ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > PPSEZ เดินหน้าสู่บริษัทมหาชนอาเซียน นับหนึ่งกระบวนการ Secondary Listing ในตลาดหุ้นไทย

PPSEZ เดินหน้าสู่บริษัทมหาชนอาเซียน นับหนึ่งกระบวนการ Secondary Listing ในตลาดหุ้นไทย

31 มกราคม 2018


Phnom Penh SEZ Plc บริษัทจดทะเบียนรายที่ 4 ของตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา(Cambodia Stock Exchange:CSX) ภายใต้การนำของ คุณหญิง ลิม ชิวโฮ(Lok Chumteav Onknha Lim Chhiv Ho) นักธุรกิจหญิงแถวหน้าของกัมพูชา เริ่มนับหนึ่งกระบวนการยกระดับธุรกิจสู่การเป็นบริษัทมหาชนในอาเซียน ผ่านการจดทะเบียนแบบ Secondary Listing ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2561

ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคม 2560 คุณหญิงลิม ชิว โฮได้ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิกาไว้ว่า การนำ PPSEZ เข้าจดทะเบียน dual-list ในตลาดหุ้นไทยเพราะต้องการที่จะนำ PPSEZ ไปสู่ อาเซียน เป็นบริษัทมหาชนในอาเซียน

สร้างสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาผ่านตลาดทุนครั้งแรก

คุณหญิงลิม ชิว โฮ ผู้ก่อตั้ง PPSEZ และทำหน้าที่ประธาน(Chairwoman) บริษัท Phnom Penh SEZ Plc ได้ลงนามในสัญญาแต่งตั้งให้บริษัท แอสเซท โปรแมเนจเม้นท์ จำกัด(APM) ให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน สำหรับการเข้าจดทะเบียนแบบ Secondary Listing ในตลาดหุ้นไทย

Phnom Penh Special Economic Zone Plc. เข้าจดทะเบียนใน CSX โดยซื้อขายวันแรกภายใต้ชื่อ PPSP ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 มีทุนจดทะเบียน 28.4 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าตลาด(Market Capital) 40 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบันคุณหญิงลิม ชิว โฮ ถือหุ้นในสัดส่วน 56% ส่วน Zephyr Co., Ltd. นักลงทุนญี่ปุ่นที่ร่วมลงทุนมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทถือหุ้น 18% ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่อีก 2 รายคือ Lim Sreypeou และ An Muy Korn ถือหุ้นคนละ 3%


คุณหญิง ลิม ชิว โฮ Chairwoman ของ PPSEZ ร่วมลงนามแต่งตั้งบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM โดยนายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อเข้าจดทะเบียนแบบ Secondary Listing ในประเทศไทย

ในงานเซ็นสัญญาแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่คุณหญิงลิม ชิว โฮ ได้เปิดการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนไทยในกรุงเทพ โดยกล่าวแนะนำตัวเองว่า เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานบริษัท PPSEZ

“การแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินในวันนี้เพื่อเป้าหมาย นำ PPSEZ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ครั้งนี้นับการสร้างความสัมพันธ์ผ่านตลาดทุนเป็นครั้งแรกของไทยกับกัมพูชา นอกเหนือจากความสัมพันธ์ที่มีมายาวนาน และมีการค้าการลงทุนข้ามแดนจำนวนมาก”

คุณหญิง ลิมชิว โฮ ให้ข้อมูล PPSEZ ว่า เป็นผู้นำด้านการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในกัมพูชา มีลักษณะการดำเนินธุรกิจเหมือนกับผู้ประกอบการด้านพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไทย โดย PPSEZ ก่อตั้งเมื่อปี ก่อตั้งในปี 2549 และเข้าจดทะเบียนใน CSX โดยซื้อขายวันแรกภายใต้ชื่อ PPSP ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 และนับเป็นบริษัทเอกชนรายแรกของกัมพูชาที่เข้าจดทะเบียนใน CSX

PPSEZ ดำเนินธุรกิจเขตเศรษฐกิจพิเศษที่พนมเปญและปอยเปต มีพื้นที่รวมกันกว่า 420 เฮกตาร์ หรือประมาณ 2,600 ไร่ ซึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่พนมเปญขณะนี้มี 89 บริษัทเข้ามาใช้พื้นที่ โดยเป็นบริษัทไทย 4 แห่ง คือ เบทาโกร เอสวีไอ ไทยเพรสซิเด้นท์ฟู้ด และ ทีโอเอ ซึ่งเข้ามาล่าสุดในเดือนธันวาคม 2017

