ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ย้อน “ข้อต่อสู้” จำเลยคดีทรัพย์สิน “แจ้งเท็จ-ปกปิด-ร่ำรวยผิดปกติ” กับบทสรุปคำตัดสินเปรียบเทียบกรณี“นาฬิกาหรู”

ย้อน “ข้อต่อสู้” จำเลยคดีทรัพย์สิน “แจ้งเท็จ-ปกปิด-ร่ำรวยผิดปกติ” กับบทสรุปคำตัดสินเปรียบเทียบกรณี“นาฬิกาหรู”

30 มกราคม 2018


“ของเพื่อน” คือคำชี้แจงของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนภายหลังจากถูกซักถามถึง “ที่มา-ที่ไป” ของนาฬิกาหรูหลายเรือน ที่อยู่บนข้อมือของ พล.อ. ประวิตร แต่กลับไม่ปรากฏในรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

หลังจากชี้แจงต่อ ป.ป.ช. จนนำไปสู่การสอบถ้อยคำของบุคคลที่ 3 จำนวน 4 ราย โดยล่าสุด ป.ป.ช. ได้ขอให้ พล.อ. ประวิตร ทำหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 3 เนื่องจากยังมีภาพของนาฬิกาหรูปรากฏเพิ่มเติมในโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง โดย ป.ป.ช. คาดว่า ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ การหาข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวจะมีความชัดเจนขึ้น

แต่ทว่า คำชี้แจงที่ระบุว่า “ของเพื่อน” จะสมเหตุสมผลกับจำนวนนาฬิกาที่ พล.อ. ประวิตร “ใส่วน” หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของ ป.ป.ช.

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบ “ข้อต่อสู้” ที่ “ผู้ถูกกล่าวหา” ในชั้นการพิจารณาของ ป.ป.ช. หรือที่เรียกว่า “จำเลย” ในชั้นของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่หลายคนเคยเบิกความไว้นั้น มีหลากหลายเหตุผลที่หยิบยกมา “แก้ต่าง” เพื่อให้ตนเองพ้นผิด แต่สุดท้ายศาลมีคำพิพากษาลงโทษตามฐานความผิดตามคำฟ้องของ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด ตามแต่กรณีในคดีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และคดีร่ำรวยผิดปกติ

“การเล่นพนัน”

นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (คดีหมายเลขดําที่ อม. 1 /2545 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2546)

ที่มา: อัยการสูงสุดยื่นขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากมีผู้ร้องต่อ ป.ป.ช. ว่าระหว่างที่นายเกียรติดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีเงินไหลเข้าออกในบัญชีของนางสุรกัญญา สุขธนะ ภรรยา จำนวนมาก ซึ่งสงสัยว่าเงินจำนวนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยเมื่อ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่านายรักเกียรติไม่สามารถชี้แจงได้ว่าเงินดังกล่าวได้รับมาโดยชอบ แม้ว่านายรักเกียรติจะอ้างว่า ที่มาของเงินมาจาก “การเล่นพนัน” ก็ตาม จน ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดนายรักเกียรติฐานร่ำรวยผิดปกติ พร้อมส่งให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 233,880,000 บาท ที่เป็นทรัพย์สินของนายรักเกียรติ ตกเป็นของแผ่นดิน

ข้อต่อสู้: นายรักเกียติเบิกความว่า ที่มาของทรัพย์สินมาจากการเล่นพนัน ที่บ่อนกาสิโนเบิร์สวูด อินเตอร์เนชั่นแนล รีสอร์ท ประเทศออสเตรเลีย รวม 4 ครั้ง แต่คณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. ได้สรุปวิธีการเล่นพนันที่ผิดพลาด เนื่องจากไม่มีการสอบถามผู้มีอาชีพจัดพาคนไปเล่นพนัน ได้แก่ ตัวแทนและตัวแทนช่วง ซึ่งผู้ไปเล่นพนันจะวางเงินของตนเองก่อนไปเล่นพนันหรือขอวงเงินเครดิตจากตัวแทน และจะชำระบัญชีเงินพนันที่เล่นได้เสียกับตัวแทนเหล่านั้น โดยไม่ต้องนำเงินไปชำระบัญชีกับบ่อนกาสิโน หรือนำเงินกลับมาประเทศไทยเอง อีกทั้งการที่ตนเองเป็นนักการเมือง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หากบุคคลทั่วไปทราบถึงการเล่นพนัน จึงไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ เป็นเหตุให้ต้องฝากเงินในชื่อบัญชีของบุคคลอื่น (นายจิรายุ จรัสเสถียร อดีตที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข และนายพิษณุกร อุดรสถิตย์ น้องเขย) เพื่อความสะดวกในการที่จะเบิกมาใช้จ่ายทางการเมือง

