ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > ออมสินสวนกระแส ประกาศเพิ่มสาขาไม่ลด พนง. มุ่งสู่ “The Best & Biggest Local Bank in Thailand”

ออมสินสวนกระแส ประกาศเพิ่มสาขาไม่ลด พนง. มุ่งสู่ “The Best & Biggest Local Bank in Thailand”

25 มกราคม 2018


เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2561 นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน แถลงผลประกอบการของธนาคารออมสินในปี 2560 และทิศทางการดำเนินงานปี 2561

ท่ามกลางสถานการณ์ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบทยอยปิดสาขาและลดจำนวนพนักงานเพื่อลดต้นและรับมือโลกยุคดิจิทัล นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน ประกาศนโยบายสวนกระแส ยืนยันว่าธนาคารออมสินไม่มีนโยบานปิดสาขาและลดจำนวนพนักงาน

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ทยอยปิดสาขาและลดพนักงานเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2559-2560 ภาพรวมของธนาคารพาณิชย์มีการปิดสาขาไปทั้งสิ้น 230 แห่ง แต่สำหรับธนาคารออมสินตนขอประกาศสวนกระแสธนาคารพาณิชย์ว่า “ธนาคารออมสินไม่มีนโยบายปรับลดจำนวนสาขาและลดจำนวนพนักงาน ในทางตรงข้าม ปีนี้ธนาคารออมสินตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสาขาจาก 1,080 แห่งเป็น 1,100 แห่ง”

เมื่อถามว่าทำไมธนาคารพาณิชย์ต้องปิดสาขา นายชาติชายกล่าวว่าสาขาของธนาคาร คือ Service Model หมายความว่า สาขาของธนาคารพาณิชย์ก็จะมีเคาน์เตอร์เปิดให้รับฝากและถอนเงิน กิจกรรมเหล่านี้ถือเป็นต้นทุนของธนาคารทั้งสิ้น แต่ในพื้นที่ที่เจริญแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่จะใช้โมบายแบงกิงโอนเงินชำระค่าสินค้าและบริการ หากต้องการใช้เงินสดก็จะไปถอนผ่านเครื่องเอทีเอ็ม ไม่จำเป็นต้องไปติดต่อสาขา ธนาคารพาณิชย์จึงเลือกใช้วิธีการปิดสาขาเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน ซึ่งแตกต่างจากธนาคารออมสินในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ต้องดูแลพนักงาน 12,000 คน และเป็นธนาคารของรัฐ มีหน้าที่ให้บริการประชาชน จึงไม่จำเป็นต้องเลือกใช้วิธีนี้ เพราะธนาคารออมสินมีแนวทางในการบริหารจัดการต้นทุนของเราได้

นายชาติชายกล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการบริหารจัดการต้นทุนของธนาคารโดยไม่ต้องปิดสาขา ลดจำนวนบุคลากร คือ

1. ปรับขนาดธุรกิจของสาขาให้เหมาะสมกับศักยภาพในพื้นที่ (Re-size)หรือ ลดขนาดสาขา โดยเปิดเป็น“สาขาไร้พนักงาน” (Digital Branch) ในปี 2560 ธนาคารออมสินเปิดให้บริการไปแล้ว 5 สาขา ปี 2561 กำลังจะเปิดอีก 20 สาขา

2. ควบรวม ย้ายสาขาไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพ (Re-Locate) เช่น ย้ายเข้าไปอยู่ในห้างสรรพสินค้าหรือชุมชน หน่วยงาน เป็นต้น

3. ปรับรูปแบบสาขาให้เหมาะสมกับลูกค้าในพื้นที่ (Re-Model)โดยเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจของสาขา จากเดิมเน้น Sevices มาเป็น Sale ในส่วนของการให้บริการลูกค้า รับฝาก-ถอนเงินจะอยู่ด้านหน้าธนาคาร ซึ่งจัดพื้นที่ไว้เป็น Digital Zone ไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานจำนวนมาก ส่วนพนักงานที่เคยทำหน้าที่ให้บริการก็จะถูกย้านมาอยู่ด้านหลัง ทำหน้าที่ขายทุกรูปแบบ เช่น บัตรเดบิต บัตรเครดิต กองทุนรวม สลากออมสิน ประกันชีวิต สินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังจัดพนักงานอีกส่วนหนึ่งไว้ให้บริการลูกค้าแบบเคลื่อนที่ (Delivery Banking) ทั้งทางรถยนต์และเรือ นี่คือรูปแบบการบริหารจัดการของธนาคารออมสินที่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ปัจจุบันธนาคารออมสินมีสาขาทั้งหมด 1,080 แห่ง กระจายอยู่ในต่างจังหวัด 915 สาขา คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 85% ของสาขาทั้งหมด ยังจำเป็นที่จะต้องมีสาขาและพนักงาน ดูแลลูกค้า 22 ล้านราย 40 ล้านบัญชีต่อไป

