกรและผู้ซื้อในลักษณะการซื้อขายผลไม้แบบยกสวน โดยจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้าให้เกษตรกรผู้ผลิต จึงทำให้เกษตรกรไม่สามารถต่อรองราคาได้ ผลักดันให้ภาคตะวันออกเป็นมหานครผลไม้ของโลกภายในปี 2564

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะนำแนวความคิดการพัฒนาระบบตลาดประมูลไม้ดอกจากประเทศเนเธอร์แลนด์มาประยุกต์ให้เป็นระบบตลาดประมูลซื้อขายผลไม้ ซึ่งคาดว่าเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกจะมีรายได้เพิ่ม 2-3 เท่า ลดปัญหาผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลนหรือล้นตลาด แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ จะมีขยายไปยังจังหวัดอื่นต่อไป โดยโครงการจะตั้งอยู่ในนิคม Smart Park จังหวัดระยอง ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะมีการจัดทำห้องเย็นขนาดใหญ่สำหรับกักตุนผลผลิตที่รวบรวมได้จากเกษตรกร ก่อนส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ หรือเข้าสู่กระบวนการแปรรูปต่อไป

แนวทางการพัฒนาตลาดประมูลซื้อขายผลไม้ได้มีแนวคิดมาจากตลาดประมูลไม้ดอกประเทศเนเธอร์แลนด์

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบแผนยุทธ์ศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจรตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยมีเป้าหมายผลักดันประเทศไทยเป็นชาติมหาอำนาจด้านการค้าผลไม้เมืองร้อนของโลก ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่

    1) มุ่งเน้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตผลไม้เมืองร้อนสดและแปรรูป ให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยกำหนดมาตรฐานการผลิตและการค้าผลไม้เกรดพรีเมียมและเกรดรอง และส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ตลอดจนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผลไม้ของไทย
    2) การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายให้มีการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ พร้อมขยายช่องทางไปถึงตลาดออนไลน์ การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตลาดชายแดน
    3) สนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะด้านการเงินของผู้ประกอบการค้าผลไม้ของไทย โดยจัดหาสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อเป็นเงินทุนให้ผู้ประกอบการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตผลไม้คุณภาพ
    4) การประชาสัมพันธ์สินค้าผลไม้เมืองร้อนของไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งนอกจากจะมีการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างค่านิยมในการบริโภคผลไม้ในพื้นที่จังหวัดที่มีกำลังซื้อสูงหรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแล้ว ยังต้องส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศ และสร้างตราสินค้า หรือทำ Branding ด้วย

และในวันเดียวกัน ภายหลังประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมกระบวนการบริหารจัดการผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์ ณ สหกรณ์การเกษตรมะขาม อ.มะขาม จ.จันทบุรี ซึ่งประสบความสำเร็จในการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ผลิตผลไม้คุณภาพ และมีระบบการบริหารจัดการผลไม้อย่างครบวงจร ดำเนินการมาแล้ว 48 ปี มีสมาชิก 2,048 คน มีทุนดำเนินงาน 305.88 ล้านบาท โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ตั้งเป้าให้สหกรณ์การเกษตร อ.มะขาม เป็นแม่ข่ายศูนย์กลางการแปรรูปและส่งออกผลไม้ของภาคตะวันออก ที่มีเครือข่ายร่วมกับสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด และสหกรณ์นิคมสอยดาว จำกัด

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตร อ.มะขาม จ.จันทบุรี

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้เป็นประธานสักขีพยานการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลักดันประเทศไทยให้เป็นมหานครผลไม้ของโลก ระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ หอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยบูรพา โดยจะร่วมกันกำหนดมาตรฐานผลไม้ไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เช่น ThaiGAP และ Q-GAP ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตและเครือข่ายตลาด นำไปสู่การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าผลไม้ของไทย โดยความร่วมมือดังกล่าวจะมีผลทันทีหลังจากที่ได้ลงนามใน MOU ระหว่างกัน

