ThaiPublica > คอลัมน์ > การศึกษาเพื่อไทยแลนด์ 4.0: วิทยาศาสตร์? สังคมศาสตร์? เลือกเรียนหรือส่งเสริมอะไรดี?

การศึกษาเพื่อไทยแลนด์ 4.0: วิทยาศาสตร์? สังคมศาสตร์? เลือกเรียนหรือส่งเสริมอะไรดี?

31 มกราคม 2018


อาร์ม ตั้งนิรันดร

“เรียนสาขาไหนดี จึงจะรุ่งในโลกยุคใหม่?”

เมื่อหลายเดือนก่อน รุ่นพี่ที่รักของผมชวนมิตรสหายมาระดมความคิดว่า จะให้ลูกที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยเรียนอะไรดี?

ความเห็นรอบโต๊ะเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ เสียงหนึ่งบอกให้เรียนหมอ เพราะหมอไทยขาดแคลน, ส่วนอีกเสียงหนึ่งแนะนำให้เรียนวิศวกรรมหุ่นยนต์ เพราะหุ่นยนต์จะครองโลกอนาคต

อีกเสียงบอกต้องไม่มองแค่เทรนด์ตอนนี้ แต่ต้องคิดถึงเทรนด์อีก 30 ปีข้างหน้า!! อีกเสียงบอกให้เปิดเว็บไซต์ดูว่าอาชีพไหนจะถูก AI มาทดแทน และห้ามลูกเรียนสาขาเหล่านั้น

ต่างคนต่างฟุ้งกันทั่วโต๊ะ ส่วนผมนั่งเงียบหม่ำเป็ดปักกิ่งอยู่คนเดียว จนรุ่นพี่หันมาถามว่า แล้วอามล่ะ แนะนำสาขาอะไร?

เกือบสำลักเป็ดปักกิ่ง! ผมจะไปรู้ได้อย่างไรว่า อีก 30 ปีข้างหน้าเทรนด์จะเป็นอย่างไร (ถ้าย้อนกลับไป 30 ปีที่แล้ว ผมก็เชื่อว่าน้อยคนมากที่จะมองเห็นเทรนด์วันนี้ได้อย่างถูกต้อง เช่น ใครจะไปรู้ล่ะครับว่าจะมีอาชีพนักออกแบบแอปในเมื่อสมัยนั้นยังไม่มีไอโฟนเลย โลกเราเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเหลือเกิน และในทิศทางที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง)

ที่ผมรู้สึกประหลาดใจมากที่สุดก็คือ ทั้งโต๊ะยังไม่มีใครถามเลยว่าน้องเขาชอบอะไร สนใจอะไร และผมงงเหลือเกินว่า พ่อแม่มีสิทธิอะไรไปเลือกสาขาวิชาให้ลูก

รุ่นพี่อธิบายว่า เขาเพียงหวังแนะนำสาขาที่น่าเรียน เพราะตัวลูกเองก็ยังไม่รู้ตัวเอง ส่วนลูกจะทำตามหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของเขาเอง แต่เขาก็น่าจะคล้อยตาม เพราะเขาเด็กมาก ไม่รู้เรื่อง

ทำไมเด็กอายุ 18 จึงยังเด็กมาก ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าตัวเองสนใจหรือชอบอะไร ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาของโรงเรียน ระบบการศึกษา และวัฒนธรรมการศึกษาไทยด้วยหรือไม่? น่าคิดนะครับ

ถ้าผมจะแนะนำใครเรื่องการศึกษา ผมคงไม่ไปแนะนำเขาว่าควรเลือกสาขาอะไร วิทยาศาสตร์? สังคมศาสตร์? แพทย์? กฎหมาย? วิศวกรรมหุ่นยนต์? เพราะผมเห็นว่า สิ่งสำคัญไม่ใช่สาขาที่เรียน แต่คือเราเรียนและเราเข้าใจ “การศึกษา” อย่างไรต่างหาก

