ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > thsdg17#2(ตอนที่4)ทบทวนเพื่อก้าวต่อ “ประเมินสถานะและทบทวนเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

thsdg17#2(ตอนที่4)ทบทวนเพื่อก้าวต่อ “ประเมินสถานะและทบทวนเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

17 ธันวาคม 2017


บรรยากาศบนเวที Thailand SDGs Forum 2017#2 เพื่อร่วมทบทวนเพื่อก้าวต่อ “ประเมินสถานะและทบทวนเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย

ในงาน Thailand SDGs Forum 2017#2: Thailand progress on SDGs implementation มีวงเสวนาหัวข้อ: ทบทวนเพื่อก้าวต่อ “ประเมินสถานะและทบทวนเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(กพย.) , จันทิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , สมลักษณ์ ศิริชื่นวิจิตร นักวิชาการสถิติชำนาญการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ,สลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส ,และ ต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ประเทศไทย จำกัด ดำเนินรายการโดย ชล บุนนาค หัวหน้าโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน มีเนื้อหาสาระดังนี้

ทบทวน SDGs Spirit

ชล บุนนาค กล่าวว่า ได้ไปร่วมงานประชุม HLPF (High-level Political Forum on Sustainable Development)  ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้รับ โอกาสจากกระทรวงต่างประเทศให้เดินทางไปร่วมกัน เดินทางไปก่อน 1 สัปดาห์ สัปดาห์  แรกก่อนที่จะมีการพรีเซ็นต์ VNR ได้เห็นภาพที่เป็นทิศทางของโลกหลายอย่าง ซึ่งคิดว่าจะ เป็นประโยชน์ต่อการเสวนาในวันนี้ ก็คือหัวข้อเกี่ยวกับการทบทวนเพื่อก้าวต่อไป

ในสัปดาห์แรกที่ไป ตนได้เห็นหลายประเด็นที่เป็นทิศทางของโลก ซึ่งสะท้อนสปิริตของ  SDGs หลายอย่าง ซึ่งสปิริตของ SDGs เป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยได้พูดถึงเท่าไหร่ เวลาพูดถึง  SDGs ในเมืองไทยสำหรับสปิริตของ SDGs มีทั้งหมด 5 เรื่อง 1. Inclusive Development 2.Universal   Development 3. Integrated and Indivisible Development 4 Localing Focus และ 5.  Technology Driven

ประเด็นเรื่อง Inclusive Development หรือการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ในการประชุมสัปดาห์แรก มีตัวแทนของผู้มีส่วนได้เสีย(Stakeholder) ต่างๆ 2,458 คน จากมีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะภาคสังคมเท่านั้น แต่รวมถึงผู้หญิง เด็กและเยาวชน คนชรา คนพื้นเมือง แรงงาน และสหภาพแรงงาน ได้มีโอกาสพูดในทุกเซ็กชั่น

เขาได้เน้นประเด็นที่ว่า นโยบายรัฐบาลจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับทุก Stakeholder ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม รวมถึงเรียกร้องให้มีสิ่งที่เรียกว่า Multi Stakeholder Platform” ซึ่งวันนี้ถือเป็นหนึ่งในนั้น

แต่ว่าสิ่งที่ภาคสังคมทั้งในระดับโลกและเมืองไทย เรียกร้องก็คือ เราต้องการ Multi Stakeholder Forum ที่มีความหมาย ที่ทุกคนได้มีส่วนร่วม ซึ่งเป็นภาพสะท้อนและความท้าทายของประเทศไทยเช่นกัน

ประเด็นที่สอง เรื่อง Universal Development ไม่ใช่เป้าหมายการพัฒนาสำหรับคนยากจนเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนในประเทศหรือในโลกทำร่วมกัน ประเทศที่รวยแล้ว ประเทศที่ยังจนอยู่ คนที่รวยแล้วกับคนที่ยังจนอยู่ ต้องทำงานร่วมกันเพื่อจะบรรลุความยั่งยืน แต่แน่นอนคนที่ดีกว่าก็ควรจะต้องช่วยคนที่ยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ ซึ่งก็นำมาสู่เรื่องพาร์ตเนอร์ชิพ

ประเด็นที่สาม Integrated and Indivisible ซึ่งเป็นภาพสะท้อนที่พูดกันในทุกวงของ HLPF ในสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สองคือเรื่อง “การบูรณาการ” และการแยกออกจากกันไม่ได้  คือไม่สามารถแยกออกจากกันได้ของ SDGs

เขาเน้นมากว่า การจะทำให้เกิด SDGs ต้อลงไปในระดับของ Target จะพิจารณาเฉพาะเป้าหมายไม่ได้ เพราะเป้าหมายเป็นแค่ภาพกว้าง แต่ Target เป็นเนื้อหาและขอบเขตของ SDGs อย่างแท้จริงและแต่ละ Target ระหว่าง Goal และภายใน Goal อันเดียวกัน มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งบางอันทำให้เกิดพลังร่วม ฉะนั้นในวง HLPF ที่นิวยอร์กมีการพูดถึงเรื่องนี้กันมาก คณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์มีการออกเป็นไกด์ไลน์ เป็นเฟรมเวิร์ค มาให้พิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจังซึ่งการที่มันเชื่อมโยงกันแบบนี้ นำมาซึ่งกลไกที่จำเป็นจะต้องทำงานร่วมกันข้ามกระทรวง ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกเน้นมาก และการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน และความสอดคล้องเชิงนโยบาย

ประเด็นที่สี่เรื่อง “Localizng Focus” ซึ่งหลายท่านพูดไปแล้ว ก็คือเรื่องของการ Localizing SDGs ในงานนี้ก็มีหลายประเทศมาแปลกเปลี่ยน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วนและประเด็นสุดท้ายเรื่อง Technology Driven หมายถึงว่า SDGs ควรจะต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนา

มี 3 ประเด็น คือ 1.“การใช้ข้อมูล”(Data) ทางด้านสถิติที่มีประสิทธิภาพ สามารถแยกแยะลงไปถึงระดับว่า คนประเทศนี้มีสถิติอย่างไรบ้าง คือแยกให้เห็นโดยละเอียดที่สุดและต้องการข้อมูลที่มีคุณภาพ 2“เทคโนโลยีไอซีที” เป็นอีกจุดที่เน้นมาก เพราะอยู่ในหลาย Goal และ 3.คือเรื่อง “นวัตกรรม” และ “วิทยาศาสตร์” ซึ่งเกี่ยวกับสกว.โดยตรง ซึ่งก็มีการเน้นว่า เราต้องมุ่งไปสู่ การทำวิจัยเป็น Actionable Science Research คือ Research ที่ใช้การได้จริง และทำงาน กับภาคส่วนต่างๆร่วมกันนี่เป็นประเด็นสำคัญ ที่เกิดจาก HLPF สัปดาห์แรก ซึ่งผมคิดว่ามีนัยสำคัญมากๆ แล้วเป็น ภาพสะท้อนที่สำคัญว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหน ทำอะไรไปแล้วบ้าง

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(กพย.)