ศาลพิเคราะห์: แม้ข้อเท็จจริงจะเห็นว่านายรักเกียรติเดินทางไปเล่นพนันจริง แต่ปัญหาคือเล่นพนันได้จริงหรือไม่ และเป็นเงินจำนวนเท่าใด ซึ่งมีแต่คำเบิกความของนายรักเกียรติเท่านั้น ส่วนบุคคลอื่นที่รวมเดินทางไปด้วยเบิกความว่าไม่ทราบว่านายรักเกียรติเล่นได้เสียจำนวนเท่าใด อีกทั้งหากนายรักเกียรติได้เงินจากการเล่นพนันจริงก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องนำไปเข้าบัญชีคนอื่นก่อน เพราะอาจเกิดข้อโต้แย้งกันในภายหลังได้

ส่วนข้ออ้างที่ระบุว่า มีตำแหน่งเป็น ส.ส. และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องปกปิดไม่ให้สาธารณชนทราบว่าตนเองเป็นนักการพนันนั้น ศาลเห็นว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอ เพราะการนำเงินฝากเข้าบัญชีบุคคลภายนอกไม่อาจล่วงรู้ที่มาได้ อีกทั้งนายรักเกียรติเคยรับราชการที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ย่อมทราบถึงความสำคัญในการจัดทำและจัดเก็บเอกสารเกี่ยวกับการรับเงิน และการจ่ายเงินไว้เป็นหลักฐานเพื่อประโยชน์ต่อการตรวจสอบในภายหน้า

นอกจากนี้ ข้ออ้างที่ระบุว่าสามารถไปเล่นพนันโดยไม่ต้องวางเงินก่อนเดินทางไปเล่นพนันได้ โดยขอเครดิตจากบริษัทตัวแทนนั้น ไม่สอดรับกับคำเบิกความของบริษัทตัวแทนที่ยืนยันว่า นายรักเกียรติมักวางเงินก่อนเดินทาง มีบางครั้งเท่านั้นที่ขอเครดิต ดังนั้น องค์คณะเสียงข้างมากจึงมีติว่าการชี้แจงของนายรักเกียรติในคดีนี้ฟังไม่ขึ้น พิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

ได้บ้านมาก่อนดำรงตำแหน่ง

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คดีหมายเลขดำที่ อม. 75/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 128/2559)

ที่มา: อัยการสูงสุดยื่นขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจาก ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมาก ชี้มูลความผิดจากการไต่สวนกรณีการร่ำรวยผิดปกติของนายสมศักดิ์ ซึ่งจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง ที่ไม่แสดงบ้านพักเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ที่ปลูกสร้าง เมื่อปี 2541 ในช่วงที่นายสมศักดิ์เป็น รมช.ศึกษาธิการ และก่อสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อปี 2544 ในช่วงที่นายสมศักดิ์เป็น รมว.ศึกษาธิการ โดยใช้เงินค่าก่อสร้าง 16 ล้านบาท

ข้อต่อสู้: เงินที่นำมาใช้ก่อสร้างเป็นเงินที่ได้มาโดยสุจริต ซึ่งเป็นเงินเก็บสะสมไว้ประมาณ 30 ล้านบาท จากการได้รับสนับสนุนในการงสมัครรับเลือกตั้งจากพรรคชาติไทยและที่ผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน ตั้งแต่ปี 2529-2539 และได้บ้านมาก่อนดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการและก่อนที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 จะมีผลบังคับใช้