PPSEZ มีบริษัทลูกที่คอยให้บริการภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษในกรุงพนมเปญ แบบครบวงจร One Stop Service มีบริการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ครบถ้วนทั้ง ไฟฟ้า น้ำ ทั้งด้านพลังงาน การรักษาความปลอดภัย ด้านโลจิสติกส์ ด้านศุลกากร และระบบบำบัดน้ำเสีย

“ PPSEZ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภาคธุรกิจ ในแง่ทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับการประกอบกิจการเพื่อให้ธุรกิจเติบโต และ PPSEZ ยังมีความภาคภูมิใจที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชาที่มีการเติบโตในอัตราไม่ต่ำกว่า 7%”

ปัจจุบัน PPSEZ มีหุ้นทั้งหมดจำนวน 57.875 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 2,000 เรียล ณ สิ้นปี 2559 มีสินทรัพย์รวม 226,709 ล้านเรียล รายได้รวม 38,190 ล้านเรียล มีกำไรสุทธิ 5.8 พันล้านเรียล

ที่ตั้ง-ทีมบริหารมืออาชีพเป็นจุดแข็ง

ทางด้านนาย Fong Nee wai ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน กล่าวว่า หลังจาก PPSEZ ได้เข้าจดทะเบียนใน CSX มาเกือบ 2 ปี ได้มองหาโอกาสที่จะจดทะเบียนในตลาดทุนแห่งอื่น ซึ่งจากการได้เข้าพบหน่วยงานของไทยเพื่อหารือรวมทั้งสอบถามข้อมูลหลักเกณฑ์ของการเข้าจดทะเบียน พบว่ามีโอกาสจึงได้เริ่มเตรียมความพร้อมเพื่อจดทะเบียนแบบ Secondary Listing ในไทย ทั้งนี้จากการเดินทางไปพบปะกับนักลงทุนในภูมิภาคทั้ง ฮ่องกง เสิ่นเจิ้น พบว่านักลงทุนมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนใน CLMV

นาย Fong Nee Wai กล่าวต่อว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดทุนไทยเพื่อขยาย presence ของ PPSEZ ในไทย เพราะเห็นว่าไทยเป็น regional hub ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็น connecting hub สำหรับกลุ่ม CLMV ที่มีประโยชน์ต่อการระดมทุน และการเข้ามาระดมทุนนั้นมีผลดีต่อการขยายธุรกิจไปในภูมิภาค เนื่องจากการเข้ามาจดทะเบียนนั้นจะเปิดโอกาส ในการระดมทุนผ่านเครื่องมือทางการเงินที่จะสนับสนุนการเติบโตจของธุรกิจในอนาคต

PPSEZ อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการเตรียมความพร้อมเพื่อเพื่อให้มีคุณสมบัติที่จะจดทะเบียนแบบ Secondary Listing เพราะกระบวนการที่เหลือเป็นการปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์การจดทะเบียน(Listing rules) ซึ่งคุณสมบัติตามเกณฑ์ทางการเงินครบด้วนแล้วขณะนี้ อย่างไรก็ตาม PPSEZ มีคุณสมบัติหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต.ซึ่งนับว่ามีมาตรฐาน

“PPSEZ ได้เตรียมความพร้อมด้วยการนำมาตรฐานสากลต่างๆเข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น มาตรฐานทางบัญชี IFRS ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามาตรฐานของบริษัทใกล้เคียงกับมาตรฐานของไทย รวมไปถึงยังมีการดำเนินการด้าน Corporate Governance ด้านการตรวจสอบ(Audit) ให้มีมาตรฐาน แต่ยังมีอีกหลายด้ายที่ยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง โดยต้องหารือกับตลาดหลักทรัพย์และ สำนักงาน
ก.ล.ต. ทั้งไทยและกัมพูชาอย่างไรก็ตามคาดหวังว่าในปีหน้าจะมีคุณสมบัติพื้นฐานครบถ้วน(Compliance Basic) สำหรับการเข้าจดทะเบียนแบบ Secondary Listing”

