ThaiPublica > เกาะกระแส > “Powering Progress Together” ทิศทาง แนวโน้ม การขับเคลื่อน และนวัตกรรมของโลกอนาคต

“Powering Progress Together” ทิศทาง แนวโน้ม การขับเคลื่อน และนวัตกรรมของโลกอนาคต

29 มกราคม 2018


เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด จัดงานสัมมนาในโอกาสครบรอบ 125 ปี หัวข้อ “Powering Progress Together” โดยมีผู้เชี่ยวชาญและผู้นำความคิดด้านต่างๆ มาให้ความรู้และทรรศนะในมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสำคัญ ทิศทาง แนวโน้มของพลังงาน การขับเคลื่อน และนวัตกรรมของโลกอนาคต

“แมชชีนเลิร์นนิง” นวัตกรรมเปลี่ยนโลก

ไมเคิล จิตติวาณิชย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดด้านธุรกิจ Google Thailand

ไมเคิล จิตติวาณิชย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดด้านธุรกิจ Google Thailand กล่าวถึงนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อชีวิตประจำวันว่า “ผมอยู่กูเกิลมา 5 ปี มีคำถามบ่อยมากว่าอนาคตจะเป็นยังไง โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งเป็นอะไรที่เดายากมาก แต่ที่รู้คือเทรนด์ที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่กำลังมา เราจะดูเทรนด์ยังไง และมีอะไรที่สำคัญบ้าง ซึ่งเวลาพูดเรื่องเทรนด์ด้านเทคโนโลยี ผมมักเปรียบเปรยกับ “คลื่น” เสมอ”

เพราะคลื่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่มีใครสร้างคลื่นขึ้นมาได้ เทรนด์ก็เหมือนกัน ไม่มีใครหรือองค์กรใดสร้างคลื่นขึ้นมา แต่มันต้องเกิดด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ความพร้อมของสังคม เทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ทุกอย่างประมวลขึ้นมาแล้วทำให้เกิดคลื่นขึ้นมาได้

ทั้งนี้ คลื่นมีหลากหลายมากมากมาย ทั้งคลื่นเล็ก คลื่นใหญ่ คลื่นสั้น คลื่นยาว แต่วันนี้ผมอยากจะคุยถึง “คลื่นสึนามิ” คลื่นที่ใหญ่มากๆ ซึ่ง 10 ปีจะมีสักครั้งหนึ่ง แล้วเป็นคลื่นใหญ่ที่เป็นพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลง คลื่นนี้มาแล้วจะเปลี่ยนโลกทั้งโลก

ย้อนกลับไป 20-30 ปีที่แล้ว คลื่นลูกนั้นคือการมี “คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล” (personal computer) ทำให้เพิ่ม productivity ได้อย่างรวดเร็ว มีบริษัทใหญ่ๆ มีเซอร์วิสใหญ่ๆ เกิดขึ้นมาเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว

ต่อมา 10-20 ปีที่แล้ว เกิดคลื่นสึนามิลูกที่สอง คือ “อินเทอร์เน็ต” กูเกิลก็เกิดมาในช่วงยุคอินเทอร์เน็ต คนสามารถเข้าถึงข้อมูลถึงกันได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เปลี่ยนชีวิตเราในคลื่นลูกนี้

ส่วน 10 ปีที่ผ่านมาเกิดคลื่นสึนามิที่เรียกว่า “สมาร์ทโฟน” คลื่นลูกนี้เปลี่ยนชีวิตไปอย่างชัดเจน ขณะนี้อยู่ในช่วงพีคของคลื่น มีเซอร์วิสใหม่ มีบริษัทใหม่ มีเทคโนโลยีใหม่ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นใน 10 ปีที่ผ่านมา เพราะทุกคนมีสมาร์ทโฟนอยู่บนมือ

แต่หากมองไปในอนาคต อะไรคือคลื่นสึนามิที่จะเปลี่ยนโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า ก่อนหน้านี้ปี 2016 มีการแข่ง “โกะ” คือหมากกระดานที่คนจีน คนญี่ปุ่น คนเกาหลี เล่นกัน ในปีนั้น “อัลฟาโกะ” (AlphaGo) ซึ่งเป็นระบบแมชชีนเลิร์นนิงเอไอ (machine learning artificial intelligence) ของกูเกิล แข่งชนะแชมป์โกะซึ่งเป็นคนจากประเทศเกาหลี

อีกหนึ่งปีต่อมา อัลฟาโกะชนะแชมป์โลกอันดับหนึ่งชาวจีน การที่คอมพิวเตอร์ชนะคนได้ คนในวงการคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่มันเกิดขึ้นได้แล้ว เพราะแมชชีนเลิร์นนิงและเอไอ

กลางปีที่แล้ว Sundar Pichai ซีอีโอกูเกิล ประกาศยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนไป 5 ปีที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์คือโมบายเฟิสต์ (mobile first) เพราะต้องเกาะคลื่นลูกที่แล้ว แต่ตอนนี้เราเปลี่ยนยุทธศาสตร์จะเป็น “เอไอเฟิสต์” เพราะเราจะต้องเกาะคลื่นสึนามิลูกต่อไป

เอไอเฟิสต์ไม่ได้หมายความว่ากูเกิลจะสร้างเอไอขึ้นมา แต่เวลาจะทำอะไรขึ้นมา ต้องมีความคิดเรื่องเอไอไปบวกด้วยเสมอ ซึ่งเอไอแมชชีนเลิร์นนิงเป็นพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมต่างๆ ทางเทคโนโลยีที่เกิดในชีวิตเราในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยจะสร้างบนพื้นฐานของเอไอเป็นหลัก

แต่สิ่งที่เราจะพูดถึงกันมากใน 10 ปีข้างหน้าคือ “แมชชีนเลิร์นนิง” เป็นหนึ่งในแขนงของเอไอที่คอมพิวเตอร์จะเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง แมชชีนเลิร์นนิงคือการให้ข้อมูลเข้าไปเยอะๆ แล้วให้เขาไปเรียนรู้รูปแบบด้วยตัวเอง ปรับปรุงเรียนรู้ด้วยตัวเอง

