ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์:.”‘บิ๊กป้อม’ เผยปมนาฬิกาหรู-ของเพื่อนทั้งนั้น – ลั่น ถ้า ป.ป.ช. ว่าผิดจะลาออก” และ “เฟซบุ๊กปรับการแสดงผลบนนิวส์ฟีด เพจสะท้าน-เอเจนซีสะเทือน”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์:.”‘บิ๊กป้อม’ เผยปมนาฬิกาหรู-ของเพื่อนทั้งนั้น – ลั่น ถ้า ป.ป.ช. ว่าผิดจะลาออก” และ “เฟซบุ๊กปรับการแสดงผลบนนิวส์ฟีด เพจสะท้าน-เอเจนซีสะเทือน”

20 มกราคม 2018


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 13-19 ม.ค. 2561

  • “บิ๊กป้อม” เผยปมนาฬิกาหรู-ของเพื่อนทั้งนั้น – ลั่น ถ้า ป.ป.ช. ว่าผิดจะลาออก
  • ศาลทหารสั่งไม่ฟ้อง “สุลักษณ์” คดีหมิ่นฯ พระนเรศวร เจ้าตัวเชื่อ เพราะพระบารมีปกเกล้าฯ
  • เคาะแล้ว ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 8-22 บาท เตรียมเสนอ ครม.
  • ป.ป.ส. แจง สธ. มีอำนาจอนุญาตปลูกกัญชา แต่รัฐยังไม่มีแนวคิดปลูกส่งออก
  • เฟซบุ๊กปรับการแสดงผลบนนิวส์ฟีด เพจสะท้าน-เอเจนซีสะเทือน
  • “บิ๊กป้อม” เผยปมนาฬิกาหรู-ของเพื่อนทั้งนั้น – ลั่น ถ้า ป.ป.ช. ว่าผิดจะลาออก

    พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
    ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
    ที่มาภาพ: หน้าเพจเฟซบุ๊ก THE STANDARD (http://bit.ly/2Ddjqdk)

    แม้จนบัดนี้ สังคมจะยังไม่ได้รับรู้ว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือ “บิ๊กป้อม” ชี้แจงกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าอย่างไรในเรื่องที่มาที่ไปของแหวนเพชรและนาฬิกาหรู ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ไม่ปรากฏอยู่ในรายการทรัพย์สินที่แสดงต่อ ป.ป.ช. แต่ในที่สุด “พี่ใหญ่” ท่านนี้ก็เผยออกมาเองว่าในส่วนของนาฬิกานั้นมีที่มาเป็นเช่นไร

    โดยในวันที่ 16 ม.ค. 2561 สื่อหลายสำนักรายงานว่า พล.อ. ประวิตร ได้ชี้แจงเรื่องนาฬิกาหรูแก่สื่อเป็นครั้งแรก โดยบอกว่า “ผมไม่มีหรอก ผมมีเพื่อน เพื่อนเอามาให้ผมใส่ แค่นั้นเอง และก็คืนเขาทั้งหมดทุกเรือน” และกับเรื่องที่โดนสื่อสังคมออนไลน์ขุดคุ้ยจนพบว่าตนใส่นาฬิกาหรูไม่ซ้ำกันถึง 24 เรือน พล.อ. ประวิตรก็บอกว่า “เป็นการวนเอาเรือนเก่าออกมา”

    มาถึงจุดนี้ ประเด็นน่าสนใจเลยอยู่ที่ว่า คำชี้แจงนี้นั้นเป็นคำชี้แจงเดียวกันกับที่ พล.อ. ประวิตร ทำหนังสือส่งให้ ป.ป.ช. หรือไม่ และในหนังสือชี้แจงนั้นมีการชี้แจงไปทั้งหมดกี่เรือน และต่อกรณีที่เมื่อ ป.ป.ช. ได้รับหนังสือชี้แจงจาก พล.อ. ประวิตร แล้วก็มีการแถลงว่าจะมีการเรียกสอบเอกชน 4 ราย เกี่ยวกับเรื่องนาฬิกาหรูของ พล.อ. ประวิตร นั้น จะได้ผลออกมาสอดคล้องกับคำชี้แจงนี้หรือไม่

