ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงานกลุ่ม Eurasia Group ความเสี่ยงสูงสุด 10 อันดับของโลก ปี 2018

รายงานกลุ่ม Eurasia Group ความเสี่ยงสูงสุด 10 อันดับของโลก ปี 2018

4 มกราคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ :https://www.eurasiagroup.net/issues/top-risks-2018

บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยง Eurasia Group ได้เผยแพร่รายงานประจำปีเรื่อง ความเสี่ยงสูงสุด 10 อันดับของโลกปี 2018 (Top Risks 2018) โดยอธิบายว่า 2018 ไม่ใช่ปีที่เราจะรู้สึกว่ามีเหตุการณ์ปกติ แม้ตลาดหุ้นจะพุ่งขึ้น เศรษฐกิจไม่ได้เลวร้าย แต่ประชาชนเกิดการแบ่งแยก รัฐบาลต่างๆ ไม่ได้พยายามอะไรมากที่จะทำหน้าที่ปกครองประเทศ ระเบียบของโลกเราเริ่มแตกตัวเป็นส่วนๆ ระบอบประชาธิปไตยเสรีมีความชอบธรรมน้อยลง ปัญหาโครงสร้างต่างๆ ยังไม่มีการแก้ไข ผู้นำของประเทศที่เข้มแข็งมากสุดไม่สนใจเรื่องประชาสัมคมหรือค่านิยมร่วม หากจะมีวิกฤติทางภูมิศาสตร์การเมืองในปี 2018 จะรุนแรงคล้ายๆ กับวิกฤติการเงินปี 2008

ปี 2017 ที่ผ่านมา Eurasia Group เห็นว่า เป็นปีการถดถอยด้านภูมิศาสตร์การเมือง การเลือกตั้งโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา เป็นตัวเร่งทำให้การเมืองระหว่างประเทศเข้าสู่ภาวะที่อำนาจคือสิ่งที่เป็นธรรม โลกเราเข้าใกล้ภาวะตกต่ำครั้งใหญ่ด้านภูมิศาสตร์การเมือง นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ได้กัดกร่อนระเบียบโลกที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำ และยังไม่มีประเทศไหนหรือกลุ่มประเทศไหนที่พร้อมจะสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาใหม่ ทำให้ความเสี่ยงของโลกเพิ่มมากขึ้น โลกจึงเข้าสู่ภาวะที่ไม่มีการนำ

วิธีการของทรัมป์ในเรื่องระหว่างประเทศได้สร้างความสับสนทั้งต่อมิตรประเทศและประเทศคู่แข่ง อะไรคือเป้าหมายของสหรัฐฯ รัฐบาลทรัมป์ต้องการบรรลุอะไร ทรัมป์เป็นนักเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติหรือเป็นนักปฏิบัติ คำพูดที่ก้าวร้าวไม่เป็นมิตร เป็นท่าทีการเจรจาของทรัมป์ หรือว่าอาจเป็นแนวดำเนินการ ที่จะผลักดันสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ เข้าใกล้สงคราม คำพูดที่ว่า “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง” เป็นนโยบายสหรัฐฯ หรือว่าเป็นศิลปะการแสดงทางการเมือง

ในทัศนะของ Eurasia Group ความกังวลต่อการถดถอยครั้งใหญ่ด้านภูมิศาสตร์การเมืองจึงเป็นฉากหลังของความเสี่ยงสูงสุด 10 อันดับในปี 2018

1. จีนชอบภาวะสุญญากาศ

การประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 19 พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นจุดหักเหของจีนยุคใหม่ สุนทรพจน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มีความหมายสำคัญต่อภูมิศาสตร์การเมือง ที่ผ่านมา จีนเลี่ยงที่จะพูดถึงบทบาทการเป็นผู้นำโลก แต่ปี 2017 จีนเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการ โดยเสนอหนทางใหม่ต่อการมองโลกภายนอกของจีน จีนโชคดี เพราะทรัมป์ประกาศเป็นทางการว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงพหุภาคีต่างๆ ทำให้เกิดสุญญากาศที่จีนสามารถเข้ามาแทนที่

การที่สี จิ้นผิง ขึ้นมาเป็นผู้นำจีนที่มีอำนาจมากสุด นับจากเหมา เจ๋อตุง และสหรัฐฯ มีประธานาธิบดีที่อ่อนแอที่สุด ทำให้จีนมีบทบาทที่จะกำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานระหว่างประเทศสำคัญ โดยมีแรงต่อต้านน้อยสุด ที่สำคัญคือบทบาทจีนด้านการค้าและการลงทุน ทุกวันนี้ไม่มีประเทศไหนที่มีกลยุทธ์การค้าและการลงทุนในโลกที่มีประสิทธิผลเท่ากับจีน จีนเป็นประเทศเดียวที่มีแผนการระดับโลก ขณะที่ประเทศอื่นๆ มีแผนการแค่ระดับภูมิภาคหรือทวิภาคี