เชื่อมยุทธศาสตร์ชาติ กับ SDGs “ซ่อม” เพื่อ “สร้าง” บ้าน

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(กพย.) กล่าวว่า งานที่ทำที่เกี่ยวโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่วนหนึ่งอยู่ ในกรรมการกพย. และได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะทำงานชุดหนึ่ง ที่ทำเรื่องการ กำหนดมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ สังคม และกฎหมาย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนในขณะเดียวกัน ได้เข้าไปช่วยงานของสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่จะไปเชื่อม งานระหว่างเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนขั้นตอนปฏิรูปประเทศ

“คงทราบว่ารัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉบับที่เราไปทำกันอยู่ตั้งแต่ปี 2558 ตอนนั้นเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี ทำมาก่อนที่รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ ทำเสร็จคือช่วงเดือนสิงหาคม 2558 เดือนกันยายนถึงจะมี SDGs ที่มาจากการประชุมยูเอ็นในยุทธศาสตร์ชาติฉบับที่กล่าวถึงยังไม่มีเรื่องSDGs ฉะนั้นจึงเป็นการบ้านที่สำคัญที่ทำอย่างไรที่จะให้สองสิ่งนี้ คือยุทธศาสตร์มองไปในอนาคต 20 ปี และเรื่องSDGs มองไปในอนาคต 15 ปีข้างหน้า กติการัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ในยุทธศาสตร์ชาติมีไว้เพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

หากเปิดรัฐธรรมนูญมาตรา 65 ในนั้นมีสองสิ่งนี้เป็นตัวที่ผูกโยงกัน ความต่างก็คือว่า   SDGs เป็นสิ่งที่ประชาคมโลกร่วมกันกำหนดขึ้น บอกว่า 15 ปีถ้าเราเดินไปสู่เส้นทางนี้ เรา  จะไม่หลงทางในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน มี Target กำหนดไว้ มี Indicator คอยติดตามว่า  ก้าวหน้าไปแค่ไหน เปรียบเทียบกันได้ระหว่างประเทศ

แต่ยูเอ็นไม่ได้บอกว่าเราจะทำอย่างไร ยูเอ็นบอกว่านี่คือธงที่จะเดินไปอีก 15 ปีข้างหน้า    เส้นทางเดินเป็นเรื่องการบ้านของแต่ละประเทศ เพราะว่าปัญหาไม่เหมือนกัน ระดับการ   พัฒนาไม่เหมือนกันประเทศไทยกำลังทำการบ้านที่จะบอกว่าจะเดินไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่าน   ยุทธศาสตร์ชาติ และเชื่อมโยงไปสู่แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้าน ซึ่งจะเริ่มทำ   หลังจากกฎหมายยุทธศาสร์ชาติประกาศใช้ไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้

และสิ่งที่เป็นตัวฐานของการที่เรียกว่า “ซ่อมบ้าน” ความขัดแย้งทางการเมือง ,ความเหลื่อม    ล้ำในสังคม ,การมองว่าระบบยุติธรรมยังมีมาตรฐานที่ไม่ได้เป็นอย่างที่เชื่อมั่น นั่นคือส่วนที่  เราเขียนไว้ในแผนและขั้นตอนปฏิรูปประเทศในส่วนที่กำลังเริ่มทำไป ซึ่งใช้หลายๆกลไกและคณะทำงาน ตอนนี้สิ่งที่กำหนดไว้ทั้งหมดอยู่  ในระยะเวลา บางเรื่อง 1 เดือน บางเรื่อง 2 เดือน หรือ 3 เดือน

เรื่องแรกคือ “การกระจาย การถือครองที่ดิน” อย่างเป็นธรรม เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ โยงกับSDGs เป้าหมายที่ 1 เรื่องการขจัดความยากจน ภายใน 1 เดือนข้างหน้าจะมีกฎหมายเข้าสู่การพิจารณา เรียกว่า “พ.ร.บ.จัดตั้งธนาคารที่ดิน” เป็นมาตรการทางกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมการกระจายการถือครองที่ดิน

เป้าที่เกี่ยวโยงกับระบบยุติธรรม เป้าที่ 16 ภายใน 2 เดือนข้างหน้าจะมี “กฎหมายจัดตั้งระบบยุติธรรมชุมชน” ระบบยุติธรรมที่คนในหมู่บ้านเข้าถึงได้ ในระดับอำเภอ ระดับจังหวัดเข้าถึงได้ กระทรวงมหาดไทยทำงานร่วมกับกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้หลายเรื่องที่เป็นกรณี พิพาท ที่ไม่ได้เป็นคดีอาญาร้ายแรง สามารถมีกลไกไกล่เกลี่ย ตรงนี้ตอบสนองโจทย์การ เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ใกล้ตัว และไม่ต้องให้เรื่องทั้งหมดไปจบที่ศาล  แล้วไปทำให้คดี วันนี้ค้างอยู่ที่ศาลจำนวนมาก

ในเรื่องการดูแลป่า เรากำลังเสนอ “พ.ร.บ.ป่าชุมชน” เพื่อให้ชุมชนเข้ามาร่วมเป็นพลังในการ ดูแลป่า ก็ตอบโจทย์เป้าที่ 15 ในมุมนี้ที่อาจารย์ชลพูดถึงเรื่อง Integration ประเทศไทยตั้งเป้าให้มีป่าไม้ 40%ถ้าทำสำเร็จ พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นจาก 32% เป็น 40% แต่นำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมระหว่างรัฐกับชุมชน ซึ่งไปกระทบกับเป้า 16 และเป้าอื่นๆ เราไม่เรียกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน ฉะนั้นต้องทำให้ป่าเพิ่มขึ้น แต่ชุมชนกับรัฐไม่เกิดความขัดแย้งมากกว่าที่เป็นอยู่

สุดท้ายเรื่องเป้าเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เป้าที่ 2 เรากำลังส่งเสริมการเปลี่ยนระบบ ส่งเสริมเกษตรกรรมไปสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ภายใน 1 เดือนข้างหน้าเป็นภารกิจของ สภาพัฒน์ฯ ที่จะทำให้กฎหมายปัจจุบันมี 3 เวอร์ชั่น เหลือ 1 เวอร์ชั่น แล้วนำเข้าครม. ใน ขณะเดียวกันมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อดูแลเรื่องสารเคมี ก็จะตามมานี่เป็นภารกิจที่กำลังทำอยู่เพื่อนำมาตรการทางกฎหมาย เศรษศาสตร์ และสังคม เพื่อรองรับ การพัฒนาที่ยั่งยืน

จันทิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ก.เกษตร ดัน “เกษตรยั่งยืน”เพิ่ม 6 แสนไร่ปี’61

จันทิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้รับการบ้านจากสภาพัฒน์ฯให้เป็นเจ้าภาพหลักในเป้าหมายที่ 2 คือ “การขจัดความหิวโหย” แต่ในเรื่องนี้จริงๆมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานเช่นกัน กระทรวงเกษตรฯแม้จะเป็นเจ้าภาพหลักในเป้าหมายที่ 2 แต่ก็ยังสนับสนุนในหลายๆเป้าหมาย เหมือนที่หลายท่านบอกว่า เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวของใคร แต่จะต้องทำงานลิงค์กันในแต่ละเป้า

แม้แต่กระทรวงเกษตรฯเองที่รับผิดชอบในเรื่องขจัดความหิวโหย ซึ่งมีเรื่องความมั่นคงอาหาร เรื่องระบบการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน และการปรับปรุงภาวะโภชนาการ เราก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจริงๆแล้วโดยส่วนตัวมองว่า เป้าหมายที่ 1 กระทรวงเกษตรฯน่าจะเกี่ยวข้องมากพอสมควร เพียงแต่สภาพัฒน์ฯมอบให้ทางกระทรวงมหาดไทยไป เพราะเรามองว่าเวลาคนส่วนใหญ่พูดเรื่องความยากจน ก็จะมุ่งเป้ามาที่กระทรวงเกษตรฯ เนื่องจากเราดูแลพี่น้องเกษตรกรเกือบ 30 ล้านคน ซึ่งมีการมองกันว่าเป็นกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย มีที่ดินทำกินต่อครัวเรือนค่อนข้างน้อยเฉลี่ยประมาณไม่เกิน 20ไร่ต่อครัวเรือน

ดังนั้นถ้าจะว่าไปแล้ว ในส่วนกระทรวงเกษตรฯ SDGs เป็นเหมือนกับเรื่องที่พูดกันทั่วไป ซึ่งเรามองว่าได้ทำมาตั้งนานแล้ว เพราะว่าการทำงานของกระทรวงเกษตรฯก็เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร เพื่อขจัดปัญหาของเกษตรกร ด้วยการจัดทำระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งเราทำมาตั้งนานแล้ว

แต่ในปัจจุบันนี้เพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงนี้ คือการจัดทำ “ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์” ซึ่งผ่านครม.ไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีท่านรองนายกฯประจิน จั่นตอง เป็นประธาน ท่านให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ให้ตั้งคณะทำงานระดับภาคขึ้นมาทั่วประเทศ โดยมีภาคประชาสังคม ภาคเอกชน เข้ามาร่วม

เพราะมองว่าการทำงานในลักษณะนี้ ฝ่ายราชการจะทำงานเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่จะต้องมีคนในพื้นที่ คนในภาคประชาสังคม และภาคเอกชนซึ่งมีส่วนสำคัญในการรับซื้อผลผลิต เพราะภาคเอกชนเป็นหลักในการที่เหมือนจะบีบบังคับทางอ้อมให้พี่น้องเกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เพราะว่าสินค้าเกษตรผลิตขึ้นมาก็เพื่อขาย คือนอกเหนือจากบริโภคในครัวเรือนแล้ว ที่เหลือก็ขาย

ฉะนั้นการที่จะขายสินค้า สิ่งที่สำคัญคือการขายสินค้าที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นคนที่จะมาบอกว่าสินค้ามีคุณภาพ ส่วนใหญ่จะเป็นภาคเอกชน ซึ่งจะว่าไปแล้วกระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะในนโยบายรัฐชุดนี้เรื่อง “การทำเกษตรแปลงใหญ่” หลักการของการทำเกษตรแปลงใหญ่ ท่านรัฐมนตรีได้ย้ำให้เกษตรกรที่ทำงานกันในพื้นที่มารวมตัวกันเพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ สินค้าที่ได้รับการปฏิบัติการทางเกษตรที่มีหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร หรือ “GMP” (Good Manufacturing Practice)

ให้เกษตรกรรวมตัวกันศึกษาความรู้ด้วยการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ในทุกอำเภอ ไปเรียนรู้จากแหล่งผลิตในหมู่บ้าน ในชุมชนของเขา และนำมาเป็นความรู้ที่จะทำให้การผลิตมีต้นทุนที่ลดลง มีคุณภาพที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถเชื่อมโยงกับภาคเอกชนในการซื้อขายสินค้าที่มีคุณภาพให้ได้ดีขึ้น

“อันนี้เป็นหลักๆของการทำงานกระทรวงเกษตรฯในช่วงนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายว่าทำอย่างไรให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็สอดรับกับเป้าหมายที่ 2 ว่าทำอย่างไรจะก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารซึ่งยุทธศาตร์ความมั่นคงทางอาหาร ได้ผ่านคณะกรรมการนโยบายกระทรวงเกษตรฯไป เรียบร้อยแล้ว ส่วนเรื่องยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์หรือเกษตรกรรมยั่งยืน ในปีนี้ท่านนายกฯ ให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพในงบบูรณาการของงบประมาณ เราได้งบประมาณ ปี 2561 มาถึงหมื่นกว่าล้านบาท ที่จะทำงานด้านการเกษตร โดยเฉพาะการบูรณาการ พัฒนาการผลิตภาคเกษตร ในจำนวนนั้นมีเป้าหมายที่ 2 คือพัฒนาศักยภาพเกษตรกรด้วยการเริ่ม “พื้นที่เกษตรกรรม ยั่งยืน” โดยมีเป้าหมาย 6 แสนไร่ในปี 2561 และตั้งเป้าพัฒนาตามแผน 20 ปี กระทรวง เกษตรฯให้มี 10 ล้านไร่ในปี 2579

สมลักษณ์ ศิริชื่นวิจิตร นักวิชาการสถิติชำนาญการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข

จาก”เอชไอวี”ถึง “อุบัติเหตุ” เหลือศูนย์โจทย์ยากบรรลุเป้า 3

สมลักษณ์ ศิริชื่นวิจิตร นักวิชาการสถิติชำนาญการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีเป้าที่ได้รับมา คือเป้าหมายที่ 3 ประกันสุขภาพที่มีความสุขและสุขภาพดี แต่มีปัญหาสำคัญที่ว่าบรรลุได้แค่ 5 ตัว เช่น ตัวแรก 3.1.1เรื่องอัตรามารดาตาย (Maternal Mortality Rate) จะต้องน้อยกว่า 70  ต่อแสนคน เป็นความโชคดีของเรา เนื่องจากตัวชี้วัดที่เขาใช้ส่วนใหญ่ เป็นตัวชี้วัดที่กระทรวงถ่ายทอด มาจากระดับนานาชาติอยู่แล้ว ซึ่งกระทรวงทำได้อยู่ที่ 20 คนต่อแสนคน แต่เราก็ต้องพัฒนา ตัวเองต่อไป ก็พยายามจะลดให้เหลือ 18 คนต่อแสนคน หรือตัวอื่นๆเราก็ต้องบรรลุเช่นกัน ซึ่งมีที่คาดว่าจะบรรลุ ซึ่งหมายความว่าอาจจะบรรลุหรือไม่ก็ได้

แล้วก็จะมีที่ไม่บรรลุแน่ๆ 4 ตัว เช่น 3.3.1 คือเรื่องของ HIV เราจะต้อทำให้ HIV เป็นศูนย์ จะต้องไม่มีเคสใหม่ ถามว่าทำได้ไหม คงจะต้องมีพ.ร.บ.ใหม่ออกมา กำหนดการมี เพศสัมพันธ์ ถึงจะทำเราให้เราบรรลุได้ หรือแม้กระทั่งเรื่องอัตราอุบัติเหตุทางถนน เราต้องบรรลุภายในปี 2563 ลดลงให้ได้ 1 ใน 3  แต่เรากลับเพิ่งขึ้นไปเป็นอันดับ 2 ของโลก แล้วเราจะลงมาทันไหม ซึ่งก็อีกไม่กี่ปี เราก็จะลุ้น กันต่อไป ซึ่งตัวนี้เป็นตัวที่ไม่บรรลุแน่ๆ หวังว่าถ้าจะเป็นความร่วมมือจริงๆ ทุกท่านอาจจะต้องร่วมกันขับรถให้ช้าลง แล้วรักษา กฎหมายให้มากขึ้น เห็นใครแซง ใครเบียด ก็ใจเย็นท่องพุทโธๆให้เขาไปก่อน แล้วเราก็จะลดลงได้