การศึกษาในยุคสมัยใหม่มีหลักคิดที่แตกต่างจากเดิม 3 ข้อ ดังนี้ครับ

หนึ่ง หมดยุคที่คนจะทำงานตรงกับสาขาที่เรียน และหมดยุคทำอาชีพเดียวจนแก่

ในสมัยก่อน เรามักคาดหวังว่าจะต้องทำงานให้ตรงกับสาขาที่เราเรียนในมหาวิทยาลัย ไม่อย่างนั้นดูเหมือนเสียเวลาเปล่า หรือทำอะไรผิดจากที่ควรทำ

แต่เชื่อไหมครับ ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจยุคใหม่ ปัจจุบันมีเพียง27% ของบัณฑิตที่ได้ทำงานตรงสาขา การตีความแบบหนึ่งก็คือ ตัวเลขนี้มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในโลกยุคใหม่ที่มีงานใหม่ๆ ที่ไม่ตรงกับกรอบสาขาแบบดั้งเดิม หรือจำเป็นต้องใช้ความรู้ผสมผสานหลายสาขา

นอกจากนั้น ในสมัยก่อน คนเรามักมีอาชีพเดียว จนเกษียณ ผลสำรวจในแคนาดาพบว่า คนยุคนี้อาจเปลี่ยนงานถึง 15 ครั้งก่อนเกษียณ ตัวเลขการเปลี่ยนงานในหลายประเทศมีแนวโน้มสูงเช่นนี้ทั้งนั้น โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานรายได้ปานกลาง/สูง เพราะเป็นยุคสมัยที่โอกาสใหม่ๆ มีหลากหลายมากขึ้น (สำหรับคนที่มองเห็นและรู้จักคว้าโอกาส)

ถ้าการทำงานไม่ตรงสาขาและการเปลี่ยนหลายอาชีพเป็นลักษณะของคนที่ประสบความสำเร็จในโลกยุคใหม่ การศึกษาก็ควรเป็นไปเพื่อการเปิดทางเลือก ฝึกให้คนมีทักษะสร้างสรรค์และปรับตัวได้เร็ว มากกว่าการจำกัดคนให้อยู่ในกรอบของสาขาหรืออาชีพแบบดั้งเดิม

ข้อสำคัญคือ การเลือกสาขาที่ตรงเทรนด์วันนี้ อาจไม่สำคัญเท่ากับการเลือกเรียนและทำสิ่งที่เรารักและสนใจ เพราะเมื่อเรารัก สนใจ และใฝ่รู้ เราก็จะเรียนและทำสิ่งนั้นได้ดี และอาจเป็นพื้นฐานให้เราก้าวข้ามไปทำอย่างอื่นหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ต่อไปอีกด้วย โดยไม่จำเป็นว่าจะตรงกับสาขาที่เราเลือกมาแต่แรก

คุณสมบัติของคนที่ประสบความสำเร็จในโลกยุคใหม่ น่าจะเป็นคนที่มี “passion” และเป็นตัวของตัวเองมากกว่าเป็นคนที่เลือกเรียนสาขานี้เพียงเพราะมีคนแนะนำว่าเป็นสาขาที่ตลาดต้องการ

สอง หมดยุคที่ความรู้ 4 ปีในมหาวิทยาลัยจะหากินได้ทั้งชีวิต

ความรู้และวิทยาการของโลกเปลี่ยนไปรวดเร็วมาก จนความรู้เดิมๆ ล้าสมัยไปอย่างรวดเร็ว

ลองถามคนที่มีวิสัยทัศน์เลือกเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เมื่อ 20 ปีแล้ว ถ้าพวกเขาไม่รู้จักเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอด วันนี้เขาก็จะตามไม่ทันวิทยาการในปัจจุบัน

เด็กที่จบใหม่ในวันนี้ก็เช่นกัน ในสมัยก่อน เรามักมอง “ความรู้” ว่าเป็นสิ่งที่หยุดนิ่ง เราเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อไปรับการถ่ายทอด “ความรู้” จากอาจารย์ แล้วเราก็จบการศึกษา และนำ “ความรู้” นั้นไปใช้หากินชั่วชีวิต

แต่ความรู้ในโลกยุคใหม่ยิ่งมีลักษณะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและไม่หยุดนิ่ง ตอนนี้ในโลกตะวันตกมีการพูดกันในทางนโยบายอย่างกว้างขวางถึงการวางโครงสร้างระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต จะทำอย่างไรให้มีการฝึกอบรมเพิ่มเติมและฝึกทักษะใหม่ๆ ให้แรงงาน

Alvin Toffler นักธุรกิจและนักเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ มีคำพูดที่โด่งดังมากว่า

“คนไม่รู้หนังสือในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่คนที่อ่านหรือเขียนหนังสือไม่ออก แต่เป็นคนที่ไม่รู้จักเรียน ถอดรื้อสิ่งที่เคยเรียน และเรียนรู้ใหม่”

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะเรียนสาขาอะไรในวันนี้ ความรู้ของคุณอาจล้าสมัยได้อย่างรวดเร็ว จำเป็นที่คุณจะต้องมีทัศนคติของการเรียนรู้ใหม่อยู่ตลอด

สาม หมดยุคของเนื้อหาความรู้ แต่เป็นยุคของการเรียนรู้ทักษะและวิธีคิด

นอกจากเนื้อหาความรู้จะล้าสมัยอย่างรวดเร็วแล้ว ยังหาได้ง่ายจากอินเทอร์เน็ต แค่ Google สิ่งที่คุณอยากรู้ก็พบความรู้ในเรื่องนั้นๆ มหาศาล อ่านได้ไม่รู้จักจบสิ้น แตกต่างจากในอดีต ที่คนจบมหาวิทยาลัยผูกขาดความรู้ ครูบาอาจารย์ผูกขาดความรู้ ต้องฟังอาจารย์บรรยาย และจดเล็กเชอร์เก็บไว้บูชา เพราะหาจากที่อื่นไม่ได้

ดังนั้น ในยุคใหม่ที่ความรู้อยู่เต็มโลกออนไลน์ และต่อไปคงดาวน์โหลดให้หุ่นยนต์ใช้งานได้ด้วย สิ่งที่สำคัญกว่าเนื้อหาความรู้จึงเป็นเรื่องทักษะและวิธีคิดต่างหาก

ถ้าคุณเรียนกฎหมาย สิ่งสำคัญก็คือทักษะและวิธีคิดเกี่ยวกับกฎหมาย มากกว่าเนื้อหากฎหมาย เรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สิ่งสำคัญก็คือทักษะและวิธีคิดเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม มากกว่าเนื้อหาโปรแกรม ฯลฯ

ในโลกตะวันตกก็มีการถกเถียงกันว่า เรียนอะไรจึงจะเรียกว่ามีวิสัยทัศน์สำหรับโลกยุคใหม่ และจะไม่ถูกหุ่นยนต์แย่งงาน ซึ่งกลับมีหลายคนมองว่า วิชาที่อาจดูไร้ประโยชน์สำหรับบางคนอย่างปรัชญา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ กลับจะเป็นวิชาที่มีค่าในโลกยุคใหม่ ถ้าเรียนได้ดีและแตกฉานจริง เพราะวิชาเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานจริงๆ ที่หุ่นยนต์ไม่มีทางรู้หรือเข้าใจ ปรัชญาสอนวิธีคิดถกเถียงเชิงตรรกะ สังคมวิทยาสอนวิธีคิดและเข้าใจธรรมชาติของสังคม มานุษยวิทยาสอนวิธีคิดและเข้าใจธรรมชาติของวัฒนธรรม เป็นต้น

หลายคนชี้ว่า คนเก่งที่จบสาขาเหล่านี้อาจทำงานไม่ตรงสาย แต่ประสบความสำเร็จได้เพราะมีทักษะและวิธีคิดที่เฉียบคมและยืดหยุ่น นักธุรกิจที่โด่งดังหลายคนก็จบปรัชญา มีรายงานข่าวว่า บริษัทเทคโนโลยีและบริษัทให้คำปรึกษาธุรกิจในต่างประเทศก็นิยมจ้างบัณฑิตที่จบสาขาเหล่านี้จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ

เพราะฉะนั้น เพื่อจะรับมือกับโลกยุคใหม่ เรียนสาขาอะไร จึงไม่สำคัญเท่ากับเรียนด้วยความเข้าใจจนเชี่ยวชาญทักษะและวิธีคิด ไม่ใช่ท่องจำเนื้อหาในหนังสือ

เปลี่ยนคำถามเกี่ยวกับการศึกษาไทย

สิ่งที่ผมให้ความเห็นกับรุ่นพี่ไปในวันนั้น ก็คือ คำถามที่ว่า “เรียนสาขาไหนดี จึงจะรุ่งในโลกยุคใหม่?” เป็นคำถามที่น่าจะผิด คำถามที่ถูกต้องกว่า คือ ควรเรียนอย่างไร? (ไม่ว่าจะเลือกสาขาใดก็ตาม) และมีทัศนคติในการนำสิ่งที่เรียนไปใช้สร้างสรรค์อย่างไรมากกว่า?

จะเลือกสาขานี้เพราะเป็นเทรนด์ หรือเลือกเพราะเป็นสิ่งที่เด็กรักและสนใจ? จะเรียนเพื่อจำกัดกรอบตัวเอง หรือเรียนเพื่อเปิดมุมมองตัวเอง? จะเรียนครั้งเดียว หรือเรียนรู้ตลอดชีวิต? จะเน้นเรียนเนื้อหา หรือเน้นฝึกทักษะและวิธีคิด?

นั่นคือคำถามในระดับบุคคล ส่วนในระดับชาติ ตอนนี้มีคำถามทางนโยบายว่า “รัฐบาลควรจะส่งเสริมสาขาไหน จึงจะขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0?” ช่วงที่ผ่านมาก็มีข่าวเกี่ยวกับข้อสั่งการของนายกฯ ประยุทธ์ รวมทั้งนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่จะสนับสนุนผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานและ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยจะลดเงินสนับสนุนสาขาที่ไม่จำเป็น

นโยบายลักษณะนี้จริงๆ ไม่ใช่แค่แนวคิดท่านนายกฯ หรือกระทรวงศึกษาฯ ของไทยอย่างเดียว แต่กำลังเป็นเทรนด์ทั่วโลก เช่น อังกฤษ, ญี่ปุ่น, สหรัฐฯ ต่างก็มีนักการเมืองที่มีแนวคิดเช่นนี้ เพราะเริ่มวิตกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สำหรับไทย ถ้าข้อเท็จจริงคือเรามีบัณฑิตในสายสังคมที่ไม่มีคุณภาพจำนวนมาก หรือมีคนเลือกเรียนวิทยาศาสตร์น้อยเหลือเกิน เราจำเป็นต้องถามด้วยว่า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมการศึกษาที่ล้าสมัยด้วยหรือไม่?

วัฒนธรรมการศึกษาในอดีตอาจเหมาะกับสังคมที่มีแบบแผนแน่นอน เช่น สังคมเกษตร อุตสาหกรรม และบริการแบบดั้งเดิม ซึ่งพอผลิตคนตามสาขาก็ส่งเข้าตลาดแรงงานได้ตรงจุด แต่สังคมยุคใหม่มีความไม่แน่นอนสูง งานเก่าอาจหดหายไป ส่วนโอกาสและงานใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องการคนที่มีทัศนคติสร้างสรรค์และพร้อมปรับตัว วัฒนธรรมการศึกษาในอดีต เช่น วัฒนธรรมการติดกับกรอบสาขาที่เรียน วัฒนธรรมเรียนความรู้แทนที่จะเรียนทักษะและวิธีคิด สุดท้ายจึงกลับกลายเป็นยิ่งเรียนยิ่งปิดโอกาส แทนที่จะยิ่งเรียนยิ่งเปิดวิธีคิดและพร้อมลงมือสร้างสรรค์โดยไม่ติดกรอบสาขา

ไทยแลนด์ 4.0 ต้องการคนรุ่นใหม่ที่มี “passion” และพลังสร้างสรรค์ แต่เรายังมีวัฒนธรรมการเลือกสาขาตามความนิยมของผู้ใหญ่ ไม่ใช่ตามความชอบหรือความสนใจของเด็ก หรืออาจเพราะเด็กไทยไม่มีความชอบหรือความสนใจในอะไรเลย? รวมทั้งค่านิยมเก่าก็ยังหนาแน่นในหลายพื้นที่ เช่น พ่อแม่อยากให้ลูกเรียนสายสังคมเพื่อเป็นข้าราชการ เป็นเจ้าคนนายคน ไม่ได้เห็นว่าหัวใจของการศึกษาควรเป็นไปเพื่อการพัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งสุดท้ายย่อมนำไปสู่พลังการสร้างสรรค์อย่างเสรีในระบบเศรษฐกิจด้วย

หรือที่เราอาจหาเด็กที่อยากเรียนวิทยาศาสตร์ไม่ได้ เพราะเรามีเด็กเก่งวิทยาศาสตร์อยู่น้อยมากในชั้นมัธยมฯ? ดังนั้น การแก้ปัญหาการขาดบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ของไทยจึงไม่ใช่เพียงแค่กำหนดให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น แต่ต้องดูถึงการส่งเสริมการเรียนการสอนและการพัฒนาวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ในการศึกษาภาคบังคับด้วย

เราต่างอยากเป็นคนมีวิสัยทัศน์ (จะได้รู้ว่าจะแนะนำให้ลูกเรียนอะไร) เราต่างอยากให้ประเทศมีวิสัยทัศน์ (จะได้กำหนดสาขาให้เด็กไทยเรียน พาประเทศไปไทยแลนด์ 4.0 ได้เสียที) แต่การศึกษาไม่ใช่เรื่องผลิตคนป้อนตลาดแรงงานแต่เพียงเท่านั้น หัวใจของการศึกษา คือ การพัฒนาคนให้บรรลุศักยภาพและพลังสร้างสรรค์ที่เขาและเธอมี ถ้าเราเข้าใจการศึกษาในแนวทางนี้ เราก็จะต้องพยายามเพาะความรัก ความสนใจ และไฟฝันให้แก่เด็กตั้งแต่ยังเล็ก (ไม่ว่าเขาและเธอจะสนใจสาขาใดก็ตาม) เราต้องแนะนำเด็กว่าหัวใจของการศึกษาอยู่ที่ทักษะ วิธีคิด และการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด เพื่อเขาจะได้มีโอกาสใช้ศักยภาพในทางสร้างสรรค์ และสร้างคุณค่าให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศตามฝันไทยแลนด์ 4.0

ยิ่งในโลกยุคใหม่ เราไม่มีทางรู้ว่า ตลาดแรงงานในอนาคตจะเป็นอย่างไร? งานไหนจะหด งานไหนจะหาย งานใหม่จะหน้าตาเป็นอย่างไร?

คำถามจึงไม่ใช่ว่าทำอย่างไรเราจะได้บัณฑิตวิทยาศาสตร์แทนสายสังคม? ไม่ใช่ทำอย่างไรเราจะส่งเสริมบัณฑิตในสาขาใหม่ตามวิสัยทัศน์ในยุทธศาสตร์ชาติแทนที่สาขาดั้งเดิม? คำถามที่ถูกต้อง คือ ทำอย่างไรเราจะได้บัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมการศึกษาใหม่ ที่พร้อมปรับตัวกับงานใหม่ และพร้อมสร้างสรรค์งานใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วย

ไทยแลนด์ 4.0 ไม่ได้ต้องการคนสาขาใดเป็นพิเศษ แต่ต้องการวัฒนธรรมการศึกษา 4.0 ครับ