ThaiPublica > คอลัมน์ > สื่อในศตวรรษที่ 21 (10): “ชงชา” เคียงคู่ “หาปลา” สไตล์ Workpoint News

สื่อในศตวรรษที่ 21 (10): “ชงชา” เคียงคู่ “หาปลา” สไตล์ Workpoint News

8 มกราคม 2018


สฤณี อาชวานันทกุล

สามตอนที่ผ่านมา ผู้เขียนพูดถึงบทเรียนจาก New York Times กับบทเรียนจาก Washington Post สองสื่อยักษ์ระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้แนวทางคล้ายกันอย่างน่าสนใจ นั่นก็คือเริ่มต้นจากการรักษา “จุดแข็ง” ของค่าย ปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีนำเสนอให้เข้ากับพื้นที่ออนไลน์และโดนใจผู้ใช้เน็ต ผลิต “วารสารศาสตร์ที่ควรค่าแก่การจ่ายเงินซื้อ” ซึ่งมีคุณค่าและแตกต่างจากเนื้อหาฟรีออนไลน์ทั้งหลายอย่างชัดเจน แล้วก็ขอให้คนอ่านจ่ายเงินซื้อ

หลังจากที่เบนเข็มเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ผลประกอบการก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ากลยุทธ์ของทั้งสองค่ายนี้ได้ผล คนอ่านยินดีสมัครสมาชิกอ่านข่าวออนไลน์ในจำนวนที่มากขึ้นเรื่อยๆ จน Washington Post พลิกกลับมามีกำไร และรายได้จากคนอ่านแซงหน้ารายได้โฆษณาได้ในกรณีของ New York Times

อย่างไรก็ดี คำถามที่น่าสนใจก็คือ แบบจำลองทางธุรกิจของทั้งสองค่ายนี้เป็นสิ่งที่สื่อค่ายอื่นเลียนแบบได้มากน้อยขนาดไหน โดยเฉพาะสื่อใหม่ที่ไม่เคยมีเกียรติประวัติ ไม่มี “ทุนทางสังคม” (ความเชื่อถือจากสังคม) สูงขนาดนี้ และไม่เคยผลิตเวอร์ชั่นหนังสือพิมพ์ (ที่คนเคยยินดีเสียเงินซื้อ)

วันนี้ได้ฤกษ์ข้ามทวีปกลับมาดูการปรับตัวของสื่อไทยกันต่อ

ในบรรดาค่ายสื่อชื่อดังในไทยที่กำลังปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลทุกวันนี้ ผู้เขียนคิดว่า “Workpoint News” ทีมข่าวของบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ น่าสนใจเป็นอันดับต้นๆ

สถิติรายการ The Mask Singer ณ เดือนมีนาคม 2560
สถิติรายการ The Mask Singer ณ เดือนมีนาคม 2560

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เวิร์คพอยท์สร้างชื่อจากการเป็น “ทีวีแนวบันเทิง” ผู้ผลิตรายการบันเทิงที่ดังทะลุฟ้าหลายรายการ โดยเฉพาะรายการตลก เกมโชว์ และวันนี้ก็เป็นผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนน้อยในไทยที่ยังทำกำไร และได้กำไรมากขึ้นทุกปี

เมื่อไม่นานมานี้ รายการประกวดร้องเพลง “The Mask Singer” ของค่าย ได้รับความนิยมจากทุกช่องทางจนทุบสถิติต่างๆ อย่างย่อยยับเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่เป็นรายการของช่องทีวีดิจิทัลรายการแรกที่ได้เรทติ้งสูงกว่า 10 แซงหน้าละครหลังข่าวช่อง 3 และ 7 ซึ่งเคยครองความสนใจหน้าจอแก้วของคนไทยในช่วงเวลา 2-4 ทุ่ม ต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี

ในพื้นที่ออนไลน์ การไลฟ์สดพร้อมทีวี รอบ “แชมป์ชนแชมป์” ของรายการนี้ ทำสถิติผู้เข้าชมสูงถึง 4.6 ล้านวิว บนเพจเฟซบุ๊กของค่าย และแท็ก #themasksinger ก็ได้แรงส่งของแฟนๆ รุมทวีตจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับที่ 2 ของโลกในช่วงที่ทะยานสูงสุด

ปัจจุบันมีคนโหลดแอพพลิเคชั่นเวิร์คพอยท์มาดูบนมือถือกว่า 2 ล้านคน ยอดรับชม (ยอดวิว) คลิปทั้งหมดของช่องบนยูทูบรวมกันเกือบ 20 ล้านวิวต่อวัน