Eurasia Group เห็นว่า อิทธิพลด้านต่างประเทศของจีนที่มากขึ้นส่งผลหลายอย่าง ประการแรก ธุรกิจการค้าโลกต้องปรับตัวตามกฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติของจีน ที่แตกต่างจากแนวปฏิบัติที่เป็นอยู่ ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนการทำธุรกรรมมากขึ้น กฎเกณฑ์จีนจะใช้กับตลาดในประเทศของจีน และประเทศที่จีนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ

ผลกระทบประการที่ 2 การขยายอิทธิพลของจีนจะทำให้เอเชียเกิดการแบ่งขั้วระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ประเทศเอเชียที่พัฒนาแล้ว และมีขนาดใหญ่ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย เห็นว่าจีนเป็นภัยต่อโมเดลประชาธิปไตยทุนนิยมของประเทศเหล่านี้ ความขัดแย้งจะสะท้อนออกมาที่ปัญหาทะเลจีนใต้ เกาหลีเหนือ และการค้าจีน-สหรัฐฯ นับจากวิกฤติปี 2008 เป็นต้นมา โมเดลประชาธิปไตยเสรีของตะวันตกก็ตกต่ำมาตลอด บทบาทและอิทธิพลที่มากขึ้นของจีนจะทำให้โมเดลจีนกลายเป็นทางเลือกอย่างหนึ่ง

2. อุบัติเหตุ

หลังจากเหตุการณ์ 9/11 แม้จะไม่มีวิกฤติภูมิศาสตร์การเมืองใหญ่ๆ เกิดขึ้น แต่มีหลายจุดในโลกที่การตัดสินใจผิดพลาดอาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศครั้งใหญ่ ในช่วงที่ประเทศสำคัญๆ ต่างก็ไม่ไว้วางใจกัน ความเสี่ยงจากภัยการโจมตีไซเบอร์ (cyberattacks) จึงเพิ่มมากขึ้น ภัยนั้นอาจมาจากรัสเซีย จีน และเกาหลีเหนือ หรือกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ ภัยคุกคามจากการโจมตีไซเบอร์เพื่อสั่นคลอนเศรษฐกิจแท้จริงเป็นเรื่องเป็นไปได้ แม้กระทั่งการโจมตีต่อระบบอินเทอร์เน็ตเอง ดังนั้น อุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันอันดับหนึ่งคือการโจมตีไซเบอร์

กรณีเกาหลีเหนือเป็นความเสี่ยงที่ชัดเจนสุดของอุบัติเหตุภูมิศาสตร์การเมือง สถานการณ์แบบสภาพเดิมยังคงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้มากสุดในปี 2018 ทุกคนรู้ว่าทางเลือกทางทหารที่สหรัฐฯ มีอยู่เป็นเรื่องยากที่จะถูกนำมาใช้ ส่วนเกาหลีเหนือเอง ก็ไม่ใช่พวกที่พร้อมจะฆ่าตัวตาย แต่การทดสอบขีปนาวุธเหนือดินแดนญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่อันตราย อาจเป็นชนวนทำให้เกิดการตอบโต้ แต่ความตึงเครียดที่มากขึ้น ขณะที่ความไว้วางใจและการประสานงานของคู่กรณีต่างๆ มีน้อยลง ทำให้อาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ แต่โอกาสที่จะเกิดสงครามยังเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะสงครามหมายถึงความเสียหายรุนแรงต่อพันธมิตรสหรัฐฯ และต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตของโลก

ส่วนอุบัติเหตุทางภูมิศาสตร์การเมืองอื่นๆ Eurasia Group เห็นว่า กรณีซีเรีย แม้สงครามจะค่อยๆ ยุติลงไป แต่ความไม่ไว้วางใจของฝ่ายต่างๆ ยังมีอยู่ ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อิหร่านมีอันตรายสุดอยู่ที่ซีเรีย ทรัมป์ต้องการให้อิหร่านออกจากซีเรีย ส่วนกรณีรัสเซีย เมื่อการสอบสวนของ Robert Mueller ได้ข้อสรุปเรื่อง คณะรณรงค์หาเสียงของทรัมป์เข้าไปเกี่ยวข้องกับวงในของรัฐบาลรัสเซีย ความสัมพันธ์สหรัฐฯ กับรัสเซียคงจะเลวร้ายลงไปอีก

