ThaiPublica > คอลัมน์ > ห้องน้ำกับความเท่าเทียมทางเพศในพื้นที่สาธารณะ

ห้องน้ำกับความเท่าเทียมทางเพศในพื้นที่สาธารณะ

17 มกราคม 2018


ลัษมณ ไมตรีมิตร นักศึกษาปริญญาเอกทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม University of Illinois at Urbana-Champaign

ข่าวใหญ่ส่งท้ายปี 2560 และต้อนรับปีใหม่ 2561 ในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศคงหนีไม่พ้นเรื่องการประกาศรับรองการแต่งงานโดยไม่มีข้อจำกัดทางเพศ (Marriage equality) ในประเทศออสเตรเลีย ที่นับเป็นประเทศล่าสุดที่ยอมรับการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันอย่างถูกกฎหมาย และข่าวประกาศจากทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงข้อกำหนดในการแต่งกายเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 52 ที่ยินยอมให้นักศึกษายื่นคำร้องขอแต่งกายตามเพศสภาวะที่แสดงออกในปัจจุบันในงานพระราชพิธีได้

ภาพการแต่งงานของคู่รักเพศจากการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ประเทศ Australia ประกาศรับรองการแต่งงานโดยไม่มีข้อจำกัดทางเพศ ที่มาภาพ: https://www.nbcnews.com/feature/nbc-out/same-sex-couples-marry-midnight-ceremonies-across-australia-n8

ความตื่นตัวในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญในช่วงปีที่ผ่านมา การเรียกร้องที่ปรากฏในข่าวมุ่งไปที่การแก้กฎ(หมาย)ที่ไม่เป็นธรรมกับการแสดงออกถึงเพศสภาพ การยอมรับเพศทางเลือกจากสังคม และความเท่าเทียมในบทบาทหน้าที่ของคนทุกเพศ แต่ในมิติของพื้นที่ทางกายภาพที่จะมารองรับความเท่าเทียมทางเพศกลับยังไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งควรเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน กลับกลายเป็นพื้นที่อันตราย เต็มไปด้วยการกดทับทางสังคม และการแบ่งแยกทางเพศ

ห้องน้ำสาธารณะเป็นตัวอย่างพื้นที่สาธารณะที่สะท้อนปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศอย่างชัดเจน ทั้งอันตรายที่เพศหญิงเผชิญ ความอึดอัดไม่เป็นส่วนตัวที่เพศชายรู้สึก และความจำกัดทางพื้นที่ของเพศทางเลือก

ในกรณีแรก ถึงแม้ห้องน้ำสาธารณะนับเป็นพื้นที่ที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้งานอยู่เป็นประจำ แต่การเข้าถึงห้องน้ำกลับไม่ได้รับการจัดวางอย่างเหมาะสม ด้วยเหตุผลทางงานระบบอาคารและการแบ่งแยกพื้นที่ใช้สอยตามการใช้งาน ห้องน้ำมักถูกออกแบบให้ตั้งอยู่ในพื้นที่ลับตาคน ทำให้เกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายในห้องน้ำสาธารณะอยู่บ่อยครั้ง สร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้ที่จำเป็นต้องใช้บริการ โดยเฉพาะเพศหญิงที่มักตกเป็นเหยื่อจากการฉวยโอกาสจากพื้นที่ปิดของห้องน้ำสาธารณะเหล่านี้

ทางเดินไปห้องน้ำของโครงการแห่งหนึ่ง จะเห็นได้ว่าห้องน้ำมักถูกออกแบบให้อยู่ในพื้นที่ลับตาคน ที่มาภาพ : ผู้เขียน

กรณีต่อมา ความคาดหวังของสังคมต่อการแสดงออกของเพศชาย สะท้อนในการออกแบบพื้นที่ภายในห้องน้ำที่มักไม่ได้คำนึงถึงความเป็นส่วนตัวและความต่างระหว่างบุคคล ห้องน้ำชายมักมีลักษณะเปิดเผย ซึ่งหลายครั้งสร้างความอึดอัดใจกับผู้ใช้งาน การปลูกฝังแนวคิดเรื่องความเป็นชายที่ผูกติดกับความเปิดเผยทางเพศถูกสั่งสมจากการเรียนรู้ในห้องน้ำสาธารณะที่ใช้งานซ้ำๆ ทุกวันตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ เพศชายถูกจำกัดโอกาสในการเลือกวิธีการแสดงออกซึ่งตัวตนในพื้นที่ห้องน้ำสาธารณะที่ถูกออกแบบภายใต้มุมมองด้านเดียวของสังคม

ห้องน้ำชายที่มักขาดความเป็นส่วนตัว ภาพนี้มีที่มาจากโฆษณาของบริษัท LG ที่ตอกย้ำมุมมองของสังคมต่อความเปิดเผยในเรื่องเพศของเพศชายในพื้นที่สาธารณะ ที่มาภาพ: http://www.adweek.com/creativity/lg-monitors-are-so-lifelike-theyll-stop-you-urinating-properly-148668/