“มั่นใจว่าจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นมหานครผลไม้ของโลกได้แน่นอน เพราะมีการลงนามความตกลงที่ครอบคลุมไปถึงการเชื่อมโยงตลาดผลไม้ระหว่างผู้ผลิตผลไม้ในภาคตะวันออกและในภูมิภาคต่างๆ กับผู้รับซื้อทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ชาวสวนผลไม้มีตลาดรองรับที่แน่นอน และยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เพราะใน MOU ได้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพผลไม้ของไทยเอาไว้ ตลอดจนมีความร่วมมือในการรวบรวม การขนส่ง และการกระจายสินค้า ทั้งในประเทศและการส่งออกด้วย” นายสนธิรัตน์กล่าว

เคาะแผนจัดการน้ำตะวันออก-ยันอีก 10 ปี อีอีซีมีน้ำใช้พอ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหลายฝ่ายได้แสดงความกังวลในเรื่องขาดแคลนน้ำในพื้นที่อีอีซี และเพื่อรองรับกับปัญหาการขาดแคลนน้ำดังกล่าวที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบแผนจัดการเรื่องน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตามที่กรมทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ

จากการคาดการณ์ว่าจะมีแรงงานเกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซีประมาณ 1.5 ล้านคน เมื่อรวมกับคนในพื้นที่เดิมจะทำให้มีจำนวนประชากรในพื้นที่อีอีซีสูงถึง 3 ล้านคน ทำให้การใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม ภาคอุปโภค และภาคการการเกษตร ในปี 2570 รวมกันแล้วมีความจำเป็นต้องใช้น้ำประมาณ 800 ล้านลูกบาศก์เมตร และปี 2579 น่าจะใช้น้ำถึง 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปัจจุบันปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำสำหรับใช้ในพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งสิ้น 427 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังมีความเพียงพอ เนื่องจากความต้องการใช้จริงอยู่ราว 320 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยแผนการจัดการน้ำดังกล่าว ได้แก่ 1) การปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมที่อยู่ในเขตพื้นที่ 6 แห่ง หากปรับปรุงแล้วสามารถเพิ่มน้ำได้อีก 75 ล้านลูกบาศก์เมตร 2) จัดทำอ่างเก็บน้ำใหม่ 3 แห่ง เมื่อทำแล้วจะสามารถเก็บน้ำได้ ปริมาณเพิ่ม 308 ล้านลูกบาศก์เมตร  และ 3) เชื่อมโยงแหล่งน้ำด้วยการขุดคลองระบายน้ำให้น้ำพร่องถึงกัน และผันน้ำในระยะ 5 ปีน่าจะเพิ่มต้นทุนน้ำได้อีก 20 ล้านลูกบาศก์เมตร

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า หากดำเนินการตามแผนนี้รวมทั้งแหล่งสำรองของภาคเอกชน ก็จะเพียงพอสำหรับ 800 ล้านลูกบาศก์เมตรใน 10 ปีข้างหน้า โดย ครม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเตรียมความพร้อมจัดทำแผนปฎิบัติ การของตัวเองที่จะรองรับแผนใหญ่ นอกจากนั้นยังให้หน่วยที่เกี่ยวข้องทบทวนแผนที่เสนอมาว่าสามารถเพิ่มต้นทุนน้ำได้จริงตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดจากแผนเดิมที่มีอยู่

แผนคมนาคมโยงจันทบุรี-ตราด สู่ “อีอีซี”

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ภาคตะวันออก ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ใน 2 ด้าน ได้แก่ การขนส่งทางบก และทางราง

โดยการพัฒนาด้านการขนส่งทางบกได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างถนนในพื้นที่ภาคตะวันออก วงเงินงบประมาณระหว่างปี 2557-2562 รวม 77,323.283 ล้านบาท ในการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 22 กิโลเมตร วงเงิน 20,200 ล้านบาท มีกำหนดเปิดใช้งานในปี 2563 การขยายช่องทางการจราจรทางหลวง ทางเข้าท่าอากาศยานอู่ตะเภา-ท่าเรือจุกเสม็ด

