ThaiPublica > เกาะกระแส > “คมนาคม-ท่องเที่ยว” ตั้งคณะกรรมการร่วมบูรณาการงาน 2 กระทรวง ส่งเสริมท่องเที่ยว – เตรียมตรวจสนามบินอาหารแพงพรุ่งนี้

“คมนาคม-ท่องเที่ยว” ตั้งคณะกรรมการร่วมบูรณาการงาน 2 กระทรวง ส่งเสริมท่องเที่ยว – เตรียมตรวจสนามบินอาหารแพงพรุ่งนี้

15 มกราคม 2018


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (กลาง) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา(ซ้าย) และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม(ขวา)

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ร่วมมือจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงการท่องเที่ยว โดยนายอาคม กล่าวว่า เนื่องจากทั้ง 2 กระทรวงต่างมีบทบาทที่สำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคมที่มีบทบาทสร้างโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการเดินทางให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ โดยในเบื้องต้นได้หารือประมาณ 4 ประเด็น ได้แก่ การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวในปัจจุบัน, การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ในทุกระบบการขนส่ง, การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในปัจจุบัน เช่น การพัฒนาสถานีขนส่งให้ทันสมัยเป็นสากลและรองรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ความสะอาด ราคาค่าบริการต่างๆ อย่างราคาอาหารในสนามบิน การบริการแท็กซี่และรถขนส่งสาธารณะ ฯลฯ และการพัฒนาระบบขายตั๋วที่สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวต่างๆ

ขณะที่นายวีระศักดิ์กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการร่วมฯ ดังกล่าวจะเป็นสร้างความสอดคล้องทางนโยบายระหว่าง 2 กระทรวงโดยตรงและสามารถปฏิบัติงานได้ทันที ซึ่งหลายเรื่องอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรมในสังกัดอยู่แล้ว แตกต่างจากปัจจุบันที่มีคณะกรรมการนโยบายระดับชาติที่รวมทุกหน่วยงานเข้ามา แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่สามารถลงรายละเอียดและหาข้อสรุปได้อย่างรวดเร็วนัก ทั้งนี้ กลไกการทำงานของคณะกรรมการร่วมฯ จะเน้นทำงานผ่านแอปพลิเคชันไลน์และจะมีการประชุมหารือเดือนละครั้ง นอกจากนี้ ทางกระทรวงจะต้องไปหารือในรูปแบบเดียวกันกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีก เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมประกอบสมาชิก 28 คน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นที่ปรึกษาร่วม มีปลัดกระทรวงทั้ง 2 กระทรวงเป็นประธานร่วม และมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1) กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 2) ประสานการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ พร้อมเสนอแนะแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานตามนโยบายเพื่อนการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยง 3) วิเคราะห์เสนอแนวทางและมาตรการ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดสกในการรองรับการท่องเที่ยวเชื่อมโยง 4) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อรายงานความคืบหน้าพร้อมประเด็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ 5) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชื่อมโยง และ 6) ดำเนินการอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับกรณีราคาอาหารในสนามบินได้หารือและมีมาตรการอย่างไร นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จะต้องแยกเป็นประเด็น เริ่มตั้งแต่อาหารแพงหรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของความรู้สึกของประชาชน แต่ที่สำคัญในประเด็นที่ 2 คือมีทางเลือกหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันพบว่าในสนามบินก็มีทางเลือกที่หลากหลายตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อที่ถูกที่สุด ฟู้ดคอร์ทที่แพงขึ้นมา และร้านอาหารที่กำลังเป็นปัญหา และจากที่ตนตรวจสอบในกูเกิลก็พบว่าสนามบินสุวรรณภูมิติดอันดับเป็น 1 ในสนามบินที่ถูกที่สุดในโลก ซึ่งอาจจะสะท้อนว่าการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐอาจจะยังทำได้ไม่ดีพอถึงทางเลือกที่หลากหลาย

