ThaiPublica > คอลัมน์ > จากความเหลื่อมล้ำสู่การกระทำผิดซ้ำ: เมื่อคุกไม่สามารถคืนคนดีสู่สังคมได้จริง (ตอนที่ 1)

จากความเหลื่อมล้ำสู่การกระทำผิดซ้ำ: เมื่อคุกไม่สามารถคืนคนดีสู่สังคมได้จริง (ตอนที่ 1)

30 มกราคม 2018


ณัฐเมธี สัยเวช

เนื้อหาในบทความเป็นความเห็นส่วนตัวจากการที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามโครงการส่งเสริมพลังอำนาจผู้ตัดสินกับผู้ถูกตัดสินในกระบวนการยุติธรรมเพื่อสังคมสุขภาวะ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-20 มกราคม 2561 โดยสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม (โครงการกำลังใจ) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตัวงานเป็นการนำคณะผู้พิพากษาและสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมเรือนจำกลางขอนแก่น และเรือนจำอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งฟังการแสดงธรรมจากพระไพศาล วิสาโล และมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อร่วมกันวิเคราะห์โครงสร้างระบบกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อหาทางในการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น

ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ระบุว่า ณ วันที่ 1 มกราคม 2561 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังทั้งสิ้น 325,298 คน ซึ่งจำนวนดังกล่าวนี้นั้น สูงกว่าจำนวนผู้ต้องขังที่เรือนจำรองรับได้ (217,000 คน) ถึง 108,298 คน และในจำนวนอันเกินขีดจำกัดนั้น เป็นผู้ต้องขังโทษในคดียาเสพติดจำนวน 237,655 คน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 73.06

มีคนถามผมว่า เวลาคนทั่วไป หรือผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเห็นตัวเลขแบบนี้ เขารู้สึกอย่างไรกัน ซึ่งเมื่อลองคิดทบทวนดูแล้ว ผมก็เห็นว่ามีความเป็นไปได้ใน 3 ทาง คือ 1. นี่คือภาวะศีลธรรมตกต่ำอย่างร้ายแรง 2. กระบวนการยุติธรรมบ้านเรามีประสิทธิภาพในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างยิ่ง และ 3. เรากำลังเผชิญกับปัญหาที่เมืองนอกเมืองนาเขาเรียกว่า overcriminalization อันแปลความเป็นไทยได้ว่าการใช้โทษทางอาญาอย่างล้นเกิน

เวลามีข้อมูลลักษณะนี้ออกมา ศีลธรรมหรือกระทั่งศาสนามักตกเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับต้นๆ พอกับเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้วคนสงสัยว่าไฟฟ้าลัดวงจร นั่นคงเป็นเพราะในบ้านเรานั้นมาตรฐานทางศาสนาดูจะแข็งแกร่งกว่ามาตรฐานทางกฎหมาย ตัวเลขเหล่านี้เลยมักทำให้นึกถึงความตกต่ำของศีลธรรมส่วนบุคคล มองว่าผู้กระทำผิดนั้นเป็นผู้ที่บ้าวัตถุ เห็นแก่เงินเห็นแก่ได้จนไม่อาจยับยั้งชั่งใจไม่ให้ตัวเองก่ออาชญากรรม

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่เอะอะก็เอาศาสนาพาศีลธรรมไปเป็นมาตรฐานในการตัดสินนั้นก็อาจจะมีส่วนในการทำให้ศาสนาและศีลธรรมตกต่ำเสียเอง เพราะในความเป็นจริง มีปัจจัยมากมายที่ทำให้คนเรากระทำผิด แต่ในเมื่อเราเลือกเอาเพียงศีลธรรมและศาสนาไปเป็นมาตรวัด ก็ย่อมมีแต่ศีลธรรมและศาสนาที่ถูกมองว่ามีปัญหาและตกต่ำอยู่เรื่องเดียว