สำหรับจุดแข็งของ PPSEZ คือ เป็นผู้นำในการด้านการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในกัมพูชา มีทีมบริหารที่มีความสามารถ ในหลายด้าน ทั้งกฎหมาย ด้านบัญชี และมีประสบการณ์ในการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษมานานกว่า 10 ปี ขณะเดียวกันคณะกรรมการก็ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจจากหลายชาติ ทั้งญี่ปุ่น มาเลเซีย ไทยและกัมพูชา ทำให้ได้รับความคิดเห็นหลากหลายที่เป็นประโยชน์แก่ธุรกิจ มีความเป็นสากล

นอกจากนี้ยังมีจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม เพราะห่างจากศูนย์กลางธุรกิจของพนมเปญเพียง 8 กิโลเมตรและห่างจากสนามบินเพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น ส่งผลให้ PPSEZ เป็นผู้นำในธุรกิจการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีลูกค้าเข้ามาโรงงานจำนวน 89 ราย จาก 14 ชาติ ในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าการผลิตอาหาร อาหารสัตว์ ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เจียรนัยเพชร ซึ่งบริษัททั้ง 89 ราย ใช้พื้นที่ไปแล้ว 80% ของพื้นที่ทั้งหมดที่มี 357 เฮกตาร์ ที่มีการพัฒนาออกเป็นเฟส โดยเฟส 1 เฟส 2 ซึ่งมีพื้นที่รวมกัน 300 เฮกตาร์ใช้พื้นที่เต็มแล้ว ขณะที่เฟส 3 มีพื้นที่ 57 เฮกตาร์เป็นพื้นที่รอการพัฒนา

ที่ตั้งPPSEZ ที่มาภาพ:
http://www.ppsez.com/en/

PPSEZ มีแผนที่จะใช้เงินส่วนหนึ่งที่ระดมได้จากการจดทะเบียนแบบ Secondary Listing ที่คาดว่าจะระดมประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจในปอยเปตพื้นที่รวม 65.7 เฮกตาร์ ผ่านบริษัทลูกคือ Poi Pet SEZ ซึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต ได้มีการร่วมทุนกับบริษัท บี กริม เพาเวอร์ ตั้งบริษัทบูกขึ้นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในแขวงสะหวันนะเขตของสปป.ลาว พื้นที่ 150 เฮกตาร์

Poi Pet SEZ ที่มาภาพ:http://www.ppsez.com/en/

คาดยื่น Filing ปี 2562

นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรม บริษัท APM กล่วว่า ประเทศไทยและกัมพูชามีความสัมพันธ์มานานทั้งด้านเศรษฐกิจการเมือง แต่การลงนามในสัญญาวันนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีความสัมพันธ์ทางด้านตลาดทุนในฐานะภาคเอกชน จาก PPSEZ กับ APM ประเทศไทย และนับเป็นการใช้ตลาดทุนในประเทศ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจใน CLMV หรือ อาเซียน

PPSEZ เป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่ของกัมพูชาที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นกัมพูชาที่ก่อตั้งมา 6 ปี มีบริษัทจดทะเบียน 6 ราย และการจดทะเบียนแบบ Secondary Listing เพราะ PPSEZ ที่พัฒนาเขตเศรษฐพิเศษทั้งในพนมเปญและปอยเปต มีแผนที่จะขยายธุรกิจจึงจำเป็นที่จะต้องระดมทุนเพื่อขยายธรกิจ รวมไปถึงรองรับการขยายธุรกิจเข้าไปในสปป.ลาวในอนาคต

“การที่ PPSEZ แต่งตั้ง APM เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในฐานะที่เป็นบริษัทคนไทยที่ขยายธุรกิจไปในกัมพูชาและ CLMV รวมทั้งเชื่อมั่นว่าเกณฑ์ต่างๆของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงาน ก.ล.ต.จะเปิดโอกาสให้ธุรกิจใน CLMV นำธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ โดยคาว่าจะสามารถยื่นไฟลลิ่งได้ภายในปี 2561 หรือต้นปี 2562 จะเห็นโอกาสของ PPSEZ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย”

อ่านเพิ่มเติม“Phnom Penh SEZ” หุ้นกัมพูชารายแรก จดทะเบียน “Secondary- Listing” ในตลาดหุ้นไทย