ThaiPublica > คอลัมน์ > นกกระจอกเทศ ก้อนเมฆ และปัญหา

นกกระจอกเทศ ก้อนเมฆ และปัญหา

14 ธันวาคม 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : http://www.itv.com/news/update/2014-11-13/hundreds-bury-heads-in-the-sand-in-climate-change-protest/

มนุษย์บางคนเมื่อมีปัญหาก็อยากให้ปัญหาหายไป ไม่ต้องการเผชิญกับมันด้วยการ “หลับตา” เสมือนกับเอาหัวซุกทรายเยี่ยงนกกระจอกเทศ ปัญหาก็คือ นกกระจอกเทศมันทำเช่นนี้จริงหรือไม่จนมนุษย์สมควรลอกเลียนแบบ และซุกทรายแล้วมันจะได้ผลหรือไม่

เรื่องนกกระจอกเทศเอาหัวซุกทรายนั้นเป็นสำนวนภาษาอังกฤษมายาวนานว่าเอาหัวฃุกทรายเหมือนนกกระจอกเทศ (“bury your head in the sand like an ostrich”) ซึ่งมีความหมายว่าปฏิเสธที่จะคิดถึงความจริงที่ไม่น่าอภิรมย์ถึงแม้ว่ามันจะกระทบต่อสถานะของตนเองก็ตามที หรือหลีกเลี่ยงสถานการณ์หนึ่งโดยแสร้งทำว่ามันไม่มีอยู่ หรือแอบซ่อนเมื่อเห็นสัญญานอันตราย เช่นเดียวกับนอกกระจอกเทศยามเมื่อเห็นปัญหาหรืออยู่ในสถานการณ์ลำบากหรืออันตรายก็จะเอาหัวซุกทรายโดยเสมือนว่าถ้าไม่เห็นศัตรูแล้วศัตรูก็ไม่เห็นเช่นกัน

สำนวนนี้ใช้กับคนไม่สู้ปัญหา คนขี้ขลาด คนหลอกตัวเองในสถานการณ์ว่าหากอยู่เฉยๆ ไม่กระทำการใดแล้วปัญหาจะหายไปเอง (เช่น หลักฐานที่เป็นหนี้ธนาคารจะหายไป) โดยเอาไปเปรียบเทียบกับนกกระจอกเทศซึ่งฟังดูเข้าท่า แต่ความจริงก็คือนกกระจอกเทศมิได้กระทำเช่นนั้น ถึงแม้ผู้เขียนจะมิใช่ทนายของนกยักษ์นี้ แต่ก็เห็นว่ามันไม่น่าจะเป็นธรรมนักที่มองว่ามัน “โง่” ขนาดนั้น

นกกระจอกเทศ (ostrich) เป็นนกพื้นเมืองของทวีปแอฟริกา เป็นนกพันธุ์ใหญ่ที่สุดในโลก มันบินไม่ได้จึงใช้การวิ่งแทน (ความเร็วสูงสุด 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ตัวหนึ่งหนัก 60-150 กิโลกรัม หรือเท่ากับมนุษย์ 2 คน เวลายืดคอตรงสูงจากดินถึง 9 ฟุต มนุษย์คุ้นเคยกับนกพันธุ์นี้มากว่า 5,000 ปีแล้ว บริโภคเนื้อ เอาเปลือกไข่ที่ใหญ่มากมาเป็นเครื่องตกแต่งกาย ฯลฯ

ผู้คนมักสับสนนกกระจอกเทศกับนกอีมู (emu) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน นกอีมูเป็นนกพันธุ์ใหญ่อันดับสองรองจากนกกระจอกเทศโดยหนัก 18-60 กิโลกรัม ตัวสูงไม่เกิน 6 ฟุต มันเป็นนกพื้นเมืองของทวีปออสเตรเลีย มนุษย์รู้จักมันช้ากว่านกกระจอกเทศมากจึงไม่มีสำนวนว่าอีมูเอาหัวซุกทรายหรือพุ่มไม้

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Common_ostrich#/media/File:Struthio_camelus_-_Etosha_2014_(3).jpg

นกกระจอกเทศมิได้เอาหัวซุกทราย (หากซุกจริงคงสูญพันธุ์ไปนานแล้ว เพราะขาดออกซิเจน) แต่ที่มนุษย์เล่าขานกันนั้นคาดว่ามาจากการเห็นว่ามันเอาหัวทิ่มลงไปในทรายหรือดินซึ่งแท้จริงแล้วมันเอาปากลงไปพลิกไข่ที่อยู่ในหลุมขนาดใหญ่วันละหลายครั้ง นอกจากนี้อาจมองเห็นจากระยะไกลว่าการหมอบกับดินนิ่งเวลาที่มันหวั่นเกรงอันตรายคือการเอาหัวซุกทรายก็เป็นได้