ผู้ต้องขังส่วนใหญ่นั้นเป็นคนยากจน ความจนนั้นทำอะไรกับคนมากกว่าเพียงไม่มีเงิน ความยากจนที่แท้จริงจะตัดขาดคนออกจากสังคมในทุกๆ ด้าน จนเงินทอง จนทรัพย์สิน จนสิทธิ์เสียง สังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูงในทุกๆ ด้านจะทำให้คนที่อยู่ส่วนล่างของความเหลื่อมล้ำรู้สึกแปลกแยกผิดที่ผิดทางจากสังคมที่ตนเองอยู่ ทำให้รู้สึกได้ถึงขั้นว่าตัวเองนั้นไม่ได้เป็นผู้เป็นคนอย่างใครเขา จึงไม่น่าแปลกใจที่สังคมแบบนั้นจะทำให้คนตกอยู่ในภาวะบ้าวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นเงินทองหรือของนอกกายใดๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่ใช้แสดงออกได้ว่าตัวเราเองก็เป็นมนุษย์ไม่ต่างจากใคร นั่นทำให้แท้จริงแล้วความบ้าวัตถุของคนจนในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูงจึงอาจไม่ใช่ความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ แต่คือความพยายามจะรักษาความรู้สึกว่าเราเองก็ยังเป็นมนุษย์เอาไว้ และซ้ำร้าย บางทีสิ่งที่คนอื่นตราหน้าว่าบ้าวัตถุนั้น ก็เป็นเพียงความปรารถนาจะเข้าถึงปัจจัยสี่ธรรมดาๆ เท่านั้นเอง

หากจะมองว่าตัวเลขดังกล่าวหมายถึงประสิทธิภาพชั้นเลิศของกระบวนการยุติธรรม ผมก็นึกถึงกรณีของคุณพัทธ์อิทธิ์ จินต์วุฒิ ซึ่งต้องใช้ชีวิตในคุกอยู่หลายปีด้วยคดีที่สุดท้ายแล้วศาลตัดสินยกฟ้อง หรืออีกหลายๆ คดีในประวัติศาสตร์กระบวนการยุติธรรมที่ทำให้เห็นว่าผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดนั้นจริงๆ แล้วไม่ได้กระทำความผิดหรือกระทั่งเป็นแพะรับบาปนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ยังไม่ต้องนับว่าก่อนหน้านี้ กฎหมายเกี่ยวกับยาบ้าก็เคยเคร่งครัดจนทำให้ผู้กระทำผิดหลายๆ คนต้องรับโทษที่รุนแรงเกินกว่าเจตนาในการกระทำผิดของตนเองไปมาก และเหนือสิ่งอื่นใด การวัดประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมด้วยข้อมูลเชิงปริมาณอาจไม่ใช่มุมมองที่เหมาะสมนัก เพราะความผิดตามโทษอาญานั้นจะให้ผลเป็นการลิดรอนจำกัดสิทธิเสรีภาพมนุษย์ (ยิ่งในอดีตนั้นเราลิดรอนกันได้จนถึงสิทธิที่จะมีลมหายใจอยู่ในโลกนี้ต่อไป) การเน้นไปปริมาณคดีที่พิจารณาเสร็จสิ้น อาจไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ดีเท่าความละเอียดรอบคอบในตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การสันนิษฐานว่าผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน (presumption of innocence) จนกระทั่งการพิสูจน์จนสิ้นสงสัยตามความครบถ้วนแห่งพยานหลักฐาน (proof beyond a reasonable doubt)

ในธรรมอันพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้แสดงให้ฟังนั้น พระอาจารย์บอกเป็นความตอนหนึ่งว่า การใช้การปราบปรามอย่างรุนแรงและลงโทษอย่างหนักหน่วงที่เชื่อกันว่าจะให้ผลดีจากทั้งการป้องปรามและปราบปรามอย่างหนักนั้น แท้จริงแล้วอาจก่อให้เกิดความรุนแรงยิ่งกว่าเดิมตลอดกระบวนการในทุกฟากฝ่าย หรือก็คือ ความรุนแรงที่เราเชื่อว่าจะช่วยยุติความรุนแรงได้นั้น กลับกลายเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงอันไม่พึงปรารถนาเสียเอง (เราเห็นตัวอย่างของเรื่องนี้ได้จากการ “ฆ่าตัดตอน” อันลือลั่นในการประกาศสงครามกับยาเสพติด รวมทั้งการปรับเปลี่ยนส่วนประกอบของยาให้มีความรุนแรงมากขึ้นจนเป็นภัยต่อผู้เสพมากกว่าปรกติ)

ส่วนในเรื่องของปัญหา overcriminalization หรือการใช้โทษทางอาญาอย่างล้นเกินนั้น กล่าวโดยรวมก็คือ ลักษณะของกฎหมายที่นำไปสู่การกำหนดโทษที่รุนแรงจนไม่ได้สัดส่วนกับเจตนาในการกระทำผิด ร้ายแรงเกินกว่าความเสียหายอันเกิดจากการกระทำผิด หรือใช้โทษอาญากับความผิดที่แท้จริงแล้วมิได้เป็นการกระทำที่ส่งผลร้ายแรงต่อประชาชนและสังคมถึงเพียงนั้น

หากเปรียบกฎหมายเป็นเงิน overcriminalization ก็คือการใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยและไม่คุ้มค่านั่นเอง

ตามที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า ในจำนวนผู้ต้องกว่าสามแสนคนเป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติดกว่าร้อยละเจ็ดสิบ ซึ่งเมื่อลงลึกไปในรายละเอียด ตัวอย่างข้อมูลจากในปี พ.ศ. 2557 พบว่า จำนวนของผู้ต้องขังที่เป็นนักโทษเด็ดขาดในคดียาเสพติด เมื่อแยกตามคดีแล้วจะพบว่า ประเภทเสพ 6,380 คน, ประเภทครอบครอง 28,606 คน, ประเภทเสพและครอบครอง 12,562 คน, ประเภทจำหน่าย 41,419 คน, ประเภทครอบครองเพื่อจำหน่าย 59,938 คน และประเภทอื่นๆ (ผลิต/นำเข้า/ส่งออก) 4,367 คน หรือคือรวมทั้งหมด 153,272 คน และในจำนวนนี้นั้นเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาบ้า 140,119 คน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 91.42

ด้วยข้อมูลจำนวนผู้ต้องขังดังกล่าวนี้ ผมคิดว่าเรากล่าวได้ทันทีเลยว่าเรากำลังประสบปัญหาการใช้โทษทางอาญาอย่างล้นเกินในคดียาเสพติด โดยเฉพาะกรณีของยาบ้า

หากเรายังอยู่ในโลกใบเดิม ที่เติบโตมากับภาพความเป็นปีศาจร้ายของยาเสพติด การใช้กฎหมายเช่นนี้ก็อาจนับว่าสมควรแก่เหตุ ทว่า นี่เป็นโลกที่ความรู้ทางด้านยาเสพติดมีความเจริญก้าวหน้าจนบางประเทศ เช่น โปรตุเกส เลิกใช้การลงโทษทางอาญากับผู้ครอบครองหรือเสพยาเสพติด (โดยที่ก็ไม่ได้ให้ผลเป็นการล่มสลายของสังคมแต่อย่างไร) หรือในกรณีของยาบ้า จากที่ผมได้เคยพูดคุยกับ ดร.คาร์ล ฮาร์ต (Carl Hart)  ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้พบความรู้ใหม่ๆ ว่าแม้การเสพยาบ้าจะทำให้เกิดการคุ้มคลั่งอย่างที่เรามักเห็นปรากฏเป็นภาพข่าวในสื่อต่างๆ ได้จริง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่เสพจะต้องกลายสภาพเป็นเช่นนั้นในทันที การที่คนที่เสพยาบ้าตกอยู่ในสภาวะเช่นนั้นเป็นผลจากการเสพติดต่อกันในปริมาณมากและเป็นเวลานาน ประกอบกับอาจมีความเครียดในเรื่องอื่นเป็นฐานเดิม ซึ่งเหล่านี้ทำให้การลงโทษทางอาญาโดยยึดเอายาบ้าเป็นศูนย์กลางนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ตรงจุด และแน่นอนว่าย่อมเป็นการใช้กฎหมายอาญาอย่างล้นเกิน ซึ่งก็มีสาเหตุจากการไม่มีความรู้ความเข้าใจสิ่งที่ตนเองกำลังใช้กฎหมายมาควบคุม