สำหรับคอนเซปต์การทำงานของแมชชีนเลิร์นนิง มันจะเปลี่ยนวิธีทำให้คอมพิวเตอร์คิดคล้ายกับสมองคนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนเข้าใจผิดกันมากคือเอไอจะกลายเป็นเหมือนคน คิดได้ทุกอย่าง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่

สิ่งที่แมชชีนเลิร์นนิงทำคือ มันจะทำได้แค่อย่างเดียวได้ดีมากๆ แต่จะทำอย่างอื่นไม่เป็นเลย เช่น มันจะเล่นโกะเป็น แต่ทำอย่างอื่นไม่เป็น มันจะบอกได้ว่ารูปไหนเป็นรูปหมาหรือรูปแมว แต่มันจะบอกอย่างอื่นไม่เป็นเลย มันจะทำอย่างเดียวได้ดีมากที่เกี่ยวกับการดูรูปแบบ

ปัจจุบันกูเกิลใช้แมชชีนเลิร์นนิงกับหลายผลิตภัณฑ์แล้ว เวลาเราบอกว่าเอไอเฟิสต์ หมายความว่าทุกผลิตภัณฑ์ที่กูเกิลใช้อยู่เราจะเอาแมชชีนเลิร์นนิงไปใส่ทำให้มันฉลาดมากขึ้น เช่น ยูทูบเราแนะนำวิดีโอถัดไปให้ดีขึ้นโดยนำแมชชีนเลิร์นนิงมาช่วย

ดังนั้น แมชชีนเลิร์นนิงจะเป็นนวัตกรรมสำคัญที่จะเปลี่ยนโลก แต่สิ่งที่ผมอยากฝากไว้ก็คือ แมชชีนเลิร์นนิงจะเป็นคลื่นสึนามิลูกต่อไปในอีก 10 ปีข้างหน้าของการเปลี่ยนแปลง มันจะเปิดโอกาสมากมายในทุกอุตสาหกรรมที่ดึงมันไปใช้ อยากให้ท่านลองไปศึกษาดูว่าเราจะใช้ประโยชน์จากแมชชีนเลิร์นนิงเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม พัฒนาสังคมให้สังคมดีขึ้นได้อย่างไร

“Internet of Everything”

เรืองโรจน์ พูนผล ผู้บุกเบิกสตาร์ทอัปประเทศไทย

เรืองโรจน์ พูนผล ผู้บุกเบิกสตาร์ทอัปประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันทุกคนบอกว่าเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก แต่จริงๆ แล้วยังอยู่แค่จุดหักศอกของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเท่านั้น

และในอนาคตจะไม่ใช่แค่ internet of thing แต่มันคือ “internet of everything” มนุษย์จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเน็ตเวิร์ก ซึ่งเน็ตเวิร์กนั้นมีความอัจฉริยะเป็น AI power network

เราจะอยู่ในยุคที่รถยนต์ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองไม่ต้องมีคนขับ เหมือนเป็นสมาร์ทโฟนที่มีล้อ เราจะอยู่ในยุคที่ผนังหรือเพดานบ้านทั้งหมดเป็นโซลาร์เซลล์ชาร์จไฟได้ หรือเราอยู่ในยุคที่หากเกษตรกรรู้จักใช้เทคโนโลยี คุณจะเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์อย่างแท้จริง ฯลฯ

ในอีก 10 ปีข้างหน้า หากใครยังมีชีวิตอยู่ แล้วมองย้อนกลับมา โลกจะเปลี่ยนไปอย่างมหาศาลมากกว่าที่เคยเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่มนุษย์ออกจากถ้ำเสียอีก ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีเดียว แต่มันจะเกิด “คอนเวอร์เจนซ์” (convergence) ของหลายๆ เทคโนโลยีขึ้นมา ที่สำคัญ เทคโนโลยีจะมอบอำนาจให้คนมหาศาล คุณหลีกเลี่ยงเทคโนโลยีไม่ได้

นอกจากนี้ เทคโนโลยีได้เข้าไปดิสรัปต์ (disrupt) อุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างรวดเร็ว เช่น Airbnb ปัจจุบันมีมูลค่า 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเชนโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดที่ไม่มีห้องของตัวเองเลย เป็นธุรกิจในยุคดิจิทัลดิสรัปชัน (digital disruption) ที่เรียกว่า “ดิจิทัลแฟลตฟอร์ม” ไม่ต้องมีทรัพย์สิน

ดังนั้น ในวันนี้เราอยู่ในจุดหักศอกของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และจุดหักศอกของการเปลี่ยนแปลงของโอกาส อยู่ที่ว่าใครจะคว้าโอกาสนั้นได้ เพราะเทคโนโลยีเปิดโอกาสให้คุณอย่างมหาศาลในต้นทุนที่ถูก

ที่สำคัญ คุณต้องมีการก้าวกระโดดทางศรัทธา มีการก้าวกระโดดทางความกล้า และมีการก้าวกระโดดทางการกระทำ

ต้องคิด “นวัตกรรม” ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อบ้านและเมืองว่า นวัตกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยและเมืองในประเทศไทยมี 2 เรื่องหลักคือ “แพลตฟอร์ม” กับ “โลเคชัน”

เพราะความต้องการพื้นฐานของคนจากอดีตถึงปัจจุบันแทบไม่ได้เปลี่ยนไป แต่เป็นการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ เปลี่ยนมุมมองใหม่ เพราะฉะนั้นดิสรัปชันที่เกิดขึ้นในหลายธุรกิจ จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีใหม่ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำธุรกิจ เช่นเดียวกับธุรกิจอสังหาฯ

และที่เปลี่ยนไปมากคือแพลตฟอร์ม ธุรกิจแต่เดิมเรามีผู้ผลิต ออกแบบ หาลูกค้า แล้วก็ขาย มีผู้คุมกฎ เกิดข้อจำกัด ขยายตัวไม่ได้ แต่วันนี้เป็นแพลตฟอร์มเหมือนกูเกิล, ไมโครซอฟต์, อาลีบาบา, อีเบย์ ที่เหมือนตลาดนัดเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ผู้ซื้อ ให้เกิดการเชื่อมโยงกันง่ายขึ้น

ดังนั้นหัวใจสำคัญของปัจจุบันและอนาคต คือคำว่า search cost คือการค้นหา ค้นหาลูกค้า ค้นหาผู้ผลิตที่เหมาะสม ค้นหาองค์ความรู้ใหม่ๆ แพลตฟอร์มทำให้เราลด search cost ลงได้ อย่าง Airbnb ไม่ได้สร้างโรงแรมใหม่ แต่เขาทำให้ผู้ให้เช่าห้องกับผู้ต้องการเช่าห้องเจอกันได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ฉะนั้น ปัจจุบันแพลตฟอร์มคือตัวที่เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ

ก่อนหน้านี้ธุรกิจอสังหาฯ โฆษณาผ่านป้าย ผ่านหนังสือพิมพ์ แต่วันนี้ทุกโครงการเราอยู่บนแพลตฟอร์ม มีข้อมูลอยู่บนแพลตฟอร์ม ไม่ต้องขออนุญาตป้าย ไม่ต้องเสียภาษีป้าย ไม่ต้องเช่าป้าย ขึ้นบนอินเทอร์เน็ต ง่ายและสะดวกกว่ามาก

ดังนั้น ทุกธุรกิจในปัจจุบันถูกดิสรัปต์ด้วยแพลตฟอร์ม อสังหาฯ ก็ไม่แตกต่างกัน ขณะที่ผู้บริโภคก็หันมาใช้แพลตฟอร์มมากขึ้น

ผมคิดว่าในระยะยาว พลังของแพลตฟอร์มจะช่วยเรื่องคุณภาพของสินค้า ในธุรกิจอสังหาฯ และทุกธุรกิจต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพสินค้ามากขึ้น พลังของแพลตฟอร์มจะทำให้คุณภาพคือหัวใจของธุรกิจ

ทุกวันนี้ลูกค้าซื้อบ้านไม่ได้มาถามเรา เขาถามพันทิป เข้ากูเกิล สื่อสารว่าหมู่บ้านนี้ดีหรือเปล่า ลูกค้าไม่เชื่อบริษัท ลูกค้าเชื่อ peer to peer

ในส่วนที่สองเกี่ยวกับอสังหาฯ ที่เป็นนวัตกรรมดิสรัปต์ก็คือโลเคชัน อย่าง “นิวซีบีดี” (New Central Business District) ตรงรัชดา-พระราม 9 มีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ในอนาคตก็จะมีตึกสูงสุดในประเทศไทย มีรถไฟสายสีส้ม

ฉะนั้นคำว่าโลเคชันคือ “transportation” สิ่งที่จะดิสรัปต์อสังหาฯ หรือเมืองก็คือเรื่อง transportation อนาคตกรุงเทพฯ อีก 10 ปีข้างหน้าจะมีรถไฟฟ้า 297 สถานี 466 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้เมืองเปลี่ยน เพราะมีระบบขนส่งมวลชนที่เข้มแข็งขึ้น คนจะซื้อคอนโดฯ ก่อนซื้อรถยนต์ ธุรกิจก็จะเปลี่ยน เพราะถูกดิสรัปต์ด้วยที่อยู่อาศัยเช่นกัน คนรุ่นใหม่จะอาศัยอยู่ในคอนโดฯ มากขึ้น

แต่ราคาที่ดินจะแพงขึ้นแน่นอน ราคาที่ดินเฉลี่ย 10 ปี เพิ่ม 8% รายได้คนเพิ่ม 3% รายได้ขึ้นไม่ทันราคาที่ดินหรือราคาที่อยู่อาศัย ซึ่งก็จะเจอปัญหาคอนโดฯ ที่บีบเล็กลงไปเรื่อยๆ เช่น เรามีเงินแค่ 3 ล้านบาท ผู้ผลิตก็ต้องผลิตคอนโดฯ ที่เล็กลงเหลือ 21 ตารางเมตรตามกฎหมาย

อนาคตหากกฎหมายเปลี่ยน อาจจะเหลือ 15 ตารางเมตรก็เป็นไปได้ และหากไม่มีการควบคุมเรื่องราคา สุดท้ายคนจะถูกผลักออกไปอยู่นอกเมืองมากขึ้น และเดินทางผ่านรถไฟฟ้าที่ไกลขึ้น

ขณะที่ปัญหาของระบบรถไฟฟ้าคือเรื่องฟีดเดอร์ (feeder) ระบบฟีดเดอร์ในบ้านเราไม่ดี เราคิดแต่เส้นทางหลัก แต่ไม่ได้คิดถึงเส้นเลือดฝอยที่พาคนไปสู่โลเคชัน ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เพราะเราไม่ได้คิดนวัตกรรมให้ครบ เรามีนวัตกรรมในส่วนรถไฟฟ้าที่ดี แต่ไม่ได้คิดถึงระบบฟีดเดอร์ ไม่ได้คิดเรื่องราคาที่อยู่อาศัย ไม่ได้คิดถึงชีวิตคนในมิติอื่นที่อยู่ในสังคมด้วย

ปัญหาของประเทศไทยปัจจุบันคือเรามี “incomplete innovation” เรามีนวัตกรรมที่สมดุลในบางเรื่อง แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ถูกทิ้งในสังคม ในอนาคตผมคิดว่าคอนโดฯ จะถูกผลักออกไปนอกเมืองมากขึ้น คนรายได้น้อยจะลำบาก เพราะราคาที่ดินขึ้นมหาศาล และอาจจะใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้น

ดังนั้น นวัตกรรมที่เกิดขึ้นก็มีเรื่องที่ดี แต่ก็มีเรื่องที่เราต้องคิดในมิติอื่นๆ ด้วย นวัตกรรมต้องใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ลดความแตกต่างด้วย ไทยแลนด์ 4.0 ต้องก้าวไปด้วยกัน โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ออกแบบ “เมือง” และ “ย่าน” ที่ดี ด้วย “ข้อมูล” ที่เฉียบคม

ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC)

ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) กล่าวว่า สิ่งที่อาจารย์ชัชชาติทิ้งท้ายไว้เรื่องการสร้างdisruptionเพื่อสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่จริงๆแล้วจะบอกว่าโอกาสจากเทคโนโลยี อาจทำให้เราสามารถสร้างdisruption ให้เกิดขึ้นในเมืองโดยไม่ต้องพึ่งพารัฐบาลอย่างเดียว แต่ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สามารถทำได้ด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ พฤติกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจทำให้เรื่องบ้านเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ในอดีตบ้านในฝันจะเป็นเหมือนบ้านทรายทอง มีอาณาเขตกว้างขวาง มีพื้นที่ส่วนตัว แต่ทุกวันนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงทั้งในรูปแบบและขนาด จากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น ขนาดของครอบครัว แต่งงานน้อยลง แต่งงานแต่ไม่มีลูก รวมไปถึงทางเลือกที่อยากลดการเดินทาง

UDDC เคยทำการศึกษาว่า เวลาสูงสุดที่คนกรุงเทพฯใช้เดินทางในแต่ละวัน สูงถึง 800 ชั่วโมงต่อหนึ่งปี หรือ 1 เดือน 3 วัน ที่ท่านนั่งอยู่ในรถต่อปี เพราะฉะนั้นตอนนี้คนจำนวนมากได้เลือกละทิ้งชีวิตเดิมๆจากที่อาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวชานเมือง มีพื้นที่ส่วนตัว มีรถยนต์ มาเป็นการอยู่ในคอนโดฯใจกลางเมือง เดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้า

เมื่อเวลาคือต้นทุนที่แพงที่สุด อย่างที่ท่านอาจารย์ชัชชาติเคยพูด เราจึงยอมจ่ายเงินซื้อบ้านที่มีราคาต่อตารางเมตรสูงลิบลิ่ว เพื่อแลกกับการควบคุมเวลาในการเดินทาง และเอาเวลาที่เหลือไปใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ แทนที่จะอยู่ในรถยนต์

แต่ด้วยขนาดบ้านที่เล็กลง เราไม่สามารถทำทุกอย่างในบ้านได้ เพราะฉะนั้นในบางกิจกรรมต้องออกมาทำในพื้นที่นอกบ้าน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดแรงผลักให้เกิดพื้นที่ใหม่ในเมือง เช่น พื้นที่ที่ไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่ที่โรงเรียน ไม่ใช่ที่ทำงาน เรียกว่าที่ที่สาม หรือ “third place”

ในอดีตมีแต่ห้างสรรพสินค้า แต่วันนี้มีทางเลือกในพื้นที่เหล่านี้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ coworking space ฯลฯ เราอยู่คอนโดแต่ก็เลือกที่จะมานั่งทำงานที่ too fast to sleep ทั้งวันทั้งคืนร่วมกับคนอื่นๆ พื้นที่เหล่านี้เกิดขึ้นมากมายในเมือง
เพราะฉะนั้น

เมื่อพูดถึงบ้าน อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในพื้นที่ส่วนตัวอีกต่อไป หลายคนอาจมองเรื่องบ้านเป็นแค่ห้องสี่เหลี่ยมไว้ใช่แค่หลับนอน แต่อาจมองพื้นที่ย่านรอบๆที่อยู่อาศัยเป็นเหมือนพื้นที่ต่อขยายของบ้านตัวเอง

เพราะฉะนั้นคนจะเริ่มมองหาพื้นที่ “ย่าน” ที่มีฟังก์ชัน เป็นระเบียงนั่งเล่น เป็นสวน เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นพื้นที่พบปะกับคนในชุมชนอื่นได้ เพราะฉะนั้นย่านใดที่เติมเต็มความต้องการเหล่านี้ได้ ก็จะเป็นย่านที่คนเลือกเข้าไปอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ UDDC ที่ย่านที่มีคุณภาพและบุคลิกของย่าน เป็นปัจจัยสำคัญที่คนรุ่นใหม่ตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยนอกเหนือจากเรื่องราคา

เช่น ย่านที่มีร้านค้า ย่านที่เดินได้ มีความปลอดภัย มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมที่คึกคัก ซึ่งเป็นปัจจัยต้นๆที่ทำให้คนรุ่นใหม่เลือกตัดสินใจไปอยู่ ฉะนั้น “ย่านที่ดี” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนตัดสินใจเลือกเข้าไปอยู่อาศัย

UDDC เชื่อว่า “ย่านดีสร้างได้” ซึ่งภารกิจสำคัญของเราคือการเสนอ “urban solution” ใหม่ๆให้กับเมือง ในการสร้างสรรค์ฟื้นฟูให้เป็นย่านที่ดีสำหรับทุกคน เราพยายามทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการพัฒนาพัฒนาฟื้นฟูย่านเก่า สร้างการใช้ชีวิตแบบใหม่ขึ้นบนย่านเก่า

ตัวอย่างเช่น “โครงการริมน้ำยานนาวา” เป็นพื้นที่ริมน้ำ มีความยาวต่อเนื่องกัน แต่อาจจะมีการใช้งานต่ำกว่าศักยภาพ ทั้งที่พื้นที่โดยรอบมีมรดกทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ มีอู่กรุงเทพฯ วัดยานนาวา สะพานปลา และรายล้อมด้วยที่อยู่อาศัยที่หนาแน่น แต่ไม่มีพื้นที่สาธารณะ

เพราะฉะนั้นเราพยายามเข้าไปใช้ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคม ต้นทุนของเมือง เชื่อมโยงสู่การสร้างโอกาสทางธุรกิจ ทางสังคม และทางสิ่งแวดล้อมในรูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้น อย่างเช่น ท่าเรือสาธรเป็นท่าเดียวที่ต่อเชื่อมกับระบบราง เรือ และล้อ เป็นพื้นที่ที่สำคัญที่สุดของกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันมีความยากลำบากในการใช้งาน

เราจึงพยายามนำเสนอพื้นที่เชื่อมต่อ ที่เป็นมากกว่าแค่พื้นที่ทางผ่าน แต่สามารถผสานกับพื้นที่สาธารณะและระบบระบบราง เรือ และล้อ อย่างที่กล่าวไปได้ นอกจากนั้นยังพยายามออกแบบพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของเจ้าของที่ดินและชุมชนโดยรอบ

อีกโครงการหนึ่งของเราคือ “โครงการฟื้นฟูย่านกะดีจีน” คลองสาน ซึ่งเป็นพื้นที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ก็พยายามเชื่อมต้นทุนทางวัฒนธรรมเข้ากับการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจขึ้นในชุมชน รวมถึงการพัฒนาในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ที่ต้องการ disrupt มากกว่าพื้นที่ในส่วนอื่นๆ

หรือแม้กระทั่งโครงการรถไฟฟ้าเก่าลาวาลิน ซึ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าที่สร้างไม่เสร็จ ก็มีการเสนอให้ทำเป็นโครงการสะพานลอยฟ้าพระปกเกล้าสกายพาร์ค ที่สามารถเชื่อมฝั่งธนกับฝั่งพระนครได้ โดยเฉพาะการส่งเสริมการเดินเท้าหรือจักรยานก็เป็นสิ่งพยายามทำอยู่

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เราคิดว่าเป็นนวัตกรรมในเชิงกลไก คือการสร้างโอกาสการอยู่ร่วมกันระหว่าง “ชุมชนเก่า” กับการ “พัฒนาใหม่” การพัฒนาใหม่อาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงยากในพื้นที่ย่านเก่า แต่ถ้ามีการออกแบบแพลตฟอร์มที่ดี มีกระบวนการที่ดี ก็สามารถทำให้เกิด win-win situation ได้ ภาคเอกชนสามารถเกื้อกูลให้เกิดการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจและสังคมขึ้นในย่านได้

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาที่ดีอาจจะเกิดได้ยากถ้าปราศจาก “ข้อมูล” ที่เฉียบคม เพราะฉะนั้น UDDC ได้ดำเนินการจัดเก็บ “urban data” ในพื้นที่ย่านต่างๆของกรุงเทพฯ เพื่อทำให้เข้าใจและมองเห็นแนวทางการพัฒนาที่ทำให้ย่านต่างๆในกรุงเทพฯมีพลวัตที่มากขึ้น

เราลงพื้นที่เก็บข้อมูลทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในย่านต่างๆเพื่อทำให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาหรือไม่พัฒนาธุรกิจบางอย่าง ข้อมูลต่างๆที่เราเก็บได้เป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาธุรกิจต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมผู้ใช้ในปัจจุบัน หรือผู้ใช้ในอนาคต

สำหรับโครงการที่เป็น key milestone ของ UDDC ชื่อโครงการ “Good Walk” หรือ “เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” เราต้องการวิธีคิดและวิธีการบริหารจัดการเมืองที่ดีกว่านี้ เพื่อให้เมืองมีความกรีนมากกว่านี้

โครงการนี้คิดว่าเป็นเครืองมือที่มีประสิทธิภาพมากในการบริหารจัดการต้นทุนของเมืองที่ไม่เคยมีใครเคยบริหารจัดการมาก่อน นั่นคือการ “เดิน” และ “ทางเท้า” เรามีเมือง แต่เมืองของเราเดินไม่ได้

อาจารย์ชัชชาติชี้ให้เห็นแล้วว่า เมืองที่เดินไม่ได้ ฟีดเดอร์ที่ไม่สามารถขนคนจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งได้ อาจจะไม่ช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่บนข้อมูลแผนที่เมืองเดินได้ เมืองเดินดี จะทำให้เราสามารถสร้างการแทรกแซงหรือ design intervention ได้ตรงจุดมากขึ้น นอกจากยังบอกว่าเดินถึงแล้ว ยังบอกว่าเดินดี มีคุณภาพ มีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเดิน ทั้งเดินปลอดภัย เดินสะดวก และน่าเดิน

ข้อมูลต่างๆเหล่านี้คิดว่าเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้พัฒนาสภาพแวดล้อม ทั้งทางภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะในเรื่องของย่าน อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่าตัวโครงการด้วยซ้ำ

นอกเหนือจากในกรุงเทพฯ UDDC ยังมีการต่อยอดโครงการ Good Walk สู่พื้นที่หัวเมืองใหญ่ ขณะนี้มีการหารือเรื่องความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกันในจังหวัดเชียงใหม่และภูเก็ตกับภาครัฐและเอกชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น data มีประโยชน์กับการพัฒนาเมือง ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจแกร็บหรืออูเบอร์ ที่มีการกลั่นเอาข้อมูลการจราจรและการเดินทางแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถทราบถึงเส้นทางที่เดินทางได้อย่างรวดเร็วที่สุดและราคาถูกที่สุด

นอกจากเชิงธุรกิจแล้ว เรายังเห็นการใช้ open data ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของเมือง อย่างเช่นแพลตฟอร์ม open data ชื่อ “Fix My Street” ที่ประเทศอังกฤษ เป็นแพลตฟอร์มที่ภาครัฐใช้สื่อสารกับประชาชนในเรื่องสภาพแวดล้อมเมือง โดยเฉพาะเรื่องถนนและทางเท้า

ประชาชนสามารถสื่อสารแบบเรียลไทม์และรายงานเข้าไปได้ว่าพื้นที่ไหนมีปัญหาอย่างไรบ้าง แล้วรัฐสามารถตอบสนองได้ในระยะเวลารวดเร็ว เคยมีการศึกษาว่าก่อนมีการใช้แพลตฟอร์มนี้ ไฟแตกดวงหนึ่งอาจจะใช้เวลาถึง 30 วันในการซ่อม แต่หลังจากใช้แพลตฟอร์มนี้แล้ว สามารถลดระยะเวลาในการซ่อมแซมเหลือแค่ 5 วัน