“เพื่อลดความแออัดของการจราจร ทางหลวงมีนบุรี-ฉะเชิงเทรา เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดฉะเชิงเทรา และเส้นทางเลียบชายทะเลตะวันออก ชลบุรี-ระยอง จะมีการสร้างเส้นทางจักรยาน จุดพักรถ และจุดชมวิว รวมถึงพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวรอบเกาะช้าง  และในระยะต่อไป กระทรวงคมนาคมมีแผนจะดำเนินโครงการต่างๆ เช่น ในปี 2563-2566 จะก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี-นครราชสีมา เพื่อเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา-หนองคาย นอกจากนี้ยังมีแผนจะเพิ่มช่องทางจราจรเขาไร่ยา-เขาคิชฌกูฏ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว” นายณัฐพรกล่าว

สำหรับการพัฒนาด้านการขนส่งทางราง ประกอบด้วย 1) โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อ 3 สนามบิน คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 236,700 ล้านบาท 2) การพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ บริเวณมักกะสันและที่ดินรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ 3) แผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าเชื่อมต่อกับประเทศจีนตอนล่าง เข้ากับท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือสัตหีบ และมีแผนรองรับนิคมอุตสาหกรรม เชื่อมโยงโครงการรถไฟฟ้าทางคู่สายชุมทางศรีราชา-ระยอง มาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-ทองใหญ่ ระยะทางรวม 275 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 (งบกลาง)

นายณัฐพรกล่าวต่อไปว่า นอกจากการพัฒนาด้านการขนส่งทางบกและทางรางแล้วยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ให้มีการรองรับการขยายตัวทางการค้า และรองรับปริมาณสินค้าที่ผ่านทางเรือให้มากขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในปี 2568 ขณะที่ด้าน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินโครงการซ่อมบำรุงอากาศยานระยะที่ 1 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา วงเงินงบประมาณ 10,300 ล้านบาท เพื่อนำร่องในอีอีซีในการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน และเมืองการบินภาคตะวันออก โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเชิญเอกชนเข้าร่วมประมูล

ประชุมอีอีซี นายกฯ รับข้อเสนอ เอกชน-ท้องถิ่น ส่งต่อหน่วยงานเกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ การในการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ร่วมกับภาคเอกชน ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพิจารณาแนวทางการพัฒนาภาคตะวันออกซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมมณีจันท์ รีสอร์ท

ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขอรับการสนับสนุนใน 2 ส่วน ดังนี้ โครงข่ายถนน ส่วนที่ 1 การศึกษาออกแบบก่อสร้างถนน จำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่ (1) เส้นทางเฉลิมบูรพาชลทิศ (อู่ตะเภา-ชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี) เพื่อการท่องเที่ยว (2) เส้นทางเลียบชายทะเลจังหวัดชลบุรี ส่วนต่อขยาย (เชื่อมต่อบูรพาวิถี-บางทราย) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและส่งเสริมการท่องเที่ยว (3) เส้นทางสาย ค1 ผังเมืองรวมเมืองบ้านบึง เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร (4) เส้นทางเชื่อมขุนด่านปราการชล ช่วงแยกศรีนาวา-หินตั้ง จังหวัดนครนายก เพื่อการท่องเที่ยว และ (5) เส้นทางตัดใหม่จากแยก 3259-จุดผ่อนปรนบ้านเขาดิน อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)

ส่วนที่ 2 ขอรับการสนับสนุนการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เส้นทางโดยการเพิ่มช่องทางจราจรรองรับการพัฒนา จำนวน 6 เส้นทาง ดังนี้ (1) เส้นทางเขาไร่ยา-แพร่งขาหยั่ง จังหวัดจันทบุรี เพื่อสนับสนุนการขนส่งและการท่องเที่ยวเขาคิชฌกูฏ (2) เส้นทางบ้านป่าวิไล-ด่านชายแดนบ้านแหลม จังหวัดจันทบุรี เพื่อรองรับการค้าชายแดน (3) เส้นทางนครนายก-บางหอย-บ้านสร้าง-พนมสารคาม เพื่อสนับสนุนการขนส่ง (4) เส้นทางคลองหลวงแพ่ง-ปราจีนบุรี เชื่อมจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดปราจีนบุรีเพื่อสนับสนุนการขนส่งและอุตสหากรรม (5) เส้นทางปราจีนบุรี-ศรีมหาโพธิ เพื่อสนับสนุนการขนส่งและอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี และ (6) เส้นทางบางบุตร-ชุมแสง จังหวัดระยอง เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงจังหวัดระยองกับพื้นที่ EECi ในอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

