ThaiPublica > เกาะกระแส > “วิวัฒน์ ศัลยกำธร” รมช.เกษตรฯ ชูบทบาทสหกรณ์สร้างชุมชนเข้มแข็ง-ขับเคลื่อนนโยบายรัฐ

“วิวัฒน์ ศัลยกำธร” รมช.เกษตรฯ ชูบทบาทสหกรณ์สร้างชุมชนเข้มแข็ง-ขับเคลื่อนนโยบายรัฐ

26 กุมภาพันธ์ 2018


ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเปิดงาน “สหกรณ์เข้มแข็งด้วยศาสตร์พระราชา 26 กุมภาพันธ์วันสหกรณ์แห่งชาติ” โดยกล่าวว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาขบวนการสหกรณ์และหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนสหกรณ์ ได้ร่วมกันพัฒนา ส่งเสริมงานด้านสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งผลงานด้านสหกรณ์เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของมวลสมาชิก ซึ่งเป็นประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวมอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นที่ประจักษ์ การสหกรณ์ได้มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก เช่น การเป็นโรงเรียนประชาธิปไตย แหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การรับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และความสำเร็จในเชิงธุรกิจของสหกรณ์ที่เป็นรูปธรรม สะท้อนได้จากจำนวนสหกรณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันมีมากกว่า 8,000 สหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์มากกว่า 12 ล้านคน มูลค่าสินทรัพย์รวมมากกว่า 2.5 ล้านล้านบาท

การดำเนินธุรกิจของสหกรณ์มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนในระดับฐานรากทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร การดำเนินธุรกิจสหกรณ์ในด้านต่าง ๆ เช่น การรวบรวมผลผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การนำเข้าและการส่งออกสินค้า การตลาดชุมชน การตลาดระหว่างประเทศ การดำเนินธุรกิจเครดิต ธุรกิจบริการ อันเป็นการดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต การเพิ่มมูลค่าการผลิตทางการเกษตร การแปรรูปผลผลิต การลงทุนในทุกชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเพิ่มจีดีพีภาคการเกษตรของประเทศ ฉะนั้น ทั้งหน่วยงานภาครัฐและขบวนการสหกรณ์จำเป็นต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนระบบสหกรณ์ให้เป็นกลไกหลักของการพัฒนาประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในสถานการณ์ปัจจุบันสหกรณ์ยิ่งมีบทบาทมากยิ่งขึ้น และร่วมบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายรัฐในโครงการสำคัญที่จะส่งผลต่อการกินดีอยู่ดีของประชาชน เช่น สหกรณ์มีบทบาทเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่ที่มีการเพิ่มประสิทธิภาพตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรูป การเพิ่มมูลค่า การตลาด ตลอดห่วงโซ่อุปทาน การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรร่วมกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้และยกระดับมาตรฐานการเกษตรของประเทศ สหกรณ์มีบทบาทในการเป็นธนาคารสินค้าเกษตร การดำเนินการเพื่อชะลอผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดพร้อมกันและด้านอื่น ๆ การที่สหกรณ์มีการบริหารจัดการที่ดี สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนองตอบความต้องการของสมาชิกได้อย่างแท้จริง

ผู้นำสหกรณ์ต้องได้รับการพัฒนา ให้มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม มีกระบวนทัศน์และกลยุทธ์ที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง มีการนำเทคโนโลยี ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมาปรับใช้ในเชิงธุรกิจตามยุคประเทศไทย 4.0 และที่สำคัญการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต้องเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืนและมั่นคง กล่าวคือต้องนำศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารงานและการดำรงชีวิต

“การจัดงาน “สหกรณ์เข้มแข็งด้วยศาสตร์พระราชา ๒๖ กุมภาพันธ์วันสหกรณ์แห่งชาติ” ในครั้งนี้ นับว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้มีการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์งานสหกรณ์ให้ประชาชนคนไทยได้รับทราบ ตลอดจนขบวนการสหกรณ์ได้ตระหนักและน้อมนำศาสตร์พระราชาไปเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบสหกรณ์ ผมขอชื่นชมกับความสำเร็จและประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศชาติ ที่ขบวนการสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันทำงานอย่างมุ่งมั่น เราจะต้องร่วมมือกันก้าวต่อไป เราจะต้องเพิ่มความเข้มข้น ในการยกระดับและพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวชุมชนและประเทศชาติให้ก้าวพ้นจากความยากจน และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับในส่วนของรัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสนับสนุนระบบสหกรณ์ในทุก ๆ ด้าน และจะใช้สหกรณ์เป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมของประเทศต่อไป”

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(ซ้าย)และนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (ขวา)

ในช่วงบ่าย ดร.วิวัฒน์ กล่าวถึงระบบสหกรณ์ในไทยและศาสตร์พระราชาว่ามีเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน โดยการกำเนิดของสหกรณ์ของโลกเริ่มต้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของกระแสเสรีทุนนิยม อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวนำมาซึ่งความกังวลว่าเศรษฐกิจจะถูกกินรวบโดยกลุ่มทุนและต้องการทางออกใหม่ยั่งยืนกว่า เป็นที่มาของขบวนการสหกรณ์ที่เน้นประเด็นการกระจายความมั่งคั่งสู่ประชาชนโดยรวมด้วย

สำหรับประเทศไทย ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเข้าใจทั้ง 2 ระบบเป็นอย่างดี เนื่องจากทรงเกิดที่สหรัฐอเมริกาอันเป็นประเทศทุนนิยมและมาเติบโตที่สวิสเซอร์แลนด์อันเป็นประเทศที่ให้นเำหนักกับการกระจายร่ยได้ด้วย และทำให้มีพระราชดำริว่าไทยไม่ควรเลือกเส้นทางสุดโต่งทั้ง 2 ทางและควรจะหาสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตและการกระจายรายได้ นอกจากนี้ ยังนำเสนอหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือศาสตร์พระราชาเป็นเสาหลักอีกประการและมีหลักการ 2 ประการที่มีคสามสำคัญต่อความยั่งยืนคือ มีความรู้ รอบรู้ รอบคอบ และมีคุณธรรม โดยส่วนแรกสอดคล้องกับหลักการสหกรณ์เดิมคือให้การศึกษาแก่สมาชิก ขณะที่หลักการหลังเป็นของใหม่เพิ่มเติมและเหนือกว่าระบบสหกรณ์เดิม คือถ้ามีคุณธรรมก็จะช่วยปัญหาการโกงหรือก่อความเดือดร้อนแก่สมาชิกและสังคมก็จะลดลงด้วย เป็นการกำกับด้วยดูแลตนเอง

“ถ้าดูเป้าหมายของสหกรณ์ ถามว่าคือการเน้นค้าขาย เน้นรวยเพื่อไปแข่งกับความรวยของกลุ่มทุนหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ แต่เป้าหมายคือช่วยสมาชิกให้อยู่ดีกินดี อยู่ได้ หลักเศรษฐกิจพอเพียงหรือศาสตร์พระราชามีเป้าหมายเดียวกันคือช่วยสร้างรากฐานความเป็นอยู่แก่ประชาชน” ดร.วิวัฒน์ กล่าว

ดร.วิวัฒน์ ยกตัวอย่างระบอบวัด ทั้งในความหมายของศาสนาพุทธและศาสนาอื่นๆในสังคมไทยว่าเป็นตัวอย่างของการสร้งคุณธรรมในสหกรณ์ที่มีรูปแบบเหนือกว่าระบอบสหกรณ์ของตะวันตก ซึ่งต้องพยายามรักษาให้เข้มแข็งและสืบทอดต่อไปในสังคมของระบอบสหกรณ์