ที่มาภาพ : https://www.eurasiagroup.net/issues/top-risks-2018

3. สงครามเย็นด้านไฮเทค

ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การรวมตัวเข้าด้วยกันระหว่างข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วมาก จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปี 2018 การต่อสู้ที่สำคัญเรื่องอำนาจทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศรุ่นใหม่ สหรัฐฯ และจีนจะแข่งขันกันในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ รวมทั้งการครองตลาดในแอฟริกา อินเดีย บราซิล แม้กระทั่งในยุโรป ที่รัฐบาลประเทศเหล่านี้ต้องตัดสินใจว่าจะวางใจยอมรับมาตรฐานและผลิตภัณฑ์ของใคร แต่การที่ระบบไฮเทคพื้นฐานมีหลายรูปแบบก็ทำให้เกิดความเสี่ยง เช่น กรณีบริษัทภายในประเทศหนึ่ง ต้องรับมือกับปัญหาไวรัสที่มาจากแหล่งต่างๆ ในโลก

4. เม็กซิโก

ปี 2018 จะกำหนดอนาคตของเม็กซิโก เพราะขึ้นอยู่กับผลการเจรจาใหม่ในเรื่องข้อตกลงการค้า NAFTA และการเลือกตั้งประธานาธิบดีวันที่ 1 กรกฎาคม การเจรจาแก้ไขข้อตกลง NAFTA เริ่มขึ้นเมื่อสิงหาคมปี 2017 แต่ท่าทีกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ทำให้การเจรจาคืบหน้าช้า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับ NAFTA เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจเม็กซิโก เพราะต้องอิงอาศัยการค้ากับสหรัฐฯ ความสำเร็จของการทำข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ ขึ้นกับการปรับท่าทีของสหรัฐฯ เพราะแคนาดาและเม็กซิโกไม่ยินดีที่จะผ่อนปรนกับสหรัฐฯ เพราะรู้ว่าธุรกิจต่างๆ ของสหรัฐฯ ล้วนคัดค้านการถอนตัวจาก NAFTA

ที่มาภาพ : https://www.eurasiagroup.net/issues/top-risks-2018
ที่มาภาพ : https://www.eurasiagroup.net/issues/top-risks-2018

5. ความสัมพันธ์ สหรัฐฯ-อิหร่าน

รัฐบาลทรัมป์มองอิหร่านเป็นต้นตอของความเลวร้ายทั้งหมดในโลกนี้ ปี 2018 ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อิหร่าน จะเป็นแหล่งที่มาของความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์การเมือง รัฐบาลทรัมป์เองมีนโยบายเป็นเอกภาพที่จะต่อสู้กับอิทธิพลในภูมิภาคของอิหร่าน เช่น สนับสนุนซาอุดีอาระเบีย หรือการพยายามจำกัดอิทธิพลอิหร่านในซีเรีย เลบานอน อิรัก และเยเมน

หากความตกลงด้านนิวเคลียร์กับอิหร่านต้องสิ้นสุดลง โลกจะเข้าสู่ภาวะอันตรายครั้งใหม่ หากสหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านรอบสอง บริษัทยุโรปและญี่ปุ่นก็ต้องถอนตัวจากอิหร่าน รวมทั้งยกเลิกการซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่าน อิหร่านอาจรื้อฟื้นโครงการนิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่ การข่มขู่ของสหรัฐฯ และอิสราเอลที่จะโจมตีอิหร่านจะผลักดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้นมาใหม่

6. การตกต่ำของสถาบันสังคม

ในประเทศพัฒนาแล้ว สถาบันและองค์กรรัฐที่มีบทบาทสร้างความสงบและความรุ่งเรืองของสังคมเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นจากสาธารณชน ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาล พรรคการเมือง สื่อมวลชน หรือสถาบันการเงิน กระแสประชานิยมสะท้อนออกมาที่การลงประชามติในอังกฤษเรื่อง Brexit และการเลือกโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ บางประเทศ กระแสประชานิยมที่ต่อต้านระบบอาจนำไปสู่ความปั่นป่วนทางการเมือง หรือระบบการเมืองอำนาจนิยม สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้การตัดสินใจของรัฐในนโยบายต่างๆ กลายเป็นเรื่องที่คาดหมายได้น้อยลง

