ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. ชี้เศรษฐกิจปี ’60 อาจโตได้ 4% อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยว ยอมรับต้องเกาะติดปัจจัยภายใน การเติบโต “กระจายตัว-เข้มแข็ง” กว่านี้

ธปท. ชี้เศรษฐกิจปี ’60 อาจโตได้ 4% อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยว ยอมรับต้องเกาะติดปัจจัยภายใน การเติบโต “กระจายตัว-เข้มแข็ง” กว่านี้

31 มกราคม 2018


ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2561 ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2560 และภาพรวมเศรษฐกิจปี 2560 ว่ายังขยายตัวต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าที่เติบโตขึ้นทุกหมวดสินค้าและประเทศคู่ค้า  เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีตามอุปสงค์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าขยายตัว

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมขยายตัวต่อเนื่อง แต่เดือนธันวาคมเห็นภาพชะลอลงจากฐานที่สูงของปีก่อนหน้าที่มีมาตรการชอปช่วยชาติในเดือนธันวาคม ขณะที่ปี 2560 กลับออกมาตรการมาในเดือนพฤศจิกายนแทน ซึ่งดึงการใช้จ่ายบางส่วนไป อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าคงทนกลับเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าการบริโภคโดยรวมมีทิศทางที่ดีขึ้นอยู่ แม้ว่าจะมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัจจัยถ่วงอยู่ ด้านการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 15.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 10.6% ตามการนำเข้าที่ขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า โดย 1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวตามการนำเข้าเชื้อเพลิงซึ่งขยายตัวทั้งด้านราคาและด้านปริมาณ อย่างไรก็ดี หากไม่รวมการนำเข้าเชื้อเพลิง การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวตามการนำเข้าโลหะและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ สอดคล้องกับภาคการส่งออกที่ขยายตัวดี 2) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวตามการนำเข้าสินค้าไม่คงทนในทุกกลุ่มสินค้า 3) หมวดยานยนต์ขยายตัวตามการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ สอดคล้องกับการผลิตและยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ดีขึ้น และ 4) หมวดสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินขยายตัวตามการนำเข้าอุปกรณ์สื่อสารและโทรคมนาคม

“ตัวเลขที่ประเมินทั้งปีคือ 3.9% แต่ถ้าดูทศนิยม 2 หลักจะพบว่าจีดีพีในปี 2560 คาดการณ์ไว้ที่ 3.94% ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตถึง 4% โดยมีแรงส่งสำคัญจากการส่งออกที่เติบโตได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 9.3% แต่ทั้งปีเติบโตไปได้ 9.8% อย่างไรก็ตาม อีกด้านก็มีการลงทุนภาครัฐที่ชะลอกว่าที่คาดจากความล่าช้าที่เกิดขึ้น หรือการใช้กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างใหม่ที่อาจจะต้องให้เวลาปรับตัว หรือกฎหมายอีอีซีที่กำลังจะเริ่มบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะขับเคลื่อนออกมาได้มากขึ้นและมาช่วยการลงทุนของเอกชนได้ ส่วนเศรษฐกิจในปีนี้อาจจะคาดหวังให้เห็นการเติบโตของการส่งออกหรือท่องเที่ยวระดับนี้ไม่ได้ แม้ว่าทิศทางจะดีต่อเนื่องทั้งราคาและปริมาณ คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงยังให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลักว่าอยากจะเห็นการฟื้นตัว กระจายตัวมากขึ้นถึงระดับที่วางใจได้ คือเศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง เช่น การลงทุนเติบโต เงินเฟ้อฟื้นตัวขึ้นมา ซึ่งตัวเลขการนำเข้าที่ฟื้นตัวต่อเนื่องก็ส่งสัญญาณที่ดีว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจะยั่งยืนในระยะต่อไป อาจจะใช้เวลาไม่นานก็ได้” ดร.ดอนกล่าว

ขณะที่ประเด็นค่าเงินบาทที่แข็งค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอย่างต่อเนื่องจนอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ดร.ดอนกล่าวว่า หากไปดูการส่งออกในมูลค่าเงินบาทพบว่ายังเติบโตได้ 6.1% แสดงว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นแท้จริงแล้วไม่ได้ทำให้ภาคส่งออกกระทบทั้งหมด แต่ภาคส่งออกไทยก็ยังเติบโตได้ในระดับที่มากกว่าที่ทุกฝ่ายเคยประเมินหรือตั้งเป้าไว้ในช่วงต้นปี ขณะที่มาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ที่เริ่มออกมาคิดว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบ เพราะยังมีรายการเพียงแค่แผงโซลาร์และเครื่องซักผ้า ซึ่งคิดเป็น 0.3% ของการส่งออกของไทย แต่อนาคตต้องติดตามว่าจะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ดร.ดอนกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.78% ชะลอลงจาก 0.99% ในเดือนก่อนตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ขยายตัวชะลอลงจากผลของฐานราคาน้ำมันดิบที่เริ่มสูงขึ้นในปลายปีก่อน ประกอบกับราคาอาหารสดโดยเฉพาะราคาผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ ยังคงหดตัวหลังจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.62% ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนตามอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน

ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์เป็นสำคัญ จาก 1) การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ โดยเฉพาะของธุรกิจการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม 2) การเพิ่มเงินฝากในต่างประเทศของสถาบันการเงินที่รับฝากเงินเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ และ 3) การให้สินเชื่อทางการค้าของผู้ส่งออกไทยกับคู่ค้าในต่างประเทศตามมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวดี

รายละเอียดเพิ่มเติม