เอาง่ายๆ ครับ ยาบ้าที่หมุนเวียนในประเทศไทยนี่ปีหนึ่งเป็นล้านเม็ด ถ้าแค่เสพก็ต้องคลั่ง ตอนนี้เราคงได้เห็นกองทัพคนคลั่งเป็นล้านคนวิ่งทั่วท้องถนนไปหมดแล้ว

ถ้าคุณไม่อยากเชื่อการวิจัยของ ดร.คาร์ล ฮาร์ต ลองฟังใจความจากคำพูดของผู้ต้องขังชายท่านหนึ่งจากเรือนจำกลางขอนแก่นก็ได้ เมื่อคณะผู้พิพากษาถามว่าถ้ามีพรวิเศษให้หนึ่งข้อ อยากให้ยาบ้าหมดไปจากโลกนี้หรือไม่ ผู้ต้องขังชายท่านนี้ตอบว่าไม่ และควรทำให้มีอย่างเสรีโดยรัฐเป็นผู้จัดการเอง เพื่อจะได้สามารถควบคุมได้ ทั้งยังเป็นการลดแรงจูงใจจากการหากำไรในตลาดผิดกฎหมาย และเมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนั้น ไม่กังวลว่าสังคมจะเต็มไปด้วยคนที่คุ้มคลั่งเพราะเสพยาบ้าหรือ ผู้ต้องขังชายท่านนี้ตอบว่า ไม่ พวกที่คลั่งนั้นคงเป็นเพราะเครียดอยู่แล้วมากกว่า อย่างตัวเขาเองนั้นเสพแล้วหมดฤทธิ์ก็นอน ก็ไม่ได้มีอะไรแบบนั้น

ถ้าสิ่งเหล่านี้ยังไม่พอจะทำให้เชื่อได้ เราก็คงต้องผลักดันให้เกิดการวิจัยค้นคว้าที่จะทำให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ชัดเจนครับ โลกเราพัฒนามาได้เพราะอะไรแบบนั้น ถ้าโลกหมุนไปข้างหน้าได้ด้วยการนั่งเทียนทึกทัก ป่านนี้แล้วโลกเราก็คงยังแบนอยู่นั่นแหละครับ

หรือต่อให้ไม่มีความรู้ใหม่ๆ พวกนี้ ตัวกฎหมายยาเสพติดในคดีเกี่ยวกับยาบ้าก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขก็ยังมีความล้นเกินอยู่ดี ผู้ต้องขังบางรายนั้นต้องโทษด้วยคดีนำยาบ้าเข้ามาในประเทศเพื่อจำหน่าย ซึ่งคดีดังกล่าวนี้นั้นมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ตัวผู้ต้องขังนั้นนำข้ามพรมแดนมาเป็นจำนวนที่น้อยมาก และมีเจตนาเพื่อนำมาเสพเอง ซึ่งทางด้านผู้พิพากษาในคดีก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะกฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้สามารถตัดสินเป็นอย่างอื่น จำต้องตัดสินโทษไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แม้จะทั้งไม่ตรงกับและเกินเลยต่อเจตนากระทำผิดไปอย่างมหาศาลก็ตาม

การใช้โทษทางอาญาอย่างล้นเกินในคดียาเสพติดนั้นมีแต่สร้างความสูญเสียครับ ส่วนจะสูญเสียอย่างไร ผมขอยกยอดไปพูดต่อในตอนหน้าครับ