ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “เลขาฯ ป.ป.ช. แจง ‘นาฬิกาหรู’ สังคมลุ้นต่อ ผลจะเหมือน ‘สุพจน์’ หรือไม่” และ “กุ้ย หมินไห่ เจ้าของร้านหนังสือในฮ่องกง ถูกลักพาตัวอีกครั้ง”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “เลขาฯ ป.ป.ช. แจง ‘นาฬิกาหรู’ สังคมลุ้นต่อ ผลจะเหมือน ‘สุพจน์’ หรือไม่” และ “กุ้ย หมินไห่ เจ้าของร้านหนังสือในฮ่องกง ถูกลักพาตัวอีกครั้ง”

27 มกราคม 2018


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 20-26 ม.ค. 2561

  • เซอร์ไพรส์มาแล้ว เลขาฯ ป.ป.ช. แจง “นาฬิกาหรู” หากเป็นของเพื่อนไม่ต้องแสดงในบัญชีทรัพย์สิน – ไม่ฟันธง เข้ามาตรา 103 หรือไม่ – สังคมลุ้นต่อ ผลจะเหมือน “สุพจน์” หรือไม่
  • เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาเพิ่ม 90 วัน เลือกตั้งเลื่อนอีก หลัง สนช. เห็นชอบขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง
  • องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยถอนตัวจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ยัน ไม่เกี่ยว CPI ต่ำลง
  • นักดูด-ดื่ม เตรียมหนาว สรรพสามิตเตรียมเก็บภาษีสุราและยาสูบเพิ่ม 2%
  • กุ้ย หมินไห่ เจ้าของร้านหนังสือในฮ่องกง ถูกลักพาตัวอีกครั้ง
  • เซอร์ไพรส์มาแล้ว เลขาฯ ป.ป.ช. แจง “นาฬิกาหรู”

    พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
    ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
    ที่มาภาพ: หน้าเพจเฟซบุ๊ก THE STANDARD (http://bit.ly/2Ddjqdk)

    แม้ “บิ๊กป้อม” พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะได้เปิดเผยกับสื่อเรื่องปมนาฬิกาหรูที่เป็นข่าวคู่ตนเองมาจนข้ามปีว่าล้วนเป็นของที่ยืมเพื่อนมา รวมทั้งตนเองก็ได้คืนเพื่อนไปหมดแล้ว แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้สังคมคลายข้อกังขาบนฐานกฎหมายที่มีอยู่แต่อย่างใด ทั้งยังทำให้นอกจากเรื่องการไม่แสดงรายการไว้ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว ยังกลับกลายเป็นการเพิ่มประเด็นที่ว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่การกระทำดังกล่าวจะเข้าข่ายความผิดในเรื่องของการให้หรือรับทรัพย์สิน รวมทั้งการให้หรือรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท ตามมาตรา 103 ของกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกจากมีกฎหมายบัญญัติให้รับได้ เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา ตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด มาตรา 103 ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกตำแหน่ง และบังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาแล้วยังไม่ถึง 2 ปี

    เรื่องจึงตกหนักแก่ ป.ป.ช. หน่วยงานสำคัญในเรื่องนี้ ที่ประชาชนกำลังรอให้เปิดเผยผลอันได้จากลีลาการสอบสวนอันละเอียดรอบคอบและไว้วางใจได้ ซึ่งเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2561 นั้น นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. ก็ได้บอกว่า “สื่อมวลชนให้ความสนใจและโทรศัพท์มาสอบถามเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก ผมยังบอกรายละเอียดไม่ได้ ขอให้รอฟัง ให้มีเซอร์ไพรส์บ้าง”

    และในวันที่ 24 ม.ค. 2561 เลขาฯ ป.ป.ช. ก็ได้แถลง “เซอร์ไพรส์” ทั้งปวงให้สังคมได้ทราบ โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