    อย่างไรก็ดี พล.อ. ประวิตร นั้นยืนยันว่าหากถูกชี้มูลความผิด ตนเองก็พร้อมจะลาออกจากตำแหน่ง

    ศาลทหารสั่งไม่ฟ้อง “สุลักษณ์” คดีหมิ่นฯ พระนเรศวร เจ้าตัวเชื่อ เพราะพระบารมีปกเกล้าฯ

    สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) หรือ “ปัญญาชนสยาม”
    ภาพ: WASAWAT LUKHARANG
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์บีบีซีไทย (http://bbc.in/2DJxcW5)

    หลังจากที่นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) หรือที่หลายคนเรียกว่า “ปัญญาชนสยาม” ถูกยื่นขอให้อัยการศาลทหารกรุงเทพสั่งฟ้องในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จากกรณีที่นายสุลักษณ์วิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์การกระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

    อัยการศาลทหารได้เลื่อนการรับฟังคำสั่งฟ้องมาถึง 3 ครั้ง การเลื่อนครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2560 โดยได้เลื่อนมาเป็นวันที่ 17 ม.ค. 2561

    และในที่สุด เมื่อถึงวันที่ 17 ม.ค. 2561 นายสุลักษณ์ก็บอกกับสื่อมวลชนภายหลังการเข้าพบเจ้าพนักงานในศาลทหารกรุงเทพว่า ” อัยการทหารสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งเป็นอันหมดจากคดีนี้อย่างเรียบร้อย และทางอัยการทหารจะแจ้งไปยัง สน.ชนะสงคราม ว่าเรื่องของผมยุติเพียงเท่านี้แล้ว ที่จริงเรื่องนี้ยุติมาตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว”

    ด้านทนายความส่วนตัวของนายสุลักษณ์นั้นกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง” ซึ่งนี่หมายความว่า การวิพากษ์วิจารณ์ที่นายสุลักษณ์ทำลงไปนั้นเป็นสิ่งที่ยังระบุไม่ได้ว่าผิดหรือไม่ผิดกฎหมายกันแน่

    อย่างไรก็ดี นายสุลักษณ์ระบุด้วยว่า การตัดสินใจของอัยการทหาร เป็นผลมาจากการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

    “ผมเชื่อว่า พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม ในหลวงองค์นี้ท่านทำอะไรต่างๆ ปิดทองหลังพระเยอะ และคดีผมเนี่ย ถ้าไม่ได้พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมไม่มีทางหลุด เพราะว่านายกรัฐมนตรีเป็นคนแหย เป็นคนไม่คิดอะไรที่กล้าหาญชาญชัย กลัว ถ้าไม่ได้พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม คดีผมไม่มีทางสิ้นสุดหรอก” นายสุลักษณ์กล่าว

    นอกจากนี้ เว็บไซต์บีบีซีไทยยังรายงานด้วยว่า แม้ว่าศาลทหารไม่สั่งฟ้อง แต่ทางทหารก็ขอร้องให้เขาอยู่อย่างเงียบให้เขายุติการเคลื่อนไหว แต่ปัญญาชนสยามผู้นี้ตอบว่า

    “ถ้าผมยุติไม่พูดไม่เขียน ผมก็ตายเท่านั้นเอง”

    เคาะแล้ว ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 8-22 บาท เตรียมเสนอ ครม.

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (https://www.prachachat.net/?p=102870)

    เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า วันที่ 17 มกราคม นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ครั้งที่ 2/2561 ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร กระทรวงแรงงาน โดยเป็นการประชุมเพื่อหารือประเด็น การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ทั้งนี้ หลังการประชุมนานกว่า 7 ชั่วโมง ข้อสรุปอัตรา ค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 มีทั้งหมด 7 อัตรา คือ ตั้งแต่ 8-22 บาท

    โดยมี 3 จังหวัด ได้ขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 330 บาท/วัน ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง

    และมี 7 จังหวัด ได้ขึ้นเป็น 325 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา

    จังหวัดที่ได้เพิ่มเป็น 320 บาท มี 14 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี อยุธยา หนองคาย ลพบุรี ตราด ขอนแก่น สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และพังงา

    จังหวัดที่ได้ขึ้นเป็น 318 บาท มี 7 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ และปราจีนบุรี

    ส่วนจังหวัดที่ได้ขึ้นเป็น 315 บาท มี 21 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ นครสวรรค์ สระแก้ว พัทลุง อุตรดิตถ์ อุดรธานี นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท เลย ยโสธร พะเยา บึงกาฬ น่าน กาญจนบุรี และอ่างทอง

    จังหวัดที่ได้ขึ้นเป็น 310 บาท มี 22 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี นครศรีธรรมราช ตรัง แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เชียงราย สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ศรีสะเกษ ตาก ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ ราชบุรี ระนอง มหาสารคาม ชุมพร หนองบัวลำภู และสตูล

    ขณะที่ จังหวัดที่ได้ขึ้นเป็น 308 บาท  ได้แก่ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี

    ต่อมาเวลา 22.45 น. นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการการประชุมดังกล่าว แถลงผลการประชุม ว่า มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบ่งออกเป็น 7 ระดับ ไล่ตั้งแต่ 308, 310, 315, 318, 320, 325 และ สูงสุด 330 บาทตามลำดับ

    โดยที่ประชุมมีข้อตกลงร่วมกัน เกี่ยวกับการพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ และความสามารถในการแข่งขัน

    โดยจังหวัดที่ได้ค่าแรงสูงสุดมี 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง คือ 330 บาท

    ส่วนจังหวัดที่ได้อัตราค่าจ้างน้อยที่สุดในรอบนี้คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

    ขณะที่ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ 325 บาท
    ค่าเฉลี่ยของค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 315.97 บาท

    ซึ่งการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จะมีผลวันที่ 1 เมษายน 2561 โดยไม่มีผลย้อนหลังแต่อย่างใด

    นอกจากนี้ นายจักรินทร์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมครั้งนี้ได้มีการเสนอข้อเสนอเพิ่มเติม 3 เรื่อง ด้วยกัน คือ

    1. กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ต้องมีการกำหนดโครงสร้างเงินเดือน เพื่อให้ลูกจ้างเห็นอนาคต และเป็นหลักประกันในเรื่องอัตราค่าจ้างที่จะมีการขึ้นทุกปี
    2. กำหนดอัตราค่าจ้างแบบลอยตัวให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยจะมีการนำร่องในจังหวัดเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งจะทำให้สถานประกอบการได้แรงงานฝีมือที่ต้องการ ในทางหนึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย เพราะจ้างในอัตราที่สูง
    และ 3. การกำหนดมาตรการลดหย่อนภาษีของผู้ประกอบการที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ให้สามารถนำเงินดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า

    โดยข้อเสนอดังกล่าว ยังต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการค่าจ้างอีกครั้ง ซึ่งจะต้องใช้คณะกรรมการฯ ชุดใหม่ เนื่องจากคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 หมดวาระแล้ว

    อย่างไรกตาม ก่อนหน้านี้ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อได้ข้อยุติ วันที่ 17 ม.ค. แล้ว จากนั้นจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์ถัดไปวันที่ 23 ม.ค. 2561 ก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

    ทั้งนี้ ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ได้ให้นโยบายบอร์ดไตรภาคีว่า ให้พิจารณาโดยยึดหลักความเป็นธรรม ให้ลูกจ้างมีรายได้สำหรับการครองชีพเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างอยู่ได้ เกณฑ์การพิจารณาค่าแรง จะมาจากกรอบของแต่ละจังหวัด ที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอ โดยพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และอัตราการเติบโต ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการหดตัวทางเศรษฐกิจด้วย รวมทั้งจะทำตามกรอบนโยบายของรัฐบาล คือลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และนายจ้างสามารถประกอบธุรกิจได้ ขยายกิจการได้ โดยจะเป็นการปรับขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากัน ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยยึดฐานอัตราค่าแรงเดิมของแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่ปรับอัตราค่าจ้างเป็นอัตราเดียวเท่ากันทั้งประเทศ

    ป.ป.ส. แจง สธ. มีอำนาจอนุญาตปลูกกัญชา แต่รัฐยังไม่มีแนวคิดปลูกส่งออก

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (https://goo.gl/yVLUsM)

    จากกรณีที่นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติมอบให้สภาเกษตรกรจังหวัดสกลนคร ลงพื้นที่พูดคุยและคัดเลือกเกษตรกรที่มีคุณภาพร่วมทำโครงการปลูกกัญชา ในพื้นที่นำร่อง 5,000 ไร่ ที่จังหวัดสกลนคร เขตพื้นที่ทหาร โดยนายประพัฒน์ชี้แจงว่าแนวคิดเกิดขึ้นหลังจากนำคณะเข้าพบนายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และผู้บริหารระดับสูงเข้าหารือกับกระทรวงสาธารณสุข แล้วพบว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 4 หรือประเภท 5 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2560

    ส่วนที่เลือกเขตพื้นที่ทหาร นายประพัฒน์ให้เหตุผลว่า จะทำให้ควบคุมได้ง่าย ทั้งยังบอกด้วยว่าต้องตั้งกรรมการควบคุมให้ใกล้ชิดเพื่อป้องกันการหลุดรอดของสิ่งที่ไม่พึงประสงค์

    “เกษตรกรที่จะเข้าร่วมทำโครงการ ต้องมีหลักปฏิบัติที่ดี มีจริยธรรมสูง เพราะเป็นพืชควบคุมและมูลค่าสูง เกษตรกรต้องไม่นำไปใช้ผิดประเภท ด้วยจะสร้างปัญหาให้กับประเทศชาติและจะมีผลกระทบต่อโครงการ การพยายามทำให้พืชกัญชาและกระท่อมเพื่อให้แพทย์สามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้ สภาเกษตรกรฯ ได้ขับเคลื่อนเรื่องการแก้ปัญหาพ.ร.บ.ยาเสพติดมาหลายครั้งแล้วเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา” นายประพัฒน์กล่าว

    อย่างไรก็ดี ทางด้านเลขาธิการ ป.ป.ส. ชี้แจงว่า

    “ยืนยันว่าภาครัฐยังไม่มีแนวคิดปลูกพืชกัญชาที่จ.สกลนคร หรือพื้นที่อื่น เพราะเป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขจะต้องทำการวิจัยก่อน และการขออนุญาตปลูกหรือครอบครองเป็นอำนาจของรมว.สาธารณสุข โดยคณะกรรมการการควบคุมยาเสพติดให้โทษจะพิจารณาหลายเหตุผลประกอบกัน เช่น มีการวิจัยสามารถสกัดเป็นยารักษาโรคได้จริงหรือไม่ ปลูกแล้วใครจะรองรับผลผลิต และยิ่งปลูกในพื้นที่ทหารก็ต้องได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ด้วย ขณะที่ ป.ป.ส. มีหน้าที่บังคับโทษตามกฎหมาย หากมีผู้ฝ่าฝืนปลูก นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายพืชกัญชา ก็ต้องถูกดำเนินคดี”

    เฟซบุ๊กปรับการแสดงผลบนนิวส์ฟีด เพจสะท้าน-เอเจนซีสะเทือน

    ที่มาภาพ : http://time.com/5100245/facebook-newsfeed-update-posts-friends-family/