ด้านระบบขนส่งสาธารณะ ขอให้มีการศึกษาออกแบบรถไฟทางคู่สายระยอง-จันทบุรี-ตราด เพื่อเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง เพิ่มเส้นทางรถไฟโดยสารด่วนพิเศษ (sprinter) สายกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนระหว่างกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว และให้มีการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนเพื่อเชื่อมโยงสถานีรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง กับแหล่งท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และแหล่งชุมชน ในพื้นที่เมืองพัทยา ศรีราชา และแหลมฉบัง เป็นต้น

ในเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค ขอให้การประปาส่วนภูมิภาคขยายการให้บริการน้ำประปาโดยนำน้ำจากเขื่อนขุนด่านปราการชล มาผลิตเป็นน้ำประปา ด้านไฟฟ้า ขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บรรจุแผนปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าแรงสูงที่มั่นคง ทนภาระทางไฟฟ้าที่หนัก ด้านอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการค้าชายแดน ขอให้มีการยกระดับด่านชายแดนท่าเส้น อำเภอเมืองตราด เป็นจุดผ่านแดนถาวร รวมทั้งขอให้พัฒนาจังหวัดจันทบุรีเป็นนครอัญมณีศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก และขอให้มีการเร่งรัดการบริหารท่าเทียบเรือแหลมฉบังฝั่งบี

ด้านการเกษตร ขอให้มีการพัฒนาผลไม้คุณภาพปลอดภัยอย่างครบวงจร ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ด้านการท่องเที่ยว ขอรับการสนับสนุนและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ภายใต้โมเดลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร การออกแบบ ปรับปรุง และพัฒนาเส้นทางจักรยานเพื่อท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เชิงนิเวศ และเชิงชุมชน ในพื้นที่ท่องเที่ยวของชลบุรี จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว รวมถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 2 แห่ง คือ เมืองโบราณดงละคร และหมู่บ้านไทยพวน จังหวัดนครนายก การพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรองด้วยกิจกรรม MICE และขอสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการท่องเที่ยว และโรงแรมภาคตะวันออกเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน

ด้านคุณภาพชีวิต ขอรับการสนับสนุน ดังนี้ (1) ยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง จังหวัดระยอง จากโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอ เป็นโรงพยาบาลขนาด 100-120 เตียง เพื่อรองรับแรงงานในนิคมอุตสาหกรรม (2) พิจารณาจัดสรรอัตรากำลังบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้กับโรงพยาบาลมาบตาพุด จังหวัดระยอง (3) การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านอุบัติเหตุฉุกเฉินและโรคหัวใจ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกของโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี และโรงพยาบาลศูนย์ชลบุรี (4) การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านอุบัติเหตุฉุกเฉินเพื่อรองรับการขยายตัวของ EEC และการท่องเที่ยว ของโรงพยาบาลศูนย์ชลบุรี จังหวัดชลบุรี (5) การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดนครนายก (6) การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินครบวงจรของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอรับการสนับสนุน ดังนี้ (1) ระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียในอำเภอปลวกแดง และเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง (2) ขอให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ศึกษาการขุดลอกแม่น้ำบางปะกอง จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อแก้ไขปัญหาแม่น้ำตื้นเขิน และศักยภาพการขนส่งพืชผลทางการเกษตรทางน้ำ (3) ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้มทำการป้องกันและแก้ไขปัญหาช้างป่าที่ออกมารบกวนประชาชนนอกพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ ของป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และ (4) ขอรับการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การระบายน้ำ ระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยาอย่างครบวงจร

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน โดยเบื้องต้นได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาและศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและคุ้มค่าต่อไป