ThaiPublica > เกาะกระแส > โครงการตัวอย่าง “10 ปี หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์” เส้นทางสู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืน

โครงการตัวอย่าง “10 ปี หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์” เส้นทางสู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืน

8 มกราคม 2018


เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ็มบี, และสถานีตำรวจภูธรเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี จัดงาน “10 ปี หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์” มอบกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้เช่าเพื่อธุรกิจเกษตร ให้กับข้าราชการตำรวจ 31 นาย

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ็มบี, และสถานีตำรวจภูธรเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี จัดงาน “10 ปี หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์” มอบกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้เช่าเพื่อธุรกิจเกษตร ให้กับข้าราชการตำรวจ 31 นาย เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ของครอบครัวตำรวจให้ดีขึ้น มีรายได้เสริมจากการเกษตร และมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ณ หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

โครงการนี้เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ต่อยอดจาก “โครงการหมู่บ้านเกษตรหนองหว้า” อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เครือซีพีและบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน)หรือซีพีเอฟ เริ่มทำโครงการในปี 2520 จนถึงวันนี้โครงการนี้เกษตรกรสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง เริ่มต้นจากซีพีเป็นผู้รวบรวมที่ดินที่รกร้างไม่สามารถเพาะปลูกได้ 1,253 ไร่ จัดสรรให้เกษตรกร 50 ครอบครัวๆละ 24 ไร่ วันนี้เกษตรกรกลุ่มนี้ได้เป็นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและที่ดินทั้งหมด เช่นเดียวกับโครงการหมู่บ้านสันติราษฎร์

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า โครงการเกษตรสันติราษฎร์ เกิดขึ้นจากแนวคิดของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่จะร่วมสนับสนุนภาครัฐภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักคุณค่า 3 ประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ คือ การลงทุนที่สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศ ให้แก่ประชาชนในประเทศ และสามารถต่อเนื่องไปเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ เพื่อเสริมสวัสดิการให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยสามารถสร้างครอบครัวที่มีเศรษฐกิจมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืน โดยเริ่มนำร่องจากข้าราชการตำรวจ 31 ครอบครัว ของสถานีตำรวจภูธรเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี ในปี 2549 และได้รับความร่วมมือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และธนาคารทหารไทยสนับสนุนวงเงินสินเชื่อในการดำเนินโครงการ

สำหรับการออกแบบโครงการ ได้ใช้แนวทาง “1 หมู่บ้าน 4 ผลิตภัณฑ์” หรือ 1 หมู่บ้าน 4 รายได้เพิ่ม รายได้หนึ่งมาจากผลิตภัณฑ์ที่ข้าราชการตำรวจใช้เวลาว่างดูแลได้ เช่น การเพาะเลี้ยงไก่พื้นเมือง และอีก 3 รายได้ มาจากธุรกิจเกษตรที่ข้าราชการตำรวจทั้ง 31 ครอบครัวเป็นเจ้าของร่วมกัน ได้แก่ กิจการเลี้ยงสุกร, กิจการเพาะเลี้ยงกบ และกิจการผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากเครือเจริญโภคภัณฑ์เข้ารับหน้าที่ดูแลและบริหารจัดการแทน ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นในระยะแรก นำไปผ่อนชำระสินเชื่อธนาคารเป็นหลัก

ปัจจุบันโครงการเกษตรสันติราษฎร์ได้ดำเนินการมาครบ 10 ปี สามารถนำรายได้จากภาคธุรกิจเกษตรชำระคืนธนาคารครบถ้วน และส่งมอบกรรมสิทธิ์โครงการ ประกอบด้วย ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยของแต่ละครอบครัวขนาด 1 ไร่ครึ่ง พร้อมบ้าน 2 ชั้น 1 หลัง, โรงเรือนเลี้ยงไก่พื้นเมือง 1 หลัง พื้นที่รวม 50 ไร่, และที่ดินเพื่อทำธุรกิจเกษตรพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อการผลิต พื้นที่รวม 180 ไร่ รวมพื้นที่โครงการทั้งสิ้น 230 ไร่ ให้กับข้าราชการตำรวจทั้ง 31 ครอบครัว

