ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > บทสรุป SDGs ไทยปี 2560 :  อีกไกลแค่ไหนจึงจะไปถึงเป้าหมาย

บทสรุป SDGs ไทยปี 2560 :  อีกไกลแค่ไหนจึงจะไปถึงเป้าหมาย

18 ธันวาคม 2017


ที่มา: SDSN

กว่า 2 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีความตื่นตัวในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งไทยและ 193 ประเทศ มุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายร่วมกันในปี 2573   สำหรับความก้าวหน้าที่ชัดเจนของไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาอยู่ที่การสร้างกลไก การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และการผลักดันในระดับนโยบาย ซึ่งบรรจุเป้าหมายการพัฒนาอยู่ภายใต้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ไทยเป็นยังได้เข้าร่วมรายงานความก้าวหน้า SDGs โดยสมัครใจ หรือ Voluntary National Review (VNR) สะท้อนความตื่นตัวและความก้าวหน้าของไทย

ไทยอยู่ตรงไหนในปี 2560

ขณะที่จากการจัดอันดับล่าสุดของ Sustainable Development Solutions Network ซึ่งประเมินสถานการณ์ SDGs ไทย อยู่ในลำดับ 55 จาก 157 ประเทศ มีคะแนนรวมอยู่ที่ 69.5 คะแนน

ทว่าหากประเมินสถานการณ์ในระดับเป้าหมาย ทั้ง 17 เป้าหมาย มีเป้าหมายเดียวที่ประเทศไทยทำได้ดีคือ เป้าหมายที่ 1 การยุติปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นหนึ่งในผลการดำเนินงานด้านความยากจนที่ดีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การพัฒนาในอดีตที่ผ่านมาที่ไทยสามารถทำได้ดีและสามารถบรรลุเป้าหมายความยากจนแห่งสหัสวรรษ โดยในรายงานผลการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจของประเทศไทยปี 2560 ซึ่งจัดทำโดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ได้นำเสนอในการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าโดยสมัครใจ (VNR) ในเวที High-Level Polotical Forum เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา

ในรายงานระบุว่า สัดส่วนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศลดลงจากร้อยละ 42.3 หรือ 25.8 ล้านคนในปี 2543 เหลือร้อยละ 7.2 หรือ 4.8 ล้านคนในปี 2558 โดยแบ่งเป็นชายและหญิง ประมาณอย่างละร้อยละ 38 และเป็นเด็กประมาณร้อยละ 24 อย่างไรก็ตาม

เส้นทางอีกยาวไกลของไทยและอาเซียน

Arman Bidarbakht-Nia นักสถิติจากคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) กล่าวว่า จากการประเมินของ UNESCAP  พบว่า จากการประเมินสถานการณ์ของภูมิภาคอาเซียนโดยพิจารณาประเด็นการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติของทั้ง 17 เป้าหมายพบว่า เป้าหมายจำนวนมากยังไม่ได้ก้าวหน้าไปอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะเมื่อดูฐานข้อมูลในปี 2015 เทียบกับเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2030

ที่มา: UNESCAP

หากดูจากกราฟสามารถประเมินง่ายๆ ได้ว่า ถ้าเป้าหมายไหนยังไม่ได้มีความก้าวหน้าไปถึงครึ่งจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ นั่นหมายถึงว่า มันเป็นเรื่องที่เริ่มยากแล้วที่จะไปถึง จากชุดข้อมูลที่เรามีนอกจากเรื่องความยากจน (เป้าหมายที่ 1) การศึกษา (เป้าหมายที่ 4) ความพยายามในการทำงานเรื่องพลังงานสะอาด (เป้าหมายที่ 7) และระบบนิเวศใต้น้ำ (เป้าหมายที่ 14) ที่มีความก้าวหน้าเกินกว่าครึ่งแล้ว เป้าหมายอื่นๆ มากกว่า “ก้าวหน้า” มีหลายเรื่องที่ถอยหลังด้วยซ้ำ

เป้าหมายที่เขาระบุถึง ได้แก่ การขจัดความหิวโหย  (เป้าหมายที่ 2) การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (เป้าหมายที่ 8) การลดความเหลื่อมล้ำ (เป้าหมายที่ 10) เมืองที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 11) การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก (เป้าหมายที่ 15)

ที่มา: UNESCAP

สารเคมีเกษตร-ความเหลื่อมล้ำ กับเป้าหมายที่เร่งด่วน

ในรายงาน Sustainable Development Solutions Network ล่าสุดพบว่า จาก 17 เป้าหมายของ SDGs มี 6 เป้าหมายที่เป็นประเด็นที่เร่งด่วนมากของไทย ได้แก่

