ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > เปลี่ยน “ตราบาป” เป็น “โอกาส” ลดทำผิดซ้ำ-ปูทางสู่ก้าวต่อไปของผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ

เปลี่ยน “ตราบาป” เป็น “โอกาส” ลดทำผิดซ้ำ-ปูทางสู่ก้าวต่อไปของผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ

2 มกราคม 2018


“แม้โทษจำคุกจะเป็นกลไกสำคัญของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่ผลกระทบของการจำคุกก็อาจกลายเป็นตราบาปของผู้ต้องขัง ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังหญิงหรือชาย ผมเชื่อว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่สังคมสามารถหยิบยื่นให้ได้ก็คือ”โอกาส” โอกาสที่จะทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกในครอบครัว โอกาสที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอีกครั้งโดยไม่มีตราบาป” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

ดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการ พันตำรวจเอก ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นางสาวมุกดา แก้วมุกด์ หัวหน้ากลุ่มการช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพ กรมการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และนายพิทยา จินาวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา (ภาพจากขวา-ซ้าย)

ว่าด้วยเรื่องของ “การให้โอกาส” โอกาสสำหรับผู้พ้นโทษ แม้คุกจะไม่สามารถเปลี่ยนคนได้อย่างที่ พัทธ์อิทธิ์ จินต์วุฒิ ผู้ก่อตั้งสถานปฏิบัติธรรม “บ้านธรรมทาน” อดีตผู้ต้องขังที่เคยต้องโทษประหารชีวิตกล่าวไว้ และการกลับสู่สิ่งแวดล้อมเดิมๆ อาจมีส่วนทำให้บุคคลเหล่านี้กลับสู่วังวนของการทำผิดซ้ำ แต่โอกาสจากสังคม จากคนรอบข้างก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถดึงเขาให้กลับสู่ครรลองได้

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 เนื่องในโอกาสครบรอบ 7 ปี การรับรอง “ข้อกำหนดกรุงเทพ” สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จัดเสวนาภายใต้หัวข้อ “ก้าวที่พลาดกับโอกาสในการแก้ไข มิติใหม่แห่งความร่วมมือ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ” เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ครอบคลุมทั้งส่วนงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และเป็นภาคต่อของการขับเคลื่อนการคืนคนดีสู่ชุมชน

เปลี่ยน “ตราบาป” เป็น “โอกาส” ลดทำผิดซ้ำ

เมื่อพูดถึงการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ที่ผ่านมาส่วนมากมักเป็นการพูดกันในวงนักวิชาการและผู้ปฏิบัติ และมักจะมุ่งเน้นไปในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในเรือนจำ แต่อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการก้าวออกจากรั้วเรือนจำแล้วมองไปถึงก้าวต่อไปของการดูแลผู้กระทำผิด นั่นคือการส่งผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคม ไม่ว่าหญิงหรือชาย

จากข้อมูลอัตราผู้กระทำความผิดซ้ำโดยกระทรวงยุติธรรม เดือนพฤศจิกายน 2560 พบว่า ในช่วงปี 2557 ประเทศไทยมีผู้พ้นโทษที่กระทำความผิดซ้ำภายใน 1 ปี ประมาณ 14% และภายใน 3 ปี ราว 27% โดยสาเหตุของการกระทำความผิดมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งขาดการยอมรับจากสังคมภายหลังพ้นโทษ ทั้งนี้ จากผลการวิจัยหลายฉบับพบว่า “โอกาสในการทำงาน” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เคยต้องโทษเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังพ้นโทษได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดซ้ำ

การวาดภาพสีน้ำ เป็นกิจกรรมหนึ่งในการฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ
ผู้ต้องขังได้รับการฝึกให้ทำอาหารหลากหลายเพื่อสามารถออกไปประกอบอาชีพได้ เช่น การทำปาท่องโก๋ ฯลฯ

“มี 2 ประเด็นที่ทฤษีอาชญาวิทยาบอกว่า ผู้กระทำผิดมักจะคิดในใจของเขาเปรียบเทียบว่ามีความทุกข์หรือมีความสุขมากกว่ากันในการก่ออาชญากรรมต่างๆ เหล่านี้ ผมว่าความสุขที่เราจัดสรรไปให้เขานั้นมันยังไม่เพียงพอ เราทำกันในเรือนจำ เฉพาะจุด เฉพาะที่ แต่ยังไม่มีกฎหมายให้ประโยชน์กับสถานประกอบการหากรับคนเหล่านี้ไปทำงาน” พ.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว

พ.ต.อ. ณรัชต์ ระบุว่า ที่ผ่านมาแม้หลายหน่วยงานจะร่วมสนับสนุนการฝึกอาชีพให้แก่ผู้ต้องขัง หรือมีกระบวนการในการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่าสังคมยังมีอคติกับผู้พ้นโทษเหล่านี้ ยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับกระแสข่าวการกระทำผิดซ้ำของอดีตผู้ต้องขังยิ่งทำให้สังคมยากที่จะยอมรับ

ความคลางแคลงใจของสังคมเป็นเรื่องธรรมดา ในทางอาชญาวิทยาทฤษฎีตรา (labeling) และทฤษฎีตราบาป (stigma) บ่งชี้ว่ามนุษย์ย่อมมีอคติต่อผู้ต้องขังพ้นโทษมาแล้ว เมื่อรู้ประวัติย่อมไม่มีใครกล้ารับเข้าทำงาน  ทำให้โอกาสการกลับเข้าสู่สังคม (reintegration) อย่างเรียบร้อยราบรื่นของบุคคลเหล่านี้นั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก และเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บีบให้ผู้พ้นโทษหลายรายหวนกลับไปทำผิดซ้ำตาม “ตรา” ที่สังคมมอบให้

ขณะเดียวกัน ปัญหากลางน้ำอย่างกระบวนการยุติธรรม จากการเน้นหนักกับโทษในเชิงจองจำ นำไปสู่ปัญหานักโทษล้นคุก โดยปัจจุบันมีสัดส่วนผู้ต้องขัง 300,000 ราย ต่อผู้คุม 10,000 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่เกินกว่าจำนวนผู้คุมที่จะดูแลได้อย่างมีคุณภาพ ส่งต่อไปถึงการแก้ไขฟื้นฟูที่ไม่ได้ผล และนำไปสู่การกระทำผิดซ้ำ

ผู้ต้องขังหญิงสาธิตการนอนในเรือนนอนในแดนหญิงของเรือนจำกลางอุดรธานี

หลายเสียงจากในวงเสวนาพยายามหาทางออกในเรื่องดังกล่าว พยายามหาต้นสายปลายเหตุ ก่อนจะจับจุดได้ว่าทุกอย่างล้วนเกิดได้จากการ “สร้างโอกาส”

  • การเปลี่ยนจากภายในคือเรื่องสำคัญ การสร้างแรงบันดาลใจ การทำให้บุคคลเหล่านี้เห็นโอกาสในชีวิตแม้จะต้องกลับไปสู่บริบทแวดล้อมเดิม ก็จะไม่หวนไปกระทำผิดซ้ำ
  • การปรับปรุงกฎหมาย ที่ลดการลงโทษเชิงจองจำลงเพื่อแก้ปัญหานักโทษล้นคุก โดยเฉพาะกฎหมายยาเสพติด ที่มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ที่ประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2560 เช่น แก้ไขเกี่ยวกับปริมาณการครอบครองยาเสพติดประเภทต่างๆ เพื่อจำหน่าย จากเดิมที่กำหนดว่าการครอบครองให้ถือว่ามีไว้เพื่อจำหน่ายแน่นอน แต่ร่างฉบับนี้แก้ไขให้สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อครองครองไว้ก่อน โดยการ “สันนิษฐาน” นี้จะช่วยให้ทั้งพนักงานสอบสวนและผู้พิพากษาได้ใช้ดุลพินิจคำนึงถึงเจตนาอันแท้จริง ทำให้การพิจารณาความผิดและตัดสินโทษของผู้ต้องหาคดียาเสพติดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • การประคับประคองจากหน่วยงานรัฐทั้งตัวกรมราชทัณฑ์เอง และหน่วยงานอื่นที่รับช่วงต่อหลังจากผู้ต้องขังก้าวพ้นประตูเรือนจำ ในการติดตามปัญหา แนวคิดในการจัดตั้งบ้านกึ่งวิถี หรือการทำ hotline intervention ที่ถอดบทเรียนจากการให้คำแนะนำปัญหาแก่วัยรุ่นป้องกันสภาวะท้องไม่พร้อม เพื่อให้ผู้พ้นโทษที่กำลังเผชิญภาวะกดดันได้คิดได้ตรอง ก่อนที่เขาจะคิดทำอะไรเพราะความหิว เพราะความอยาก หรือเพราะความขาดโอกาส
  • การให้สิทธิทางภาษี หรือสิทธิอื่นๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการในการรับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน
  • หรือการใช้ชุมชนในการช่วยเหลือเยียวยา โดยทำให้การคืนสู่สังคมเป็นวาระแห่งชุมชน เป็นเรื่องของคนในชุมชนต้องมารับผิดชอบร่วมกัน เพราะเขาเหล่านี้ก่อนทำความผิดก็เป็นคนในชุมชนนั้น ซึ่งเคยมีการนำมาใช้กับใน อ.แม่สอด จ.ตาก ที่นายสามารถ ลอยฟ้า นายอำเภอในขณะนั้น ได้กำหนดตกลงร่วมกันกับประชาชนในอำเภอร่วมกันว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หลังจากนั้นมีการทำประชาคมร่วมกันของชาวบ้าน ถ้าใครยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดจะมีการตักเตือน ถ้ายังไม่เลิกจะมีการลงโทษทางสังคม โดยการตัดน้ำตัดไฟ และถ้ายังไม่เลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอีก จะมีการขับไล่ออกจากอำเภอ