พิสูจน์อย่างชัดเจนว่า คนไทยเสพเนื้อหาออนไลน์กันเป็นล่ำเป็นสัน และถ้าเนื้อหาโดนใจคนจริงๆ รายได้(โฆษณา)ก็มา

เมื่อหันมาดูด้านข่าว คำถามที่ท้าทายสำหรับเวิร์คพอยท์วันนี้จึงอยู่ที่ว่า ทีมข่าวจะ leverage หรือใช้ประโยชน์จากความดังและความเชี่ยวชาญของแบรนด์ที่ “เด่นเรื่องบันเทิง” ได้หรือไม่ อย่างไร และเนื้อหาข่าวที่ผลิตนั้นจะสามารถรักษาคุณค่าของความเป็น “ข่าว” (ความเป็นภววิสัย ถูกต้อง เที่ยงตรง เป็นประโยชน์สาธารณะ แยกแยะอย่างชัดเจนระหว่างข้อเท็จจริงกับความเห็น ฯลฯ) ได้มากน้อยเพียงใด กับแบรนด์ที่ขึ้นชื่อเรื่องตลกและบันเทิง ต้องทำแต่ “ข่าวชาวบ้าน” (ข่าวอาชญากรรม ใต้เตียงดารา ไสยศาสตร์ ฯลฯ) เท่านั้นหรือไม่เพื่อให้ตรงกับแบรนด์?

ชัดเจนว่าเวิร์คพอยท์ให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ กับพื้นที่ออนไลน์ และพยายามทดลองอะไรใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การลองปล่อยรายการบางรายการออนไลน์ก่อนที่จะฉายทางทีวี จนถึงการผลิตรายการข่าวออนไลน์เท่านั้น (online only) ในรูปแบบที่แตกต่างอย่างชัดเจนจากรายการข่าวทีวี

ยกตัวอย่างเช่น รายการ “ติ่งข่าว” อัพโหลดเป็นคลิปลงเพจ เวิร์คพอยท์ นิวส์ และยูทูบ จัดโดย สมภพ “ติ่ง” รัตนวลี ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว เวิร์คพอยท์ทีวี เป็นรายการเล่าข่าวรายสัปดาห์แบบสบายๆ เหมือนเพื่อนมาเล่าให้ฟัง ทั้งรายการใช้คำบ้านๆ (ที่หลายคนมองว่าหยาบคาย) อย่าง “แดก” “มึง” “กู” (ตัวอย่างด้านล่าง)

ติ่งข่าว ep.10 สรุป 10 ข่าวใหญ่ 2017

ติ่งข่าว ep.10 สรุป 10 ข่าวเด่นในรอบปี
.
มองมุมเคียงข่าวในรอบสัปดาห์กับ "ติ่ง"
สมภพ รัตนวลี ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวเวิร์คพอยท์ทีวี #ติ่งข่าว

Posted by Workpoint News – ข่าวเวิร์คพอยท์ on Friday, December 29, 2017

ชัดเจนว่าเจตนาให้คนฟังได้ความ “สนุก” และ “ตลก” ไม่ต่างจากดูละครหลังข่าวหรือเกมโชว์ของช่อง

เมื่อไม่นานมานี้ ทีมข่าวเวิร์คพอยท์เริ่มผลิตคลิปข่าวสั้น (ครึ่งถึงสองนาที) ภายใต้ชื่อรายการ “Workpoint Shorts” ค้นหาได้ด้วยแท็ก #WorkpointSHORTS ในทวิตเตอร์ และติดตามได้จากเพจ เวิร์คพอยท์ นิวส์ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/WorkpointShorts

ทวิตเตอร์ Workpoint News
ทวิตเตอร์ Workpoint News

ผู้เขียนมีโอกาสสนทนากับ นภพัฒน์จักษ์ “เอม” อัตตนนท์ ผู้อำนวยการรายการ และหัวหอกของทีมข่าวเวิร์คพอยท์ออนไลน์ เกี่ยวกับปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ของทีมเขา

