ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > เปิดตัว Thailand’s Sustainable Business Guide (ตอน 1) “คู่มือ” แนวปฏิบัติใหม่ธุรกิจ “อะไร-ทำไม-อย่างไร” ถึงยั่งยืน

เปิดตัว Thailand’s Sustainable Business Guide (ตอน 1) “คู่มือ” แนวปฏิบัติใหม่ธุรกิจ “อะไร-ทำไม-อย่างไร” ถึงยั่งยืน

26 มกราคม 2018


ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักพิมพ์ EDM ในการจัดทำThailand’s Sustainable Business Guide จากซ้ายไปขวา นิโคลัส กรอซแมน, ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล, รศ. ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร

ธุรกิจเป็นกลุ่มที่ก่อปัญหาและมีพลังในเวลาเดียวกัน และนี่เป็นเหตุผลให้เราเลือกที่จะสื่อสารเรื่องความยั่งยืนกับกลุ่มนี้

“Thailand’s Sustainable Business Guide: How to Future Proof Business in the Name of Better World” เป็นหนังสือภาษาอังกฤษขนาด 235 มม. x195 มม. จำนวน 344 หน้า หนังสือในลำดับที่ 3 ของซีรีย์ “ความยั่งยืน” โดยมูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักพิมพ์ Edition Digier Millet (EDM)  ซึ่งเพิ่งมีงานแถลงข่าวเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2560 ที่โรงแรมดุสิตธานี นับจากหนังสือลำดับแรก “Thailand’s Sustainable Development Sourcebook – Issue& Information,Ideas & Inspiration” และลำดับที่ 2 “A Call to Action -Thailand and Sustainable Development Goals” ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้อ่าน

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนาและประธานคณะที่ปรึกษาในการจัดทำหนังสือ Thailand’s Sustainable Business Guide: How to Future Proof Business in the Name of Better World กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นการเผยแพร่แนวคิดและให้แนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนกับกลุ่มองค์กรธุรกิจเอกชน โดยเป็นหนังสือฉบับที่ 3 ในซีรีย์ “ความยั่งยืน” ซึ่งมูลนิธิมั่นพัฒนาจัดทำ เราหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นทั้งแรงจูงใจ (motivation) และเป็นแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจที่จะนำแนวทางความยั่งยืนไปปฏิบัติงานในองค์กรรู้ว่าต้องทำอย่างไร (How-to)

สำหรับความยั่งยืนสำหรับธุรกิจนั้นเป็นปัจจัยที่เกิดจากทั้งภายนอกและภายใน ปัจจัยภายนอกเกิดจากความรู้สึกร่วมกันของชาวโลกที่มีต่อปัญหาที่คิดว่าความยั่งยืนจะตอบโจทย์จนเมื่อปี 2015 มีการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ 17 เป้าหมายเพื่อเป็นทิศทางในการพัฒนาโลกจากนี้ โดยตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุเป้าหมายร่วมกันให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 15 ปีจากนี้ ขณะที่ปัจจัยภายในจะเกิดจากแบบตัวอย่างและกรณีศึกษาขององค์กรอื่นที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจ ว่าจะทำอย่างไรในการนำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนไปดำเนินการในองค์กร

ในหนังสือ Thailand’s Sustainable Business Guide ประกอบไปด้วย  3 ส่วน ส่วนแรกเป็นสถานการณ์ธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะที่ส่วนที่ 2 เป็นเครื่องมือที่จะสามารถนำไปใช้ในการดำเนินการตามแนวทางธุรกิจที่ยั่งยืน และส่วนที่ 3 ทางออกของธุรกิจในเซกเตอร์ต่างๆ

“ธุรกิจเป็นกลุ่มที่ก่อปัญหาและมีพลังในเวลาเดียวกัน และนี่เป็นเหตุผลให้เราเลือกที่จะสื่อสารเรื่องความยั่งยืนกับธุรกิจ แต่การที่เราออกหนังสือเรื่องนี้ก็เป็นข้อมูลสาธารณะ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ควรจะเป็นเพราะเวลาพูดถึงธุรกิจยุคนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้น แต่ในโลกยุคใหม่ธุรกิจประกอบไปด้วยผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งการรับรู้และการทำความเข้าใจข้อมูลนี้ทุกภาคส่วนจึงเป็นเรื่องสำคัญ” ดร.ประสารกล่าว

บรรยากาศงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือลำดับที่ 3 ในซีรีย์ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” Thailand’s Sustainable Business Guide โดย มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักพิมพ์ EDM

เราได้ยินบ่อยจากธุรกิจว่าเขามีแรงกดดันให้ต้องดำเนินการเรื่องธุรกิจที่ยั่งยืน… แต่เขาไม่รู้ว่าเขาจะเริ่มต้นอย่างไร หนังสือเล่มนี้จะมีคำตอบ

ด้าน รศ. ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร รองคณบดีงานวิจัย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้แตกต่างจากคู่มือธุรกิจที่มีในตลาด เพราะประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นเป็นเรื่องใหม่ที่อาจจะยังไม่มีการบอกแนวทางและวิธีการที่ชัดเจนของธุรกิจ ที่ผ่านมากระทั่งการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ก็มีแต่การกำหนดเป้าหมายแต่ก็ยังไม่ได้บอกวิธีการในการไปถึงเป้าหมายความยั่งยืน นอกจากนี้เมื่อดูมุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาพรวมก็ยังไม่มีแนวทางไหนแนวทางหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับ

แต่หากกลับมามองในประเทศไทย เราค่อนข้างมีความก้าวหน้าเรื่องนี้ไปมากกว่า โดยเฉพาะความตื่นตัวของธุรกิจไทยหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่นำเอาแนวทางตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในองค์กร ทั้งนี้ ไม่ว่าจะนำมาใช้โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เช่น ชีวาศรม การดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืนที่ผ่านมาก็มีการประยุกต์ใช้แนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยไม่รู้ตัว นั่นทำให้องค์กรธุรกิจในไทยอาจจะไม่ค่อยเสียหายมากในทศวรรษที่ผ่านมา

จากกรณีศึกษากว่า 57 องค์กรในหนังสือ มีข้อค้นพบที่สำคัญหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นที่คนมักพูดกันมากว่าการลงทุนในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นต้นทุน แต่ในกรณีศึกษาที่รวบรวมมาจากทั้งองค์กรไทยและต่างประเทศนั้นจะเห็นว่าเกิด “คุณค่าระยะยาว” อย่างชัดเจนในองค์กร นอกจากนี้ แนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทย ยังมีลักษณะเฉพาะ เช่น แนวทางในการพัฒนาคน (human development) ซึ่งแตกต่างจากกระแสหลัก อย่างในเรื่องการที่จะไม่ยอมปลดคนออก หรือเรื่องวัฒนธรรมองค์กร (organization culture) ที่เป็นประเด็นที่ธุรกิจไทยไม่ค่อยตระหนักมากนัก เราพบว่าความยั่งยืนขององค์กรมักจะเริ่มจากคุณค่าหลัก (core value) ที่ดีขององค์กร ซึ่งเริ่มต้นจากผู้ก่อตั้ง (founder) และสืบทอดวิสัยทัศน์มาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นต้น

“คำถามที่นักธุรกิจชอบถามมากว่าเขามีแรงกดดัน อย่างการมีข้อกำหนดจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เขามีแรงกดดันจากคู่ค้าในต่างประเทศ ไม่ว่าจะยุโรป อเมริกาใต้ ฯลฯ ที่ต้องมีมาตรฐานความยั่งยืน ปัญหาคือเขาต้องทำแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ซี่งในหนังสือเล่มนี้จะมีคำตอบ” ดร.สุขสรรค์กล่าว

ประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมธุรกิจ…มีความจริงใจที่จะทำจากการที่มีพื้นฐานแล้วจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9

ด้าน “นิโคลัส กรอซแมน” บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ Edition Digier Millet (EDM)กล่าวว่า จากกรณีศึกษาในหนังสือขององค์กรธุรกิจไทย  กล่าวถึงข้อค้นพบสำหรับธุรกิจว่า ประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะในเรื่องวัฒนธรรมธุรกิจ และเขาเชื่อว่าประเทศไทยมีความจริงใจในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะมีพื้นฐานแล้วจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงมีความเข้าใจได้ที่จะทำให้ธุรกิจเห็นความสำคัญได้มากขึ้นด้วย

มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับความท้าทายในเรื่องการทำประมงที่ไม่ยั่งยืนในประเทศไทยซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญ แต่มีธุรกิจเพื่อสังคมรายหนึ่งที่ชื่อ Fisherfolk ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านในการทำประมงที่ยั่งยืน วิถีของการจับปลาแบบพื้นบ้านและมีการเชื่อมโยงโดยตรงกับกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจท่ามกลางความท้าทายเรื่องนี้ในประเทศไทย

สำหรับหนังสือ Thailand’s Sustainable Business Guide: How to Future Proof Business in the Name of Better World เป็นการถอดบทเรียนจากองค์กรธุรกิจทั้งต่างประเทศและไทยกว่า 57 องค์กร เช่น  อินเตอร์เฟซ, อิเกีย, ยูนิลีเวอร์, เอสซีจี, บางจาก คอร์ปอเรชั่น, ชีวาศรม, ธนาคารกสิกรไทย, กาแฟอาข่า อ่ามา, ร้านคนจับปลา Fisherfolk, ซิลิคอน คราฟท์ ฯลฯ เพื่อค้นหาแนวทางที่จะเป็นเหมือน “คู่มือ” ในการสร้างความเข้าใจถึงหลักการและแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนที่สำคัญให้กับองค์กรธุรกิจ เพื่อให้องค์กรธุรกิจนำไปใช้ในธุรกิจของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ มีเนื้อหาสำคัญที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 ภาพรวมของธุรกิจกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และความเข้าใจอย่างถูกต้องถึงการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในธุรกิจ ส่วนที่ 2 ให้ความสำคัญในเรื่องการนำเรื่องความยั่งยืนไปประยุกต์ใช้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของหนังสือประเภทธุรกิจที่มีการยกตัวอย่างและกรณีศึกษาในการนำส่วนต่างๆ ไปใช้ในส่วนงานต่างๆ ของธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กลยุทธ์ความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและการเป็นผู้นำที่ยั่งยืน การบริหารจัดการความเสี่ยง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรมองค์กร การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน การเปิดเผยรายงาน เป็นต้น ส่วนสุดท้าย จะชี้ให้เห็นแนวทางในการนำแนวคิดดังกล่าวไปแก้ปัญหาความท้าทายของธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจการเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม ประมง พลังงาน ค้าปลีก สุขภาพ ฯลฯ

ดูรายละเอียดและตัวอย่างหนังสือโดยเลื่อนลงด้านล่าง