อย่างไรก็ตาม เราก็มีวิธีการโดยไปอาศัยความร่วมมือจากทุกกระทรวงเช่นกัน เพียงแต่ว่ามันขึ้นด้วยอัตราตาย พอตายปั๊บ กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องรับเป็นหลัก เราก็จะทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยป้องกันให้ตัวเลขต่ำลง นอกจากนี้ก็มีการพัฒนากำหนดตัวชี้วัดของกระทรวงด้วย มีการบูรณาการกับแผนประเทศ และร่วมกับหน่วยงานภายนอกในการดูแล หลังจากนั้นก็จะทำยุทธศาสตร์ระยะสั้นในปีที่แล้ว และมีแผน 20 ปี แบ่งออกเป็น 4 ด้านที่เราต้องการเน้นก็คือเรื่อง “ประชาชนสุขภาพดี” ,“เจ้าหน้าที่มีความสุข” , “ระบบสุขภาพยั่งยืน” เพื่อมาประกอบกับ SDGs ประเทศไทย

โดยตั้งค่าคาดหมายไว้ว่า ใครตายก่อน 85 ปี ถือว่าทรยศชาติ เพราะกระทรวงบอกว่าห้ามตายก่อน 85 ปี อายุค่าเฉลี่ย สุขภาพต้องดีถึง 77 ปี หมายความว่าก่อนหน้านั้นห้ามป่วย ใครป่วยก่อน 77 ถือว่าไม่รักประเทศ เพราะฉะนั้นต้องดูแลสุขภาพให้ดี

งานพวกนี้ถูกรวบรวมลงมาในโครงการต่างๆแล้ว เพื่อตอบตัวชี้วัดให้เห็นว่าโครงการใดที่ภาคเอกชนเข้ามาร่วมกับเราได้ในแต่ละตัวชี้วัดที่ท่านสนใจ เราจะมีโครงการเพื่อตอบตัวชี้วัดแต่ละตัว เพราะฉะนั้นในแผน 20 ปี กระทรวงวางไว้แล้วไม่เปลี่ยน หมายความว่าเราจะใช้แบบนี้ไปอีก 20 ปี และตัวชี้วัดแต่ละตัว ก็จะอยู่ในแต่ละโครงการไปแล้ว

ฉะนั้นจะบอกว่า ตัวโครงการต่างๆเป็นสิ่งที่ท่านนำมาศึกษาดูได้ว่า ภาคเอกชนจะร่วมกับเราในส่วนใด หรือประเด็นใดบ้างที่เกี่ยวข้อง และมาตรการที่เราจะใช้ในแต่ละเรื่อง เราก็กำหนดไว้แล้ว และมียุทธศาสตร์ดูเรื่องความโปร่งใสของกระทรวง การบริหารจัดการอย่างมีสุขภาพซึ่งทั้งหมดเราได้ทำโรดแมปเสร็จแล้ว ตั้งแต่ปี 2560-2579 ถ้าท่านอยากได้จะส่งให้ เป็นรายละเอียดในแต่ละปีงบประมาณว่ากระทรวงจะลงทุนอะไร ในงบประมาณเท่าไหร่ ท่านขอ ไปดูได้ เผื่อท่านอยากจะร่วมกับเรา

แล้วถ้าอยากรู้รายละเอียดเรื่อง SDGs เราได้ดึงข้อมูลใส่ในเว็บไซด์แล้ว และหวังว่า ภาคเอกชนน่าจะเข้ามาร่วมได้ เช่น การให้เจ้าหน้าที่ทุกคนร่วมกันออกกำลังกายวันละอย่าง น้อย 30 นาที จะทำให้ลดอัตราการเสี่ยงเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจหลอดเลือด และโรคไม่ ติดต่อต่างๆ หรือจะรณรงค์ให้การป้องกันสุขภาพก่อนมีเพศสัมพันธ์ ก็ทำได้ เพื่อจะทำให้อัตราของประเทศไทยผ่าน

ต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ประเทศไทย จำกัด

ประชารัฐสามัคคี บนเส้นทางใหม่ “แพลตฟอร์มความร่วมมือ”

ต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ประเทศไทย จำกัด  กล่าวว่า บริษัทประชารัฐเป็นบริษัทน้องใหม่ที่เกิดใกล้ๆกับเวลาที่  SDGs เกิดขึ้น เราเป็นหนึ่งใน 13 โครงการประชารัฐของรัฐบาล แต่เป็นโครงการเดียวที่ได้ จัดตั้งขึ้นในรูปแบบบริษัท เป็นองค์กรที่ชัดเจน

ถามว่างานของเราจะไปตอบโจทย์ SDGs ได้ตรงไหนบ้าง คำตอบคือเป้าหมายของเรา คือการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนเพื่อประชาชนมีความสุข ก็คือเป้าหมายที่ 1 กับ เป้าหมายที่ 11 ในการที่จะให้คนมีชีวิตอยู่ได้ในพื้นที่ของเขาเอง ไม่ต้องอพยพเข้าเมืองใหญ่ สามารถมีสัมมาชีพได้เต็มพื้นที่

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าเป้าหมายทั้ง 2 เป้าหมาย คือเป้าหมายที่ 17 เราต้องการจะ “สร้างแพลตฟอร์มของการทำงานร่วมกัน” คล้ายๆที่หลายท่านพูดว่างาน SDGs ไม่ควรจะเป็นงานของภาครัฐ แต่ควรจะเป็นงานของทั้งประเทศและเกิดการบูรณาการกัน เราก็หวังว่าองค์กรของเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะเป็นแพลตฟอร์มการบูรณาการของภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน

ถ้าพูดถึงเป้าหมายที่ 1 เรื่องความยากจน เราต้องการข้อมูลที่ค่อนข้างลงรายละเอียด ลงไปในระดับพื้นที่ เป็นข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย(ดูภาพประกอบ) ที่วัดเกณฑ์ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน และไปไล่ดูระดับครัวเรือนก็จะเห็นว่า ถ้าเรานับ 20 จังหวัดแรกของประเทศไทย ไปดูคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3,200 บาทต่อเดือน มีอยู่กี่คน

พบว่าทั้งประเทศมีอยู่ 8 แสนกว่าคน ตรงนี้อาจจะมีจังหวัดที่น่าแปลกใจ เช่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี หรือแม้แต่ขอนแก่น ที่เราเห็นว่าเป็นจังหวัดที่มีรายได้ดีอยู่แล้ว แต่ว่าจริงๆแล้วยังมีคนยากจนอยู่มาก อันนี้เราใช้เป็นตัวบ่งชี้อันหนึ่งที่พยายามจะเข้าไปเลือกพื้นที่ในการทำงาน ที่ประชารัฐสามัคคีจะช่วยทำให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นได้

แต่อย่างที่เรียนว่า เป้าหมายระยะยาวของเราคือเรื่องเป้าหมาย 17 คือการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน การทำงานของเราต้องการที่จะให้ทุกคน ทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกันได้ ซึ่งเรานับได้ 5 ภาคส่วน คือภารครัฐ ,เอกชน ,วิชาการ ,ประชาสังคม ,และประชาชน ก็จะมีโลโก้ของผู้ที่ได้มาร่วมงานกับเรา

โดยมีทั้งกระทรวงสาธารณสุข ,กระทรวงเกษตรฯ ,กระทรวงพาณิชย์ ,กระทรวงวิทยาศาสตร์ ,กระทรวงอุตสาหกรรม เราประชุมกันทุกเดือน ในภาพเอกชนก็มีหลายบริษัท เช่น เทสโก้โลตัส ซึ่งแอคทีฟมากๆ รวมทั้งภาควิชาการ ประชาสังคม และประชาชน ตรงนี้เราหวังว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนไปอย่างไร 5 ภาคส่วนนี้สามารถรวมตัวได้ เพราะว่าเราจัดตั้งองค์กรขึ้นมาในรูปแบบบริษัท มีทั้งหมด 76 บริษัท อยู่ในทุกจังหวัด แต่ละจังหวัดจะมี “บริษัทประชารัฐรักสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคม” และมีบริษัทส่วนกลางคือ “ประชารัฐรักสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคมประเทศไทย”

ตรงนี้เป็นกลไกที่กระจายอำนาจ และมีความเชื่อมโยงโดยบริษัทส่วนกลางจะเชื่อมโยงทุกจังหวัด โดยเราทำงานใน 3 เรื่อง เพื่อจะให้ไปถึงเป้าหมายลดความยากจน 3 เรื่อง คือกลุ่มงานเกษตร ,กลุ่มงานแปรรูป ,และกลุ่มงานท้องที่ในชุมชนโดยหน้าที่ของเราก็คือ จะนำความเก่งของทั้ง 5 ภาคส่วนไปช่วยให้ชุมชนทำงานให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ตั้งแต่การเข้าถึงวัตถุดิบไปจนถึงเรื่องการบริหารจัดการชุมชนด้วยตัวของเขาเอง

เดินหน้าบรรลุเป้า 1 ยึดหลัก “ชุมชนลงมือทำ” และ “ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง”

หลักการของเราก็คือ “ชุมชนต้องลงมือทำ” เอกชนมาช่วยขับเคลื่อน ช่วยให้ความรู้ ช่วยให้ทักษะกับงานในชุมชนที่ขาดหายไป แล้วรัฐบาลก็สนับสนุนไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณ ในด้านกำลังพล ด้านองค์ความรู้ต่างๆ ที่รัฐบาลอาจจะมีอยู่แล้ว

เราทำงานแบบ “ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง” เหมือนกับทางที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและหลายๆมูลนิธิได้ทำอยู่ตั้งแต่ในอดีต ก็คือเราต้องลงไปเลือกพื้นที่ แล้วขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาทักษะ หรือต่อยอดธุรกิจในชุมชนเหล่านั้น เพื่อให้เขาสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้อย่างยั่งยืน เราไม่ไปหาปลาให้เขา แต่เราไปช่วยสอนให้เขาหาปลาได้เก่งขึ้น

แล้วเราก็มีคะแนน 3 ด้าน เพราะเวลาลงไปทำงานกับพื้นที่ แต่ละพื้นที่เขาต้องทำอะไรบ้าง เขาต้องรวมตัวกันได้แล้ว ถ้าเขายังรวมตัวกันไม่ได้ เราก็ไปช่วยเขาให้เขารวมตัวกันได้ แล้วก็จะต้องมีความต้องการที่ชัดเจนว่าเขาต้องการความช่วยเหลือด้านอะไรแล้วเขาก็ต้องมีสินค้าบริการอยู่ระดับหนึ่งแล้วที่จะทำให้เราไปช่วยต่อยอดได้ เพราะเราไม่ได้ทำงานแบบสังคมสงเคราะห์ เราไม่ได้ลงไปแจกของหรืออุปกรณ์ แต่เราอยากได้ชุมชนที่มีศักยภาพพอสมควรแล้ว เพื่อลงไปช่วยทำงานด้วยกัน

ตอนนี้ถ้ามองในแง่แพลตฟอร์มของความร่วมมือ เราได้เริ่มดำเนินการมาระะดับหนึ่งแล้ว มีผู้ถือหุ้นของประชารัฐรักสามัคคีทั่วประเทศ 3 พันกว่าราย มีจิตอาสาที่เข้ามาเป็นกรรมการและผู้บริหารทั่วประเทศเกือบ 8 ร้อยคน มีโครงการทั่วประเทศกว่า 300 โครงการ ทำงานร่วมกันกว่า 600 ชุมชน มีการติดตามความเคลื่อนไหวทุกเดือน ยกตัวอย่างบางอย่างที่เราพยายามทำให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น เสื้อจากโครงการผ้าขาวม้าทอมือ เราทำทั่วประเทศ เพราะว่าผ้าขาวม้าเป็นผ้าที่ทอง่าย ทำได้ใน 1,000 กว่าชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งถ้าเราสามารถยกระดับผ้าขาวม้าได้ ก็จะมีชุมชนที่ได้รับประโยชน์มากมาย

หลังจากที่เราผลักดันเรื่องโครงการผ้าขาวม้า เราไปญี่ปุ่นมาแล้ว 1 รอบ สิ่งที่ได้คือ ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ตอนนี้เท่าที่ทราบได้ 5 ล้านบาท จากการขายผ้าขาวม้าที่เพิ่มขึ้น เรามีการทำให้เกิดนวัตกรรมการผลิต ก็คือทำผ้าขาวม้าให้กันน้ำได้ เพราะชุมชนยังไม่เคยคิดว่าผ้าขาวม้ากันน้ำได้ แต่ถ้าจะทำร่วมผ้าขาวม้า ก็จะทำให้ร่วมนั้นกันฝนได้ ซึ่งชุมชนที่จังหวัดตรัง ก็ได้ร่วมมือกับภาครัฐ และทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

และยังทำให้เกิดระบบบริหารจัดการ เช่นในจังหวัดอำนาจเจริญ พอจะสั่งล็อตใหญ่ ก็เกิดการรวมตัวกันของ 24 ชุมชนทั่วจังหวัด แบ่งหน้าที่จัดการกัน เพื่อที่จะใผลิตผ้าขาวม้าล็อตใหญ่ได้ แล้วก็เกิดความภาคภูมใจในชุมชน เราพาชุมชนไปโตเกียวด้วยกัน เขาภูมิใจมากที่ได้เห็นผ้าของเขาไปยืนอยู่ที่แฟชั่นในโตเกียว

สลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส

“เทสโก้” บนเส้นทางการบริโภคที่ยั่งยืน

สลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า วันนี้อยากจะมานำเสนอเป้าหมายที่ 12 คือเรื่องการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ถามว่าทำไมเรามาจับข้อ 12 เนื่องจากว่าถ่านได้อ่านรายละเอียด มีการคาดการณ์กันว่าในปี 2050 โลกจะไม่มีอาหารเพียงพอต่อการบริโภค ซึ่งอีกไม่กี่ปีนี้เอง ถ้าเราไม่ทำอะไร คนบนโลกนี้จะไม่มีอะไรรับประทาน

ในขณะที่ทุกวันนี้ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ในโลก ถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ตั้งแต่ที่แหล่งเพาะปลูกและในครัวเรือน ถามว่าเกิดอะไรขึ้น และถ้าเราไม่ทำอะไร ทิ้งขว้างอาหารต่อไป ปี 2050 อาจจะมาเร็วกว่าที่เราคาดคิดซึ่งเทสโก้เองเป็นกลุ่มค้าปลีกรายใหญ่ของโลก เราเป็นจุดกลางที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างต้นทางกับปลายทาง ต้นทางก็คือผู้ผลิต เกษตรกร ผู้เพาะปลูก  ปลายทางก็คือผู้บริโภคที่มาซื้อสินค้าที่ร้านของเรา ก็เลยมองเห็นว่าบทบาทของเรา น่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาและทำให้เป้าหมายเรื่องนี้สามารถเป็นความจริงขึ้นมาได้

ภายใต้ข้อ 12 ก็จะมีข้อ 12.3 ที่ตั้งเป้าหมายกันไว้ว่าภายในปี 2030 ต้องการให้โลกทั้งโลกลดการสูญเสียและทิ้งขว้างอาหารให้ได้ 50% ถามว่าพวกเราจะไปถึงมั๊ยในการลดการสูญเสียอาหาร 50% เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ถ้าไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างในวันนี้ เราคงไปไม่ถึงตรงนั้น