ศาลพิเคราะห์: แม้บ้านหลังดังกล่าวจะปลูกสร้างโครงสร้างบ้านแล้วเสร็จก่อนนายสมศักดิ์ดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการก็ตาม แต่ยังมีการตกแต่งและปลูกสร้างส่วนอื่นอีกมากอย่างต่อเนื่องจนสมบูรณ์เมื่อปลายปี 2543 อีกทั้งนายสมศักดิ์ยังถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2539-2544 ในฐานะ ส.ส. จึงสามารถกล่าวหาได้ว่าบ้านหลังนี้ได้มาในระหว่างการดำรงตำแหน่งทางการเมือง อีกทั้งเบิกความในชั้นศาลแตกต่างจากที่ให้ถ้อยคำกับ ป.ป.ช. โดยเฉพาะที่ระบุว่าใช้เงินสดที่เก็บในตู้นิรภัยมาใช้จ่าย ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นการง่ายที่จะหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้าง เพราะอยู่ในความรู้เห็นของนายสมศักดิ์และคู่สมรสเท่านั้น ที่สำคัญ ในการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กำหนดให้การมีเงินสดมากกว่า 100,000 บาทต้องแจ้งไว้ในบัญชีด้วย แต่นายสมศักดิ์ไม่ได้แสดงรายการทรัพย์สินในส่วนนี้ จึงพิพากษาว่าบ้านหลังดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน

ขายหุ้นจริง คนซื้อหุ้นเป็น ขรก. กู้เงินจากต้นสังกัดมาซื้อ

นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (คดีหมายเลขดําที่ อม. 2/2552 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 9/2552)

ที่มา: ป.ป.ช. ยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยนายยงยุทธ ฐานจงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง คู่สมรส หรือบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 5 ครั้ง กรณีเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2548 กรณีพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 กรณีพ้นตำแหน่งเป็นเวลา 1 ปี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550 กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 และพ้นตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 โดยระบุว่ามีทรัพย์สินเป็นเงินให้กู้ยืมจำนวน 1,600,000 บาท ที่ได้มาจากการขายหุ้นบริษัท มิติฟู้ด โปรดักส์ จำกัด จำนวน 24,500 หุ้น รวม 2,450,000 บาท ให้กับ พ.ต.ท. นัฏฐวุฒิ ยุววรรณ น้องภรรยา ที่ได้ชำระเงินสด 800,000 บาท ส่วนที่เหลือทำหนังสือรับสภาพหนี้ แต่ปรากฏว่าไม่มีการชำระเงินจริง ถือเป็นการอำพรางทรัพย์สิน เพื่อให้มีคุณสมบัติเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรได้

ข้อต่อสู้: สัญญาซื้อขายหุ้นบริษัทและหนังสือรับสภาพหนี้ระหว่างตนเองกับ พ.ต.ท. นัฏฐวุฒิ มิใช่นิติกรรมอําพราง เพราะคู่สัญญามีเจตนาซื้อขายหุ้นกันและมีหนี้สินระหว่างกันจริง โดย พ.ต.ท. นัฏฐวุฒิ และภรรยา ซึ่งมีฐานะและทรัพย์สินเพียงพอสามารถซื้อหุ้นได้ อีกทั้งบุคคลทั้งสองเป็นข้าราชการตํารวจมีสิทธิรวมกันกู้เงินจากหน่วยงานต้นสังกัด นอกจากนี้ บริษัทซึ่งเป็นบริษัทผลิตผลไม้กระป๋องยังมีทรัพย์สินเป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องใช้สํานักงาน ที่ยังมีมูลค่าและมีสภาพสามารถใช้งานได้

ศาลพิเคราะห์: เมื่อมีการโอนหุ้นและจดแจ้งทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว พ.ต.ท. นัฏฐวุฒิ ยังไม่ได้ชำระเงินส่วนที่เหลือ ถือว่าผิดสัญญา โดยให้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ แต่อ้างเหตุไม่ทวงถามเนื่องจากเป็นน้องภรรยา เห็นว่าหากเป็นตามที่นายยงยุทธอ้างก็ไม่มีเหตุต้องทำสัญญารับสภาพหนี้ และเมื่อพิจารณาจากบัญชีงบดุลของบริษัทฯ ปี 2544-2548 ไม่มีทรัพย์สินถาวร มีทรัพย์สินเพียงเล็กน้อย ส่วนบัญชีเงินฝากของบริษัทถูกปิดนานกว่า 7 ปี เชื่อว่าไม่มีผลประกอบการหรือรายได้ที่จะทำให้ พ.ต.ท. นัฏฐวุฒิ ซื้อหุ้นมูลค่าสูง อีกทั้ง พ.ต.ท. นัฏฐวุฒิ เบิกความว่า ไม่เคยยุ่งเกี่ยวการบริหารงาน ไม่ทราบว่าผลประกอบการและกรรมการผู้มีอำนาจเป็นใคร ผิดวิสัยนักลงทุนที่จะซื้อหุ้นบริษัทสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของหุ้นที่มีอยู่

องค์คณะมีมติเสียงข้างมากว่า นายยงยุทธ เจตนาจงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ห้ามนายยงยุทธดำรงตำแหน่งทางการเมืองและในพรรคการเมือง 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีวินิจฉัย และจำคุก 2 เดือน ปรับ 4,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 แต่ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษ 1 ปี

ลูกจะปลูกบ้านให้แม่ช่วยจัดการ

นายสมบัติ อุทัยสาง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (คดีหมายเลขดําที่ อม. 3/2552 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 8/2552 )

ที่มา: ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลนายสมบัติ อุทัยสาง ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบของตนและนางสุจิวรรณ อุทัยสาง คู่สมรส ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในตำแหน่งประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรณีเข้ารับตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี รวม 3 ตำแหน่ง 9 บัญชี โดยไม่แสดงบัญชีเงินฝากของตนหรือคู่สมรสที่อยู่ในชื่อของบุตร หรือที่คู่สมรสมีชื่อร่วมกับบุตร จำนวน 9 บัญชี เป็นเงินรวม 106,265,910.92 บาท เพื่อปกปิดจำนวนทรัพย์สินที่แท้จริงของตน เป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ

ข้อต่อสู้: เงินในบัญชีเงินฝากทั้ง 9 บัญชี เป็นของบุตรของผู้คัดค้าน 3 คนที่บรรลุนิติภาวะแล้ว เหตุที่มีชื่อของนางสุจิวรรณร่วมเป็นเจ้าของบัญชีด้วยเนื่องจากบุตรแต่ละคนจะปลูกสร้างบ้านของตน จึงต้องการให้นางสุจิวรรณช่วยดําเนินการเกี่ยวกับปลูกสร้าง

ศาลพิเคราะห์: นางสุจิวรรณมีชื่อเป็นผู้มีอํานาจเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากร่วมกับบุตรอย่างแท้จริง โดยพิพากษาว่า นายสมบัติจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 ลงโทษจําคุก 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่านายสมบัติเคยได้รับโทษจําคุกมาก่อน โทษจําคุกเห็นสมควรรอการลงโทษไว้มีกําหนด 1 ปี และห้ามมิให้ผู้คัดค้านดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือดํารงตําแหน่งใดใน พรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

ทั้งนี้สำหรับกรณีดังกล่าว ป.ป.ช. เพิ่งชี้มูลความผิดนายสมบัติฐานร่ำรวยผิดปกติไปเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2560 พร้อมยื่นให้อัยการสูงสุดส่งคำฟ้องให้ศาล ยึดทรัพย์นายสมบัติ จำนวน 108,574,356.23 บาท แบ่งเป็นเงินที่ไม่สามารถพิสูจน์การได้มาของเงินได้ 91,291,109 บาท และดอกเบี้ยเงินฝากที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นดอกผลทางนิตินัยของเงินฝากดังกล่าวอีกจำนวน 17,283,247 บาทให้ตกเป็นของแผ่นดินต่อไป

หย่าสามี ถามเพื่อน ส.ว. แล้วบอกไม่ต้องยื่น

นางอรพินท์ มั่นศิลป์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (คดีหมายเลขดําที่ อม. 4/2552 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 6/2552 )

ที่มา: ป.ป.ช. ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยกรณีที่นางอรพินท์ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหลังจากเข้าดำรงตำแหน่ง ส.ว. เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2551 อันเป็นเท็จ หลังจากที่ปรากฏเป็นข่าวในวันที่ 31 มีนาคม 2551 ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นางอรพินท์เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ ล. 3089/2551 ที่บริษัท บริหารสินทรัพย์พญาไท จํากัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางอรพินท์กับพวกให้ล้มละลาย ตามมูลหนี้ 187,906,459.49 บาท แต่ไม่ปรากฏในการแสดงบัญชีรายชการทรัพย์สินและหนี้สิน

ข้อต่อสู้: ไม่ได้จงใจยื่นบัญชี แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ เนื่องจากหนี้ค้ำประกันของสามีซึ่งเป็นลูกหนี้ค้ำประกันและได้หย่าขาดกับสามีแล้วจึงเข้าใจว่าไม่ได้เป็นหนี้ นอกจากนี้ยังเข้ารับตําแหน่งสมาชิกวุฒิสภาเป็นสมัยแรก ไม่มีประสบการณ์ในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินมาก อีกทั้งแบบฟอร์มในส่วนที่เกี่ยวกับรายการแสดงหนี้สินหน้า 4 ไม่ได้ระบุให้กรอกรายการเกี่ยวกับภาระค้ำประกัน พร้อมกับได้ขอคําปรึกษาจากเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาที่เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้รับคําแนะนําว่า ภาระค้ำประกันไม่ใช่รายการหนี้สินที่จะต้องยื่น จนทนายความแนะนําว่าจะต้องยื่นภาระค้ำประกันในรายการแสดงหนี้สินด้วย จึงทําหนังสือขออนุญาตแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติม

ศาลพิเคราะห์: การหย่าขาดจากคู่สมรสนั้นมีผลเพียงทําให้สถานะการเป็นสามีภริยาสิ้นสุดลงเท่านั้น หามีผลทําให้สัญญาค้ำประกันสิ้นสุดลงด้วยไม่ ดังนั้น ข้ออ้างของนางอรพินท์ที่อ้างว่าไม่ได้เป็นผลผูกพันกับการก่อหนี้ก็ดี หย่าขาดจากคู่สมรสแล้วก็ดี ไม่ต้องเกี่ยวพันกับหนี้ดังกล่าวอีกต่อไป ก็เป็นความเข้าใจของนางอรพินท์เอง จึงไม่มีเหตุผลให้รับฟัง ส่วนที่นางอรพินท์อ้างว่า ได้ขอคําปรึกษาจากเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาแล้ว นางอรพินท์ก็ควรที่จะสอบถามจาก ป.ป.ช. โดยตรงเพื่อให้ได้ความชัดเจน จึงพิพากษาว่า นางอรพินท์จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการ ทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อ ป.ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิด ลงโทษจําคุก 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่านางอรพินท์ได้รับโทษจําคุกมาก่อน โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้มีกําหนด 1 ปี และห้ามดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

สัญญากู้ยืมเงินกันย้ายพรรคหลังได้เป็น ส.ส.

นายปุระพัฒน์ วิเศษจินดาวัฒนา อดีต ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน (คดีหมายเลขดําที่ อม. 1/2554 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 3/2554)

ที่มา: ป.ป.ช. ยื่นฟ้องต่อศาลให้วินิจฉัยกรณีนายปุระพัฒน์ วิเศษจินดาวัฒนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีเข้ารับตําแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 ปรากฏว่า ป.ป.ช. พบว่านายปุระพัฒน์ไม่ได้แสดงหนี้สินเงินกู้ยืม จํานวน 3,500,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 ต่อมานายปุระพัฒน์ถูกเจ้าหนี้ฟ้องต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา เรียกเงินกู้ยืมคืน นายปุระพัฒน์ได้ชําระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวคืนภายหลังจากที่ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

ข้อต่อสู้: ไม่ได้จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ เพราะสัญญากู้ยืมเงินลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน แต่ทําสัญญากู้ยืมเงินกันเพื่อเป็นเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ในการที่นายปุระพัฒน์ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน และยังเป็นข้อผูกมัดเพื่อมิให้นายปุระพัฒน์ย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นหลังจากที่ได้รับเลือกตั้งแล้ว

