ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “ธปท. กำชับแบงก์เคร่งครัดกันสวมบัตรเปิดบัญชี” และ “ฝรั่งเศสสอบแอปเปิล ปมปรับให้ไอโฟนเก่าทำงานช้า”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “ธปท. กำชับแบงก์เคร่งครัดกันสวมบัตรเปิดบัญชี” และ “ฝรั่งเศสสอบแอปเปิล ปมปรับให้ไอโฟนเก่าทำงานช้า”

13 มกราคม 2018


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 6-12 ม.ค. 2561

  • ธปท. ล้อมคอก กำชับแบงก์ดำเนินมาตรฐานเคร่งครัด กันปัญหาสวมบัตรเปิดบัญชี
  • ยืนยัน “ปู” อยู่อังกฤษ เผย รู้จาก รมต.อังกฤษตั้งแต่ ก.ย. ’60
  • ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้ ทอท. ไม่ทำตามสัญญา ปล่อยอาหารสนามบินแพง
  • “แรงงาน” ยัน ขึ้นค่าแรง 15 บาท “แค่ข่าวลือ”
  • ฝรั่งเศสสอบแอปเปิล ปมปรับให้ไอโฟนเก่าทำงานช้า
  • ธปท. ล้อมคอก กำชับแบงก์ดำเนินมาตรฐานเคร่งครัด กันปัญหาสวมบัตรเปิดบัญชี

    ที่มาภาพ: หน้าเพจเฟซบุ๊กธนาคารแห่งประเทศไทย – Bank of Thailand (http://bit.ly/2FoAPkC)

    จากกรณีที่มีผู้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกง จนเป็นเหตุให้ถูกควบคุมตัวไปฝากขัง โดยเจ้าตัวยืนยันว่าบัญชี 9 บัญชีใน 7 ธนาคารอันเป็นหลักฐานในคดีนั้นไม่ใช่ของตนเอง แต่เป็นบัญชีที่ถูกเปิดขึ้นหลังจากที่คนร้ายขโมยกระเป๋าสตางค์ซึ่งมีบัตรประชาชนของตนอยู่ในนั้นไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงแล้วย่อมหมายความว่า การนำบัตรประชาชนของผู้อื่นไปเปิดบัญชีเป็นเรื่องที่กระทำได้โดยง่าย จึงกลายเป็นคำถามของสังคมต่อระบบความปลอดภัยในการยืนยันตัวบุคคลเจ้าของบัตรประชาชนที่นำมาใช้ในการเปิดบัญชีกับธนาคาร ว่ามีความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยเพียงใด

    ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2561 หน้าเพจเฟซบุ๊กธนาคารแห่งประเทศไทย – Bank of Thailand ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ได้กำชับธนาคารพาณิชย์ให้ดำเนินการตามเกณฑ์ KYC หรือ Know Ypur Customer (รู้จักลูกค้าของท่าน) อย่างเคร่งครัด พร้อมระบุว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังเร่งดำเนินการดังนี้

    1. ผู้ตรวจสอบของแบงก์ชาติ เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน โดยร่วมมือกับ ปปง. เพื่อตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง
    2. กำชับให้แต่ละธนาคารกวดขันมากขึ้น และให้ฝ่ายตรวจสอบภายในของแต่ละธนาคารเพิ่มการตรวจสอบในเรื่องนี้ เพื่อให้พนักงานสาขาดำเนินการทำความรู้จักตัวตนลูกค้า (Know Your Customer: KYC) ตามที่กำหนดไว้
    3. ขอความร่วมมือให้ชมรมตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ หารือร่วมกันเพื่อป้องกันปัญหา และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้น เพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายแก่ลูกค้าในวงกว้าง

    ยืนยัน “ปู” อยู่อังกฤษ เผย รู้จาก รมต.อังกฤษตั้งแต่ ก.ย.2560

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (https://goo.gl/PWxHqP)

    ในที่สุด ความสงสัยเรื่องที่อยู่ในปัจจุบันของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งหายตัวไปโดยไม่ได้ไปรับฟังคำพิพากษาต้องโทษจำคุก 5 ปีในคดีจำนำข้าว ก็มีความชัดเจนขึ้นมา เมื่อนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2561 ว่า อดีตนายกรัฐมนตรีอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และเรื่องดังกล่าวมีการรับรู้กันมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2560 เนื่องจากรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษเป็นผู้เล่าให้ฟัง

    ขณะนี้ ยังไม่มีความแน่ชัดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไปยังประเทศอังกฤษด้วยสถานะอะไรนั้น ส่วนพาสปอร์ตที่ใช้นั้น คาดเดาว่าอาจเป็นพาสปอร์ตของประเทศอื่น เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ดำเนินการเพิกถอนพาสปอร์ตของอดีตนายกฯ ไปหมดแล้ว

    คำถามที่น่าสนใจคือ เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว จะมีการดำเนินการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ ซึ่งนายดอนระบุว่าจะต้องพิจารณาให้รอบด้าน รวมทั้งปฏิเสธการให้ความเห็นเรื่องการยื่นคัดค้านหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัย โดยให้เหตุผลว่าไม่ใช่เรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศจะต้องตอบ

    อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่า เรื่องนี้จะไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร

    ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้ ทอท. ไม่ทำตามสัญญา ปล่อยอาหารสนามบินแพง

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (https://www.prachachat.net/?p=99891)

    เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า มื่อวันที่ 11 มกราคม ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ. วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงการขายสินค้าแพงของร้านในท่าอากาศยาน ว่า ทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอาหารและน้ำดื่มแพงในท่าอากาศยานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และลงพื้นที่เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 คาดหวังว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากนัก และได้พบสัญญาที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้ทำกับร้านค้า โดยที่ท่าอากาศยานดอนเมืองสัญญาระบุว่ายอมให้ขายแพงกว่าราคาในห้างสรรพสินค้า 10-20 เปอร์เซ็นต์ และที่สุวรรณภูมิยอมให้ขายแพงราคาในห้างไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลปรากฏว่าทั้ง 2 แห่งมีการขายในราคาเกินกว่าที่กำหนด 40-50 เปอร์เซ็นต์ จึงมีข้อโต้แย้งจาก ทอท. และนำไปสู่การตั้งคณะทำงานที่มีสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค กรมการค้าภายใน และเจ้าหน้าที่สอบสวนของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อกำหนดราคามาตรฐานในการอ้างอิง โดยให้ยกราคาของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นสยามพารากอน หรือเซ็นทรัล แต่ ทอท. กลับโต้แย้งโดยขอให้เพิ่มห้างเอ็มควอเทียร์และเซ็นทรัลเอมบาสซี ซึ่งในความเป็นจริงสัญญาที่ ทอท. ได้ทำไว้กับผู้ประกอบการ คือ เมื่อปี 2548 ยังไม่มีการก่อตั้งห้างทั้งสอง ข้ออ้างดังกล่าวของ ทอท .จึงไม่สมเหตุสมผล

    พล.อ. วิทวัส กล่าวต่อว่า ทอท. ได้ชี้แจงล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2560) โดยแจ้งว่าไม่สามารถทำได้เนื่องจากจะต้องแก้ไขตัวสัญญา ซึ่งเป็นจังหวะที่กฎหมายผู้ตรวจฯ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2560 จะทำให้คำวินิจฉัยมีสภาพบังคับ หากหน่วยงานที่ไม่แก้ไขตามที่ผู้ตรวจฯ เสนอแนะ ผู้ตรวจฯ สามารถส่งเรื่องไปยังองค์กรอิสระอื่นให้ดำเนินการต่อได้ ทางผู้ตรวจฯ จึงยังไม่มีวินิจฉัยในก่อนหน้านี้ แต่เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ตรวจฯ จึงตั้งใจว่าจะลงพื้นที่อีกครั้งในต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนก่อนถึงช่วงเดือนเมษายน ซึ่งประชาชนจะใช้เป็นเส้นทางกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดสงกรานต์

    พล.อ. วิทวัส กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จะเชิญกระทรวงพาณิชย์และสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคไปร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งเรื่องนี้ตนก็ทราบว่านายกรัฐมนตรีก็รับทราบปัญหาแล้วและให้ความสนใจ เนื่องท่าอากาศยานเป็นหน้าตาของประเทศ เราพึงรักษามาตรฐานของการทำงานและธรรมาภิบาล ซึ่งในการลงพื้นที่ก็หวังว่า ทอท. จะให้ความร่วมมือ ไปตรวจดูว่าสิ่งที่ตัวเองดำเนินการนั้นเป็นไปตามกฎหมายแล้วหรือไม่ ส่วนผู้ประกอบการจะแอบขึ้นราคาเองหรือไม่ เป็นเรื่องของ ทอท. ที่ต้องควบคุม อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ผู้ตรวจฯ พยายามเชิญผู้บริหารของ ทอท. ที่มีอำนาจในการตัดสินใจมาร่วมหารือ แต่ก็มักถูกบ่ายเบี่ยง ซึ่งในกฎหมายใหม่ของผู้ตรวจฯ มาตรา 25 (1) ระบุว่าผู้ตรวจฯ สามารถเชิญเจ้าหน้าที่รัฐมาให้ถ้อยคำได้ คราวนี้ก็จะเชิญผู้มีอำนาจเบอร์ของ ทอท. ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ก็หวังว่าคงจะได้รับความร่วมมือ

    ส่วนกรณีที่นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมต.การท่องเที่ยวและกีฬาตอบผู้สื่อข่าวนั้น พล.อ. วิทวัส กล่าวว่า วิธีการดังกล่าวไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหา แต่เป็นการหลีกเลี่ยง ซึ่งประชาชนที่เดินทางไปใช้บริการ ก็มักจะเป็นช่วงเวลาอาหารเช้า เมื่อไปเช็กอินแล้วจะมีเวลาเหลือ 1 ชั่วโมง หากลดราคา เชื่อว่ายอดขายอาหารก็จะพุ่งสูงขึ้น ดูอย่างสนามบินนาริตะประเทศญี่ปุ่น ที่ราคาอาหารในสนามบินเท่ากับราคาข้างนอก คนก็กล้าที่จะไปกิน ไม่กระเป๋าฉีกเหมือนในประเทศไทย ทอท. ควรคำนึงผลประโยชน์ของคนไทย มากกว่าผู้ประกอบการ

    “แรงงาน” ยัน ขึ้นค่าแรง 15 บาท “แค่ข่าวลือ”

    พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (https://www.prachachat.net/?p=97967)

    เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าจ้างรายวันขั้นต่ำ ปี 2561 ว่า เรื่องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 15 บาท นั้นเป็นเพียงข่าวลือ จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ภายในวันที่ 15 มกราคมนี้ สำหรับวาระที่จะพูดคุยในที่ประชุม เบื้องต้นจะเป็นการพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานบอร์ดค่าจ้าง ส่วนอัตราในการปรับขึ้นค่าจ้างจะต้องพิจารณาให้เหมาะสม แรงงานจะต้องอยู่ได้ ขณะเดียวกัน นายจ้างต้องมีความสามารถประกอบการได้และมีผลกำไรต่อไป โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจะต้องนำอัตราเงินเฟ้อ อัตราค่าจ้างนอกประเทศ และการวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการปรับค่าจ้างอย่างรอบด้าน มาวิเคราะห์ร่วมด้วย ตลอดจนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล คือ การดูแลแรงงานให้อยู่ได้ ส่วนกำหนดอัตราอยู่ที่ 315 บาท นั้น ขณะนี้ยังไม่มีผลสรุป

    ขณะที่นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้าง กล่าวว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาค่าจ้างต้องเป็นไปด้วยความเหมาะสม และพิจารณาจากปัจจัยรอบด้าน การเสนออัตรา 360 บาท เป็นข้อเสนอจากกลุ่มสหภาพแรงงาน ความจริงแล้วต้องพิจารณาในกลุ่มไตรภาคี ส่วนกระแสข่าวที่จะปรับขึ้น 315 บาท เป็นเพียงการพูดคุยกัน ซึ่งในประชุมยังไม่ได้สรุปตัวเลข โดยวันที่ 10 มกราคมนี้ จะมีการประชุมร่วมกับกลุ่มไตรภาคี หากสามารถตกลงร่วมกันได้ในวันนั้นก็จะมีข้อสรุป แต่ถ้ามีข้อถกเถียงกันมากจะต้องนำเรื่องมาหาข้อสรุปต่อไป หลังจากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ โดยกระทรวงแรงงานต้องการดำเนินการให้รวดเร็วที่สุด

    ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับขึ้นค่าจ้างยังอยู่ในกรอบพิจารณาภายในเดือนมกราคมหรือไม่ นายจรินทร์กล่าวว่า พยายามดำเนินการในช่วงนี้ เดิมทีเคยมีการปรับขึ้นค่าจ้างในช่วงเดียวกันนี้

    “แต่การประชุมรอบเดียวแล้วได้ข้อสรุปเลยเป็นเรื่องยาก แต่เรียนตามตรงว่า เรื่องค่าจ้างไม่ได้ปรับขึ้นมา 3 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2557-2559 ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นสูงสุด 310 บาท อย่างไรก็ตาม คาดปีนี้จะต้องปรับขึ้นค่าจ้างแน่นอน ส่วนอัตราการปรับขึ้นค่าจ้างไม่เท่ากันอยู่แล้วในแต่ละจังหวัด จำเป็นต้องนำปัจจัยต่างๆ มาพิจารณารอบด้าน เช่น อัตราเงินเฟ้อ ค่าจ้างประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ” นายจรินทร์กล่าว

    ฝรั่งเศสสอบแอปเปิล ปมปรับให้ไอโฟนเก่าทำงานช้า

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์บล็อกนัน (https://www.blognone.com/node/98552)

    จากกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยจากผู้ใช้งานว่า แอปเปิลอาจทำการปรับค่าบางอย่าง ทำให้ iPhone รุ่นเก่าๆ นั้นทำงานได้ช้าลงกว่าเดิม แต่เมื่อเปลี่ยนแบตเตอรีใหม่แล้วก็กลับใช้งานได้ตามปรกติ จนในที่สุดทางแอปเปิลก็ยอมรับว่ามีการปรับประสิทธิภาพของเครื่องลดลงจริง แต่มีผลเฉพาะกับเครื่องที่แบตเตอรีเก่าแล้วในระดับหนึ่งเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าเป็นไปเพื่อไม่ให้เครื่องดับโดยไม่คาดฝัน รวมทั้งเพื่อยืดอายุการใช้งานอุปกรณ์ ซึ่งการยอมรับดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ใช้งาน iPhone จนทางแอปเปิลต้องประกาศลดราคาการเปลี่ยนแบตเตอรีiPhone ลง

    เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า กรณีดังกล่าวทำให้แอปเปิลกำลังถูกลูกค้า 8 รายยื่นฟ้องร้องศาลในสหรัฐฯ โดยเป็นคดีแยกกัน และยังมีการยื่นฟ้องที่อิสราเอล และฝรั่งเศสด้วย และล่าสุด สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคและอัยการฝรั่งเศสได้เปิดการสอบสวนคดีดังกล่าวแล้ว