เทสโก้ก็เลยมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาชื่อว่า “แชมเปี้ยน 12.3” ซึ่งความมุ่งมั่น (Commitment) ของเราที่ประเทศอังกฤษก่อนเลยก็บอกว่า ภายในสิ้นปีนี้ ทุกสาขาของเราจะไม่มีการทิ้งอาหาร ซึ่งเป็น Commitment ที่ใหญ่มาก เพราะการจัดการไม่ได้ง่ายเลย แต่เราก็มีความตั้งใจที่จะสร้างกระบวนการจัดการขึ้นมาในประเทศไทยเราได้นำร่องไปแล้ว ในการที่สาขาของเราทั้งหมดในกรุงเทพฯและปริมณฑลตอนนี้ไม่มีการทิ้งอาหาร ทุกวันจะมีการนำอาหารมาคัดแยกเพื่อนำไปบริจาค และจะมีการขยายผลต่อไปสำหรับสาขาอื่นๆทั่วประเทศ

ความท้าทายในการขับเคลื่อนSDGs ของไทยในอนาคต

  • ความท้าทายที่1 การบูรณาการระหว่างหน่วยงาน

ในส่วนของความท้าทายและสิ่งที่น่าจะเป็น และสิ่งที่ควรจะทำต่อไปในอนาคตในการขับเคลื่อน SDGs ในเมืองไทยและในระดับโลก  ต้องใจ เห็นว่า จากที่ได้มีโอกาสลงไปทำงานในหลายพื้นที่ 50 กว่าจังหวัด มองว่า ในเรื่องการลดความยากจนหรือพัฒนาชุมชน มีหน่วยงาน มูลนิธิ และองค์กรมากมายที่ทำงานได้ดีอยู่แล้ว

ฉะนั้นความท้าทาย จริงๆแล้วคือเรื่อง”การบูรณาการ”  การสร้างความเชื่อมโยง ทำอย่างไรไม่ให้ทำงานทับซ้อนกัน ทำเรื่องเดียวกัน ทำแล้วทิ้งมีเยอะมาก ชาวบ้านเรียกกันว่าอนุสาวรีย์ ที่กระทรวงนั้นกระทรวงนี้มาบริจาค เอาเครื่องมือมาให้ นี่คือความท้าทายหลักว่าทำอย่างไรที่จะช่วยกันต่อยอด แต่ละองค์กร แต่ละหน่วยงาน ต่อยอดกัน ไม่ใช่ทำซ้ำกัน

  • ความท้าทายที่ 2 การจัดทำตัวชี้วัด และระบบฐานข้อมูล

จันทิดา กล่าวว่า  ความท้าทายแรกที่เห็น คือเรื่อง “ตัวชี้วัด” เพราะ SDGs มีตัวชี้วัดมากมาย แต่ปัญหาในการที่จะให้ตัวชี้วัดชัดเจนก็ประสบปัญหา เนื่องจากข้อมูลกระจัดกระจายหลายแหล่ง การรวบรวมข้อมูลที่จะให้มาชี้ชัดว่าเราบรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัดหรือไม่ มันอาจจะมีปัญหา

โดยเฉพาะนิยามในเป้าหมายที่ 2 ที่กระทรวงเกษตรฯดูแล บางทีองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ก็ใช้นิยามของเขา ถ้าเขาอยากให้เราใช้นิยามของเขา อาจจะต้องขอความร่วมมือเขาที่จะมาอบรม ให้ความรู้กับเราว่าในการเก็บตัวชี้วัดจะต้องทำอย่างไร เพราะถ้าให้แต่ละประเทศหรือแต่ละหน่วยงานทำเอง ถ้านิยามมันไปคนละทาง มันก็จะวัดกันไม่ได้

อีกความท้าทายหนึ่งก็คือเรื่อง “การบูรณาการ” ซึ่งกระทรวงเกษตรฯเห็นตัวอย่างจากที่ท่านนายกฯ ให้เราเป็นเจ้าภาพงบประมาณแผนบูรณาการเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตภาคเกษตร ซึ่งความตั้งใจของรัฐบาลต้องการเห็นว่า การผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพและมีประสิทธิภาพตลอดซัพพลายเชน มันควรจะมีบูรณาการตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

แต่ปรากฎว่าเวลามาคุยกัน ตั้งงบประมาณกัน ในต้นทางซึ่งส่วนใหญ่เป็นของกระทรวงเกษตรฯเอง แต่ละกรมก็ทำกันมาโดยไม่ได้ดูเป้ารวมหรือเป้าใหญ่ ส่วนใหญ่ก็จะทำงานกันตามภารกิจของตนเองส่วนกลางทางซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของกระทรวงอุตสาหกรรม เขาก็ไม่ค่อยได้มาให้ความสำคัญในการพัฒนาสินค้าเกษตรในเชิงที่จะไปแปรรูปหรือไปเพิ่มมูลค้า ส่วนปลายทางส่วนใหญ่เป็นกระทรวงพาณิชย์ เขาก็ไม่ได้มาคุยกับเราว่าจะไปแก้ปัญหาตลาดอะไรอย่างไร ตรงไหน

อย่างนี้เห็นได้ชัดว่า เราจะเน้นการบูรณาการอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าไม่มีการมาคุยกันตั้งแต่ทีแรก การที่จะให้บรรลุเป้าหมายในเชิงบูรณาการมันก็เป็นไปไม่ได้ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากลำบาก อาจจะด้วยการจัดทำระบบงบประมาณของประเทศเราด้วยซึ่งเป็นปัญหาหลัก

อีกเรื่องหนึ่งคือ “ความท้าทายของเกษตรกร” ที่จะเข้าใจในบริบทโลกว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จากความด้อยโอกาสของเขา จากที่เคยคุยกับเกษตรกรบางราย เขาบอกว่าเขารับจ้างไถพื้นที่ เขาบอกเลยว่าเป็นฝีมือเขาเองที่ทำลายป่า

เขาบอกว่าจะให้เขาทำอย่างไรเพราะไม่มีพื้นที่ทำกิน ซึ่งมันเป็ปัญหาที่ทำความยุ่งยากให้กับกระทรวงเกษตร หรือกระทรวงทรัพยากรฯที่จะต้องแก้ปัญหาในการบุกรุกพื้นที่ทำกิน ซึ่งเรากำลังแก้อยู่ ไม่ว่าการบุกรุกโดยการไปปลูกข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมันฯลฯ เช่นเรื่องข้าวโพด ได้รับสัญญาณมาจากภาคเอกชนว่าเขาจะไม่รับซื้อข้าวโพดที่บุกรุกป่า ฉะนั้นเราก็ต้องแก้ปัญหากันอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนในการแก้ปัญหา อีกปัญหาหนึ่งคือ การที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมให้ทำเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งในนิยามของสภาพัฒน์ฯก็จะเป็นเกษตรอินทรีย์ ,เกษตรธรรมชาติ ,วนเกษตร เกษตรผสมผสาน ,และเกษตรทฤษฎีใหม่

แต่ในความเป็นจริงมันจะแยกกความชัดเจนในแต่ละเรื่องค่อนข้างยากว่า จริงๆแล้วเขาทำอะไรกันแน่ ทำเกษตรทฤษฎีใหม่หรือทำแบบผสมผสาน และปัญหาหนึ่งที่เจอเวลาผลักดันให้เขาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพปลอดสารพิษ คือเขาก็คาดหวังว่าเขาน่าจะได้รายได้ที่ดี  แต่ปรากฎว่าราคาที่เขาได้ก็เหมือนราคาทั่วๆไป ก็จะเป็นอุปสรรคหนึ่งในการส่งเสริมเรื่องนี้