ที่มา : http://sdgindex.org

1) การขจัดความหิวโหย (เป้าหมายที่ 2) ซึ่งครอบคลุมประเด็นเรื่อง ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืนด้วยนั้น ตัวชี้วัดที่เป็นปัญหาของไทยนอกจากสภาวะแคระแกร็นของประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีประมาณ 16.3% แล้วไทยกำลังเผชิญหน้ากับเรื่องที่สำคัญในการจัดการไนโตรเจนอย่างยั่งยืน จากการใช้ปุ๋ยเคมีในการทำเกษตรกรรม ในการใช้ปุ๋ยอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

2)การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (เป้าหมายที่ 3) ซึ่งมี 2 ประเด็น คือ การเป็นวัณโรค และการตายจากอุบัติเหตุรถยนต์ ในเรื่องวัณโรคพบว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่มาคงตัวช่วงปี 2012 โดยปัจจุบันมีอัตราอยู่ที่ 172 รายต่อประชากรแสนคน ส่วนอัตราการตายบนท้องถนนเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เราติดอยู่ในกลุ่มชั้นนำ รองจากประเทศซิมบับเว เวเนซุเอลา ไลบีเรีย โดยประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 31.7 รายต่อประชากรแสนคน

3) อุตสาหกรรมนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน (เป้าหมายที่ 9) จากตัวชี้วัด สิ่งที่ทำให้ไทยได้คะแนนไม่ดีนักมาจากประเด็นเชิงโครงสร้างของสัดส่วนประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตและสัดส่วนในการวิจัย สำหรับสัดส่วนประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ต สถิติปี 2015 อยู่ที่ 39.3% ของประชากร เรื่องนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นมาก สถิติล่าสุดปี 2016 อยู่ที่ 47.5% ของประชากร อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่อาจจะเป็นปัญหาคืออัตราส่วนงานวิจัยต่อจีดีพียังอยู่ที่ 0.4% โดยเมื่อเทียบกันในแถบเอเชียยังต่ำกว่าค่อนข้างมาก ถือเป็นความสำคัญเร่งด่วน ส่วนประเทศอย่าง เกาหลีใต้, อิสราเอล, ญี่ปุ่น, สวีเดน, เดนมาร์ก มี สัดส่วนงานวิจัยต่อจีดีพีมากกว่า 4% อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้มีแนวโน้มที่ดีบ้างจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักวิจัยต่อประชากร ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 974 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน แต่ก็ยังต่ำหากเปรียบเทียบกับประเทศอย่าง อิสราเอล, เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ สวีเดน หรือสิงคโปร์ มีนักวิจัยอยู่ที่เกือบ 8,000 กว่าคนต่อประชากรหนึ่งล้านคน

4) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (เป้าหมายที่ 13)  2 ประเด็นที่เร่งด่วนและเป็นปัญหาของประเทศไทย คือ เรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ (CO2) อยู่ที่ 4.5 ตัน/คน/ปี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงความเปราะบางต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งเรื่องภัยพิบัติ สภาพอากาศ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การสูญเสียผลผลิตด้านการเกษตร ฯลฯ ซึ่งในหมวดนี้ไทยเกณฑ์วิกฤติ ได้เพียง 0.2 คะแนน

5) การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก (เป้าหมายที่ 15) ประเด็นที่ทำให้ไทยอยู่ในภาวะวิกฤติคือเรื่องป่าไม้และสัตว์สงวน โดยอัตราการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่ามีค่อนข้างสูง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในทางลบของสัตว์สงวน

6) สังคมสงบสุข ยุติธรรม และการไม่แบ่งแยก (เป้าหมายที่ 16) ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนเช่นกัน ทั้งปัญหาเรื่องอาชญากรรม จำนวนคนในคุก และปัญหาคอร์รัปชัน โดยปี 2014 มีอัตราการฆาตกรรมอยู่ที่ 3.9 ต่อแสนคน ส่วนเรื่องจำนวนประชากรในคุก โดยเฉลี่ยประเทศไทยมีประชากรอยู่ในคุก 461 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนซึ่งอยู่ในอัตราที่สูง ขณะที่เรื่องคอร์รัปชัน ในปี 2016 ประเทศไทยมีเปอร์เซ็นต์ของบริษัทที่อย่างน้อยถูกเรียกให้จ่ายสินบนอยู่ที่ 9.9% ของบริษัทที่ประสบเหตุการณ์นี้ และอยู่ในเหตุการณ์ที่ถูกคาดหวังว่าจะต้องให้ของขวัญกับเจ้าพนักงานอยู่ที่ประมาณ 8.5%

และนี่เป็นภาพสะท้อนของเป้าหมายที่เร่งด่วน ความก้าวหน้าและอนาคตที่ไม่ง่ายกว่าจะไปถึง