นายชาติชายกล่าวต่อว่า สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2560 ธนาคารออมสินมีกำไรสุทธิหลังหักสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 31,212 ล้านบาท ส่วนสำคัญมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิกว่า 57,884 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการบริหารพอร์ตสินทรัพย์และหนี้สินให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดและการบริหารสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นสุทธิจากสิ้นปีก่อน 112,272 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.9% ทำให้เงินให้สินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 2,014,123 ล้านบาท เป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารไทยและเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่มีสินเชื่อเกิน 2 ล้านล้านบาท ขณะที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ 5,701 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 921 ล้านบาท โดยมาจากธุรกิจบัตรและบริการอิเล็กทรอนิกส์ ค่านายหน้าและรับชำระค่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า พร้อมทั้งมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่จูงใจลูกค้า

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ธนาคารออมสินมีสินทรัพย์รวม 2,663,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2559 จำนวน 154,244 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.15% ภายใต้การบริหารตามกรอบทิศทางที่กำหนดไว้ ขณะที่ภารกิจด้านการส่งเสริมการออม ปรากฏว่ามียอดเงินฝากรวม 2,256,312 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารไทย โดยเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2559 จำนวน 97,176 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.5% โดยในปี 2560 ธนาคารฯ ได้ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากหลากหลายประเภทที่ตอบสนองตรงตามความต้องการของผู้ออมเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งเงินฝากทั่วไป เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ และสลากออมสินพิเศษ 3 ปี รวมถึงช่องทางการให้บริการที่จูงใจ เช่น บัตรอิเล็กทรอนิกส์ Mobile Application on “MyMo” ซึ่งให้ความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

“ในปี 2560 มีปริมาณความต้องการสินเชื่อของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารออมสินสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ภายใต้เงื่อนไขที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า พร้อมกับการดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว และหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขหนี้นอกระบบ การลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ การส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่ผู้ประกอบอาชีพรายย่อย ขณะที่ธุรกิจของธนาคารนั้นเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายตามช่วงเวลาเพื่อตอบสนองลูกค้าได้อย่างครอบคลุม ทำให้ภาพรวมของลูกค้าในปี 2560 ขยายตัว 20.97% จากปี 2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายลูกค้ากลุ่มวัยเด็กที่จะเข้าสู่วัยนักศึกษา (อายุ 18-22 ปี) ธนาคารออมสินได้เพิ่มถึง 33.86% ส่วนวัยเริ่มทำงาน หรือ First Jobber (อายุ 23-30 ปี) เพิ่มขึ้น 22.44%” นายชาติชาย กล่าว

ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวว่า ในปี 2560 ยังมุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างรัดกุมและผ่อนปรนตามความเหมาะสม และเน้นประสิทธิภาพในทุกกระบวนการตามมาตรการแก้ไขหนี้ มีการแก้ไขตามลำดับความสำคัญและอายุหนี้ การเจรจาไกล่เกลี่ย และการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับดี โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) 41,203 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.05% ของสินเชื่อรวม ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเทียบกับภาพรวมระบบสถาบันการเงิน ขณะที่ ธนาคารยังสามารถนำส่งรายได้แผ่นดินในปีงบประมาณ 2560 ได้อีกถึง 13,118 ล้านบาท ซึ่งสูงเป็นอันดับ 4 ของรัฐวิสาหกิจ และเป็นอันดับ 1 ของสถาบันการเงินรัฐ อีกด้วย

“ความร่วมมือร่วมใจกันของผู้บริหารและพนักงานส่งผลให้ธนาคารฯ มีผลประกอบการที่ดีในปีที่ผ่านมา พร้อมกับพัฒนาการในด้านต่างๆ ทำให้ได้รับการยกย่องและได้รับมอบรางวัลต่างๆ มากมาย เช่น รางวัลสำหรับสถาบัน Best Retail Bank of the Year 2017, รางวัลธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อย, รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี 2560 จำนวน 2 รางวัล, รางวัลความโปร่งใสขององค์กร, รางวัล Thailand’s Most Admired Brand 2017 เป็นปีที่ 3 ต่อเนื่อง, รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น, นักการเงินแห่งปี, Banker of the Year 2 ปีติดต่อกัน และบุคคลตัวอย่างภาคธุรกิจการเงินและธนาคาร รวมถึงรางวัลเกียรติยศด้านผลิตภัณฑ์ของ MyMo ซึ่งเป็น Mobile Banking ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าว

นายชาติชายกล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานในปี 2561 ว่าตั้งเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น The Best & Biggest Local Bank in Thailand “ธนาคารที่ดีที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุด”จะเป็นธนาคารล้ำสมัย ภายใต้ภารกิจหลักด้านการส่งเสริมการออมพร้อมสร้างวินัยทางการเงิน และเป็นแหล่งทุนสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากควบคู่กัน โดยธนาคารออมสินจะเป็นธนาคารที่ดีที่สุดในทุกด้าน ได้แก่