โดยในส่วนของธุรกิจเกษตรนั้น ข้าราชการตำรวจยังคงร่วมกันเป็นเจ้าของกิจการ และบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์จะเข้าพัฒนาธุรกิจเกษตรเพื่อสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องให้โครงการต่อไป

นายศุภชัยกล่าวว่าทางเครือซีพีมุ่งมั่นที่จะสร้างโมเดลพัฒนาท้องที่อย่างยั่งยืน และหวังว่าโมเดลเกษตรสันติราษฎร์จะมีการขยายผลสืบเนื่องต่อไป เป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จ และเครือเจริญโภคภัณฑ์มีความยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้นี้ เพื่อการขยายผลในทุกภาคส่วนต่อไป

นายสาโรจน์ เจียระคงมั่น รองกรรมการผู้จัดการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้ดูแลโครงการเกษตรสันติราษฎร์ เล่าว่า โครงการเกษตรสันติราษฎร์เริ่มต้นจากประธานธนินท์ (เจียรวนนท์) อยากจะทำโครงการช่วยเหลือตำรวจชั้นผู้น้อยที่มีรายได้น้อย และไม่มีเวลาดูแลครอบครัว จึงให้คิดโครงการขึ้นมา

โดยโครงการนี้เหมือนเป็นโครงการเกษตรผสมผสาน คือมีที่อยู่อาศัยและมีธุรกิจเกษตรซึ่งไม่ใช่ธุรกิจเกษตรเชิงเดี่ยว แต่มีหลายอาชีพที่ไปเสริมรายได้ และทำเป็นโครงการส่งเสริมต่อเนื่องยาวนาน

และในปี 2549 จึงได้เริ่มโครงการเกษตรสันติราษฎร์ บนพื้นที่ 230 ไร่ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ พื้นที่บ้านพักอาศัยประมาณ 50 ไร่ และพื้นที่ดำเนินธุรกิจเกษตรประมาณ 180 ไร่ โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารทหารไทย วงเงินกู้ 56.3 ล้านบาท มีนายตำรวจชั้นผู้น้อย 31 นายเป็นสมาชิกโครงการ

และด้วยความตั้งใจสร้างให้ตำรวจชั้นผู้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเงินเดือนประจำ นอกจากจัดสรรให้ครอบครัวละ 1 ไร่ครึ่ง พร้อมบ้าน 2 ชั้น 1 หลังแล้ว ยังมีโรงเรือนเลี้ยงไก่พื้นเมือง 1 หลังให้ทำเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้เดือนละประมาณ 3 พันบาท

ส่วนอีก 3 ธุรกิจ 180 ไร่ คือเลี้ยงสุกร เลี้ยงกบ และปลูกผักปลอดสารพิษ เนื่องจากตำรวจไม่สามารถรับภาระดูแลกิจการอื่นเพิ่มขึ้นได้ จึงออกแบบให้มีผู้ชำนาญการเข้ามาบริหารจัดการ

“สิ่งที่ซีพีนำเข้ามาคือ นำธุรกิจเกษตรที่มีตลาด ที่ซีพีมีเทคโนโลยี มีการบริหารจัดการ มาช่วยเขา โดยที่เกษตรกรหรือตำรวจชั้นผู้น้อยเป็นเจ้าของทุนตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีซีพีเข้ามาช่วยบริหารทุนให้เกิดธุรกิจ วันนี้เป็นเวลา 10 ปี ปลอดหนี้แล้ว และได้แจกที่ดินให้ 31 ครอบครัว โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งคือบ้านพร้อมโฉนดที่ดิน 1.5 ไร่ ส่วนโฉนดใหญ่ในนามบริษัทเกษตรสันติราษฎร์ ซึ่งก็คือหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ มีตำรวจเป็นเจ้าของ เป็นการส่งเสริมแบบต่อเนื่อง ที่ได้ทั้งที่อยู่อาศัยพร้อมกับอาชีพให้เดินไปตลอด”

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงโครงการเกษตรสันติราษฎร์ว่า ตำรวจผู้น้อยเวลาโยกย้ายก็ไปใช้หอพักของโรงพัก ชีวิตเขาไม่มีวันไปซื้อบ้าน เงินเดือนก็ไม่พอที่จะไปซื้อบ้าน ตั้งแต่รับราชการตำรวจก็อยู่หอพัก ลูกเมียก็อยู่หอพัก ความเป็นจริงเป็นอย่างนี้