นอกเหนือไปจากนั้น ประเด็นที่สำคัญที่สุดและมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง คือการจำกัดเพศสภาวะในห้องน้ำให้เหลือเพียงสองกลุ่มคือเพศหญิงและเพศชายตามกรอบวัฒนธรรมในยุคสมัยหนึ่ง ผลคือเพศทางเลือกไม่มีแม้แต่ห้องน้ำที่เหมาะสมกับเพศสภาวะของตน และจำเป็นต้องเลือกตามอัตลักษณ์ที่สังคมกำหนด การใช้บริการห้องน้ำกลายเป็นความไม่สบายใจ ทั้งต่อกลุ่มเพศทางเลือกและผู้ใช้งานร่วม เช่น บุคคลที่แสดงออกเป็นเพศชายแต่มีเพศกำเนิดเป็นหญิง ไม่สามารถใช้ห้องน้ำชายได้เนื่องจากข้อจำกัดทางสรีระ แต่ก็อาจทำให้ผู้ใช้งานอื่นในห้องน้ำหญิงไม่สบายใจเพราะคิดว่าเป็นชาย หลายครั้งก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพเพราะการพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ห้องน้ำในที่สาธารณะเนื่องจากกังวลถึงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น

ห้องน้ำสาธารณะสำหรับเพศหญิงหรือชายเท่านั้น ที่มาภาพ: http://www.acnews.net/detailnews.php?news_id=N255602285

จากปัญหาที่ยกตัวอย่างมาจะเห็นได้ว่า พื้นที่ห้องน้ำสาธารณะสะท้อนปัญหาทางสังคมที่สัมพันธ์กับสิทธิส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาวะในหลายกรณี เมื่อแนวคิดทางสังคมเปลี่ยนและวัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลง พื้นที่ทางกายภาพในวัฒนธรรมนั้นๆ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนตาม จึงได้เกิดการเรียกร้องให้มีการปฎิวัติแนวคิดเกี่ยวกับการออกแบบห้องน้ำสาธารณะขึ้นใหม่

ในปี 2560 การเคลื่อนไหวเรื่องห้องน้ำสาธารณะในประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมาก หลังจากที่ทีมงานของบารัก โอบามา ประธานาธิบดีคนก่อนของสหรัฐอเมริกา เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงโรงเรียนรัฐบาลในสหรัฐฯ เรียกร้องให้นักเรียนมีสิทธิในการเลือกใช้ห้องน้ำตามเพศสภาวะของตน เพื่อตอบโต้ข้อกำหนดของรัฐนอร์ทแคโรไลนาที่บังคับให้คนเลือกใช้ห้องน้ำตามเพศกำเนิด อาจารย์ Kathryn Anthony จากโรงเรียนสถาปัตยกรรมมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์เชื่อว่า วิธีทางการออกแบบจะเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาทางความไม่เท่าเทียมทางเพศในห้องน้ำสาธารณะที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ การออกแบบห้องน้ำเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศจึงเป็นสิ่งท้าทายสิ่งใหม่สำหรับวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกับพื้นที่ทางกายภาพ

การออกแบบห้องน้ำสาธารณะโดยทั่วไปขาดการคำนึงถึงมิติทางสังคม การออกแบบเน้นใช้พื้นที่น้อยที่สุดและมีสุขภัณฑ์จำนวนน้อยที่สุดตามที่กฎหมายกำหนด ที่มาภาพ: https://i.ytimg.com/vi/RzyRCiNJYjo/maxresdefault.jpg

ห้องน้ำสาธารณะที่ออกแบบมาเพื่อคนทุกคนโดยไม่แบ่งแยกเพศ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนเลือกแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศได้อย่างอิสระ รูปแบบของ All-Gender Restroom หรือห้องน้ำสำหรับทุกคน ที่หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน เช่น รูปแบบห้องน้ำสำหรับพนักงานองค์กรที่เป็นเพศทางเลือกตามข้อกำหนดขององค์กรปกป้องสิทธิและรักษาความปลอดภัยของลูกจ้างภายใต้กรมแรงงานของสหรัฐอเมริกา หรือรูปแบบห้องน้ำตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ถูกกำหนดคร่าวๆ ว่าทุกอาคารต้องมีห้องน้ำกลางสำหรับเพศใดก็ได้ ในห้องน้ำ 1 ห้องจะต้องมีโถสุขภัณฑ์ที่ไม่แบ่งแยกเพศ หรือมีทั้งโถสุขภัณฑ์และโถปัสสาวะชาย มีพื้นที่สำหรับชำระล้างทำความสะอาดและตรวจดูความเรียบร้อย คืออ่างล้างมือและกระจก อาจมีพื้นที่เอนกประสงค์สำหรับการเปลี่ยนเสื้อผ้า และพื้นที่สำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก ประตูห้องน้ำต้องสามารถปิดล็อกจากภายในได้ และมีสัญลักษณ์ว่าเป็นห้องน้ำสำหรับทุกคนโดยไม่แบ่งแยกเพศ