โอกาสที่หลายคนไม่เคยรู้

หลังก้าวพ้นประตูเรือนจำ หน่วยงานภาครัฐนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือผู้พ้นโทษมีทั้งกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งสิ่งที่ผู้พ้นโทษหลายท่านอาจไม่เคยรับทราบนอกจากการได้รับการสนับสนุนค่าเดินทางกลับภูมิลำเนาในอดีต ซึ่งปัจจุบันกรมราชทัณฑ์และกรมคุมประพฤติก็มีระเบียบในการช่วยเหลือผู้ต้องขังในด้านนี้แทน แต่หากผู้พ้นโทษประสบปัญหายังสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจาก พม. ได้อยู่ และการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบการให้การสงเคราะห์อื่นๆ อีก เช่น

  • ระเบียบการให้การสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ด้วยวงเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อครอบครัว
  • ช่วยเหลือในการแสวงหาช่องทางในการได้รับสิทธิและสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนผู้สูงอายุ เพื่อเข้าถึงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนสำหรับผู้สูงอายุมาลงทุนประกอบอาชีพได้ หรือการจดทะเบียนผู้พิการ เพื่อรับเบี้ยยังชีพผู้พิการ สวัสดิการในด้านการรักษาพยาบาล และการเข้าถึงเงินทุนสำหรับประกอบอาชีพสำหรับคนพิการได้
  • ในกรณีผู้พ้นโทษเป็นผู้ติดเชื้อ HIV สามารถติดต่อขอทุนประกอบอาชีพสำหรับผู้ติดเชื้อได้ วงเงินไม่เกิน 5,000 บาทต่อครอบครัว

โอกาสสู่การเริ่มต้นใหม่

เนื่องจากปัญหาหนึ่งของผู้พ้นโทษคือการยอมรับจากสังคม “ตรา” ที่ติดตัวทำให้เมื่อบุคคลเหล่านี้พ้นโทษออกไปแล้วไม่สามารถทำอาชีพได้ง่าย แม้กว่าร้อยละ 90 คนเหล่านี้ล้วนเป็นวัยแรงงาน แนวคิดหนึ่งที่ถูกเล็งเห็นและนำมาใช้คือการพึ่งพาตัวเองในลักษณะธุรกิจส่วนตัว โดยโมเดลการทำเกษตรอินทรีย์ของเรือนจำชั่วคราวดอยราง โครงการกำลังใจในพระราชดำริฯ ร่วมกับโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการนำการปรับหลักการการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นในชาวเขา มาสู่การเตรียมพร้อมผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ

นายสุทธิศักดิ์ สินเจริญ และนายธนัญชัย สินเจริญ วงสินเจริญบราเธอร์ส เล่นดนตรีผ่านกีตาร์ฝีมือผู้พ้นโทษ

นายพิทยา จินาวัฒน์ ที่ปรึกษา สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กล่าวว่า การทำงานมีการประสานกับทางเรือนจำตั้งแต่การปรับเปลี่ยนจากโครงสร้างการใช้อำนาจการควบคุมมาเป็นลักษณะของความไว้วางใจ ซึ่งมีการดำเนินโครงการมาแล้ว 6 รุ่น แต่ยังคงต้องยอมรับว่ามีผู้กลับไปทำผิดซ้ำ แต่การช่วยเหลือยังคนเดินหน้าและมีการถอดบทเรียน ทั้งในดอยรางเอง รวมทั้งแลกเปลี่ยนบทเรียนกับตัวแบบตัวแบบหนึ่ง ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สนับสนุนมาที่เรือนจำ อ.ฝาง