ผู้เขียนไม่เชื่อว่ามีคนโง่ในโลกนี้ จะมีก็แต่คนคิดว่าตนเองฉลาดรู้ทุกอย่างหมดยกเว้นรู้จักตัวเอง หรือคนที่ไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้ หรือคนรู้ไม่ทันคนเพราะไม่มีสันดานเจ้าเล่ห์ ฯลฯ ดังนั้น คนที่เอาหัวซุกทรายเหมือนนกกระจอกเทศจึงมิใช่คน “โง่” เพียงแต่เป็นคนที่มีลักษณะทางจิตวิทยาบางอย่างในชั่วขณะที่ทำให้ไม่คิดสู้ปัญหา หรือฝันไปลมๆ แล้งๆ ว่าจะมีอะไรพิเศษมาช่วยตน

ความกลัวเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในใจมนุษย์ มันอยู่ในพื้นฐานจิตใจของความเป็นมนุษย์ เหตุที่ทุกคนมีความกลัวก็เพราะโลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนผันผวนไปทางบวกและลบไม่หยุดหย่อนในชีวิตอีกทั้งอุดมด้วยสิ่งซึ่งอธิบายไม่ได้ จึงต้องแสวงหาบางสิ่งมาช่วยลดหรืออธิบายความกลัว และสิ่งหนึ่งซึ่งช่วยได้มากก็คือศาสนา

การปฏิเสธที่จะนึกถึงความจริงที่ไม่พึงปรารถนา หรือหลีกเลี่ยงการแก้ไขปัญหาโดยแสร้งทำว่ามันไม่มีอยู่ ดังที่เรียกว่า “เอาหัวซุกทราย” เป็นเรื่องน่าสงสารมากกว่าน่าหัวเราะเยาะและคิดว่าโง่เขลา (ถ้าจะใช้คำว่า “โง่” มนุษย์ก็มีโอกาส “โง่” ได้ด้วยกันทุกคนตราบที่ยังมีโลภะ โทสะ และโมหะอยู่)

สถานการณ์ “เอาหัวซุกทราย” นั้นไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน การหลอกลวงตนเองว่าไม่มีปัญหาก็คือการสร้างปัญหาใหม่โดยการทำให้ปัญหาเดิมนั้นเลวร้ายยิ่งขึ้น (คุณเกษม จาติกวณิช อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตผู้เรืองนามเคยกล่าวว่า “การตัดสินใจที่เลวที่สุดคือการไม่ตัดสินใจเลย”)

การมองไม่เห็นปัญหากับการ “เอาหัวซุกทราย” นั้นแตกต่างกัน กล่าวคืออย่างหลังคือการแสร้งว่าไม่มีปัญหา (แสดงว่ารู้ว่ามีปัญหา) เพื่อหลีกหนีความจริง ส่วนอย่างแรกนั้นเป็นการมองไม่เห็นเห็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้มองไม่เห็นปัญหาก็คือ การไม่สัมผัสกับโลกแห่งความเป็นจริง จมปลักอยู่ในความฝัน ไม่ให้ความสนใจสิ่งรอบตัวที่กำลังเกิดขึ้นหรือกับสิ่งที่คนบอก หรืออยู่ในโลกแห่งความฝันจนไม่มีอะไรที่จริงจังจับต้องได้ ดังสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า “to have your head in the clouds” (หัวอยู่ในก้อนเมฆ)

สองสิ่งที่ทำให้ “หัวอยู่ในก้อนเมฆ” ก็คืออำนาจและเงิน ถ้าใครยอมให้สองสิ่งนี้ครอบงำชีวิตก็มีโอกาสสูงที่ “หัวอยู่ในก้อนเมฆ” จนทำให้ไม่เห็นหัวคน ไม่เข้าใจความรู้สึกของคน และสิ่งที่จะเกิดตามมาในภายหลังก็คือปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างไม่รู้จักจบเพราะเท้าไม่ติดดินเนื่องจากหัวถูกก้อนเมฆหนีบอยู่

นกกระจอกเทศและก้อนเมฆในสองสำนวนนี้ดูจะเป็นตัวสร้างความปวดหัว แต่โดยแท้จริงแล้วคนก่อเหตุก็คือตัวมนุษย์เอง ถ้ามีสติ มีความกล้าหาญ และไม่ยอมให้อำนาจและเงินมาครอบงำแล้ว สัตว์และธรรมชาติใดก็ทำอะไรไม่ได้

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 14 พ.ย. 2560