  • ความท้าทายที่ 3 สร้างส่วนร่วมที่แท้จริง จากเอกชน

สมลักษณ์ กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงสาธารณสุขก็มีความท้าทาย อย่างแรกสุดคือ ทำอย่างไรให้ประชาชน “ป้องกันก่อนรักษา” ทำอย่างไรให้ประชาชนทุกคนตระหนักว่า “สุขภาพเรา เราดูแล” มากกว่าให้คนอื่นดูแล

เพราะว่าปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตอย่างปกติ ท่ามกลางสังคมโลกที่เปลี่ยนไป ชีวิตเราตอนนี้อยู่บนไอทีและเทคโนโลยี ทุกคนมีเวลาในการทำงานมากกว่าการออกกำลังกายตอนนี้ช่วงที่คนเสียชีวิตมากที่สุดคือ “ก่อนวัยใกล้เกษียณ” เพราะทุกคนใช้ชีวิตมาคุ้มแล้ว คือทานอย่างคุ้มคุณค่าตามราคาที่ซื้อ ทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ โดยลืมนึกถึงว่าสุขภาพเราเป็นอย่างไร

ตอนแก่เราจะแก่อย่างมีสุขภาวะที่ดี หรือจะแก้โดยเป็นภาระให้กับลูกหลาน คำว่าเป็นภาระหมายถึงเวลาป่วยลูกหลานก็พาท่านไปรักษาบ่อยๆ ซึ่งค่าใช้ก็เพิ่มขึ้น ก็เป็นปัญหาประเทศอีกว่า ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกปีในการดูแลประชาชนดังนั้นความท้าทายของเราคือ ทำอย่างไรให้ประชาชนตระหนักถึงสุขภาพของตัวเอง หรือการ Investigate ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนเข้าด้วยกัน ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกับกระทรวง เช่น รณรงค์ให้ประชาชนสุขภาพดี คนทำงานมีความสุข

ความสุขของบุคลากรในการทำงานจะสมดุลด้วย 8 ด้าน ท่านลองไปศึกษาดู หรือกระทั่งสถานที่ทำงานที่ทำให้คนทำงานมีความสุข อย่างบริษัทกูเกิ้ล เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานและ  บาล้านซ์ด้วยการออกกำลังกาย จนมีความคิดใหม่ๆ มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้ระยะเวลาที่น้อยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ได้ ดังนั้น อยากให้หลายๆท่าน ลองกลับไปดูว่าบริษัทของท่านได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนของท่าน บุคลากรในหน่วยงานท่าน มีสุขภาพที่ดีแล้วหรือยัง เพราะนั่นหมายถึงSDGs ปี 2075 ท่านจะถูกวัดไปพร้อมกับเราว่า หน่วยงานท่านจะผ่านหรือไม่ผ่าน

  • ความท้าทายที่ 4 คือ ความรู้ ความเข้าใจและทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัวคน

สลิลลา มองว่า ความท้าทายคือ ความรู้ ความเข้าใจของประชาชน ซึ่งน่ากังวลมาก เนื่องจากเทสโก้ทำวิจัยและใก้ชิดกับผู้บริโภค ล่าสุดเราพึ่งทำโฟกัสกรุ๊ปกับผู้บริโภค เราถามเขาเรื่องโลกร้อน ถามว่ารู้เรื่องมั๊ยโลกร้อนคืออะไร ประมาณ 80%ของคนที่อยู่ในกลุ่มตอบว่าไม่ทราบ หรือเราถามว่าแล้วถ้าพูดถึงโลกร้อนจะทำอย่างไร เขาตอบว่าเปิดแอร์ นี่คือเรื่องจริง

เพราะฉะนั้นนี่คือความน่ากังวลใจมากๆว่าเราทุกคนต้องช่วยกันให้ความ รู้ความเข้าใจกับประชาชนว่า การที่เรามาพูดกันเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เราก็รู้กันอยู่แค่ในห้องนี้ พอออกจากห้องนี้ไป ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยจะทราบ เพราะฉะนั้นทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ต้องช่วยกันให้ความรู้ความเข้าใจเป็นเรื่องแรก

เรื่องที่สองคือ ทำอย่างไรให้เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนมากขึ้น เวลาเราคุยเรื่องไม่ทิ้งอาหาร เราก็นำเรื่องขยะเข้ามาพูดคุย เพื่อให้ใกล้ตัวประชาชนมากขึ้น ให้เขารู้ว่าขยะที่ทิ้งไป รู้มั๊ยว่า 2 ใน 3 มาจากอาหาร ถ้าคุณลดขยะอาหาร ขยะในเมืองก็ลดลง น้ำก็ไม่ท่วมบ้านดังนั้นเราต้องทำให้เรื่องที่ไกลตัวเป็นเรื่องใกล้ตัว เพื่อให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น

  • ความท้าทายที่ 5 คือ ความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน ประชาสังคม

ถัดมาคือเรื่องความร่วมมือ ในส่วนภาคเอกชนที่จะบรรลุเป้าหมายแต่ละเรื่อง ทำคนเดียวมันไม่สำเร็จ บางครั้งเราต้องการหาผู้ที่จะมาช่วยกันทำงาน ต้องหาพาร์ตเนอร์ใหม่ๆบ้าง ยกตัวอย่างประเทศไทย หลายที่อยากบริจาคอาหารแต่ไม่กล้าบริจาคอาหาร ไม่เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วที่ต้องการบริจาคอาหารเรียกว่า “ฟู้ดแบงก์”(Food Bank)

ฟู้ดแบงก์ เขามีทีมงาน มีรถ มีคน มารับอาหารแล้วไปแจกคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย( Homeless) แต่ประเทศไทยไม่มีฟู้ดแบงค์ จะมีเล็กๆน้อยๆบ้าง แต่เครือข่ายไม่ครอบคลุม เช่น รถหมูแดง เราก็เริ่มทำงานกับหมูแดง ก็บริจาคได้บางส่วน ล่าสุดปีนี้เราขยายผลไปทำงานกับมูลนิธิไทยฮาร์เวสต์เอสโอเอส เอ็นจีโอที่ทำเรื่องฟู้ดแบงก์ ก็เป็นสิ่งที่น่ายินดีเพราะเราทำคนเดียวไม่สำเร็จ เราทำไปไม่ถึง แต่เราต้องการคนมาช่วยต่อยอดเรา เพื่อจะนำอาหารไปกระจายให้ได้ทุกพื้นที่

สุดท้ายคือเรื่องเทคโนโลยี วันนี้เรามีแอปพลิเคชันที่ตั้งขึ้นมาทำงานเรื่องฟู้ดแบงก์โดยเฉพาะ ซึ่งมันช่วยทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเรากำลังพูดถึง Time to Market พูดเรื่องอาหารสด พูดเรื่องความรวดเร็ว ถ้าเราไม่มีเทคโนโลยีมาช่วย ก็คงจะไปไม่ได้ไกล ซึ่งเราก็พยายามหาพาร์ตเนอร์หลายๆรูปแบบ ที่จะมาร่วมกันทำงาน