เอมบอกว่า วันนี้ทีมเขามีสมาชิกทั้งหมด 8 คน แบ่งเป็นนักข่าว 6 คน คนตัดต่อ 2 คน นับว่าเล็กเมื่อเทียบกับทีมงาน 30 กว่าคน ของฝ่ายข่าวทีวี แต่ไม่เล็กเมื่อมองออนไลน์ นักข่าวแต่ละคนต้องผลิตคลิปให้ได้วันละ 1 ชิ้นต่อคน เท่ากับว่าแต่ละวันจะมี 3-8 ชิ้น ความยาวพยายามตัดให้ได้ชิ้นละอย่างต่ำ 90 วินาทีหรือนาทีครึ่ง เพราะจะได้ใส่แบนเนอร์โฆษณาบนเฟซบุ๊กได้ แต่ไม่เกิน 3 นาที คลิปทั้งหมดปล่อยขึ้นเฟซบุ๊ก เว็บเวิร์คพอยท์ ทวิตเตอร์ และยูทูบ

ทีมข่าวออนไลน์มีอิสระค่อนข้างเต็มที่ในการเลือกประเด็นข่าวที่อยากทำ ทุกเช้าทีมจะคุยงานกันทางไลน์ และช่วยกันเป็นแอดมินในเฟซบุ๊ก

วันนี้ข่าวทีวีกับข่าวออนไลน์ยังไม่ทำข่าวชนกัน สมภพ รัตนวลี ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว บอกเอมว่า “ปล่อยให้พวกกูหาปลา พวกมึงก็ชงชาไป” สื่อนัยว่าข่าวออนไลน์ไม่จำเป็นจะต้องเน้นข่าวสีสันหรือ “ข่าวชาวบ้าน” เหมือนกับข่าวทีวี แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องศึกษาพฤติกรรมคนดูตลอดเวลา เพราะทุกวันนี้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอด

เอมบอกว่าการเป็นส่วนหนึ่งของเวิร์คพอยท์ทำให้เขาได้อานิสงส์หลายอย่าง ตั้งแต่การได้ยอดวิวหลักแสนขึ้นไป เวลาเอาชิ้นงานไปแปะบนเพจ เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ และการได้ทำข่าวเอ็กซ์คลูซีฟที่พ่วงไปกับจุดแข็งด้านบันเทิงของค่าย เช่น เวลาที่เวิร์คพอยท์ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งเกม RoV (เกมมือถือที่มีคนไทยเล่นสูงสุด ยอดดาวน์โหลดกว่า 10 ล้านครั้ง) ทีมข่าวออนไลน์ก็ติดตามไปทำข่าวเรื่อง e-sport (การแข่งเล่นเกม)

เพจเฟซบุ๊ก Workpoint News
เพจเฟซบุ๊ก Workpoint News

เมื่อถามถึงชิ้นงาน Workpoint Shorts ที่เขาชอบ เอมบอกว่ามีหลายชิ้น ยกตัวอย่างชิ้นที่อธิบายความหมายของป้ายรถเมล์แบบใหม่ (ดูคลิปด้านล่าง) เพราะเขามองว่า เป็นตัวอย่างที่ดีของ “วารสารศาสตร์เชิงอธิบาย” (explanatory journalism) ซึ่งมีคุณค่าชัดเจนและไม่ล้าสมัยเหมือนข่าวประจำวัน เพราะใครที่อยากรู้ความหมายก็มาดูใหม่ได้ทุกเมื่อ

อธิบายสายรถเมล์แบบใหม่

สายรถเมล์แบบใหม่ คืออะไร ฟังคำอธิบายได้ที่นี่
#WorkpointShorts

Posted by Workpoint News – ข่าวเวิร์คพอยท์ on Friday, August 18, 2017

ถามว่าเขาอยากทำอะไรในอนาคตอันใกล้ เอมตอบทันทีว่า เขาอยากพัฒนาทีมอ่านข่าว อยากเล่น “เรื่องยาก” อย่างเช่นสิทธิมนุษยชน ให้เข้าถึงคนมากขึ้น และอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ข่าวให้หลากหลายกว่าเดิม โดยคิดในมุมของการสร้างรายได้ด้วย เพราะ “ถ้าเราหาเงินได้ เราก็จะใช้เงินได้อย่างสบายใจขึ้น และอยากพิสูจน์ดูว่าท้ายสุดแล้ว การทำข่าวหรือคอนเทนท์ที่มีประโยชน์นั้นควรจะอยู่รอดทางการเงินได้ด้วยตัวเอง”

ทั้งหมดนี้คือก้าวเล็กๆ หลายก้าวที่น่าจับตา ของทีมข่าวออนไลน์น้องใหม่ ภายใต้แบรนด์สื่อบันเทิงชื่อดัง.