ThaiPublica > เกาะกระแส > ย้อนประวัติศาสตร์กติกาเลือกตั้งไทย ลองผิด-ลองถูก 27 ครั้ง สู่ระบบ”จัดสรรปันส่วนผสม” ทางออกการเมืองหลังรัฐประหาร

ย้อนประวัติศาสตร์กติกาเลือกตั้งไทย ลองผิด-ลองถูก 27 ครั้ง สู่ระบบ”จัดสรรปันส่วนผสม” ทางออกการเมืองหลังรัฐประหาร

15 มกราคม 2018


ปี 2561 ถูกมองว่าเป็นปีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้งของชาวไทย นั่นคือ การหวนกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ผ่านการเลือกตั้งครั้งแรกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ถูกคาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้

การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ กติกาทางการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะวิธีการเลือกตั้ง ได้เปลี่ยนแปลงไปจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาเกือบทั้งหมด

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บัญญัติให้การเลือกตั้ง ใช้ระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” โดยมีจำนวน ส.ส. 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต (เขตเดียวเบอร์เดียว) 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน

โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้บัตรลงคะแนนเพียงใบเดียว สำหรับเลือกได้เพียง ส.ส. เขตเท่านั้น แต่นำคะแนนในระบบเขตไปคำนวณเพื่อกำหนดที่นั่ง ส.ส. ทั้งหมดของแต่ละพรรคและกำหนดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

การเลือกตั้งด้วยวิธีนี้นำไปสู่ข้อกังวลถึงความยุ่งยากในการนับคะแนน รวมถึงประชาชนจะเกิดความสับสน อีกทั้งยังไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.เขตมากเท่าใด จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยขึ้นเท่านั้น

โดยพรรคการเมืองที่จะได้รับประโยชน์จากวิธีการเลือกตั้งเช่นนี้คือพรรคขนาดกลาง ส่วนพรรคขนาดใหญ่จะมีที่นั่งลดลง ขณะที่พรรคขนาดเล็กนั้นจะไม่มีเก้าอี้ที่เพิ่มขึ้นจากบัญชีรายชื่อ

หากย้อนดูประวัติศาสตร์กติกาการเลือกตั้งของไทยทั้ง 27 ครั้งที่ผ่านมา จะพบว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นได้ผ่านการทดลองหลากหลายวิธี

การเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ปี 2476 ใช้วิธีเลือกตั้ง “ทางอ้อม” โดยกำหนดให้กรมการอำเภอดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนตำบลขึ้นทั่วประเทศ ก่อนที่จะให้ผู้แทนตำบลไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย

ต่อมาในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ของไทย วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 ได้เปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งทางตรง แบบ “แบ่งเขต” คือ ประชาชนเป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในเขตของตนเองโดยตรง โดยเกณฑ์จำนวน ส.ส. 1 คน ต่อ ประชากรจำนวน 100,000 คน โดยใช้วิธีนี้จัดการเลือกตั้งรวม 4 ครั้ง

จนถึงการเลือกตั้งในวันที่ 29 มกราคม ปี 2491 การเลือกตั้งจึงเปลี่ยนไปเป็นแบบ “รวมเขต” หรือ “รวมเขตเรียงเบอร์” โดยถือเอาจังหวัดหนึ่งเป็นเขตการเลือกตั้งหนึ่ง ซึ่งจำนวนผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัดจะยึดจากจำนวนประชากรในจังหวัด 200,000 คน ต่อ 1 ผู้แทนราษฎร

ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นวิธีเลือกตั้งแบบ “แบ่งเขตเรียงเบอร์” ในการเลือกตั้งวันที่ 26 มกราคม ปี 2518 ซึ่งก็คือ การเลือกตั้งทางตรง โดยจำนวนผู้แทนราษฎร 1 คนต่อจำนวนประชากร 150,000 คน ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ความวุ่นวาย “ตุลาฯ 16” โดยการแข่งขันทางการเมืองมีความคึกคักมากกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากมีการตราพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 ขึ้น และกำหนดให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค ทำให้มีพรรคการเมืองยื่นขอจดทะเบียนพรรคเป็นจำนวนมาก

จนถึงการเลือกตั้งครั้งที่ 14 ในวันที่ 22 เมษายน ปี 2522 ได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการ “รวมเขตเรียงเบอร์” โดยกำหนดให้แต่ละเขตมีผู้แทนได้ไม่เกินเขตละ 3 คนโดยจำนวนผู้แทนในแต่ละเขตให้ถือเอาจำนวนประชากร 150,000 คนต่อสัดส่วนผู้แทนราษฎร 1 คน

จากนั้นการเลือกตั้งครั้งที่ 18 ในวันที่ 22 มีนาคม 2535 ได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ที่กำหนดให้มีจำนวน ส.ส. 360 คน เท่ากับประชากรในขณะนั้นประมาณ 150,000 คนต่อ ส.ส. 1 คน โดยใช้วิธีการ “เลือกตั้งโดยตรงแบบผสม” เขตละไม่เกิน 3 คน จนกระทั่งการเลือกตั้งครั้งที่ 20 ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2538 ได้แก้ไขให้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส. จากเดิมที่กำหนดไว้ตายตัว 360 คน เป็นจำนวน ส.ส. 1 คน ต่อประชากร 150,000 คน ทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นมี ส.ส. จำนวน 391 คน

และเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 22 ของไทย อีกทั้งยังเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ด้วยวิธีการเลือกตั้งแบบผสม โดยเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (one man one vote) จำนวน 400 คน และ ส.ส. จากบัญชีรายชื่อ (party lists) 100 คน ซึ่งมีเขตเลือกตั้งคือเขตประเทศ เสมือนว่าการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อคือการเลือกพรรคที่ชอบ โดยพรรคการเมืองนั้นๆ จะจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ โดยจัดเรียงตามลำดับความสำคัญ

การเลือกตั้งปี 2544 มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครมากเป็นประวัติการณ์ โดยมีผู้สมัครถึง 3,722 คน แบ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต 2,782 คน ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 940 คน จากทั้งหมด 43 พรรคการเมือง โดยพรรคไทยรักไทย นำโดยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นพรรคที่ได้ที่นั่งมากที่สุด 247 ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับอีก 3 พรรค มีเสียงในสภารวม 367 เสียง ขณะที่พรรคฝ่ายค้านมีเสียงเพียง 163 เสียง

ด้วยเสียงในสภาจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลชุดนี้มีเสถียรภาพและมีความเข้มแข็ง ท่ามกลางการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสามารถบริหารงานได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนเป็นรัฐบาลชุดแรกที่สามารถอยู่จนครบวาระ 4 ปี

แต่กระนั้น ผลการเลือกตั้งในปี 2548 พรรคไทยรักไทยก็ยังคงคว้าชัยในสนามเลือกตั้งได้ถึง 377 ที่นั่ง กลายเป็นรัฐบาลพรรคเดียว ส่งให้พรรคการเมืองอื่นกลายเป็นฝ่ายค้านทันที ทั้งนี้ แม้พรรคไทยรักไทยจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว แต่บริหารประเทศได้เพียง 11 เดือน ผู้นำรัฐนาวาในขณะนั้นได้ประกาศยุบสภา หลังจากไม่อาจฟันฝ่ากระแสต้านถึงปมปัญหาการคอร์รัปชันเชิงนโยบายและผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ ที่สะสมมานานตั้งแต่ “รัฐบาลทักษิณ 1” ได้

ผลของการยุบสภาในครั้งนั้น นำไปสู่การจัดการเลือกตั้งครั้งที่ 24 ในวันที่ 2 เมษายน ปี 2549 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ทุกพรรคการเมืองยกเว้นพรรคไทยรักไทยประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้งโดยไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกิดขึ้นหลายประเด็น เช่น ผู้สมัครหลายเขตได้คะแนนน้อยกว่าคะแนนโนโหวต กกต.เขตในบางจังหวัด ประกาศลาออก ทำให้บางเขตเลือกตั้งไม่สามารถเปิดทำการหน่วยเลือกตั้งได้ รวมทั้งมีผู้ฉีกบัตรเพื่อประท้วงการเลือกตั้งครั้งนี้

ทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้เพิกถอนการเลือกตั้ง และให้จัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 แต่ในที่สุดเส้นทางการเลือกตั้งที่ถูกกำหนดไว้ได้สะดุดลงหลังจากเกิดรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549

การเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบการเลือกตั้งมาเพื่อแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้น คือ ความได้เปรียบของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เช่น การกำหนดให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนบัญชีรายชื่อไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว เพื่อไม่ให้พรรครัฐบาลเข้มแข็งเกินกว่าที่ควรจะเป็น ขณะเดียวกันกลับมีฝ่ายค้านอ่อนแอ ไม่อาจสู้เสียงในสภาได้จนกระทบต่อการถ่วงดุลในการตรวจสอบรัฐบาล

วิธีการเลือกตั้งครั้งนี้จึงกำหนดให้จัดการเลือกตั้งแบบเขตเดียวหลายคน จำนวน 400 คน และเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยกำหนดกลุ่มจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งจำนวน 8 กลุ่มจังหวัด แต่ละกลุ่มมี ส.ส. 10 คน รวม ส.ส.สัดส่วนทั้งหมด 80คน

แม้วิธีการเลือกตั้งจะปรับเปลี่ยนไป แต่กระนั้น พรรคพลังประชาชน ที่สืบทอดเจตนารมณ์การเมืองมาจากพรรคไทยรักไทย ก็ยังคงคว้าชัยชนะการเลือกตั้งสนามนี้เอาไว้ได้ โดยได้ที่นั่ง 233 ที่นั่ง เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลในที่สุด แต่รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช มีอายุได้เพียง 7 เดือน นายสมัครต้องสิ้นสภาพจากความเป็นนายกรัฐมนตรีตามการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เก้าอี้นายกรัฐมนตรีจึงตกเป็นของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ด้วยระยะเวลาเพียง 2 เดือน พรรคพลังประชาชนก็ถูกยุบพรรค ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน สภาผู้แทนราษฎร จึงต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้งท่ามกลางการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

การเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม ปี 2554 แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา หลังจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง โดยกำหนดให้มี ส.ส. จำนวน 500 คน มากกว่าครั้งก่อน 20 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต (เขตเล็ก) 375 คน จากเดิมเขตละไม่เกิน 3 คน และเปลี่ยน ส.ส.ระบบสัดส่วนเป็นระบบบัญชีรายชื่อ โดยเอาประเทศไทยเป็นเขตเลือกตั้ง 125 คน ผลปรากฏว่า พรรคพลังประชาชนได้ที่นั่งถึง 265 คน

สำหรับการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ถูกจัดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ซึ่งถูกจารึกไว้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ปั่นป่วนที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จนทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็น “โมฆะ” ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เส้นทางการเลือกตั้งของไทย ผ่านการลองผิด-ลองถูกมาแล้วหลายครั้ง และการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้นจะกลายเป็นบทพิสูจน์ว่า ระบบจัดสรรปันส่วนผสม จะตอบโจทย์การปฏิรูปพาประเทศก้าวพ้นวังวนปัญหาอย่างที่หวังได้หรือไม่