ดร.บัณฑูร กล่าวว่า ถ้ามองไปข้างหน้าเรื่องความท้าทายมีอยู่คือ 1.การรับรู้และความเข้าใจ คือความเข้าใจในประเด็นย่อยๆของ Goal แต่ละGoalของ SDGs เช่นตัวอย่างเรื่องโลกร้อน พอมีโจทย์เรื่องSDGs ก็เลยกลายเป็นความซับซ้อนบนความซับซ้อนตรงนี้เป็นการสื่อสารที่ต้องช่วยกัน เพราะเรื่องSDGs ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งการศึกษา ,การลดความยากจน ,ความมั่นคงทางอาหาร ,ความเท่าเทียมทางเพศ เป็นเรื่องที่แต่ละหน่วยงานซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าทำกันมานานแล้ว และกำลังทำอยู่ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

และที่สำคัญใน 17 Goals มีเรื่องใดบ้าง ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่เคยทรงงาน ท่านทำทุกเรื่อง โครงการพระราชดำริ ศูนย์การพัฒนา ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ทุกเรื่องประเทศไทยทำ และในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำให้เห็นเป็นตัวอย่างตัว SDGs เป็นเพียงการกำหนดขึ้นให้เห็นว่า เรามีกรอบเวลาชัดเจน มีตัวชี้วัดชัดเจน และเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆได้ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ การเริ่มต้นของภาครัฐ กว่าเราจะทำความเข้าใจ กว่าจะเปลี่ยนให้เห็นว่า นี่ไม่ใช่ภารกิจใหม่ที่จะตั้งกำแพงว่างานใหม่มาอีกแล้ว

2.เกี่ยวเนื่องกับการโยงไปยังบทบาทภาคเอกชนและความร่วมมือ ซึ่งความท้าทายในแง่ที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยน SDGs in Planning ไปสู่ SDGs in Action โดยเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา การประชุมกพย. 17 Goals มีแผนงานโรดแมปของทุกกระทรวงเข้ามาแล้ว ซึ่งคือ SDGs Planning

  • ความท้าทายที่ 6 จะทำอย่างไรให้เกิด SDGs in Action

ถ้าจะเปลี่ยนไปสู่ In Action อยากพูดถึง 2 ประเด็นคือ 1.บทบาทองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งก็คือภาคเอกชน 2.ในประเด็น SDGs Area Best ในประเด็นแรก เรายอมรับกันว่า เรื่องSDGs ลำพังภาครัฐไม่พอ

เจฟฟรี่ย์ แซคส์ เขียนในรายงานให้ยูเอ็นก็บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ประชุมการพัฒนาความยั่งยืน หรือ SD (Sustainable Development) ตั้งแต่ปี 1992 จุดอ่อนอันหนึ่งที่ขาดความร่วมมือที่เพียงพอจากภาคประชาสังคมและภาคเอกชน จึงเป็นที่มาของการตั้ง UN Global Compact ซึ่งปัจจุบันก็มีเอกชนไทยเข้าร่วมแล้ว

สภาพัฒน์ฯหรือมูลนิธิมั่นพัฒนาที่พยายามจัดเวทีเหล่านี้ ข้อสังเกตของผมที่เป็นความท้าทายก็คือ มันยังไม่คลิกจริงๆ คือทุกคนในห้องนี้รู้ว่าเราทุกคนต้องร่วมมือกัน แต่ว่าร่วมมืออย่างไร กติกา แพลตฟอร์ม โมเดล ฯลฯ เหมือนมันยังหาไม่เจอ อาจจะเห็นที่เทสโก้ทำ หรือประชารัฐทำ แต่ความร่วมมือจริงๆ ที่จับมือกันจริงๆ แล้วมองเป้าร่วมจริงๆยังไม่เกิด ผมพึ่งไปคุยกับอดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯท่านหนึ่ง ตั้งเป้าไว้ 5 ล้านไร่ ในการทำเกษตรยั่งยืน กระทรวงเกษตรดูแล้วทั้งหมดได้ 3.8 ล้านไร่ อีก 1.2 ล้านไร่ กระทรวงเกษตรจะทำยังไง อดีตปลัดบอกว่าต้องการความร่วมมือจากภาคเอกชนเข้าไปทำทำ ผมคิดว่าเราต้องการโมเดลใหม่ของการทำงานเรื่องนี้

เมื่อไม่นานมานี้มีการรับฟังร่าง “กฎหมายวิสาหกิจเพื่อสังคม” (Social Enterprise) ซึ่งจะเป็นโมเดลใหม่ของการนำเอา Business Model เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายทางสังคม ที่จะดึงเอาความร่วมมือของภาคเอกชนมาสู่การตอบโจทย์เรื่องทางด้านสังคม โดยใช้ความรู้ เทคโนโลยีต่างๆที่ท่านมี ซึ่งผมคิดว่าเป็นเกณฑ์ใหม่ที่สำคัญอย่างยิ่งมีตัวอย่างมากมาย เช่น มูลนิธิโรงพยาบาลอภัยภูเบศรอภัยภูเบศ ท่านอาจารย์มีชัย วีระไว ทยะ ทำเรื่องนี้มานาน แต่วันนี้เราจะมีกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำ อาจจะเป็นโมเดลดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือ

หรือยกตัวอย่าง เวลาน้ำท่วม ทุกคนก็จะเปลี่ยนชุดเข้าไปลุยน้ำท่วม ไปแจกของ ท่านทิ้งความสามารถทางวิศวกรรม ทิ้งความสามารถงานทางคอมพิวเตอร์ ท่านเปลี่ยนความคิดไปสู่การทำงานเพื่อสังคม ก็คือไปช่วยปั้นลูกอีเอ็ม แล้วก็ไปโยนในน้ำ Social Enterprise ไม่ต้องการแบบนั้น แต่ Social Enterprise ต้องการเอาความรู้ที่ท่านมีอยู่เดิม แต่เปลี่ยนเป็น Business Model เพื่อตอบโจทย์ทางสังคม

ส่วนเรื่อง SDGs Area Base อยู่ในมติการประชุมกพย.ที่ผ่านมา บอกว่าวันนี้อย่าอยู่แค่ในกระดาษ ต้องลงไปสู่พื้นที่ แต่ปัญหาจะอยู่ที่การบูรณาการของพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจสั่งใคร วันนี้มีหลายหน่วยงานกลางลงไปในพื้นที่จำนวนมาก แต่ทุกหน่วยงานไม่ได้ขึ้นกับผู้ว่าฯ แต่ขึ้นอยู่กับอธิบดีในส่วนกลาง

ฉะนั้นการดำเนินการในส่วนภูมิภาค หรือส่วนจังหวัด เป็นอุปสรรคใหญ่ กลไกประชารัฐก็เป็นส่วหนึ่งที่ตอบโจทย์ แต่อีกส่วนหนึ่งคืองบฯบูรณาการที่ต้องเปลี่ยน

ชล สรุปว่า ที่เราพูดเรื่องความท้าทาย มีประเด็นสรุปหลักๆคือ เรื่องการบูรณาการ ,เรื่องความรู้ความเข้าใจของผู้คนเกี่ยวกับ SDGs ,เรื่องความชัดเจนของตัวชี้วัด ,เรื่องการใช้เทคโนโลยี ,เรื่องความต้องการโมเดลใหม่ๆในการสร้างความร่วมมือ

 และอย่างที่ทุกคนกล่าว ปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เราไม่สามารถทำประเด็นเรื่องของเสียจากอาหาร โดยไม่แตะประเด็นเรื่องเกษตร หรือแม้กระที่งโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม ซึ่งนั่นนำมาซึ่งความร่วมือที่จะทำร่วมกัน แต่โจทย์หลักจากนี้คือ ใครจะเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการแต่ละเรื่อง