ขณะที่ภาคเอกชนอย่างสมาคมการค้าส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีก็มีการเข้าไปให้ความรู้อบรมหลักสูตรการกอบธุรกิจ หรือขยับไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจและสนับสนุนไอเดียใหม่ๆ ในการสร้างอาชีพให้หลากหลายจากภาคประชาสังคม หรือกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เช่น การทำกีตาร์ หรือการฝึกทำทองที่ตลาดกำลังขาดแคลนแรงงาน

ด้านนางเนาวรัตน์ ธนะศรีสุธารัตน์ ร้านนวดลีลา จังหวัดเชียงใหม่ อดีตผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ที่ลงทุนเปิดร้านนวดแผนไทยเพื่อให้ผู้พ้นโทษหญิงที่ได้รับการฝึกอาชีพแต่สถานประกอบการไม่ยอมรับเมื่อรู้ภูมิหลังได้แสดงทักษะ ใช้ความสามารถจนเป็นที่ยอมรับจากทั้งชาวต่างชาติและในระดับประเทศ ซึ่งนางเนาวรัตน์เองก็ยอมรับเช่นกันว่ามีผู้พ้นโทษบางรายสัดส่วนประมาณร้อยละ 3 ที่หวนกลับไปทำผิดซ้ำ แต่ขณะเดียวกันหลายรายที่ได้รับโอกาสสามารถมีเงินทุนตั้งต้นชีวิต ส่งลูกหลานเรียนจนจบ มีบ้านเป็นของตัวเอง ไปจนถึงเปิดร้านของตนเองได้ แต่การประกอบธุรกิจของผู้พ้นโทษเหล่านี้ยังติดปัญหาด้านกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ที่มีบทห้ามผู้ต้องโทษประกอบธุรกิจดังกล่าว ทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนสถานประกอบการได้ เป็นการปิดโอกาสในการหวนคืนสู่สังคมของผู้พ้นโทษอีกทางหนึ่ง

[youtube https://www.youtube.com/watch?v=PaWkjDtbGxg&w=560&h=315]

ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนยังคงมีผลอย่างมากต่อโอกาสที่อดีตผู้กระทำผิดจะลุกขึ้นยืนและมีพื้นที่ในสังคมได้อีกครั้ง ความยุติธรรมเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่เพียงเรื่องของเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือตุลาการ แต่ทุกคนในสังคมมีส่วนในการสร้างความเสมอภาค โอกาส และความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม แก่ผู้อื่นได้ ผ่านการให้โอกาสจากตัวเราเอง

ข้อกำหนดกรุงเทพ

สถิติของผู้ต้องขังหญิงในรอบ 10 ปีจากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีจำนวนผู้ต้องขัง 42,772 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ซึ่งมีจำนวนผู้ต้องขัง 26,321 คน เป็นเท่าตัว นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ต้องขังหญิงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ จีน รัสเซีย และหากเทียบกับประชากร 100,000 คน ถือว่าประเทศไทยมีอัตราส่วนผู้ต้องขังหญิงเป็นอันดับ 1 ของโลก

ปัญหาที่สำคัญกว่าจำนวนของผู้ต้องขังหญิงคือการที่ผู้ต้องขังหญิงที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเหล่านี้ถูกส่งตัวเข้าคุมขังในเรือนจำ ซึ่งส่วนใหญ่ได้ออกแบบไว้สำหรับควบคุมตัวผู้ต้องขังชายเป็นหลัก หรือในสถานที่ซึ่งแม้จะกำหนดไว้ว่าเป็นสถานที่สำหรับผู้ต้องขังหญิงโดยเฉพาะ แต่ก็ไม่ได้เหมาะสมสำหรับการควบคุมตัวผู้ต้องขังหญิง เพราะไม่ได้มีการออกแบบหรือจัดให้มีสวัสดิการที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ต้องขังหญิงที่มีลักษณะเฉพาะ

“ข้อกำหนดกรุงเทพ” หรือ Bangkok Rules เป็นข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง จากการริเริ่มของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงเล็งเห็นความจำเป็นในการบริหารจัดการเรือนจำและผู้ต้องขังโดยให้ความสำคัญต่อความแตกต่างทางเพศสภาวะ จึงได้ทรงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ในการผลักดันให้มีการยกระดับมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยข้อกำหนดกรุงเทพได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 โดยถือเป็นข้อกำหนดแรกของไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

โดยปัจจุบันประเทศไทยได้มี “เรือนจำต้นแบบ” ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพรวม 10 แห่ง ได้แก่ เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ทัณฑสถานหญิงชลบุรี เรือนจำกลางสมุทรสงคราม  เรือนจำกลางเชียงราย เรือนจำอำเภอฝาง เรือนจำกลางตาก และทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก