ThaiPublica > คอลัมน์ > สื่อในศตวรรษที่ 21 (12): CSI LA เพิ่มพลังสื่อพลเมืองด้วยพลังมวลชน (crowdsourcing)

สื่อในศตวรรษที่ 21 (12): CSI LA เพิ่มพลังสื่อพลเมืองด้วยพลังมวลชน (crowdsourcing)

5 กุมภาพันธ์ 2018


สฤณี อาชวานันทกุล

ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึง “สื่อพลเมือง” หรือ citizen media ว่าเป็นคำที่ยังมีความหมายอยู่ แต่เปลี่ยนรูปแบบไปมากแล้วในรอบสิบปีที่ผ่านมา จากยุค web 1.0 ที่เราต้องเข้าไปเขียนเว็บล็อกหรือย่อว่า “บล็อก” (blog) หรือโพสกระทู้ในเว็บบอร์ดต่างๆ ถ้าอยากจะสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มาเป็น web 2.0 ยุคแห่งโซเชียลมีเดีย แพล็ตฟอร์มสื่อสังคมทรงพลังที่ให้เราโพสและแชร์ข้อความ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว และสื่ออื่นๆ ได้ทุกเมื่อจากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งกลายเป็น “อวัยวะที่ 33” ขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิต

ทุกวันนี้คนจำนวนมากไม่เรียกตัวเองว่า “สื่อพลเมือง” แต่บ่อยครั้งก็ทำงานของสื่อพลเมืองด้วยการใช้มือถือบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัว และเผยแพร่มันผ่านโซเชียลมีเดีย

วันนี้สื่อกระแสหลักหลายค่ายยังทำงานอย่าง “มักง่าย”(มาก) ด้วยการก็อปปี้โพสต่างๆ บนโซเชียลมีเดียแล้วเอาไปเล่นเป็นข่าวของตัวเอง บ่อยครั้งโดยไม่ให้เครดิต

แต่ไม่ว่าหลายค่ายจะทำงานอย่างมักง่ายก็ตาม สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การหยิบยกประเด็นที่สื่อพลเมืองทำ หรือลือกันให้แซดไปขยายและขยี้ต่อในหน้าสื่อกระแสหลัก ก็กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาจนเรียกได้ว่า นี่คือ “ภูมิทัศน์ใหม่” ของสื่อ (media landscape) ในศตวรรษที่ 21

ชั่วโมงนี้ที่ “นาฬิกาเพื่อน” กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าในสังคมไทย ท้าทายเก้าอี้นายพลในคณะเผด็จการทหาร ระดับ “พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์” คงไม่มี “สื่อพลเมือง” คนไหนที่มีอิทธิพลในสังคม และคนติดตามมากกว่าคุณ “เดวิด” แอดมินเพจ CSI LA บนเฟซบุ๊ก ผู้จุดประกายเรื่องนาฬิกา

เพจ CSI LA วันนี้มีผู้ติดตามมากกว่า 7 แสนคน ในเดือนธันวาคม 2560 เริ่มเผยข้อมูลนาฬิกาหรูยี่ห้อ “ริชาร์ด มิลล์” ที่ พล.อ.ประวิตรสวมใส่ ขณะถ่ายภาพหมู่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในวันที่ 4 ธันวาคม 2560

หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ทยอยปล่อยข้อมูลนาฬิกาหรูไม่ซ้ำเรือน จนถึงวันนี้นับได้ 25 เรือน และแอดมินก็บอกกับสื่อว่า “ยังมีอีกหลายเรือนที่เพจยังไม่ได้เอามาลง”

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณ “เดวิด” ถึงที่มา วิธีคิด และกระบวนการทำเพจ CSI LA

คุณเดวิดบอกว่า เขาพำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริกามาหลายปีแล้ว วันนี้มีธุรกิจของตัวเอง ไปเรียนอเมริกาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จบด้านเศรษฐศาสตร์ ต่อมาจบปริญญาโทที่อเมริกาเช่นกันเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data science) หลังจากนั้นทำงานสาย big data มาตลอด

วันนี้คุณเดวิดทำงานประจำเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ทำเพจ CSI LA ในเวลาว่าง จุดเริ่มต้นของเพจนี้มาจากการที่คุณเดวิดอยากช่วยให้คนไทยใช้วิจารณญาณ มีทักษะคิดเชิงวิเคราะห์ หัดแยกแยะข้อมูลเท็จจริงออกจากกัน

ประเด็นแรกที่โพสลงเพจเป็นเรื่องข้าว ตอนที่มีคดีจำนำข้าว บางคนใช้โปรแกรมตัดต่อรูปกองกระสอบข้าวในโกดัง แล้วภาพนั้นก็กระพือเป็นไวรัลทั่วเน็ต ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจผิด คิดว่ามี “ข้าวเน่า” มากกว่าความเป็นจริง

ถามว่าเรื่องไหนยากที่สุดตั้งแต่ทำเพจนี้มา คุณเดวิดตอบว่า เรื่องคดีฆ่านักท่องเที่ยวที่เกาะเต่า เพราะมีตำรวจมาขู่ และเขาเองไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญได้

คุณเดวิดบอกว่ารู้สึกแย่ที่มีตำรวจมาขู่ เพราะข้อมูลที่เขาได้ก็มาจากฝั่งตำรวจเหมือนกัน และเขาติดตามเรื่องนี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ อยากจะช่วยตำรวจจับผู้ร้ายให้สำเร็จ

ผู้เขียนเห็นว่า ความยากของการทำเรื่องคดีเกาะเต่า นับเป็นบทเรียนสำคัญที่บ่งชี้ข้อจำกัดและขอบเขตของพลังสื่อพลเมืองได้เป็นอย่างดี

สำหรับคดีฆาตกรรมหรืออาชญากรรมโดยทั่วไป คนภายนอกย่อมไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากนัก เพราะข้อมูลหลายอย่างย่อมต้องถูกเก็บเป็นความลับในการทำคดี แถมยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการตีความและเชื่อมโยงหลักฐาน เช่น ความรู้ด้านนิติเวชวิทยา

การทำงานของสื่อพลเมืองในประเด็นเหล่านี้จึงยากมากและสุ่มเสี่ยงที่จะโดน “ก้อนอิฐ” มากกว่าได้ “ดอกไม้”

ในทางกลับกัน “นาฬิกาเพื่อน” เป็นประเด็นที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะใช้พลังสื่อพลเมือง เพราะเป็นข้อมูลสาธารณะ (พล.อ. ประวิตร ใส่นาฬิกาแพงออกสื่อหรืองานสาธารณะ ไม่ใช่ว่ามีใครแอบปีนเข้าบ้านไปถ่ายรูปนาฬิกา) ที่คนทั่วไปสามารถตั้งคำถามถึงความโปร่งใสได้ทันที (แจ้งเป็นทรัพย์สินก่อนเข้ารับตำแหน่งหรือเปล่า? ทำไมไม่แจ้ง? จริงๆ แล้วมีกี่เรือน? ถ้าไม่ใช่ของตัวเองแล้วไปยืมใครมา? แค่ยืมมาใช้ก็ถือเป็น “ประโยชน์อื่น” ตามกฎหมายป้องกันและปราบปราบคอร์รัปชั่นแล้วหรือมิใช่? ฯลฯ)

คุณเดวิดไม่ได้หาข้อมูลนี้คนเดียว แต่ทำแบบฟอร์มออนไลน์ให้แฟนเพจเข้าไปให้ข้อมูล ตั้งแต่ภาพ พล.อ.ประวิตรกับนาฬิกา สถานที่และเวลาถ่าย และข้อมูลเกี่ยวกับรุ่นและยี่ห้อนาฬิกา

ซึ่งก็มีแฟนเพจแห่กันเข้าไปให้ข้อมูลมากมาย เพราะภาพถ่าย พล.อ. ประวิตร มีอยู่มากมายในอินเทอร์เน็ต ด้วยความที่เป็นบุคคลสาธารณะผู้มีอิทธิพล และแฟนเพจหลายคนก็เป็นเซียนนาฬิกาหรือตาดี(มาก)

วิธีนี้เป็นการใช้ “พลังมวลชน” ออนไลน์ หรือ crowdsourcing เพิ่มพลังสื่อพลเมืองได้อย่างดีเยี่ยม และคุณเดวิดก็ฉลาดพอที่จะไม่ปล่อยข้อมูลนาฬิกาออกมารวดเดียวทั้งหมด แต่ค่อยๆ เปิดเผยทีละเรือน เพื่อจูงใจให้คนติดตามและสนใจมากขึ้น พร้อมกับคำถามที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ไปถึงรัฐบาลและหน่วยงานตรวจสอบ

ส่งผลสะเทือนเลื่อนลั่นที่เราได้เห็นกันแล้ว

ผู้เขียนถามคุณเดวิดว่า ที่ผ่านมาเขาถูกใครคุกคามบ้างหรือเปล่าที่จับประเด็นนาฬิกา กลัวบ้างไหม เขาตอบว่าไม่กลัว วันนี้เป็นพลเมืองสหรัฐอเมริกาแล้ว มีอิสระทางความคิด ทำเพจคนเดียวมาตลอด ถือเป็นงานอดิเรกยามว่าง ไม่คิดว่าในอนาคตจะต้องหาคนมาช่วย

วันนี้คุณเดวิดมองว่าตัวเองเป็น “สื่ออิสระ” มีหน้าที่เปิดประเด็น นำเสนอข้อมูลแล้วให้คนคิดเอาเอง แบบเดียวกับ Washington Post

เมื่อถามถึงแผนการพัฒนาเพจนี้ในอนาคต คุณเดวิดบอกว่าอยากเอาพลัง crowdsourcing มารวบรวมและเสนอประเด็นพัฒนาในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น ไม่ใช่ตามหรือขุดประเด็นเชิงตรวจสอบอย่างเดียว

ผู้เขียนถามคุณเดวิดว่า ในความเห็นของเขา ทำไมสื่อหลักถึงไม่ทำแบบที่เพจ CSI LA ทำบ้าง คือจุดประเด็น ขอแรงคนอ่านมาช่วยส่งข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล เพราะก็ทำได้ง่ายๆ

คำตอบคือ “ผมสังเกตมาสี่ปีแล้ว สื่อหลักชอบเล่นแต่ข่าวกระแส วันสองวันก็เงียบ เอาข่าวดารามากลบ”

“ผมคิดว่าสื่อหลักยังกลัวรัฐบาลครับ”