    วันที่ 13 ม.ค. 2561 เว็บไซต์ไทยพับลิก้ารายงานว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก ได้ประกาศจะเปลี่ยนแปลงการแสดงผลของโพสต์ต่างๆ บนหน้านิวส์ฟีด (News Feed) เสียใหม่ โดยจะแสดงโพสต์จากผู้ประกอบการธุรกิจและสื่อลดลง แล้วแสดงโพสต์จากเพื่อนและครอบครัวมากขึ้น

    เดวิด กินส์เบิร์ก จากฝ่ายวิจัยของเฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า จุดประสงค์หลักของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมายด้านปริมาณ แต่เฟซบุ๊กต้องการให้ทุกคนมีมุมมองในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบหลังจากที่เข้ามาหน้าเฟซบุ๊กแล้ว เพราะเมื่อคนผูกพันกับคนก็จะมีความใกล้ชิดกัน ทำให้มีความหมายมากขึ้นมี การเติมเต็มให้กันและกัน

    อนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้เฟซบุ๊กได้รับข้อเสนอแนะว่า Public Content หรือเนื้อหาสาธารณะ ซึ่งเป็นโพสต์จากธุรกิจ แบรนด์ต่างๆ รวมทั้งสื่อ มีมากจนทำให้โพสต์ส่วนตัวที่มีความหมายและเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงคนไว้ด้วยกันนั้นหายไป

    กระนั้น ก็มีคำถามเกิดขึ้นว่า หากมีปฏิสัมพันธ์บ่อยครั้งกับโพสต์หรือวิดีโอที่สะท้อนมุมมองเดียวกับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว ผู้ใช้เฟซบุ๊กก็อาจจะได้เห็นแต่คอนเทนต์ที่มีความเห็นตอกย้ำแนวคิดของตัวเอง และอาจจะมีข่าวปลอมเต็มหน้าเฟซบุ๊กหากเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวแชร์หรือโพสต์ลิงก์ข่าวที่ไม่ถูกต้องมาและมีการคอมเมนต์กันกว้างขวางต่อเนื่อง โพสต์นั้นก็จะยังคงอยู่บนหน้าเฟซบุ๊กต่อไปอีกอย่างถาวร

    อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเหล่าผู้ประกอบการธุรกิจที่ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการดำเนินการเผยแพร่เนื้อหาทางธุรกิจของตนเอง คอลัมน์จับกระแสตลาด เว็บไซต์ประชาติธุรกิจ รายงานว่า แหล่งข่าวจากดิจิทัลมีเดียเอเจนซีรายใหญ่ ให้มุมมองกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากเฟซบุ๊กปรับหน้านิวส์ฟีดแบบใหม่ จะทำให้การเห็นโพสต์ วีดีโอจากเพจลดลง แต่การไลฟ์สดอาจจะได้รับผลกระทบน้อย เพราะเฟซบุ๊กมองว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้งาน

    ขณะเดียวกันเพจที่มีผู้ใช้บริการเข้ามาคอมเมนต์เป็นจำนวนมาก ก็ยังคงได้อยู่ต่อในหน้านิวส์ฟีดตามเดิม เพราะถือว่าเป็นการสร้างปฎิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานด้วยกัน แต่รูปแบบการชวนให้เข้ามาโหวตผ่านการกดปุ่ม React ตามอารมณ์ ก็อาจจะปรากฏบนนิวส์ฟีดน้อยลงหรือหายไปเลย

    และสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเจ้าของสินค้า มีเดียเอเจนซี คือ จะทำให้ผู้บริโภคเห็นข้อความ คอนเทนต์ต่างๆ ที่สินค้าสร้างขึ้นน้อยลง ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เพื่อทำให้ผู้บริโภคเห็นโฆษณาเท่าเดิม เพิ่มประสิทธิภาพให้แก่การสื่อสารผ่านโซเซียลมีเดีย ซึ่งเฟซบุ๊กถือเป็นช่องทางการสื่อสารหลักๆ ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคไทยที่สำคัญ เพราะมีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากถึง 47 ล้านคน ทำให้สินค้าส่วนใหญ่นิยมโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก

    สอดรับกับข้อมูลจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ระบุว่าปี 2560 แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เอเจนซีและสินค้าลงโฆษณาสูงสุด 3 อันดับแรก คือ เฟซบุ๊ก 3,416 ล้านบาทคิดเป็น 28% ยูทูบ 1,651 ล้านบาท คิดเป็น 14% และดิสเพลย์ 1,331 ล้านบาท คิดเป็น 11%

    “ศุภชัย ปาจริยานนท์” นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากมีประกาศจากเฟซบุ๊กเรื่องการปรับลดจำนวนคนที่จะเห็นหน้านิวส์ฟีดของโฆษณาลดลงว่า มีเดียเอเจนซีและสินค้าอาจจะต้องพิจารณาจากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นหลังจากมีการปรับอัลกอริทึ่มใหม่ ว่าจำนวนผู้เห็นโฆษณาลดลงมากน้อยแค่ไหน คุ้มค่ากับเม็ดเงินโฆษณาที่ลงไปหรือไม่

    เมื่อปรับใหม่แล้วจำนวนผู้เห็นโฆษณาแต่ละธุรกิจที่ลดลงจะแตกต่างกัน บางธุรกิจจำนวนคนเห็นโฆษณาอาจจะลดลงจำนวนมาก แต่บางธุรกิจคนเห็นโฆษณาอาจจะหายไปแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งต้องพิจารณากันอีกครั้ง

    “สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น สินค้าและมีเดียเอเจนซีอาจจะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า การเปลี่ยนแปลงใหม่นี้จะส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือ จำนวนผู้เห็นโฆษณาจะลดลงไปอีก จะมีการแย่งจำนวนคนดูโฆษณามากขึ้น และเมื่อจำนวนคนเห็นโฆษณาลดลงไปแล้ว ยังคุ้มค่าต่องบฯโฆษณาที่จ่ายไปหรือไม่ ถ้าดูแล้วราคาโฆษณาสูงไปก็อาจจะต้องปรับกลยุทธ์”

    เช่นเดียวกับ “ธราภุช จารุวัฒนะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย มีเดียเอเจนซี ให้มุมมองกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กประกาศปรับอัลกอริทึ่มใหม่ต่อเนื่อง นั่นหมายถึงจำนวนการเห็นโฆษณาของผู้บริโภคก็จะลดลงไปอีก

    อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการทำงานของมีเดียเอเจนซียังคงทำงานเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ต้องปรับ คือ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน แล้วควรใช้โอกาสที่เกิดขึ้นนั้นอย่างไร เช่น เมื่อก่อนดูวีดีโอบนเฟซบุ๊กได้ในเวลาจำกัด ซึ่งเฟซบุ๊กได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น สิ่งที่มีเดียเอเจนซีและแบรนด์ต้องทำคือสร้างคอนเทนต์ให้น่าสนใจ เป็นต้น

    ในส่วนมุมมองของสินค้า แหล่งข่าวจากสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เฟซบุ๊กถือเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคไทยที่สำคัญ เนื่องจากมีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าของเฟซบุ๊กเองก็มีการปรับอัลกอริทึ่มมาอย่างต่อเนื่อง โดยทุกครั้งที่มีการปรับ การเห็นโฆษณาของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ก็จะลดลง นั่นหมายถึง เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อนี้ก็จะต้องเพิ่มจำนวนขึ้นด้วย เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เท่าเดิม ซึ่งมองว่าเฟซบุ๊กกำลังเปลี่ยนให้แบรนด์จ่ายเงินโฆษณา เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

    โจทย์ของสินค้า เอเจนซี วันนี้คือ เมื่อมีเทคโนโลยีแล้ว สินค้าจะฉกฉวยโอกาสจากเทคโนโลยีอย่างไร เพื่อสร้างโอกาสทางการขาย