แล้วพอเกษียณ ตำรวจผู้น้อยเหล่านี้ไม่มีบ้าน เดือดร้อนในบั้นปลายชีวิต ทางเครือซีพีจึงคิดว่าน่าจะทำเป็นตัวอย่างให้ตำรวจผู้ใหญ่รับรู้ว่า ผู้น้อยที่อยู่ตามโรงพัก พอเกษียณแล้วจะไม่มีบ้านอยู่อาศัย

“ที่นี่ (หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์) ตอนนั้นซื้อที่ดินไร่ละ 7 หมื่น ซื้อ 200 กว่าไร่ แล้ว 200 กว่าไร่ที่พวกคุณเห็น ไร่ครึ่งปลูกบ้านกับเลี้ยงไก่พื้นบ้าน บ้านหนึ่งหลัง 2 ชั้น แต่ที่เขาต่อเติมสวยงาม เขาต่อเติมเองนะ จริงๆ ของเราเรียบๆ 2 ชั้น แล้วก็มีใต้ถุน มีห้องน้ำ พอเขามีเงินเขาก็ล้อมรั้ว ทำห้องครัว ทำห้องนั่งเล่น ผมยังบอกท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ท่านไปหา 10 โรงพักมาเลย ในที่ที่เหมาะสม เราจะไปทำให้ แล้วอะไรเรียกว่ายั่งยืน ยั่งยืนคือต้องกู้เงินและจ่ายดอกเบี้ยได้ คืนเงินต้นได้ จ่ายดอกเบี้ยได้แล้วยังมีกำไร นั่นล่ะถึงจะยั่งยืน แต่ถ้าให้เปล่าเขาจะอยู่ได้ยังไง”นายธนินท์กล่าว

พร้อมกล่าวต่อว่า”แต่โครงการนี้คืนเงินต้นได้ คืนดอกเบี้ยได้ แล้วยังมีกำไร มีรายได้เหลือ นั่นถึงจะเรียกว่ายั่งยืน ยั่งยืนต้องกู้เงิน แต่ดอกเบี้ยไม่ใช่นอกระบบนะ ร้อยละยี่สิบไม่มีวันอยู่ได้ ดอกเบี้ยธนาคาร ต้องคืนเงินต้นได้ จ่ายดอกเบี้ยได้ เหมือนที่นี่ ทำไมถึงยั่งยืน เพราะพอเขาคืนแบงก์หมด แบงก์ก็ยินดีให้เรากู้ เพราะคุณกู้ไปแล้วจ่ายชัวร์ๆ จ่ายดอกเบี้ยก็ได้ เงินต้นก็ได้ ทำไมแบงก์จะไม่ให้กู้” นายธนินท์กล่าว

และนอกจากตำรวจแล้ว ข้าราชการอื่นๆ ก็สามารถทำโมเดลนี้ได้ แต่ต้องมี “เจ้าภาพ” ทำไมต้องมีเจ้าภาพ เพราะวันนี้เกษตรกรขาด 3 เรื่อง 1. ขาด “ทุน” ไม่มีเงิน 2. ไม่มีความรู้ ไม่มีเทคโนโลยี 3. ไม่มีตลาด

“ถ้าเรามีเงิน มีเทคโนโลยี แต่ไม่มีตลาด ก็ล้มอีก ผลิตแล้วไปขายให้ใคร ถ้าไม่มีใครมาซื้อ หรือซื้อราคาถูก ถูกกว่าทุน แล้วจะไปคืนเงินต้นคืนดอกเบี้ยได้ยังไง มีกำไรได้ยังไง ซีพีต้องรับผิดชอบ พอซีพีทำสำเร็จแล้วอย่าไปห่วงว่าไม่มีใครทำ ถ้าทำสำเร็จแล้ว ให้คนมาเรียนรู้ ให้เขาทำตามความสามารถเขา เราเก่งเรื่องเกษตร ก็ว่าเรื่องเกษตร เขาเก่งเรื่องการตลาด ก็มารวมกัน แล้วมารับผิดชอบเกษตรกร แน่นอนว่าซีพีได้ประโยชน์ แต่เกษตรกรต้องได้ก่อน เราต้องรับผิดชอบให้เขามีกำไรเลี้ยงครอบครัวได้ ยังไม่พอนะ ยังต้องคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้ พอคืนเสร็จ เขาก็มีโอกาสขยายอีก นี่แหละถึงจะยั่งยืน” นายธนินท์กล่าว

พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ซ้าย) และคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์(ขวา)

พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาปรับปรุงสวัสดิการของตำรวจชั้นผู้น้อยให้ดีขึ้น เพื่อให้อยู่อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี การที่เครือเจริญโภคภัณฑ์และธนาคารทหารไทยได้ร่วมกันจัดทำโครงการนี้ขึ้น นับเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพื่อช่วยกระตุ้นคุณภาพชีวิตของตำรวจให้ดีขึ้นโดยตรง ทำให้ตำรวจและครอบครัวมีที่ดินสำหรับประกอบอาชีพเสริม

ในนามของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอขอบคุณด้วยความจริงใจ และจะส่งมอบกรรมสิทธิ์โครงการเกษตรสันติราษฎร์ รวมถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน พร้อมบ้านพักอาศัย ให้กับข้าราชการตำรวจทั้ง 31 ครอบครัว

ด้านดาบตำรวจสุทธิธนินท์ ลำบัติ อายุ 47 ปี เจ้าของบ้านเลขที่ 159/17 หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ เล่าว่า มีเป้าหมายชีวิตก่อนอายุ 40 ปี ว่าจะต้องมีบ้านสักหลัง มีที่สักแปลงหนึ่ง มีรถคันหนึ่ง และมีครอบครัวที่อบอุ่น จนเมื่อปี 2547 ทราบข่าวจากเพื่อนรุ่นพี่ตำรวจว่าซีพีจะจัดสรรที่ให้ข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อย เพื่อที่จะให้มีที่อยู่อาศัยและมีอาชีพเสริม ก็มีความมั่นใจที่จะเข้าร่วมโครงการ

ในช่วงเริ่มต้น พื้นที่หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ยังเป็นป่ายูคาลิปตัส ชาวบ้านในพื้นที่ยังทำมาหากินไม่ค่อยได้ แต่ซีพีมาทำให้เกิดธุรกิจด้วยการจัดสรรแบ่งส่วนที่ดินให้ ตำรวจ มีทั้งพื้นที่ส่วนตัวซึ่งเป็นพื้นที่บ้านแล้วก็เลี้ยงไก่ และพื้นที่ส่วนรวม ทั้งฟาร์มหมู สวนผักปลอดสารพิษ โดยมีซีพีเข้ามาจัดการให้ ค้ำประกันเงินออกมาให้เราเพื่อทำการเกษตร จนวันนี้ได้เป็นเจ้าของโฉนดที่ดิน นับว่าผมเป็นคนที่โชคดี

พันตำรวจเอก ภูริวัจน์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดอุทัยธานี ประธาน กรรมการหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพื่อนข้าราชการตำรวจ 31 นายได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ ทำให้มีโอกาสมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองและมีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับครอบครัวข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยทุกคน ที่จะมีเศรษฐกิจครัวเรือนที่มีความมั่นคง เป็นความอุ่นใจว่าจะมีอนาคตที่ดีให้ลูกหลาน

“ในโอกาสที่พวกเราตำรวจ 31 ครอบครัวได้รับมอบกรรมสิทธิ์โครงการเกษตรสันติราษฎร์ ขณะที่เครือเจริญโภคภัณฑ์พร้อมทำหน้าที่ในการบริหารจัดการและพัฒนาธุรกิจเกษตร นับเป็นความมั่นใจยิ่งขึ้นอีกว่า โครงการนี้จะเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับครอบครัวของพวกเราทุกคนต่อไปในอนาคต ผมและสมาชิกโครงการทุกคนให้คำมั่นว่าจะช่วยกันดูแลรักษาทรัพย์สินที่ได้รับมอบกรรมสิทธิ์ รวมถึงธุรกิจเกษตรที่พวกเราเป็นเจ้าของร่วมกัน ให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เพื่อส่งต่อสู่รุ่นลูกหลานต่อไป” พันตำรวจเอก ภูริวัจน์กล่าว