“อย่างในร้านอาหารก็จะมีที่ให้บริการอย่างดี มีคนนำอาหารมาให้ก็ต้องมีราคาที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่สนามบินก็มีทางเลือกอื่นๆ อย่างร้านสะดวกซื้อหรือฟู้ดคอร์ทที่ราคาไม่แพงเท่ากับร้านอาหารอย่างอาหารปรุงสดมีราคาเพียง 60 บาท หรือ 2 ดอลลาร์สหรัฐ หากเทียบกับสนามบินชั้นนำหลายแห่งอาจจะได้เพียงอาหารแช่แข็ง และถ้าเป็นอาหารปรุงสดอาจจะหลาย 10 ดอลลาร์สหรัฐ ก็ต้องให้ทางเลือกแก่ประชาชนว่าจะเลือกให้รูปแบบไหน บางคนอาจจะอยากได้แบบที่มีบริการด้วย บางคนอาจจะต้องการที่ราคาเป็นมิตร แต่บริการตัวเองได้ หรืออย่างถูกสุดก็บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในร้านสะดวกซื้อก็เป็นทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวแบบ Backpacker” นายไพรินทร์กล่าว

ขณะที่ประเด็นเรื่องร้านอาหารทำผิดสัญญาสัมปทานกับบริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT หรือมีการละเลยไม่ให้ร้านอาหารปฏิบัติตามสัญญา กระทรวงคมนาคมกำลังให้ AOT ตรวจสอบและทำรายงานมาว่ามีการละเมิดสัญญาหรือไม่ เช่น การตั้งราคาอาหารจะต้องไม่เกินจากราคาอาหารในห้างสรรพสินค้า 20% เป็นต้น เพราะเป็นคู่สัญญาโดยตรงและไม่น่าจะมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของการตรวจสอบ เนื่องจากกระทรวงจะเป็นผู้ตรวจสอบรายงานเอง

และประเด็นสุดท้าย เรื่องระบบการให้สัมปทานในปัจจุบัน นายไพรินทร์กล่าวว่า ระบบเริ่มต้นเปลี่ยนมาในปี 2549 จากเดิมที่มีผู้เช่าหลายราย แต่ประสบปัญหาการบริหารจัดการ มาเป็นการให้มีผู้เช่าเพียงรายเดียวกับภาครัฐและใช้วิธีเช่าช่วงต่อ ซึ่งตนคิดว่าเป็นราคาระดับนี้มาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ก่อนจะต่อสัญญาอีกครั้งในช่วงปี 2552 และปัจจุบันกำลังจะหมดสัญญาอีกครั้งใน 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น หากหารือรับฟังความคิดเห็นแล้วคิดว่าสัญญารูปแบบนี้ไม่เหมาะสม กระทรวงยินดีที่จะเปลี่ยนระบบใหม่ แต่ต้องยอมรับว่าทุกระบบมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน

“พื้นที่สนามบินอาจจะแตกต่างจากข้างนอกในการบริหารจัดการ เช่น ต้องเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เรื่องค่าแรงต่างๆ อาจจะไม่เหมือนกัน หรือเรื่องความปลอดภัย การบริการต่างๆ เรื่องการแบ่งกำไรกับ AOT ก็เป็นเรื่องของสัญญาที่ระบุไว้ ส่วนเรื่องอาจจะมีแป๊ะเจี๊ยะจนส่งผลต่อราคาก็เป็นเรื่องภายใน แต่ภาครัฐได้คุมปลายทางจากราคาอาหาร ซึ่งกำหนดในสัญญาอยู่แล้วสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้” นายไพรินทร์กล่าว

ทั้งนี้ นายไพรินทร์มีกำหนดการตรวจเยี่ยมที่ท่าอาการยานสุวรรณภูมิในวันที่ 15 มกราคม 2561 เวลา 14:00 น. บริเวณหน้าศูนย์อาหารแมจิค ฟู้ด พอยท์ ประตู 8 ชั้น 1 อาคารผู้โดยสารสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