มหาวิทยาลัย Northern Illinois University (NIU) จัดสร้างห้องน้ำสำหรับทุกคนโดยไม่แบ่งแยกเพศเพื่อบริการนักศึกษาและบุคลากร ที่มาภาพ: http://northernstar.info/campus/niu-looking-to-implement-gender-neutral-bathrooms/article_9c9e1b04-fa23-11e5-ab1b-dfa017f67808.html

บทความเรื่อง “Why Architects Must Rethink Restroom Design in Schools” โดย JoAnn Hindmarsh Wilcox และ Kurt Haapala ได้นำเสนอห้องน้ำที่ถูกออกแบบใหม่โดยบริษัท Mahlum ในโรงเรียนหลายแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยภาษาทางการออกแบบ สถาปนิกได้เปลี่ยนห้องน้ำสาธารณะจากลักษณะของ “ห้อง” เป็น “เขตพื้นที่” ห้องน้ำ ที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างอิสระโดยไม่กั้นแบ่งเป็นพื้นที่ของเพศใดเพศหนึ่ง ประกอบด้วยพื้นที่ส่วนกลางหน้ากระจกที่เชื่อมต่อกับพื้นที่สาธารณะภายนอกโดยมีเพียงผนังบังตากั้น แทนการใช้ประตูที่สร้างพื้นที่ปิดลับตาคนในลักษณะของ “ห้องปิด” เพื่อลบความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการแบ่งกันเป็นพื้นที่ภายในและภายนอก และพื้นที่สำหรับการทำธุระส่วนตัวที่แบ่งแยกเป็นห้องปิดพร้อมอุปกรณ์ครบครันใน 1 ห้องตามคำแนะนำขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพื่อให้ผู้ใช้งานทุกเพศได้รับความเป็นส่วนตัวอย่างเท่าเทียมกัน และสุดท้าย การออกแบบยังคำนึงถึงรายละเอียดเล็กๆ เช่น การออกแบบสัญลักษณ์แทนห้องน้ำที่ไม่จำเป็นต้องระบุเพศเพื่อย้ำว่าห้องน้ำสาธารณะนี้เป็นของทุกคน

ห้องน้ำสาธารณะของมหาวิทยาลัย Oregon ที่ออกแบบใหม่เพื่อลดปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ โดยบริษัท Mahlum ที่มาภาพ: http://www.metropolismag.com/architecture/educational-architecture/why-architects-must-rethink-restroom-design-in-schools/

การตีความแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในห้องน้ำสาธารณะจึงไม่ใช่เพียงแค่การเรียกร้องให้เพิ่มพื้นที่พิเศษสำหรับเพศทางเลือก แต่ยังรวมถึงการรื้อโครงสร้างของพื้นที่ภายใต้วัฒนธรรมและความเชื่อเดิมที่เพศถูกแบ่งแยกออกเป็นแค่เพศหญิงและชาย แล้วสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ไม่แบ่งแยกเพศ ให้ทุกคนมีอิสระในการเลือกแสดงออก การเปลี่ยนโครงสร้างพื้นที่ทางกายภาพให้สอดคล้องกับการปฏิวัติทางสังคมสามารถขยายผลไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศในพื้นที่ที่กว้างขึ้นในระดับเมือง โดยการออกแบบพื้นที่ที่เป็นของทุกคน เป็นพื้นที่ที่คนทุกเพศรู้สึกปลอดภัยในการแสดงออกถึงตัวตน และเป็นพื้นที่ที่ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล

การออกแบบตกแต่งห้องน้ำใหม่อาจช่วยเปลี่ยนความรู้สึกจากพื้นที่ปกปิดเป็นพื้นที่เปิดมากขึ้น แต่ไม่อาจแก้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศได้ การออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมควรเกิดจากการคิดแบบวิพากษ์ ที่มาภาพ: http://www.holidaythai.com/pictures/230/14143_4f20d1cae73b3_big.jpg

เมื่อมิติของความเท่าเทียมในพื้นที่ทางสังคมกำลังเปลี่ยนแปลง พื้นที่ทางกายภาพจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกัน พื้นที่เล็กๆ อย่างห้องน้ำไม่ได้มีค่าเป็นเพียงพื้นที่สนับสนุนพื้นที่หลัก หรือกลายเป็นพื้นที่ขายแบบใหม่ที่ดึงดูดให้มีผู้มาใช้บริการโครงการเพิ่มขึ้น เช่น การออกแบบห้องน้ำแฟนซีในหลายๆ โครงการ แต่การตีความใหม่ของพื้นที่ห้องน้ำสาธารณะสามารถสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่นำไปสู่ความเท่าเทียมของคนทุกเพศในการเลือกแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของตนได้อย่างอิสระ การเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ เช่น การออกแบบ All-Gender Restroom หรือห้องน้ำสำหรับทุกคน จะช่วยนำไปสู่การปฏิวัติความคิดเพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคมที่เป็นอีกเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสังคมโลก