ThaiPublica > เกาะกระแส > TMB-SCB มองเศรษฐกิจไทยปี’61 โต 4% ลงทุนหนุนแต่บริโภคเอกชนถ่วง กำลังซื้อกระจุกกลุ่มรายได้สูง เกษตรกรรายได้อ่อนแอ

TMB-SCB มองเศรษฐกิจไทยปี’61 โต 4% ลงทุนหนุนแต่บริโภคเอกชนถ่วง กำลังซื้อกระจุกกลุ่มรายได้สูง เกษตรกรรายได้อ่อนแอ

8 มกราคม 2018


นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics

TMB-SCB เห็นพ้องเศรษฐกิจไทยปี 2561 เติบโต 4% ส่งออกดีขึ้นรับเศรษฐกิจโลกขยายตัวแข็งแกร่ง การลงทุนเอกชนมีแนวโน้มเร่งตัว การท่องเที่ยวสดใส แต่ปัจจัยถ่วงการบริโภคดีบางกลุ่ม เพราะรายได้ทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรอ่อนแอ

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ว่า ได้ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นเป็น 4.2% จากประมาณการเดิมที่ 3.8% สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น และยังได้ปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2560 ขึ้นเป็น 4.0% จาก 3.5%

การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ได้รับการสนับสนุนจากหลายปัจจัย ประกอบด้วยการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก การท่องเที่ยวที่เติบโตดีและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นแต่การบริโภคภาคเอกชนยังคงเปราะบาง

การส่งออกของไทยในปี 2561 คาดกว่าจะเติบโตในอัตรา 4.8% แม้ชะลอลงจาก 10.3% ในปีที่แล้วโดยมูลค่าส่งออกเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 20.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งเป็นระดับสูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งเป็นการเติบโตในทุกตลาดและสินค้าหลักสำคัญ รวมไปถึงตลาดจีนที่คาดว่าการส่งออกจะเติบโต 8% แม้เศรษฐกิจขยายตัวไม่ร้อนแรง เป็นผลจากความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในยุคดิจิตอลและการมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งความต้องการยางพาราเพื่อใช้ผลิตยางรถยนต์

การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง เป็นผลให้มีการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วน 20% ของจีดีพีจะสูงขึ้น 4% จาก 2.4% ในปีก่อน

“การลงทุนเอกชนน่าจะเริ่มกลับมา เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เศรษฐกิจจะโตไม่ถึง 4.2% ถ้าการลงทุนไทยโตไม่ถึง 4% ภายใต้สมมุติฐานว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)ได้รับการขับเคลื่อนให้คืบหน้า ขณะเดียวกันอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 63% เริ่มฟื้นตัวจากการส่งออกที่เริ่มขยายตัวสอดคล้องกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง”

การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวถึง 12% เมื่อพิจารณาจากงบลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่มีจำนวนในระดับ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง อาทิ มอเตอร์เวย์เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด รถไฟทางคู่เส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ตลอดจนมีแนวโน้มที่จะเร่งการลงทุนด้านคมนาคมในทุกมิติ เพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น การขยายถนน ขยายช่องทางการจราจรและโครงข่ายถนนสายรองในพื้นที่ภาคตะวันออก

กลุ่มท่องเที่ยวกระจุกตัวเสี่ยงรายได้ฮวบ

ในปี 2560 เศรษฐกิจเติบโตจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยเศรษฐกิจที่เติบโต 4% มาจากการท่องเที่ยวถึง 2% และแนวโน้มในปีนี้การท่องเที่ยวยังคงเติบโตดีต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 37 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 6.5% เป็นการเติบโตจากแทบทุกตลาดนักท่องเที่ยว

“การที่ไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวมาก เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง เพราะการท่องเที่ยวมีความเสี่ยงผันผวนตามเหตุการณ์ เพราะเมื่อดูภาพรวมโครงสร้างรายได้จากภาคท่องเที่ยวในปี 2559 ที่มีจำนวน 2.52 ล้านล้านบาทแล้วพบว่า เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 65% คิดเป็นเงิน 1.64 ล้านล้านบาทซึ่งกระจุกตัวทั้งในแง่พื้นที่ท่องเที่ยวและกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยรายได้กระจุกตัวใน 4 จังหวัด และนักท่องเที่ยวกระจุกตัวในกลุ่มจีน เอเชียตะวันออก และอาเซียนรวมกันถึง 70% ซึ่งอยู่ใกล้ไทย มีความผันผวนในการเปลี่ยนหรือยกเลิกการเดินทางได้ง่าย ต่างจากนักท่องเที่ยวยุโรปที่วางแผนล่วงหน้านานและไม่ยกเลิก จึงเป็นความเสี่ยงที่ต้องจัดการ ถ้านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไป รายได้จะยวบทันที”

กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมท่องเที่ยวกระจุกอยู่ใน 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ทำให้โครงสร้างรายได้ภาคการท่องเที่ยวไม่กระจายตัวมากนัก เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือนให้ฟื้นตัวได้ช้า

บริโภคเอกชนทรงตัวรายได้อ่อนแอ

การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มทรงตัว โดยขยายตัว 3.0% ลดลงเล็กน้อยจาก 3.1% ในปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง 79% ของจีดีพี แต่ปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของรายได้นอกภาคเกษตรและรายได้ภาคเกษตรที่อ่อนแอ แม้เศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่การส่งผ่านผลดีไปยังการจ้างงานและรายได้ครัวเรือนยังไม่เข้มแข็ง

การจ้างงานนอกภาคเกษตรซึ่งมีการจ้างงานคิดเป็น 70% ของการจ้างงานรวม ได้รับผลกระทบจากการจ้างงานที่ปรับลดลงโดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในภาคการผลิตและภาคก่อสร้าง ในปีที่แล้วมีการจ้างงานลดลง 248,000 คน แม้จะไม่มากเมื่อเทียบกับแรงงานทั้งหมด 37.7 ล้านคนในปี 2559 อีกทั้งอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน

ในส่วนของรายได้เกษตรกรพบว่าราคาสินค้าเกษตรโดยรวมถูกกดดันจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ยกเว้นราคายางพาราที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ทำให้ภาพรวมรายได้เกษตรกรในปี 2561 ไม่ขยายตัว ฉุดกำลังซื้อและการบริโภคในภูมิภาค

“การบริโภคยังเป็นปัญหาและถ่วงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จึงเป็นที่มาของเศรษฐกิจดีแต่คนไม่รู้สึกดี ถ้าจะให้คนรู้สึกดีว่า เศรษฐกิจที่โต 4% ดีจริงการบริโภคต้องโตสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ การบริโภคที่ไม่ดี เพราะรายได้ทั้งนอกและในภาคเกษตรอ่อนแอ โดยภาคเกษตรที่มีสัดส่วน 30% ของจีดีพีนั้นในราคาสินค้าเกษตรหลัก 5 กลุ่ม ข้าว อ้อย ปาล์ม แนวโน้มราคาไม่ดี ส่วนที่ราคาพอไปได้คือ ยางพา มันสำปะหลัง โดยยางพาราขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่ยังคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”

ประเมินดอกเบี้ยขยับ 2 ครั้ง

ด้านตลาดการเงิน คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะค่อยๆ ปรับตัวจาก 1.5% สู่ระดับ 2.0% ในปี 2561 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องและแนวโน้มดอกเบี้ยโลกขาขึ้น โดยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นได้ 2 ครั้งในครึ่งปีหลัง จากการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะแตะขอบล่างของกรอบเป้าหมายในปลายปี

สำหรับค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะปิดสิ้นปีในระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ เป็นการแข็งค่าตามการค้าและการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ไม่ใช่จากเงินไหลเข้า เพราะสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลง จากการลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางประเทศใหญ่ทั้งสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น ด้วยการลดการซื้อสินทรัพย์เนื่องจากเศรษฐกิจดีขึ้นความจำแป็นของการดำเนินมาตรการการเงินแบบผ่อนคลาย หรือ QE ลดลง แต่ก็มีโอกาสที่เงินจะไหลเข้าหากมีการเลือกตั้งในประเทศ

การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในปี 2561 มีแนวโน้มดีขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาครัฐ สินเชื่อโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัว 5.3% แต่ปรับลดลงจาก 5.7% ที่คาดการณ์เดิม โดยการขยายตัวของสินเชื่อมาจากธุรกิจขนาดใหญ่ นำโดยธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ได้รับผลดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และภาคธุรกิจที่เริ่มมีการขยายกำลังการผลิต ส่วน SME และสินเชื่อรายย่อยยังคงทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภค ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อจะทยอยปรับตัวดีขึ้นจากการปลดล็อครถคันแรก แต่ยังมีปัจจัยลบจากรายได้ภาคเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ

สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(Non Performing Loam:NPL) ต่อสินเชื่อรวมได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มปรับลดลงในปี 2561 ตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจ และการก่อตัวของ NPL (NPL Formation) มีแนวโน้มลดลงเช่นกันในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าที่ปรับดีขึ้นตามการลงทุนภาคเอกชน

เงินฝากมีแนวโน้มขยายตัว 5.5% ปรับลดจากคาดการณ์เดิมที่ 5.9% เงินฝากที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นไปตามความต้องการสินเชื่อและทิศทางการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2561

SCB มองบริโภคโตในกลุ่มรายได้สูง

ทางด้าน Economic Intelligence Center (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) มีมุมมองเศรษฐกิจในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ยังมองว่า ตลาดผู้บริโภคมีแนวโน้มดีขึ้นเพียงบางกลุ่ม แม้เศรษฐกิจปีนี้จะเติบโตได้ถึง 4%

โดย ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค EIC เปิดเผยว่า การบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน แต่เป็นการพึ่งพากำลังซื้อของคนบางกลุ่มที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ กลุ่มผู้มีรายได้สูงและกลุ่มผู้ซื้อรถคันแรกที่ทยอยหมดภาระการผ่อนที่จะช่วยให้สินค้าและบริการ ที่เจาะกลุ่มชนชั้นกลางยังคงขยายตัวได้

นอกจากนี้การผ่านพ้นช่วงไว้อาลัยก็จะทำให้กิจกรรมต่างๆ กลับมาดำเนินการตามปกติ เช่น การจัดงานรื่นเริง กิจกรรมและสื่อด้านความบันเทิง รวมไปถึงการท่องเที่ยวทั้งของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ยังคงได้รับผลกระทบจากทั้งการจ้างงานและค่าจ้างที่ลดลงในปีที่ผ่านมา รวมถึงภาระหนี้ต่อรายได้ที่ยังสูงและเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการบริโภค

“แม้เศรษฐกิจโต 4% แต่ยังมีจุดอ่อนที่มองเป็นความเสี่ยง ซึ่งเป็นความเสี่ยงในประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่ปัจจัยใหม่เป็นปัจจัยต่อเนื่องจากปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่การจ้างงานค่อนข้างนิ่ง โดยในรอบ 11 เดือนการจ้างงานลดลง 0.7% ค่าจ้างรายเดือนลดลง 0.1% เพราะแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรไม่ดี ราคายางพาราค่อนข้างนิ่ง มองไปข้างหน้ากำลังซื้อจากภาคเกษตรที่มีสัดส่วน 20% ยังไม่กลับ การบริโภคจึงเป็นกำลังซื้อเฉพาะกลุ่ม”

กลุ่มที่การบริโภคยังเติบโต คือ หนึ่ง กลุ่มที่รายได้ค่อนข้างสูง มีกำลังซื้อต่อเนื่องเห็นได้จากยอดขายรถยนต์ราคาสูงเช่น รถเบนซ์ที่โต 20% ในปีที่แล้ว และผู้จำหน่ายยังคาดว่าจะโต 8% ในปีนี้ สอง กลุ่มรายได้ปานกลาง มีการเติบโตที่โดดเด่น มีปัจจัยสนับสนุนคือ การปรับโครงสร้างภาษี และสาม ไม่ได้จำกัดที่รายได้แต่เป็นการบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่ซื้อของออนไลน์มากขึ้น

4 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจ

ปัจจัยเสี่ยงของปี 2561 มีด้วยกัน 4 ด้าน ความเสี่ยงแรก คือ ราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำจากผลผลิตที่ออกมามากจะกระทบกับรายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ เป็นการส่งผลซ้ำเติมต่อกำลังซื้อที่ยังไม่ได้ฟื้นตัว ความเสี่ยงที่สอง คือ การแข็งค่าของเงินบาทที่จะกระทบกับรายได้ในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก ความเสี่ยงที่สาม คือ การขาดแคลนแรงงานทั้งแรงงานต่างด้าวและแรงงานทักษะขั้นสูง ซึ่งความเสี่ยงนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของการลงทุนสะดุดลงได้ และความเสี่ยงสุดท้าย คือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีโอกาสส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ อาทิ ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี ความไม่แน่นอนทางการเมืองของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองของหลายประเทศในสหภาพยุโรป

สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2561 นั้น EIC คาดว่า เศรษฐกิจจะเติบโตต่อเนื่องในอัตรา 4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้การส่งออกดีต่อเนื่อง และการลงทุนในประเทที่ขยายตัวดีกว่าปีก่อน ปีนี้เศรษฐกิจโลกเติบโตแข็งแกร่งและกระจายตัวมากขึ้น ความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยน้อยลง เห็นได้ชัดจากประเทศญี่ปุ่นที่โอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้มีเพียง 20% เนื่องจากความกังวลต่อนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบโดนัลด์ ทรัมป์ ลดลงหลังจากที่มีความเข้าใจมากขึ้น ขณะเดียวกันความวิตกเกี่ยวการเลือกตั้งและการออกจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของหลายประเทศในยูโรโซนคลายตัวลง

การฟื้นตัวพร้อมกันของประเทศใหญ่ มีผลต่อเศรษฐกิจโลก เพราะเป็นการฟื้นตัวที่นำไปสู่การจ้างงาน ส่งผลให้กำลังซื้อดีขึ้น โดยคาดว่า อัตราการว่างงานของโลกโดยรวมจะอยู่ที่ 5% ใน5 ปีข้างหน้า ต่ำสุดเป็นประวัติการซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวมีผลต่อการจ้างงาน แม้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้นในหลายภาคธุรกิจ แต่ภาพรวมตลาดแรงงานทั่วโลกดีขึ้น

การจ้างงานที่ดีขึ้นส่งผลให้กำลังซื้อโลกโดยรวมดีขึ้น และยังมีผลต่อเนื่องให้การส่งออกของประเทศเล็กรวมทั้งประเทศไทยดีขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การลงทุนภาคเอกชนของไทยมีโอกาสกลับมาขยายตัวตามการผลิตเพื่อการส่งออก ทั้งนี้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นติดต่อกันมาหลายเดือน จึงคาดว่าเอกชนจะเร่งลงทุนเพื่อรับการส่งออกที่ดีขึ้นในระยะต่อไป

การลงทุนไอทีปัจจัยหนุนอนาคต

การลงทุนที่น่าจับตาคือการลงทุนในเทคโนโลยีของบริษัทใหญ่เพื่อปรับธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล ดังจะเห็นจากบริษัทขนาดใหญ่ในหลายกลุ่มธุรกิจที่ประกาศลงทุนในด้านไอทีจำนวนมาก เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ที่จะลงทุน 4 หมื่นล้านบาทใน 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้การลงทุนไอทีภาคเอกชนมีสัดส่วน 15-16% ของการลงทุนเอกชนโดยรวม ขณะที่การลงทุนโดยรวม คาดว่าจะเติบโต 4.5% จาก 1.6% ปี โดยการลงทุนเอกชนจะโต 3% การลงทุนภาครัฐ 9%

ตัวแปรสำคัญที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2018 เติบโตได้สูงกว่าคาดคือการลงทุนของบริษัทต่างชาติในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) รวมไปถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่คาดว่าเม็ดเงินจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 8 หมื่นล้านบาทในปีก่อนเป็น 1.6 แสนล้านบาท และมาตรการสนับสนุนการม่องเที่ยวในเมืองรองที่จะสร้างกำลังซื้อให้กับการท่องเที่ยวในประเทศ

สำหรับสภาวะทางการเงินของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้นโยบายการเงินโลกจะตึงตัวมากขึ้น ในระยะข้างหน้าสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกจะเริ่มลดน้อยลงจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งอาจกระตุ้นทำให้เกิดความสั่นคลอนในประเทศที่มีหนี้ต่างประเทศสูง และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการปรับฐานของสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ รวมทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยที่ได้ปรับตัวขึ้นมาสูงในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยในภาพรวมยังถือว่ามีความเสี่ยงไม่มากด้วยทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีมากและสถานะการเงินของบริษัทใหญ่ที่ยังคงแข็งแกร่ง

อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีความเป็นไปได้ที่จะยังอยู่ในระดับเดิมที่ 1.50% เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึงและแรงกดดันจากเงินเฟ้อก็ยังมีไม่มากนัก ในด้านค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะอยู่ในช่วง 32.00-33.0