ศาลพิเคราะห์: พิพากษาว่า นายปุระพัฒน์จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ จึงห้ามมิให้นายปุระพัฒน์ดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือตําแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และลงโทษจําคุก 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี

ทรัพย์สินของมารดา

นายเกษม นิมมลรัตน์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (คดีหมายเลขดำที่ อม. 64/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 43/2560)

ที่มา: คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายเกษม คดีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ และคดีร่ำรวยผิดปกติ จากการตรวจสอบทรัพย์สินกรณีพ้นจากตำแหน่ง และกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปีในตำแหน่ง ส.ส. และตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ รวม 6 กรณี ดังนี้ แจ้งเงินกู้ยืมของนางดวงสุดา นิมมลรัตน์ (คู่สมรส) ที่กู้ยืมจากนางบุญทอง สุภารังสี (มารดาของนายเกษม) 72 ล้านบาท อันเป็นเท็จ ปกปิดเงินที่ได้จากการขายหุ้น บริษัท วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ WIN ในตลาดหลักทรัพย์ มูลค่า 26,193,205 บาท และปกปิดเงินลงทุนในบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASCON มูลค่า 74,205,972 บาทของนางดวงสุดาที่ให้นางบุญทองถือครองแทน

ข้อต่อสู้: ไม่อยู่ในวาระที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เนื่องจากหุ้นดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของมารดา ไม่ใช่ทรัพย์สินของคู่สมรส เนื่องจากคู่สมรสได้ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่มารดาของตนเองแล้ว ส่วนข้อกล่าวหาร่ำรวยผิดปกตินั้น เป็นเงินรายได้จากธุรกิจโรงสีข้าว โรงน้ำแข็ง เงินค้าทองคำ หจก.แม่ริม จำกัดฯ ที่เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ศาลพิเคราะห์: การอ้างถึงที่มาที่ไปของเงินนำมาซื้อทรัพย์สินว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยสุจริตจากรายได้ธุรกิจโรงสีข้าว โรงน้ำแข็ง เงินค้าทองคำ หจก.แม่ริม จำกัดฯ ที่เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะบางส่วนผลประกอบการขาดทุน และธุรกิจโรงสีข้าว-โรงน้ำแข็งก็ไม่มีรายได้มากขนาดนำมาเสียภาษี รวมถึงกรณีที่อ้างว่ามีเงินจากการขายกิจการเก็บเป็นเงินสดเกือบ 100 ล้านบาท หากนำมาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายประจำวัน เงินนั้นย่อมลดลง และไม่มีความจำเป็นที่จะเก็บเงินสดจำนวนมากไว้ในบ้านโดยไม่ได้รับประโยชน์ดอกผล ข้อต่อสู้จึงไม่มีน้ำหนักและเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีหลักฐานเอกสารมาชี้แจงละเอียด จึงมีคำสั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 7 รายการ และดอกเบี้ย มูลค่า 168,453,245.70 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน หากผู้ถูกกล่าวและผู้คัดค้านไม่สามารถชดใช้เงินจำนวนนี้คืนได้ก็ให้บังคับเอาทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านให้ตกเป็นของแผ่นดินภายในอายุความ 10 ปี ส่วนฐานความผิดปกปิดบัญชีทรัพย์สินนั้น ศาลเห็นว่าการกระทำของนายเกษมเป็นความผิดหลายกรรมต่างๆ กัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 6 กระทง เป็นจำคุก 12 เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเป็นเรื่องร้ายแรง องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติเสียงข้างมากไม่รอการลงโทษ

พลั้งเผลอ ไม่รอบคอบ

นายสมควร โอบอ้อม อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ (คดีหมายเลขดําที่ อม. 122/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 175/2560 )

ที่มา: ป.ป.ช. ตรวจสอบพบว่านายสมควรไม่แสดงรายการเงินลงทุนในหุ้นบริษัทโอบอ้อมอุตสาหกรรม (1994) จํากัด จํานวน 85,300 หุ้น มูลค่า 8,530,000 บาท ที่มีชื่อนายเอกชัย พวงเพ็ชร เป็นผู้ถือหุ้นแทน

ข้อต่อสู้: นายสมควรชี้แจงว่า นางสาวภัทรภร โอบอ้อม บุตรสาว ได้กู้ยืมเงินนายเอกชัยเพื่อนํามาใช้จ่ายในกิจการบริษัท บริษัทจึงให้ นายเอกชัยมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นแทนเพื่อเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงิน และด้วยความพลั้งเผลอ ไม่รอบคอบ นายสมควรจึงระบุในบัญชีทรัพย์สิน เฉพาะจํานวนหุ้นตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น โดยมิได้มีเจตนาที่จะปกปิดหรือซ่อนเร้นไม่ชี้แจงให้ ป.ป.ช. ทราบ

ศาลพิเคราะห์: การกล่าวอ้างและไม่มีเหตุผลเพียงพอให้รับฟังได้ว่านายสมควรไม่มีเจตนายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินโดยปกปิดเงินลงทุนจํานวนมากต่อ ป.ป.ช. ทั้งในชั้นพิจารณานายสมควรให้การรับสารภาพ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่านายสมควรไม่ใส่ใจต่อหน้าที่อันสําคัญของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ที่ต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นมาตรการที่กฎหมายบัญญัติเพื่อให้เกิดการตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ศาลจึงมีคำสั่งห้ามดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จําคุก 2 เดือน และปรับ 8,000 บาท แต่นายสมควรให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจําคุก 1 เดือน และปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่านายสมควรได้รับโทษจําคุกมาก่อน โทษจําคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกําหนด 1 ปี

ให้การรับสารภาพ

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (คดีหมายเลขดำที่ อม. 177/2560)

ที่มา: ไม่แสดงรายการทรัพย์สินที่เป็นเงินฝากธนาคาร 4 บัญชี, เงินลงทุนในหุ้นบริษัท 2 แห่ง, สิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน 2 แปลง ของตนเองและนางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ คู่สมรสของผู้คัดค้าน และเงินฝากธนาคารอีก 2 บัญชีที่ผู้คัดค้านและคู่สมรสทราบอยู่แล้วว่ามอบหมายให้อยู่ในความครอบครองดูแลของนายปิยฤกษ์ อรรถกานต์รัตน์ หลานของนางวรรษมล แต่ผู้คัดค้านกลับปกปิดไม่แสดงรายการทรัพย์สินดังกล่าว

ข้อต่อสู้: ไม่มี (ให้การรับสารภาพ)

ศาลพิเคราะห์: การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบต่อ ป.ป.ช. ทุก 3 ปีที่อยู่ในตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ จึงมีคำสั่งห้ามมิให้ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลา 5 ปี ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท แต่นายธาริตให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี

ยืมเพื่อนมาทีละนิด

นายสมมิตร ไชยโชติ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางสวน อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา (คดีหมายเลขดำที่ อม. 73/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 87/2558)

ที่มา: ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริง กรณีเข้ารับตำแหน่ง โดยไม่ยื่นรายการหนี้สินที่เป็นหนี้นางสาวอุษาพรรณ กนกอนันต์ จำนวน 10,993,207 บาท

ข้อต่อสู้: หยิบยืมเงินจากนางสาวอุษาพรรณ ซึ่งเป็นเพื่อนกันทีละเล็กละน้อย คิดว่าไม่จำเป็นต้องกรอกรายละเอียด

ศาลพิเคราะห์: นายสมมิตรไม่ใส่ใจต่อหน้าที่อันสำคัญของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะต้องปฏิบัติ ซึ่งเป็นมาตรการที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อให้เกิดการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นไปโดยสำนึกในการกระทำที่ต้องการจะปกปิดหนี้สินที่ตนมีอยู่ จึงพิพากษาว่านายสมมิตรจงใจยื่นบัญชีฯ กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางสวน ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ห้ามมิให้นายสมมิตรดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใด ในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จำคุก 2 เดือน และปรับ 8,000 บาท นายสมมิตรรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี

คดี “นาฬิกาหรู” ของ พล.อ. ประวิตร ที่ ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงกลายเป็นเครื่องชี้วัดว่า “บรรทัดฐาน” การทำคดีทรัพย์สินของ ป.ป.ช. จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่