ด้วยการตระหนักถึงพลังของ open data ในการสร้างดิสรัปชั่นให้เกิดขึ้นในเมือง UDDC จึงมีการต่อยอดโครงการ open data โดยความร่วมมือของมูลนิธิมูลนิธิร็อคกี้ เฟลเลอร์ โดยเลือกพื้นที่ย่านปทุมวัน เป็นพื้นที่นำร่องในการสร้าง open data แพลตฟอร์ม ให้เป็นพื้นที่ในการสื่อสารแบบเรียลไทม์ของประชาชนในพื้นที่

ข้อมูลต่างๆนี้ มั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของนักธุรกิจและผู้ประกอบการในย่าน และเป็นพื้นที่ที่คนในย่านสามารถพูดคุยหารือกันถึงย่านในฝันของทุกๆคน

UDDC มีความเข้าใจว่า ณ ตอนนี้ บ้านในความหมายของคนรุ่นใหม่ได้ขยายขอบเขตจากพื้นที่ส่วนตัวออกไปสู่ย่านรอบๆตัว ซึ่งย่านไม่สามารถจะพัฒนาโดยตัวมันเองได้ แต่ต้องการดิสรัปชั่น ต้องการข้อมูลสำหรับเป็นพื้นฐานในการพัฒนาที่ทำให้ฟื้นฟูย่าน เป็นย่านที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

เมืองที่มีการออกแบบไว้อย่างดี และย่านที่มีการออกแบบไว้อย่างดี บนฐานข้อมูล ก็เชื่อว่าจะเป็นย่านที่สามารถเป็นบ้านที่น่าอยู่สำหรับคนทุกกลุ่มในเมือง

แนวโน้ม ทิศทาง และความท้าทายเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า

นินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อพลังงานและการขับเคลื่อนว่า ตลอดปีที่ผ่านมามีคนถามผมอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะมาเมื่อไหร่ เรื่องที่สอง คือ แนวโน้มประเทศไทยและโลกมีความท้าทายเรื่องอีวีอย่างไรบ้าง และเรื่องที่สาม คือ ประเทศไทยควรไปในทิศทางไหนในเรื่องนี้

ในส่วนคำถามแรก อีวีจะมาเมื่อไหร่ ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับความร่วมมือของภาคเอกชนและภาครัฐในเรื่อง “ระบบไฟฟ้า” ที่จะต้องทำให้เพียงพอที่จะชาร์จไฟกับรถอีวีได้ และจะต้องมีศูนย์กลางเป็นคอนโทรลเซนเตอร์คอยติดตามว่าในขณะนั้นๆ มีรถอีวีชาร์จไฟอยู่กี่คัน เพื่อไฟจะได้ไม่ดับ

ถัดมาในส่วนที่สอง คือ รถอีวีมี “ราคา” แพงกว่ารถยนต์ธรรมดาประมาณ 2 เท่า ถ้าใช้ไปสัก 1-2 ปี ราคาก็จะตกฮวบ อาจจะเหลือแค่ 30-40% และเรื่องที่สามคือเรื่อง “แบตเตอรี่” ยังเก็บไฟได้น้อย ชาร์จครั้งหนึ่งใช้เวลานาน แต่วิ่งได้ไม่ไกล อาจจะ 150-200 กิโลเมตร

อีกเรื่องหนึ่งคือ “สถานีชาร์จไฟฟ้า” (charging station) public charging station ยังไม่เวิร์ก เพราะคนไม่ค่อยไปชาร์จ ที่สำคัญคือชาร์จไฟครั้งหนึ่งแค่ประมาณ 80 บาท ต่อให้มีมาร์จิน 10% ก็กำไรแค่ 8 บาท ขายกาแฟแก้วหนึ่งยังกำไรมากกว่า

เพราะฉะนั้น public charging station ไม่เวิร์ก เหลือเฉพาะ home charging ซึ่งก็ต้องคิดเรื่องการเพิ่มแอมป์มิเตอร์ที่บ้าน เพิ่มสายไฟที่บ้านให้ใหญ่ขึ้น เพราะการชาร์จไฟแต่ละครั้งเหมือนกับเปิดแอร์ 4-5 เครื่องพร้อมกัน

ฉะนั้น รถอีวีจะมาเมืองไทยเมื่อไหร่ ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับการพัฒนาตัวแบตเตอรี่ที่เก็บไฟได้มาก และวิ่งได้ยาว ที่สำคัญคือต้องราคาถูก

ก่อนหน้านี้เคยมีการสำรวจคนซื้อรถว่ามีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องที่จะซื้อรถอีวี คำตอบมากที่สุด 50% บอกว่าราคารถแพงเกินไป รองลงมาคือขับได้ระยะทางสั้นเกินไป ในประเทศสหรัฐอเมริกามีเพียง 8-10% เท่านั้น ที่ลูกค้าจะพิจารณาซื้อรถอีวี

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โลกคำนึงถึงภาวะโลกร้อนมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยบอกว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลง 20% ภายในปี 2030 ในส่วนโตโยต้า ผู้บริหารประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศว่าในปี 2050 จะต้องลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 90% โดยใช้รถอีวี เพื่อลด CO2

และเมื่อปลายปีที่แล้ว ผู้บริหารโตโยต้าประกาศความร่วมมือกับมาสด้าและเด็นโซ่ ส่งวิศวกรบริษัทละ 40 คนมาร่วมกันพัฒนารถอีวีให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังร่วมกับพานาโซนิคพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นใหม่เพื่อมารับใช้ประชาชนให้เร็วขึ้น เพราะในปี 2040 มีการคาดการณ์ว่ารถอีวีจะมีสัดส่วนโดยรวมประมาณ 85%

สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์จะมี 3 ส่วนเกิดขึ้นใหม่ คือ “ride sharing” หรือคาร์พูล แต่วัฒนธรรมคนไทยไม่ชอบแบบนี้ อาจจะต้องพยายามเปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทย ส่วนที่สองเป็นเรื่อง “car sharing” ส่วนที่สามเป็นเรื่อง “ride sourcing” ได้แก่ การเรียกรถแท็กซี่อย่างอูเบอร์ (Uber) หรือแกร็บ (Grab) ที่มาพร้อมคนขับ

ในส่วนโตโยต้าได้ประกาศตั้ง “สมาร์ทเซ็นเตอร์” โดยจะใส่ digital communication module ไว้ที่รถ เพื่อเก็บเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) สื่อสารกับฝ่ายโรงงานหรือฝ่ายออกแบบว่ารถคันนี้มีปัญหาอย่างไรบ้าง ก็จะฟีดแบคโดยตรงไปที่หน่วยงานนั้นๆ และประสานกับดีลเลอร์ในการจองเวลาเข้าซ่อมรถ

ขณะเดียวกันก็มีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในรถ เพื่อมอนิเตอร์ว่ารถเสียจากสาเหตุอะไร ส่วนรถก็จะมีกล้องทั้งข้างหน้าและหลังเพื่ออัปเดตแผนที่ดิจิทัลแบบเรียลไทม์ ขณะที่ตัวรถก็จะทำหน้าที่เป็นเอไอไปในตัว ซึ่งโตโยต้าประเทศไทยจะค่อยๆ เริ่มทำทีละขั้นตอนตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

ระบบผลิตไฟฟ้าจะถูกดิสรัปต์ด้วยดิจิทัล

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ดิจิทัลมีองค์ประกอบอยู่ 3 เรื่อง 1. data 2. connectivity 3. analytic ซึ่งก็คือข้อมูลที่เชื่อมโยงนั้นต้องได้รับการประมวลผล ถ้าได้รับการประมวลผล มันจะนำไปสู่การตัดสินใจและควบคุมทุกอย่าง กลายเป็นแมชชีนเลิร์นนิง กลายเป็นเอไอได้

ถามว่าเกี่ยวอะไรกับเรื่องพลังงาน ซึ่งหลายท่านทราบว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า น้ำมัน แก๊ส ดิจิทัลจะมาสัมผัสอะไรบ้าง ซึ่งที่อยากจะนำเสนอมากหน่อยคือเรื่อง “ระบบผลิตไฟฟ้า” เมืองไทยอาจจะถูกดิสรัปต์ โดยสิ่งที่จะมาดิสรัปต์ระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยคือต้นทุนที่ลดลงของการผลิตไฟฟ้าจาก “แผงแสงอาทิตย์” และ “พลังงานทดแทน” อื่นๆ

ปัจจุบันระบบผลิตไฟฟ้าจากแผงแสงอาทิตย์ติดตั้งเบ็ดเสร็จส่งถึงมือลูกค้า ถ้าเป็นขนาดใหญ่ต้นทุนอาจจะประมาณสัก 3-4 บาท ซึ่งถูกกว่าค่าไฟของลูกค้ารายใหญ่ เช่น โรงงาน ที่ให้ความสนใจในการติดโซลาร์รูฟด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นจะเริ่มเห็นกระแสของการถูกดิสรัปต์ว่าผู้ใช้ขั้นปลายของไฟฟ้าจะเน้นหรือจะหันมาปั่นไฟเอง

ถ้าในอนาคตกฎระเบียบเปิด สามารถที่จะทดลองระบบที่ทำให้เกิดการซื้อขายกันเองได้ (peer to peer trading) คือไฟฟ้าเราเหลือขายให้ไฟบ้านข้างๆ ได้ ก็จะเป็นการเปิดมิติใหม่ และจะดิสรัปต์การไฟฟ้าเพิ่มเข้ามา

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นหลัก ในวงการพลังงานก็ยังแก้ไม่ตก คือทุกคนเชื่อว่าพลังงานแสงอาทิตย์ถึงจุดหนึ่งต้นทุนจะต่ำ ประเด็นคือมันผลิตไฟได้เฉพาะกลางวันเท่านั้น ซึ่งจะทำยังไงที่จะเก็บไฟจากแสงอาทิตย์แล้วใช้กลางคืนได้

คำตอบคือมันมีเทคโนโลยีแบตเตอรี่พาวเวอร์แบงก์ หรือ “energy storage” แต่มีราคาแพง เพราะถ้าซื้อติดตั้งใช้ใน 1 ปีอาจจะใช้ได้ไม่กี่ชั่วโมง ที่จะลากไฟที่ตุนไว้ตอนกลางวัน แล้วนำมาใช้ตอนกลางคืน

เพราะฉะนั้น เรื่องของการทำให้ระบบไฟฟ้าของประเทศไทยมันเสถียรแล้วมีพลังงานทดแทนเยอะๆ ไม่ได้แปลว่าต้องเติมแต่แผงแสงอาทิตย์ เพราะถ้าเติมแต่แผงแสงอาทิตย์จะเกิดปรากฏการณ์คอเป็ด คือช่วงพีคไฟฟ้าตอนกลางวันมันจะลดต่ำลงเรื่อยๆ แต่ว่าช่วงพีคตอนกลางคืน แล้วไม่มีไฟแสงอาทิตย์มาช่วย พีคนี้ยังคาอยู่

เพราะฉะนั้น พีคหลังจะกลายเป็นหัวเป็ด แล้วพีคที่ลดลงจะกลายเป็นหลังเป็ด เกิดเป็นรูปที่เพี้ยนเข้าไปใหญ่ ฉะนั้นตัวที่จะมาแก้เรื่องนี้ได้คือ energy storage

อีกระบบหนึ่งที่จะถูกดิสรัปต์ก็คือ หากเราตีขอบเขตการสั่งการของการไฟฟ้าแล้วควั่นออกมาบางส่วน เช่น ย่านบางย่าน เมืองบางเมือง พื้นที่บางพื้นที่ แล้วทำให้เกิดระบบซื้อขายกันเอง ประเด็นหลักที่ชาวการไฟฟ้ากังวลก็คือ ใครจะเป็นคนสั่งการ ใครจะดูแลว่าไฟฟ้าบริเวณนี้พอหรือไม่ หรือใครจะดูแลสมดุลระหว่างความต้องการใช้ไฟฟ้ากับระบบผลิตไฟฟ้าของพื้นที่นั้น

คำตอบก็คือ อีกไม่นานอาจจะมีเอไอมาแทน ทำโรโบติกส์ (robotics) ทำเป็นเทรดดิงแพลตฟอร์มแมตชิง (trading platform matching) ใครมีไฟเกิน ระบบจะเรียกได้ ใครขาด ก็เทรดดิงไป ซื้อเติมจากการไฟฟ้า เป็นต้น เพราะฉะนั้นระบบลักษณะนี้กำลังมา

ประเด็นของประเทศไทยก็คือมันต้องลอง เพราะผมเชื่อว่าระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม ดิจิทัลเทคโนโลยี สมาร์ทดีไวซ์ กำลังคลืบคลานเข้าสู่ระบบพลังงานของประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้าและการควบคุมการสั่งจ่ายไฟฟ้า

เพราะฉะนั้น ดิจิทัลหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ประเด็นอยู่ที่รัฐจะยอมหรือเปล่า ถ้ายอมจะทยอยขับเคลื่อนอย่างไร ประเด็นก็คือ ถ้าลอง คงต้องลองพื้นที่เล็กๆ ก่อน เพราะควบคุมง่าย ลงทุนอาจไม่มากนัก ความเสี่ยงต่ำ แล้วค่อยขยายผล

อีกส่วนหนึ่งที่ต้องเตรียมการเลยคือเรื่องของ “คน” เพราะว่าคนที่เรียนไฟฟ้ากำลังมา เขาเรียนมารูปแบบหนึ่ง แต่ถ้ามาถึงจุดที่มันเป็น digitization (ทำให้เป็นดิจิทัล) ใช้ระบบเอไอเข้ามาสั่งการแทน เราจะเชื่อถือแมชชีนที่ว่าได้อยางไร ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นใครจะมาช่วยแก้ไขได้ สิ่งเหล่านี้ทางกระทรวงพลังงานหรือตัวผมเองได้เตรียมการอยู่ และคิดว่าอีกไม่นานน่าจะมีพื้นที่ทดลองเรื่องลักษณะนี้

เลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย

อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการและกรรมการบริหารธุรกิจการตลาดค้าปลีก ภูมิภาคตะวันออก บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด

นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการและกรรมการบริหารธุรกิจการตลาดค้าปลีก ภูมิภาคตะวันออก บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ความท้าทายต่างๆ ที่ประเทศไทยและโลกจะเจออย่างหนึ่ง คือเรื่องการที่มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ขยะก็มากขึ้นด้วย ผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มขึ้น ดังนั้นเราจะไปข้างหน้าได้อย่างไรโดยไม่ทิ้งคนบางกลุ่มไว้ข้างหลัง

ปัจจุบันเราอาจจะมองว่ามีขยะจากภาคการเกษตรที่สามารถนำไปเผาเพื่อได้พลังงานมาส่วนหนึ่ง แต่ก็อาจจะประมาณ 20% หรือในส่วนขยะจากเมืองจากการมีที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ซึ่งเราอาจนำไปฝังหรือไปเผาทำเป็นพลังงาน

แต่หากลองจินตนาการว่าเรานำขยะเหล่านี้มากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปได้ คือกลั่นขยะให้เป็นน้ำมันสำเร็จรูป อาจจะเป็นดิสรัปชันอีกแบบหนึ่ง ในอนาคตอาจจะไม่จำเป็นต้องมีโรงกลั่นที่มาบตาพุดก็ได้ แต่อาจจะมีโรงกลั่นเล็กๆ ตามหัวเมืองต่างๆ ที่ใกล้กับขยะเหล่านี้

ถ้าสามารถนำขยะมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปได้ ก็น่าจะเกิดประโยชน์หลายอย่าง เช่น ในเรื่องภาษี นอกจากนั้นอาจไม่ต้องนำเข้าน้ำมันดิบจำนวนมาก ส่วนที่สำคัญที่สุดคือเกษตรกร ความเป็นอยู่ของเกษตรกรอาจจะดีขึ้น เพราะว่ามีการใช้พลังงานที่เราปลูกเองในประเทศได้มากขึ้น ส่วนสิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้น

ในส่วนยานพาหนะ เช่น อาจจะมีการพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่จะมีแบตเตอรี่ หรือรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นไฮโดรเจน แต่สิ่งที่ยังไม่ค่อยพูดถึงคือ รถไฟฟ้าที่เอา “เอทานอล” 100% มาเติม

สมมติว่าเราทำให้เอทานอล 100% มาเติมรถยนต์ไฟฟ้าได้ อย่างน้อยก็จะเกิดประโยชน์ที่เกษตรกรไม่โดนทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะว่ารถไฟฟ้าที่เราใช้บนถนนก็ยังใช้เอทานอลที่เกษตรกรเป็นคนปลูกและผลิตขึ้นมาได้ ลดการใช้น้ำมันดิบได้เหมือนกัน

หรือเราพูดถึงแบตเตอรี่อาจจะต้องใช้เวลาชาร์จ อาจจะต้องมีการลงทุนสูง อาจจะเป็นที่บ้านหรือที่ปั๊มในอนาคต ก็จะต้องลงทุนเพิ่มขึ้นมากมาย แต่ถ้าเอาเอทานอลมาเติมรถยนต์ไฟฟ้าได้เลย มันน่าจะลดความยุ่งยากลงไปได้

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างในอนาคตคือ การพัฒนาคนที่จะมาช่วยเราคิดในเรื่องพวกนี้ การคิดถึงโลกอนาคตอีก 30-40 ปีข้างหน้า เราจะอยู่กันยังไง ทั้งในเรื่องความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัยในโลกข้างหน้าจะเปลี่ยนไปยังไง ซึ่งเชลล์พยายามชวนนักศึกษาคนรุ่นใหม่มาคิดเรื่องเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าทุกวันนี้นวัตกรรมมีความหลากหลายมาก เราต้องมาช่วยกันดูว่านวัตกรรมไหน เทคโนโลยีไหน ที่จะเหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย จะไม่ทิ้งคนบางกลุ่มไว้ข้างหลัง เพื่อประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าได้