    1. ปัจจุบันสื่อมีการเผยแพร่ว่า พล.อ. ประวิตร สวมนาฬิการุ่นและยี่ห้อต่างกันถึง 25 เรือน จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมว่ามี 25 เรือนจริงหรือไม่ หรือจริงๆ แล้วมีกี่เรือน และใครเป็นเจ้าของ
    2. ขณะนี้ได้สอบพยานบุคคลทั้งหมดไปแล้ว เหลือเพียงพยานสำคัญอีก 1 ราย ซึ่งขณะนี้เดินทางอยู่ต่างประเทศ แต่ได้มีการนัดหมายชี้แจงกันสัปดาห์หน้า
    3. มีการทำหนังสือขอคำชี้แจงไปยังบริษัทตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาในประเทศไทย 13 แห่ง แต่ยังได้รับคำตอบมาไม่ครบ
    4. การแสดงรายทรัพย์สินในบัญชีทรัยสินนั้นต้องแสดงเฉพาะของตนเอง คู่สมรส และบุตร โดยทรัพย์สินนั้นจะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ดังนั้น หากนาฬิกาเป็นของคนอื่น พล.อ. ประวิตร ก็ไม่ต้องแสดงรายการในบัญชีทรัพย์สิน แต่หากเป็นของ พล.อ. ประวิตร ก็ต้องตรวจสอบว่าได้มาก่อนหรือหลังรับตำแหน่ง หากได้มาก่อนก็ต้องสอบสวนว่าเหตุใดจึงไม่แจ้ง แต่ถ้าได้รับมาภายหลัง ก็ถือว่ายังไม่ถึงกำหนดเวลาที่ต้องแจ้ง
    5. กรณีที่สงสัยว่าจะเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 103 ของ ของกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในประเด็นของการห้ามให้หรือรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดหรือไม่ ก็ยังต้องพิจารณาก่อน เพราะ พล.อ. ประวิตร ยังไม่ได้บอกว่าเป็นการให้ที่ทำให้ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของตน รวมทั้งกรณีให้หรือรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท ก็ยังต้องรอการวินิจฉัยหลังจากดูกฎหมายจนครบรอบด้านด้วยเช่นกัน
    6. พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ขอถอนตัวจากการพิจารณาสำนวนการตรวจสอบทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อให้เกิดความโปร่งใส แม้ตนจะไม่ได้เข้าข่ายที่กฎหมายกำหนดไม่ให้เข้าร่วมก็ตาม

    อย่างไรก็ดี กรณีการชี้แจงว่าเป็นทรัพย์สินของเพื่อนที่ตนยืมมา รวมทั้งทาง ป.ป.ช. ก็บอกว่าถ้าเป็นของเพื่อนก็ไม่ต้องแสดง ทำให้ย้อนคิดไปถึงกรณีของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม (พ.ศ. 2542) ที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิดฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ และจงใจปกปิดบัญชีทรัย์สินและหนี้สิน โดยมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2560 และสิ่งหนึ่งที่ทำให้นายสุพจน์ต้องมีความผิดในครั้งนั้นก็คือรถยนต์ที่บอกว่าเพื่อนให้ยืมมา แต่เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานและพฤติการณ์แล้วศาลเห็นว่ารถยนต์เป็นของนายสุพจน์แม้ชื่อผู้ครอบครองจะเป็นคนอื่นก็ตาม จึงเป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า กรณีของ พล.อ. ประวิตร ที่บอกว่ายืมเพื่อนมาเช่นกันนั้น ที่สุดแล้วผลการพิจารณาจะออกมาเช่นไร

    เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาเพิ่ม 90 วัน เลือกตั้งเลื่อนอีก

    ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

    เวลาอีกไม่นานที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอไว้เพื่อทำตามสัญญานั้น ดูท่าว่าจะนานขึ้นไปอีกเสียแล้ว เมื่อการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป.เลือกตั้ง) ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้ด้วยคะแนน 213 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง

    การเห็นชอบดังกล่าว จะส่งผลให้การเลือกตั้งที่เดิม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ประกาศว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ภายในเดือน พ.ย. 2561 ก็คงต้องเลื่อนออกไปถึงเดือน ก.พ. ปี 2562 เนื่องจากประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในการพิจารณาครั้งนี้ก็คือในมาตรา 2 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งฉบับนี้ได้แก้ไขเนื้อหาให้บังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน ในขณะที่ต้นร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นั้นกำหนดให้บังคับใช้ทันที (ที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบในประเด็นนี้ด้วยคะแนน  196  ต่อ 12  เสียง และงดออกเสียง 14 เสียง)

    เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่า นายประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการขยายเวลาออกไป 90 วัน กล่าวว่า การกำหนดเวลา 90 วัน เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการเดิมที่ กรธ. กำหนดเอาไว้ และ สนช. ได้ลงมติรับหลักการในวาระแรกไปแล้ว ที่ผ่านมา คสช. คณะรัฐมนตรี และ กกต. ก็ไม่เคยแจ้งหรือขอให้ขยายเวลา ดังนั้น กรธ. จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะขยายออกไป ในขณะที่ทางด้าน พ.ต.ท. พงษ์ชัย วราชิต นั้น ถึงกับเสนอให้บังคับใช้กฎหมายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 60 เดือนหรือ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

    ต่อเรื่องนี้ เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า ก็จะได้รู้ว่าเลือกตั้งแน่นอน ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนที่มีข้อสังเกตว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่เป็นไปตามที่ คสช. ประกาศไว้ตามโรดแมป ว่าจะเลือกตั้งในปี 2561 นั้น เมื่อ สนช. เห็นอย่างนี้แล้วสื่อจะมาถามอะไร เรื่องนี้ไม่ต้องเตรียมคำชี้แจงต่อนานาชาติ เรื่องนี้ คสช. ก็พิจารณาเห็นชัดเจน จะต้องชี้แจงอะไร

    และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะให้ความมั่นใจได้หรือไม่ ว่าจะเกิดการเลือกตั้งต้นปี 2562 และจะไม่มีการเลื่อนตั้งออกไปอีก พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ก็ชัดเจนแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีทางเลื่อนไปได้ และไม่น่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้เลื่อนออกไป ถ้าเราอยู่กันอย่างสงบเรียบร้อยแบบนี้ก็ไม่มีอะไร สำหรับเสียงเรียกร้องของพรรคการเมืองให้ปลดล็อกนั้น ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยเดี๋ยวก็ปลด

    องค์กรเพื่อความโปร่งใสไทยถอนตัวจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) (https://goo.gl/jxyT7J)

    วันที่ 25 ม.ค. 2561 เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า นางจุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า องค์กรได้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) เนื่องจากมีหลายประเด็นที่เห็นว่าการชี้วัดขององค์กรดังกล่าวมีอคติและไม่สอดคล้องกับความจริงในประเทศไทย

    อย่างไรก็ตาม นางจุรียืนยันว่า การถอนตัวครั้งนี้ไม่ใช่การประท้วงที่ประเทศไทยได้ค่าดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index: CPI) ปี 2016 ซึ่งประกาศเมื่อปีที่แล้ว โดยผลปรากฏว่าไทยมีคะแนนลดลง 3 จุด ทำให้ตกจากอันดับ 76 ไปอยู่ที่ 101 และไม่ได้รับการกดดันจากรัฐบาลให้ดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด และองค์กรจะยังคงเดินหน้าสร้างจิตสำนึกต้านการคอร์รัปชันต่อไปเช่นที่เคยทำมา เพียงแต่จะยุติการเผยแพร่ดัชนี CPI ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

    ที่มา: เว็บไซต์องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) (https://goo.gl/5QTrfS)

