ThaiPublica > เกาะกระแส > ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ปี 2560 เผย 3 แบงก์ใหญ่กำไรสุทธิรวมกว่า 1 แสนล้าน

ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ปี 2560 เผย 3 แบงก์ใหญ่กำไรสุทธิรวมกว่า 1 แสนล้าน

19 มกราคม 2018


ธนาคารพาณิชย์ไทยได้ทะยอยรายงานผลประกอบการปี 2560 ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในปี 2560 (งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบ) จำนวน 43,152 ล้านบาท ลดลง 9.4% จากปี 2559 เป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นโดยพิจารณาถึงหลักความระมัดระวัง รวมถึงจากการคาดการณ์ความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นตามหลักเกณฑ์ทางบัญชีที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 11.6% ส่วนใหญ่จากการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีและการขยายฐานลูกค้าในช่องทางดิจิทัลของธนาคาร

สำหรับรายได้รวมของธนาคารเพิ่มขึ้น 2.2% จากปีก่อน จากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให่เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลในปี 2560 อยู่ที่ 2.83% เพิ่มขึ้นจาก 2.67% ในปี 2559 ทั้งนี้ ธนาคารได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 25,067 ล้านบาท หรือ 1.26% ของสินเชื่อรวมในปี 2560 ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวดีขึ้นเป็น 137.3% ณ สิ้นปี 2560 จาก 134.3% ณ สิ้นปี 2559

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ธนาคารได้เดินหน้าเข้าสู่ดิจิทัลแบงกิง โดยเน้นการขยายฐานลูกค้าผ่านระบบโมบายแบงกิง และเทคโนโลยีการชำระเงินใหม่ๆ เช่น QR code ซึ่งจะเป็นทิศทางการเพิ่มฐานลูกค้าของธนาคารในอนาคต ส่วนผลประกอบการของปีที่ผ่านมา การให้สินเชื่อมีการขยายตัวดีขึ้นในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และลูกค้าบุคคลตามสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามลำดับ”

ธนาคารกรุงเทพ กำไรสุทธิ 33,009 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิสำหรับปี 2560 จำนวน 66,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เทียบกับปี 2559 และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.32 สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 45,843 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 สาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและกำไรสุทธิจากเงินลงทุน รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จากค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานมีจำนวน 48,948 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.1 ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 43.5 ส่งผลให้กำไรสุทธิ (ส่วนที่เป็นของธนาคาร) สำหรับปี 2560 มีจำนวน 33,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากปีก่อน

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,003,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 จากสิ้นปี 2559 สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพคิดเป็นร้อยละ 3.9 ของเงินให้สินเชื่อรวม ขณะที่ระดับเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารมีจำนวน 140,021 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 160.2 ของเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ

ด้านเงินกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศในเดือนกันยายน 2560 เรื่องแนวทางการระบุและกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบ (Domestic Systemically Important Banks: D-SIBs) ซึ่งกำหนดให้ธนาคารในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบต้องดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหาย (Higher Loss Absorbency) โดยให้ทยอยดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มอีกร้อยละ 0.5 ในแต่ละปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 จนอัตราส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 1.0 ในวันที่ 1 มกราคม 2563 สำหรับธนาคารหากนับกำไรสุทธิงวดกรกฎาคมถึงธันวาคม 2560 เข้าเป็นเงินกองทุน อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยจะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 18.9 ร้อยละ 17.4 และร้อยละ 17.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่สามารถรองรับการดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มตาม D-SIBs เรียบร้อยแล้ว สำหรับส่วนของเจ้าของ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีจำนวน 401,724 ล้านบาท มูลค่าตามบัญชีเท่ากับ 210.45 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 11.90 บาท จากสิ้นปี 2559

กสิกรไทยกำไรสุทธิ 34,338 ล้านบาท

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยประกาศผลการดำเนินงานสำหรับปี 2560 โดยธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 34,338 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 14.53%

ผลการดำเนินงานสำหรับปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญและภาษีเงินได้จำนวน 90,484 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 935 ล้านบาท หรือ 1.05% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 4,483 ล้านบาท หรือ 5.00% โดยมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.44% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 1,030 ล้านบาท หรือ 1.62% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 2,363 ล้านบาท หรือ 6.07%

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 2,518 ล้านบาท หรือ 3.94% ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 42.31% โดยในช่วงปี 2560 ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น เพื่อดำรงสถานะทางการเงินที่มั่นคงอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 148.45% ขณะที่สิ้นปี 2559 อยู่ที่ระดับ 130.92% ทำให้กำไรสุทธิในปี 2560 มีจำนวน 34,338 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 5,836 ล้านบาท หรือ 14.53%

ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 4 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2560 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 5,707 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนจำนวน 3,766 ล้านบาท หรือ 39.75% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 310 ล้านบาท หรือ 1.31% ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.49% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 1,659 ล้านบาท หรือ 10.10% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดทุน สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 2,621 ล้านบาท หรือ 16.04% จากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคาร สถานที่และอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายทางการตลาดซึ่งเป็นปกติตามฤดูกาล โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 48.87% ซึ่งธนาคารยังคงสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้อยู่ในเป้าหมายทั้งปีที่วางไว้ รวมถึงในไตรมาสนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ธนาคารและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 2,900,841 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2559 จำนวน 57,563 ล้านบาท หรือ 2.02% ส่วนใหญ่เกิดจากการเติบโตของสินเชื่อ โดยเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 3.30% ขณะที่สิ้นปี 2559 อยู่ที่ระดับ 3.32% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 อยู่ที่ 17.96% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.66%

ทีเอ็มบีกำไรสุทธิ 8,687 ล้านบาท

ทีเอ็มบี หรือธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย แจ้งผลประกอบการปี 2560 ซึ่งยังคงเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ 19,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% ทั้งนี้ ธนาคารยังคงเน้นความรอบคอบในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการตั้งสำรองฯ จำนวน 8,915 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน ขณะที่สัดส่วนหนี้เสียลดลงมาอยู่ที่ 2.35% จาก 2.53% ส่งผลให้สัดส่วนสำรองต่อ NPL (Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 143% ซึ่งหลังจากตั้งสำรองฯ และภาษี ธนาคารรายงานกำไรสุทธิที่ 8,687 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6%

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า “ธนาคารยังคงเน้นการขยายธุรกิจผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการ (Need Base) และไม่ยุ่งยากซับซ้อน (Simple & Easy) ให้กับลูกค้า ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบ โดยในปี 2560 ธนาคารสามารถขยายฐานสินเชื่อเพิ่มขึ้น 8% จากปีที่แล้ว ซึ่งหลักๆ มาจากสินเชื่อลูกค้าบุคคล โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นผลจากการที่ธนาคารปรับปรุงกระบวนการนำเสนอสินเชื่อให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ พบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงเติบโตได้ดี ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอี แม้ภาพรวมทั้งปียังชะลอตัว แต่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในไตรมาส 4”

“ทางด้านเงินฝาก ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการขยายฐานเงินฝากลูกค้าบุคคลเป็นหลัก ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝาก All Free ที่ให้ประโยชน์ด้านการทำธุรกรรม และเงินฝาก No Fixed ที่ให้ประโยชน์ด้านการออม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สะท้อนให้เห็นได้จากเงินฝาก “ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี” (TMB All Free) ที่เพิ่มขึ้นกว่า 51% หรือ 1.8 หมื่นล้านบาท จากปีที่แล้ว และเงินฝาก “ทีเอ็มบี โน-ฟิกซ์” (TMB No-Fixed) ที่ขยายตัว 16% หรือ 3.3 หมื่นล้านบาท โดยภาพรวมเงินฝากเติบโต 2% จากปีก่อนหน้า ซึ่งสอดคล้องกับการบริหารสภาพคล่องของธนาคาร”

อย่างไรก็ดี ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (Net Interest Margin) ลดลงเล็กน้อยจาก 3.17% มาอยู่ที่ 3.13% เนื่องจากสินเชื่อเอสเอ็มอีซึ่งให้อัตราผลตอบแทนสูง ในภาพรวมทั้งปียังคงชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 24,734 ล้านบาท คงที่จากปีก่อน สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย มีจำนวน 12,705 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% ปัจจัยหนุนหลักคือรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่ขยายตัว 32% โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมกลุ่มลูกค้าบุคคลจากค่าธรรมเนียมจากการขายกองทุนรวมและแบงก์แอสชัวรันส์ซึ่งเติบโตได้ 76% และ 71% ตามลำดับ

นายปิติกล่าวเสริมว่า “การเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้ค่าธรรมเนียมลูกค้าบุคคล สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และการพัฒนาบริการในทุกๆ ช่องทางของทีเอ็มบี อย่างเช่นในปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ยกระดับการให้บริการด้านกองทุนรวมให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น โดยนอกเหนือจาก TMB Open Architecture ที่คัดสรรกองทุนเด่นจาก บลจ.ชั้นนำ 8 แห่ง มานำเสนอให้กับลูกค้าแล้ว ธนาคารยังได้เพิ่มบริการที่ปรึกษาด้านการลงทุน (TMB Advisory) ผ่านระบบ VDO Conference รวมทั้งเพิ่มช่องทางการซื้อขายกองทุนผ่านแอปพลิเคชัน TMB TOUCH เพื่อเพิ่มความสะดวกและตอบโจทย์การใช้ชีวิตของลูกค้าในยุคดิจิทัล”

โดยรวม ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 37,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปี 2559 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 17,792 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวทางธุรกิจเป็นหลัก ทำให้ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ อยู่ที่ 19,736 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 6% ซึ่งเอื้อให้ธนาคารสามารถเพิ่มระดับการรองรับความเสี่ยง ด้วยการตั้งสำรองฯ สูงขึ้น แม้ NPL จะลดลงอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ในปี 2560 ธนาคารตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 8,915 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนหน้า ทำให้อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 143% ขณะที่ NPL หรือสินเชื่อด้อยคุณภาพจะลดลงเป็นจำนวน 84 ล้านบาท มาอยู่ที่ 17,521 ล้านบาท ทำให้สัดส่วน NPL หรือ NPL ratio ลดลงจาก 2.53% มาอยู่ที่ 2.35% ซึ่งหลังหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิเป็นจำนวน 8,687 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ ทีเอ็มบียังคงสถานะเงินกองทุนในระดับสูง สะท้อนได้จากอัตราส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) ภายใต้เกณฑ์ Basel III ที่อยู่ที่ 17.3% และ 13.2% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งกำหนดไว้ที่ 9.75% และ 7.25% ตามลำดับ

นายปิติ กล่าวสรุปว่า “ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในปี 2560 สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริงภายใต้แนวทาง “Need-Based Bank” กับ “Simple & Easy” และสำหรับปี 2561 ทีเอ็มบีก็ยังคงเน้นการขยายฐานเงินฝากเพื่อการทำธุรกรรม (Transactional Banking) ทั้งจากลูกค้าบุคคลและเอสเอ็มอีขนาดเล็ก รวมทั้งพัฒนาช่องทางดิจิทัลเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของลูกค้า Digital Banking และแน่นอนว่าธนาคารก็จะยังคงรักษาระดับความสามารถในการรองรับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับสูง พร้อมกับบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว”

กรุงศรีกำไรสุทธิ 23,200 ล้านบาท

กรุงศรี(ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ รายงานผลการดำเนินงานปี 2560 มีกำไรสุทธิ 23.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% จากปี 2559 และจำนวนสินทรัพย์สูงกว่าระดับ 2 ล้านล้านบาท ปัจจัยขับเคลื่อนผลการดำเนินงานมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ และการเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ

สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับปี 2560 ด้านเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 7.0% หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 101.5 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากสินเชื่อเพื่อรายย่อยที่เพิ่มขึ้น 12.8% โดยครอบคลุมทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มขึ้น 2.3% และ 2.4% ตามลำดับ

ด้านเงินรับฝากเพิ่มขึ้น 19.0% หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 210.9 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 สะท้อนความพร้อมของสภาพคล่องในการรองรับความต้องการสินเชื่อที่จะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 23.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% จากปี 2559 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.74% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 2559 ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 8.3% จากปี 2559 ปัจจัยขับเคลื่อนมาจากค่าธรรมเนียมธุรกิจบัตร ค่าธรรมเนียมธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง กองทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ และค่าธรรมเนียมธุรกิจเช่าซื้อ รวมถึงค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และกำไรจากเงินลงทุน

อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ อยู่ที่ 48.0% ปรับขึ้นจาก 47.1% ในปี 2559 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ปรับตัวดีขึ้นจาก 2.21% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 2.05% ในปี 2560 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดหลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 148.4% อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 15.65%

นายโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปี 2560 เป็นปีที่กรุงศรีดำเนินงานสำเร็จตามแผนธุรกิจระยะกลางที่ครอบคลุมปี 2558-2560 ด้วยจำนวนสินทรัพย์สูงกว่าระดับ 2 ล้านล้านบาท สำหรับปี 2560 นั้น เงินให้สินเชื่อเติบโต 7% ขณะที่ผลกำไรสุทธิสูงถึง 23.2 พันล้านบาท ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้การบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวังส่งผลให้มีคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับลดลงมาที่ 2.05% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดหลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย”

สำหรับแนวโน้มธุรกิจในปี 2561 นายโกโตะกล่าวว่า “ธนาคารคาดว่าเศรษฐกิจจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องและครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 4.0% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากการเติบโตของภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยว และแผนเร่งการลงทุนของภาครัฐด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ ด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต กอปรกับการดำเนินกลยุทธ์ของกรุงศรีภายใต้แผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบัน (ปี 2561-2563) เราจึงตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อในปี 2561 ที่ 6-8%”

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 กรุงศรีซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าของไทย มีสินเชื่อรวม 1.55 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.32 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.09 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 219.03 พันล้านบาทหรือเทียบเท่า 15.65% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 11.97%