ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ศึกชิงงานประมูล “เครื่องตรวจระเบิด” มูลค่ากว่า 3 พันล้าน CTX ร้องบอร์ด AOT “ถูกกีดกัน”

ศึกชิงงานประมูล “เครื่องตรวจระเบิด” มูลค่ากว่า 3 พันล้าน CTX ร้องบอร์ด AOT “ถูกกีดกัน”

5 มกราคม 2018


ศึกชิงงานจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด สนามบินสุวรรณภูมิ กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังจากมีข่าวบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” เตรียมเปิดประมูลงานว่าจ้างปรับปรุงระบบตรวจสอบวัตถุระเบิด (Hold Baggage Screening System: HBS) และงานระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ (Baggage Handling System: BHS) ในอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่า 3,053 ล้านบาท ประเด็นข้อพิพาทระหว่าง ทอท. กับบริษัท สมิทส์ ดีเทคชั่น จำกัด จากประเทศอังกฤษ ที่ยังเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ คือ เรื่องการออกแบบสเปก โดยบริษัทที่ปรึกษาของ ทอท. แนะนำให้กำหนดสเปกของตัวเครื่องที่นำมาใช้ตรวจสอบกระเป๋าของผู้โดยสารควรมีความเร็ว 0.5 เมตรต่อวินาที จะมีความคุ้มค่ากว่าเครื่องที่มีความเร็ว 0.3 เมตรต่อวินาที

เหตุผลที่แนะนำให้เลือกใช้เครื่องที่มีความเร็วในคัดกรองกระเป๋าสัมภาระ 0.5 เมตรต่อวินาที คือ มีความสามารถในการคัดกรองกระเป๋าได้สูงสุดถึง 264 ใบต่อนาที รองรับความต้องการใช้ไปได้ถึงปี 2578 ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบถูกกว่า และที่สำคัญคือ ราคา เฉพาะตัวเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด 2,274 ล้านบาท และเมื่อรวมรวมค่างานติดตั้งปรับปรุงจะมีราคา 2,400 ล้านบาท

ส่วนเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่ใช้ความเร็ว 0.3 เมตรต่อวินาที มีความสามารถในการตรวจสอบกระเป๋า 158-179 ใบต่อนาที รองรับความต้องการใช้ไปได้ถึงปี 2565-2568 ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาแพงกว่า ราคาตัวเครื่อง 2,640 ล้านบาท รวมค่าติดตั้งปรับปรุง 2,766 ล้านบาท และก็มีแนวโน้มว่าคณะกรรมการ ทอท. (บอร์ด ทอท.) อาจจะตัดสินใจใช้สเปก 0.5 เมตรต่อวินาที ตามคำแนะนำของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 กลุ่ม CTX ที่มีบริษัท สมิทส์ ดีเทคชั่น จำกัด เป็นแกนนำ (ซื้อกิจการผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ยี่ห้อ CTX มาจากบริษัท Morpho Detection International, LLC.) ทำหนังสือประท้วง ส่งถึงนายประสงค์ พูนธเนศ ประธานคณะกรรมการ ทอท., นางระวีวรรณ เนตระคเวสนะ ประธานกรรมการธรรมาภิบาล, นายมนัส แจ่มเวหา ประธานกรรมการจัดหาพัสดุ ทอท., นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. และผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกร่าง TOR ของ ทอท. รวมทั้งหมด 4 ครั้ง ในฐานะที่ ทอท. เป็นลูกค้าเก่า เคยสั่งซื้อและใช้บริการเครื่อง CTX – 9400 จำนวน 26 เครื่องมานานถึง 11 ปี จึงแสดงความห่วงใย เกรงว่าจะตัดสินใจผิดพลาด จึงส่งข้อมูลมาให้บอร์ด ทอท. ใช้ประกอบการพิจารณาร่าง TOR

การออกแบบสเปกของตัวเครื่องที่ความเร็ว 0.5 เมตรต่อวินาที บริษัท สมิทส์ ดีเทคชั่น จำกัด มองว่า เป็นการกีดกันเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดรุ่น CTX ไม่ให้เข้ามาร่วมประมูลงานนี้ ถึงแม้บริษัทสมิทส์ฯ จะมีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด รุ่น XCT-10080 ที่ผ่านการตรวจและรับรองการใช้งานที่ความเร็ว 0.5 เมตรต่อวินาทีจากหน่วยงานรักษาความปลอดภัยด้านการขนส่ง ประเทศสหรัฐอเมริกา (Transportation Security Administration: TSA) แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมและไม่ประสบความสำเร็จในการผสานเข้ากับระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าที่สนามบินเท่ากับเครื่อง CTX-9800 DSI