    ท่าทีของเลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ทำให้มีผู้ตั้งคำถามว่ากรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการตรวจสอบและประเมินความโปร่งใสของประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการปฏิรูประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยืนยันกับสื่อว่า การถอนตัวขององค์กรฯ ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เพราะเป็นเพียงการถอนตัวของภาคเอกชนไทยที่ประสานงานกับองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เมื่อถอนตัวไปแล้ว คงจะมีหน่วยงานอื่นมาประสานงานแทน ไม่ส่งผลกระทบต่อการประเมินภาพรวมของไทย และคาดว่า TI จะประกาศดัชนี CPI ฉบับใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ 

    นักดูด-ดื่ม ควักกระเป๋า สรรพสามิตเตรียมเก็บภาษีสุราและยาสูบเพิ่ม 2%

    วันที่ 26 ม.ค. 2561 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป กรมสรรพสามิตจะเริ่มเก็บภาษีสรรพสามิตในสินค้าสุราและยาสูบเพิ่มขึ้นอีก 2% ของอัตราภาษีสรรพสามิตที่เสียในปัจจุบัน เพื่อนำเงินรายได้ส่งบำรุงเข้ากองทุนผู้สูงอายุ ปีงบประมาณละไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตามที่ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ กำหนดไว้ โดยเงินดังกล่าวจะนำไปจัดสรรช่วยเหลือให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่อยู่ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณของภาครัฐ ในการรองรับสังคมสูงวัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

    ทั้งนี้ยอมรับว่าการขึ้นภาษีดังกล่าวจะกระทบต่อต้นทุนราคาสุราและยาสูบบ้างแต่ไม่มาก เริ่มต้นแค่หลักไม่กี่สิบสตางค์ เช่น หากเดิมบุหรี่หนึ่งซองเสียภาษีสรรพสามิต 25 บาท ก็จะถูกเก็บภาษีเพิ่มอีก 50 สตางค์ ส่วนจะกระทบต่อราคาขายปลีกในท้องตลาดหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ประกอบการและโรงงานยาสูบว่าจะยอมแบกรับภาษีที่เพิ่มขึ้นเองได้หรือไม่  อย่างไรก็ตามหากจะมีการเปลี่ยนแปลงราคาจะต้องเป็นบุหรี่และสุราที่เสียภาษีตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป ดังนั้นจึงขอเตือนให้ร้านค้าปลีก ค้าส่ง อย่าฉวยโอกาสเอาเปรียบขึ้นราคาทันที เพราะส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้าสต๊อกเก่าอยู่ ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย

    รายงานข่าวจากกรมสรรพสามิตแจ้งเพิ่มว่า การเก็บภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบเพิ่มขึ้นอีก 2% ในครั้งนี้ จะครอบคลุมทั้งบุหรี่ที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล สุรา เบียร์ ไวน์ ซึ่งประเมินว่าจะทำให้มีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นในปีนี้ประมาณ 4,200-4,600 ล้านบาท จากฐานรายได้การเก็บภาษีสุราและบุหรี่ที่อยู่ประมาณปีละ 200,000 ล้านบาท โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากมีการส่งเข้ากองทุนผู้สูงอายุ 4,000 ล้านบาท ขณะที่ส่วนเกินจะถูกนำส่งเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดิน

    กุ้ย หมินไห่ เจ้าของร้านหนังสือในฮ่องกง ถูกลักพาตัวอีกครั้ง

    ที่มาภาพ: หน้าเพจเฟซบุ๊ก The Momentum (http://bit.ly/2BuEsSI)

    วันที่ 23 ม.ค. 2561 หน้าเพจเฟซบุ๊ก The momentum รายงานว่า กุ้ย หมิ่นไห่ เจ้าของร้านหนังสือในฮ่องกง ถูกลักพาตัวอีกครั้งขณะเดินทางบนรถไฟพร้อมกับเจ้าหน้าที่ทางการทูตจากยุโรปมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงปักกิ่ง โดยลูกสาวของเขาบอกว่า เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบราวสิบนายเข้าคว้าตัว กุ้ย หมิ่นไห่ ไปจากรถไฟ