7. การกีดกันการค้า 2.0

กระแสประชานิยมต่อต้านระบบในประเทศพัฒนาแล้วกดดันให้ผู้กำหนดนโยบายต้องหันไปใช้นโยบายปกป้องการค้ามากขึ้น เพื่อรับมือกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจโลก แต่ก็ทำให้คนทั่วไปเห็นว่า นโยบายนี้เป็นมาตรการปกป้องการจ้างงานหรือนำการจ้างงานกลับคืนมา การกีดกันการค้า 2.0 จะมีผลทั้งต่อเศรษฐกิจเก่าและใหม่ รัฐบาลไม่เพียงแต่พยายามจะปกป้องเศรษฐกิจดั้งเดิม เช่น การเกษตรและอุตสาหกรรม แต่รวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและความสามารถด้านการแข่งขัน

ที่มาภาพ : https://www.eurasiagroup.net/issues/top-risks-2018
ที่มาภาพ : https://www.eurasiagroup.net/issues/top-risks-2018

8. สหราชอาณาจักร

อังกฤษเผชิญทั้งปัญหาการเจรจา Brexit และความเสี่ยงจากความปั่นป่วนของการเมืองภายใน การเจรจากับอียู จากประเด็นการถอนตัว ไปสู่ประเด็นความสัมพันธ์เศรษฐกิจในอนาคต จะไม่ราบรื่น เพราะเป็นเรื่องซับซ้อน และในทางการเมือง เป็นประเด็นที่จะทำให้เกิดการแตกแยกในประเทศ ประเด็นที่อังกฤษต้องจ่ายเงินให้อียูก็ยังไม่ยุติ เพราะอังกฤษต้องพอใจกับข้อตกลงการค้าที่จะมีกับอียู หลังจากการถอนตัวแล้ว ตามหลักการที่ว่า “ไม่มีอะไรที่ตกลงกันไปแล้ว จนกว่าทุกอย่างจะตกลงกัน”

ส่วนอนาคตของรัฐบาลเทเรซา เมย์ ขึ้นอยู่กับท่าทีที่ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลอังกฤษต้องการอะไร เช่น ต้องการความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับอียู โดยการยอมรับกฎระเบียบบางอย่างของอียู หรือจะให้ความสำคัญต่อความเป็นอิสระของอังกฤษ แม้จะมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ

9. การเมืองอัตลักษณ์ของเอเชียใต้

การเมืองแบบอัตลักษณ์ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสิ่งที่คุกคามต่อความรุ่งเรืองของภูมิภาคนี้ การเมืองอัตลักษณ์ของภูมิภาคนี้มีหลายรูปแบบ เช่น ลัทธิอิสลาม การต่อต้านจีน การต่อต้านคนกลุ่มน้อย และความคิดชาตินิยมในอินเดีย อิสลามจะมีอิทธิพลมากขึ้นต่อการเมืองในอินโดนีเซียและมาเลเซีย การประหัตประหารคนมุสลิมโรฮิงญา ในเมียนมา ทำให้เกิดวิกฤติมนุษยธรรมเลวร้ายสุดของภูมิภาคนี้ สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2019 รัฐบาลอินเดียของนายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที จะอาศัยความคิดชาตินิยมฮินดูมาสร้างความนิยมในหมู่คนอินเดียส่วนใหญ่ ซึ่งอาจกลายเป็นโอกาสที่พวกหัวรุนแรงจะอ้างไปโจมตีคนมุสลิมหรือคนชั้นต่ำของอินเดีย

ที่มาภาพ : https://www.eurasiagroup.net/issues/top-risks-2018

10. ความมั่นคงในแอฟริกา

แอฟริกาที่กำลังจะรุ่งเรืองขึ้นมายังเป็นเรื่องราวที่ดึงดูดความสนใจ ประเทศที่เป็นแกนหลักของแอฟริกา เช่น ไนจีเรีย เคนยา หรือเอธิโอเปีย มีบรรยากาศการลงทุนที่คึกคัก ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ช่วยสกัดกั้นผลกระทบจากความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นกับประเทศแอฟริกาที่อยู่ชายขอบ เช่น มาลี ซูดานใต้ หรือโซมาเลีย แต่ปี 2018 ปัญหาความไม่สงบจากประเทศชายขอบเหล่านี้จะทำลายเรื่องราวที่เป็นความสำเร็จของทวีปนี้ โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านการก่อการร้ายจากกลุ่มอัล ชาบับ (Al Shabaab) ที่จะรุนแรงมากขึ้น

เอกสารประกอบ
Top Risks 2018, Eurasia Group, 2 January 2018.