จากข้อมูลเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่บริษัทสมิทส์ฯ รวบรวมมา ระบุว่าไม่มีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดยี่ห้อและรุ่นใดที่เปิดใช้ที่ความเร็วที่ 0.5 เมตรต่อวินาที แล้วผ่านการทดสอบจาก TSIF ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด TSA ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยด้านการขนส่ง และมีศูนย์ทดสอบ ติดตั้งเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดพ่วงต่อกับสายพานลำเลียง ทั้งนี้ เพื่อทดสอบว่าเครื่องยี่ห้อไหน รุ่นอะไร สามารถใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหา จึงอนุญาตให้ใช้ในสนามบินของประเทศสหรัฐอเมริกา ผลการตรวจรับรองปรากฏว่า มีเฉพาะเครื่อง CTX-9800 DSI เปิดใช้ที่ความเร็ว 0.3 เมตรต่อวินาที ของบริษัท Morpho Detection International, LLC. ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้ยี่ห้อ Smiths Detection, SD, UK เท่านั้น ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก TSA-TSIF และถ้าไปดูที่ยอดขาย เครื่อง Smiths Detection รุ่น CTX-9800 DSI มียอดขายรวมอยู่ที่ 535 เครื่อง และรุ่น XCT-10080 มียอดขาย 174 เครื่อง เปรียบเทียบกับคู่แข่ง คือ เครื่อง L-3 MV3D มียอดขายรวมไม่เกิน 50 เครื่อง

ส่วนการทดสอบความเร็วเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดของ TSA หลักๆ มี 3 วิธี คือ

1. ทดสอบในห้องแล็บ (Laboratory Test) ซึ่งไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบสายพานจริง (In Line) ปรับความเร็วที่ 0.5 เมตรต่อวินาที ทุกยี่ห้อผ่านการทดสอบทั้งหมด รวมทั้งยี่ห้อ NUTECH XT2100HS ผลิตในประเทศจีน ยกเว้นเครื่อง CTX-9800 DSI ไม่ได้ส่งทดสอบ

2. ทดสอบสอบเครื่องต่อพ่วงกับระบบสายพานจริง (In Line) โดยตั้งความเร็วที่ 0.5 เมตรต่อวินาที ปรากฏว่าไม่มีเครื่องยี่ห้อใด รุ่นใด ผ่านการทดสอบ ส่วนเครื่อง CTX-800 DSI ไม่ได้ส่งทดสอบ

3. ทดสอบเครื่องต่อพ่วงกับระบบสายพานจริง ตั้งความเร็วที่ 0.3 เมตรต่อวินาที ผู้ผลิตจากทุกประเทศ ส่งเครื่องสเปก 0.5 เมตรต่อวินาที มาทดสอบ โดยปรับลดความเร็วเหลือ 0.3 เมตรต่อวินาที เพราะต้องการจะขายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ผลปรากฏว่าเครื่อง CTX-9800 ผ่านการทดสอบเพียงรุ่นเดียว

ข้อสังเกต ถึงแม้ TSA จะเป็นผู้ออกใบรับรองเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด 0.5 เมตรต่อวินาที แต่ TSA ยังไม่เคยพิจารณาซื้อเครื่อง XCT หรือเครื่องที่มีความเร็ว 0.5 เมตรต่อวินาที ยี่ห้อใดไปติดตั้งในสนามบินประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งข้อมูลทางด้านเทคนิคเหล่านี้ ผู้บริหารและวิศวกรของ ทอท. หลายคนทราบดี เพราะเคยเดินทางไปดูงานและเยี่ยมชมกิจการของ TSA-TSIF ประเทศสหรัฐอเมริกามาแล้วในระว่างวันที่ 7-17 เมษายน 2559

การตัดสินใจปรับเปลี่ยนเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด รุ่น CTX-9400 จำนวน 26 เครื่อง เพื่อใช้เครื่องรุ่นอื่นที่มีความเร็ว 0.5 เมตรต่อวินาที โดยไม่ได้ผ่านการทดสอบกับระบบสายพานจริงจาก TSA อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อ ทอท. เพราะระบบตรวจจับวัตถุระเบิดมีความสำคัญไม่แพ้ระบบการออกตั๋ว หากกระเป๋าสัมภาระไปไม่ถึงเครื่องบินหรือมีปัญหา เครื่องบินก็ออกจากท่าอากาศยานไม่ได้

รายงานระบุต่อว่าข้อเท็จจริงที่ว่าปัญหาอาจจะไม่ได้ขึ้นเกิดกับเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดทุกเครื่อง แต่หากเกิดข้อผิดพลาดแค่ 10-20% ก็ถือว่ามีปัญหาแล้ว โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก เช่น ช่วง High Season ซึ่งเป็นช่วงทำรายได้ของประเทศและ ทอท.