    กุ้ย หมินไห่ ผู้ได้รับสัญชาติสวีเดนหลังจากหนีภัยการเมืองหลังเหตุการณ์ชุมนุมและนองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 เคยสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับรัฐบาลจีนจากการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับความผิดของสมาชิกชั้นนำของพรรคคอมมิวนิสต์จนถูกดำเนินคดี และเคยโดยทางการจีนจับตัวขณะมาพักผ่อนที่พัทยา ประเทศไทย เมื่อปี 2015 โดยในครั้งนั้น หลังถูกจับตัวไปสามเดือน เขาก็ปรากฏตัวออกมาทางสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของจีนว่าเคยทำผิดในคดีชนคนตายแล้วหนี เมื่อถูกปล่อยตัวออกมาก็ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีนที่บ้านพักในเมืองหนิงโป ที่อยู่ทางตะวันออกของกรุงปักกิ่ง

    กุ้ยวัย 53 ปี เดินทางไปกรุงปักกิ่งเมื่อวันเสาร์เพื่อพบแพทย์เกี่ยวกับระบบประสาท แต่ขณะที่รถไฟจอดที่สถานีแห่งหนึ่งที่ไม่ไกลจากกรุงปักกิ่งนัก มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบราวสิบนายขึ้นมาพาตัวเขาไป จนถึงตอนนี้ลูกสาวของเขายังไม่ได้ยินข่าวจากเขาอีกเลย เธออยากให้พ่อได้รับการปล่อยตัวให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่สวีเดนโดยด่วน

    เป็นเวลามากกว่าสองปีแล้วที่เจ้าของร้านหนังสือเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกของทางการจีน นอกจากการหายตัวไปของกุ้ยแล้ว ยังมีกรณีเจ้าของร้านหนังสืออีกสี่คนในฮ่องกงที่ถูกจับ เรื่องเหล่านี้ยังเป็นเรื่องลึกลับ ในเดือนมิถุนายน 2016 มีการลักพาตัวชายคนหนึ่งที่ชื่อ ลัม หวิงกี่ เขาบอกว่าถูกเจ้าหน้าที่พิเศษของทางการจีนจับตัวเขาไปเพื่อให้หยุดวิจารณ์รัฐบาลปักกิ่ง “พวกเขาปิดตาผม และให้ผมใส่หมวก และให้สวมเสื้อผ้าหนาๆ”

    จอห์น คัมม์ นักรณรงค์สิทธิมนุษยชนชาวอเมริกันที่ทำงานกับครอบครัวนี้บอกกับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ว่า กุ้ยมีอาการที่บ่งบอกว่าเขาอาจมีโรคทางระบบประสาทอย่างรุนแรง ซึ่งไม่ปรากฏตอนที่เขาถูกจับตัวไปครั้งแรกเมื่อปี 2015 หลังจากการเสียชีวิตของหลิว เสี่ยวโป ที่ได้รับรางวัลโนเบลด้านสันติภาพ เขาภาวนาว่าจะไม่ต้องเป็นพยานในการตายในคุกของนักโทษทางการเมืองอีก

    โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสวีเดนออกแถลงการณ์ว่า รัฐบาลสวีเดนรับรู้รายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดแล้ว และได้เชิญเอกอัครราชทูตจีนเข้าพบ

    นักสิทธิมนุษยชนจากองค์กรฮิวแมนไรท์วอชต์ในประเทศจีนเรียกร้องให้ทางการจีนปล่อยตัวเขา และบอกว่า เขาช็อกกับเหตุการณ์นี้ สิ่งที่ตำรวจกระทำกับพลเมืองต่างชาติที่อยู่กับเจ้าหน้าที่ทางการทูตของประเทศตัวเองและเมื่อทางการบอกว่าเขา “มีเสรีภาพ”

    “เขาบอกเราว่า ถ้าทางการจีนต้องการให้คุณเงียบ พวกเขาก็จะทำ ไม่ว่าคุณจะเป็นพลเมืองของพวกเขาหรือไม่ ไม่สนใจว่ามันเป็นการละเมิดกฎหมายอื่นๆ หรือไม่”