1. ธนาคารเพื่อสังคม ยึดหลักการดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs มาดำเนินการตามแนวทาง 3 ออม คือ ออมเศรษฐกิจ ออมสังคม และออมสิ่งแวดล้อม ทำให้ธนาคารพร้อมดูแลผู้มีรายได้น้อย แก้ไขหนี้นอกระบบตามนโยบายรัฐบาล และดูแลส่งเสริมอาชีพ พัฒนาอาชีพ ผ่านมหาวิทยาลัยประชาชนที่จะมีสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำกว่า 30 แห่งเป็นเครือข่ายร่วมกันผลักดัน พร้อมกับได้รับสินเชื่อจากธนาคารออมสินเมื่อต้องการประกอบอาชีพหรือทำธุรกิจ ทั้งในรูปแบบ Street Food สินเชื่อแฟรนไชส์ หรือจะเป็นโครงการธนาคารประชาชน ซึ่งจะดำเนินภายใต้หลัก 3 สร้าง คือ สร้างอาชีพ, สร้างความรู้, สร้างรายได้ และสร้างประวัติทางการเงิน

2. ธนาคารเพื่อรายย่อย มุ่งให้บริการตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้สูงอายุ ทุกกลุ่มทุกอาชีพ ได้แก่ เด็ก/เยาวชน ผู้ที่เริ่มทำงาน ผู้มีรายได้น้อยจนถึงมีรายได้สูง ผู้สูงอายุ และผู้มีอาชีพอิสระรายย่อย ด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย การให้บริการเป็นเลิศ รวดเร็ว มีโปรโมชั่นน่าสนใจ รวมถึงช่องทางการให้บริการที่ครอบคลุมทุกรูปแบบ เข้ากับวิถีชีวิตทุกอาชีพในทุกช่วงวัย

3. ธนาคารผู้นำด้านดิจิทัล ซึ่งธนาคารออมสินได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับลูกค้าในยุคสังคมดิจิทัลที่ต้องการความรวดเร็วในการให้บริการ

4. ธนาคารผู้สูงวัย โดยธนาคารออมสินเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ประกาศความพร้อมในการดูแลผู้สูงวัย ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ Aging Society ในปี 2560 ด้วยการเปิดตัวธนาคารผู้สูงวัย เมื่อต้นปี 2560 ด้วยบริการทางการเงินที่เหมาะกับผู้สูงวัย โดยผลิตภัณฑ์มีทั้งเงินฝากและสินเชื่อ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุให้ยังคงสามารถดำเนินชีวิตโดยมีสถานะการเงินที่มีความมั่นคงในช่วงวัย พร้อมๆ กับการเสริมสร้างอาชีพ เสริมรายได้ ดูแลสุขภาพ พัฒนาจิตใจ อีกด้วย

5. ธนาคารเพื่อคนรุ่นใหม่ GSB New Generation เพราะธนาคารออมสินมีภารกิจสำคัญคือปลูกฝังการออม ซึ่งต้องเริ่มจากวัยเด็กและทำต่อเนื่องทุกๆ วัย ทำให้ธนาคารออมสินมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีโดยเฉพาะในมิติการออม ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการดำเนินชีวิต พร้อมทั้งยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เช่น GSB Virtual School Bank, GSBGen.com เป็นต้น ด้วยรูปแบบการส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงินที่น่าสนใจ พร้อมกับได้เรียนรู้ เสริมทักษะ และฝึกฝนด้านวิชาการ ดนตรี กีฬา รวมถึงความมีคุณธรรมและจริยธรรม

6. ธนาคารสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยถึงรายกลางและ Startup ผ่านโครงการต่างๆ หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เหมาะกับวิถีการทำธุรกิจภายใต้ความคิดริเริ่มใหม่ๆ ที่ธนาคารออมสินได้เริ่มและดำเนินการมากว่า 3 ปี พร้อมทั้งต่อยอดด้วยการให้สินเชื่อในกลุ่ม GSB SMEs StartUP รวมถึงกองทุนร่วมลงทุน

“การมุ่งไปสู่ The Best & Biggest Local Bank in Thailand นั้น ธนาคารพร้อมด้วยบุคลากรและช่องทางบริการจะทำหน้าที่เพื่อให้ลูกค้าและประชาชนได้เข้าถึงทุกๆ พื้นที่ เพราะธนาคารออมสินจะเป็นธนาคารที่ล้ำสมัย โดยการปรับปรุงรูปแบบสาขาให้เหมาะสมกับศักยภาพในพื้นที่ โดยจะเน้นบริการ การขยาย Digital Branch ภายใต้ชื่อ Digi-Thai Life Solution และ Delivery Banking ซึ่งจะไม่มีการปิดสาขาแต่อย่างใด เพียงแต่ควบรวมหรือย้ายบางสาขาไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยในปี 2561 จะมีสาขารวมทั้งหมดกว่า 1,100 แห่ง ขณะเดียวกันยังจะมีการพัฒนา Feature ใหม่ๆ ผ่านช่องทางบริการ Mobile Banking ที่จะเป็นอีกช่องทางสำคัญในปี 2561 นี้” ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าว

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่