ThaiPublica > คอลัมน์ > หนึ่งบรรทัดนิยายกลายเป็นแนวคิด

หนึ่งบรรทัดนิยายกลายเป็นแนวคิด

30 มกราคม 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

เพียงหนึ่งบรรทัดจากนิยายที่แสดงให้เห็นถึงความลึกซึ้งของชีวิต สามารถเป็นฐานเพื่อการต่อยอดเป็นแนวคิดที่น่าสนใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ

“ครอบครัวทั้งหมดที่มีความสุขมีลักษณะเหมือนกัน ; แต่ละครอบครัวที่ไม่มีความสุขต่างก็ไม่มีความสุขตามเส้นทางของตนเอง” (Happy families are all alike; every unhappy family is unhappy in its own way.) ประโยคเริ่มต้นของนิยายดังก้องโลกชื่อ Anna Karenina (1877) ของ Leo Tolstoy ให้ข้อคิดในเรื่องความสุขที่น่าคิดยิ่ง

ถ้าแม้น Leo Tolstoy นักเขียนผู้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกมีชีวิตอยู่ในวันนี้ก็จะมีอายุ 190 ปี ประโยคที่เขาทิ้งไว้นี้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก มีผู้เอามาแปลเป็นกฎโดยให้ชื่อว่า Anna Karenina Principle ซึ่งสามารถเอามาประยุกต์ได้อย่างกว้างขวางในชีวิต

ความหมายของประโยคแรกของนิยายเรื่องนี้ก็คือครอบครัวที่มีความสุขจะมีลักษณะที่คล้ายกัน เช่น มีความรักเห็นอกเห็นใจกัน มีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคง มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รักและปรารถนาดีต่อกันอย่างจริงใจ ฯลฯ ส่วนครอบครัวที่มีความทุกข์นั้น มีสาเหตุมาจากร้อยแปดพันประการ แต่ละครอบครัวก็มีการไม่มีความสุขในลักษณะที่แตกต่างจากกันไป

สิ่งที่ Tolstoy บอกก็คือมันมีเงื่อนไขของการมีครอบครัวที่มีความสุขซึ่งทุกครอบครัวจะต้องมีเหมือนกัน ส่วนครอบครัวที่ขาดความสุขนั้นขาดเงื่อนไขบางข้อไปและอาจขาดไม่เหมือนกันด้วย ดังนั้นหากต้องการมีครอบครัวที่มีความสุขแล้วจะต้องสร้างเงื่อนไขดังว่าทั้งหมดให้ครบ

ประโยคที่ก้องโลกนี้อีกกว่าร้อยปีต่อมาก็มีคนเอามาตีความให้มันลึกซึ้งอย่างผิดแปลกออกไปบ้างและเอามาเรียกเป็นกฎโดยระบุว่า “การขาดสิ่งหนึ่งไปในชุดของสิ่งที่จำเป็น จะทำให้ความพยายามที่กระทำอยู่นั้นล้มเหลวลง ดังนั้นความพยายามที่สำเร็จก็คือการหลีกเลี่ยงในทุก ๆ ทางไม่ให้เกิดการขาดสิ่งนั้น”

พูดง่าย ๆ ก็คือครอบครัวจะมีความสุขก็เมื่อประสบความสำเร็จในทุก ๆ เรื่องที่สำคัญดังกล่าวแล้ว หากล้มเหลวไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะนำไปสู่การไม่มีความสุข ดังนั้นมันจึงมีหนทางมากกว่าในการที่ครอบครัวจะไม่มีความสุขมากกว่ามีความสุข ฟังดูแล้วอดหดหู่ แต่ Tolstoy กำลังพูดถึงความจริงของชีวิตเพื่อให้ทุกครอบครัวระวัง และปลอบใจการไม่มีความสุขของครอบครัว ดังที่ปรากฏในนิยาย Anna Karenina

ตัวอย่างของการประยุกต์ Anna Karenina Principle คือเรื่องที่สัตว์ป่าน้อยชนิดที่จะได้กลายมาเป็นสัตว์ที่มนุษย์เอามาเลี้ยงใช้งาน Jared Diamond ในหนังสือดังชื่อ Guns, Germs and Steel (1997 ) ใช้กฎข้อนี้มาอธิบายอย่างน่าสนใจ

เขาบอกว่าในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มีสัตว์ที่มนุษย์นำมาใช้งาน (domesticated animals) น้อยชนิดมาก โดยแยกเป็น 6 ลักษณะด้วยกันกล่าวคือ (1) สัตว์พันธุ์นั้นต้องไม่จู้จี้เลือกอาหารมาก (2) ต้องมีอัตราการเติบโตที่สูงจึงจะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ (3) ต้องแพร่พันธุ์ในที่กักขังได้ ถ้าไม่ยอมผสมพันธุ์ก็เพิ่มจำนวนไม่ได้ (4) ต้องไม่มีอารมณ์ฉุนเฉียวและดุร้าย ตัวอย่างเช่น ม้าลาย ฃึ่งรักอิสระและมีอารมณ์ต่างจากม้าปกติจึงเอามาใช้งานไม่ได้ (5) สัตว์พันธุ์ที่ตื่นง่ายไม่เหมาะอย่างยิ่ง และ (6) สัตว์พันธุ์ที่มีลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมแนวตั้ง เช่น สุนัข แกะ วัว (มีจ่าฝูง) เหมาะสม แต่ประเภทรักอิสระ ชอบอยู่ตัวเดียวโดด ๆ นั้นไม่เหมาะสม

เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าสัตว์พันธุ์ที่สามารถเอามาใช้งานได้อย่างประสบผลสำเร็จนั้นมีน้อยมากเพราะมีไม่ครบ ทั้ง 6 ลักษณะดังกล่าวนี้ ซึ่งคล้ายกับกรณีของการขาดความสุขในครอบครัวซึ่งมักมีบางองค์ประกอบที่ขาดไป

ผู้อ่าน Anna Karenina นับร้อย ๆ ล้าน ๆ คน อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างชื่นชมผู้แต่งเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตจริงของผู้คนในระดับชาวบ้านและชนชั้นกลางในรัสเซีย ในยุคนั้นที่เต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ และราคะ (เฉกเช่นเดียวกับยุคสมัยอื่น) Anna Karenina เป็นตัวนำของเรื่องที่ชีวิตไปโยงใยกับญาติ เพื่อน และญาติสามี เธอหลงรักชายรูปหล่อจนเป็นชู้กัน ทิ้งสามีและลูก จนในที่สุดพบแต่ความทุกข์เพราะชายหนุ่มไม่ต้องการความผูกพัน ในความทุกข์เธอก็มีความสุขสลับกันไปเพราะได้ยอมรับความเสี่ยงทุกอย่างแม้แต่ชีวิตของเธอเพื่อหาความรักแท้และก็พบความจริง ในที่สุดหลังจากยอมแพ้ชะตากรรม เธอก็ฆ่าตัวตาย

Tolstoy เขียนได้สะเทือนอารมณ์ผู้อ่าน ให้ทั้งคติการดำเนินชีวิต และแง่คิดเกี่ยวกับความรักทั้งในแง่บวกและแง่ลบ เขาบอกว่า “ความรักทำให้ความเป็นมนุษย์สูงขึ้น” แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความทุกข์ แต่กระนั้น “โรมานซ์และรักแท้” นั้นมีจริง (ถ้าหาเจอ) แต่ก็ต้องสุ่มเสี่ยงหาดังเช่น Anna Karenina

ความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้อ่านก็คือ ความรู้สึกไม่เป็นธรรมกับชะตากรรมของเธอ แต่ Tolstoy ก็พยายามบอกว่าการคิด “เป็นธรรม” หรือ “ไม่เป็นธรรม” นั้น ไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใดสู้การคิดแง่บวกเพื่อต่อสู้กับสถานการณ์ที่ไม่เป็นธรรมจะเหมาะสมกว่า

Leo Tolstoy มีชื่อทางการว่า Count Lev Nikolayevich Tolstoy (1828-1910) เกิดในครอบครัวขุนนาง (จริง ๆ เป็นท่านเคาทน์) ทิ้งผลงานสำคัญคือ War and Peace (1869) และนิยายสำคัญอีกนับเป็นสิบ ๆ เรื่อง ข้อเขียนของเขาในเรื่องความไม่รุนแรง จุดประกายความคิดของบุคคลสำคัญในชั่วคนต่อมาในศตวรรษที่ 20 เช่น มหาตมะ คานธี และ Martin Luther King Jr.

คนทั่วโลกแปลหนังสือของเขาเป็นภาษาท้องถิ่น รวมกันนับเป็นหมื่นเล่มในเกือบทุกภาษาของโลก เฉพาะ Anna Karenina นั้นมีคนแปลจากภาษารัสเซียเป็นภาษาอังกฤษถึง 10 เวอร์ชั่น ถูกสร้างเป็นละครภาพยนตร์และโอเปร่าตลอดระยะเวลา 141 ปี นับเป็นร้อย ๆ ครั้ง

ชีวิตอันน่าสลดใจของ Anna Karenina ในการแสวงหาความรักแท้เป็นเรื่องน่าสนใจและเป็นบทเรียนแก่ชีวิตหญิงชายจำนวนมากมายในโลก นิยายอมตะเรื่องนี้ได้รับการยอมรับในโลกว่าเป็นนิยายที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์

Anna Karenina Principle เตือนใจให้ผู้คนระมัดระวังในการพยายามกระทำสิ่งใดก็ตามว่าความสำเร็จนั้นมีปัจจัยที่คล้ายคลึงกันและจำเป็นต้องมีให้ครบ ในขณะที่ความล้มเหลวนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายกว่ามากเพราะเพียงขาดปัจจัยหนึ่งไปเท่านั้น

ชีวิตและการมีความสุขนั้นเป็นสิ่งเปราะบาง หากมีชีวิตที่ดีและมีความสุขแล้วต้องประคับประคองมันไว้ให้ดี อย่าได้นึกว่าเมื่อเราทำดีแล้วโลกจะมีความเป็นธรรมให้เรา ความจริงก็คือไม่มีอะไรที่จะประกันให้โลกมีความเป็นธรรมแก่มนุษย์ ไม่ว่าผู้ใดก็ตาม

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 23 ม.ค. 2561