ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วิกฤติระบบสาธารณสุขไทย กางตัวเลข รพ.รัฐ เงินบำรุงติดลบ 558 แห่ง 12,700 ล้าน

วิกฤติระบบสาธารณสุขไทย กางตัวเลข รพ.รัฐ เงินบำรุงติดลบ 558 แห่ง 12,700 ล้าน

19 ธันวาคม 2017


ปรากฏการณ์ “ตูนฟีเวอร์” โครงการก้าวคนละก้าวจากเบตง – แม่สาย เริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายน – 25 ธันวาคม 2560 ระยะทาง 2,191 กิโลเมตร เพื่อระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาล 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้แก่ 1. โรงพยาบาลยะลา 2. โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี 3. โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี 4. โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี, 5. โรงพยาบาลศูนย์สระบุรี, 6. โรงพยาบาลขอนแก่น, 7. โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี, 8. โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่, 9. โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์, 10. โรงพยาบาลน่าน (ไม่ใช่โรงพยาบาลศูนย์ แต่อยู่ในพื้นที่พิเศษห่างไกลจากตัวเมือง) และ 11. โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

มาพร้อมๆ กับปรากฏการณ์การขาดทุนต่อเนื่องจนเงินบำรุงโรงพยาบาลของรัฐติดลบ 558 แห่ง เป็นเงินกว่า 12,700 ล้านบาท จากโรงพยาบาลรัฐ 896 แห่ง โดยเป็นตัวเลข ณ วันที่ 31 ตุลาคมคม 2560 หรือสิ้นปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา

ฤาระบบสาธารณสุขของไทยจะล่มสลายเสียแล้ว

ถ้าเปรียบเทียบให้ ตูน “อาทิวราห์ คงมาลัย” และทีมงานก้าวคนละก้าววิ่งเพื่อช่วยกอบกู้วิกฤติทางการเงินของ 558 แห่ง ที่ขาดทุน 12,701 ล้านบาท ถ้าวิ่ง 1 รอบ เวลา 55 วัน ระยะทางเบตง-แม่สาย 2,191 กิโลเมตร เพื่อระดมทุน 700 ล้านบาทต่อรอบ ตูนจะต้องวิ่ง 18 รอบ 39,753.5 กิโล เท่ากับวิ่งรอบโลก 1 รอบ 40,000 กิโลเมตร ระยะเวลารอบละ 55 วัน 18 รอบ รวม 997.92 วัน หรือ 2.7 ปี หรือ 2 ปี 8 เดือน (ณ 18 ธันวาคม 2560 ยอดบริจาค 868 ล้านบาท)

วันนี้ปัญหาการขาดทุนของโรงพยาบาลรัฐจำนวนมากในทุกขนาดโรงพยาบาลไม่ใช่ดราม่าอีกต่อไป กระทรวงสาธารณสุขจะต้องออกมาให้ข้อเท็จจริงและความความจริงแก่ประชาชนคนไทย

เพราะจะให้ตูนและทีมงานวิ่งคงไม่รอดแน่ๆ

หลังจากตูนวิ่งระดมทุนให้กับโรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้เงิน 85 ล้านบาท ระยะทางวิ่ง 400 กิโลเมตร ในเวลา 10 วัน ก็มีกระแสว่าการวิ่งของตูนเพื่อจะเปิดความจริงเรื่องการขาดทุนของโรงพยาบาลให้ปรากฏชัด ยิ่งตอกย้ำมากขึ้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่ “ตูน” จะเริ่มโครงการก้าวคนละก้าว ได้เคยขอเข้าพบ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น (เพิ่งพ้นตำแหน่งเมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2560) เพื่อหารือระดมทุนช่วยโรงพยาบาลเพื่อซ์้ออุปกรณ์การแพทย์ แต่กว่าได้เข้าพบก็เกือบจะหมดวาระการเป็นปลัดกระทรวง สุดท้ายตูนก็ไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ เพราะลึกๆแล้วหลายฝ่ายกลัวความจริงจะถูกเปิดเผย ความจริงที่ว่าคือโรงพยาบาลรัฐขาดทุนมหาศาล

เพราะหากปล่อยให้ตูนวิ่ง การวิ่งของตูนยิ่งตอกย้ำว่าโรงพยาบาลรัฐมีปัญหาสภาพคล่อง

ทางออกจึงเป็นการร่วมมือกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในนามมูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในการระดมทุน

ถ้าจำกันได้เมื่อตูนวิ่งถึงกรุงเทพฯ กระทรวงสาธารณสุขได้มอบเงิน 1 ล้านบาทให้กับตูน กลายเป็นดราม่าในโลกโซเชียล ซึ่งข้อมูลวงในระบุว่าส่วนหนึ่งของเงินที่นำมาบริจาคเป็นการเรี่ยไรมาจากโรงพยาบาลรัฐ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดสภาพคล่องของโรงพยาบาลจากการสอบถามข้อมูล โรงพยาบาลรัฐบางแห่งไม่มีเงินที่จะซื้อแม้แต่สำลี ต้องซื้อเงินเชื่อ บางแห่งไม่มีเงินจ่ายเงินค่าซื้อยา หลายแห่งเครดิตที่มีกับบริษัทยาก็สูญสิ้น

นอกจากนี้หลายแห่งพยายามปกปิดตัวเลขขาดทุนที่ค้างชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่เปิดเผยภาระหนี้ที่แท้จริง เพราะหากฐานะการเงินอยู่ในความเสี่ยงระดับ 7 เกรงว่าการประเมินผลงานบริหารจัดการจะสอบตก หลายแห่งจึงพยายามซุกซ่อนตัวเลขที่แท้จริงไว้

ทั้งนี้หากต้องนับตัวเลขเงินบำรุงโรงพยาบาลที่ติดลบมหาศาล และนับรวมภาระหนี้ที่ต้องแบกไว้ (ปัจจุบันไม่มีการเปิดเผย) ซึ่งบางโรงพยาบาลนอกจากตัวเลขเงินบำรุงติดลบแล้ว ยังมีหนี้อีกเป็น 1,000 ล้านบาทก็มี จึงเป็นข้อมูลที่ซุกอยู่ใต้พรมอีกมากมายที่กระทรวงสาธารณสุขต้องสะสางข้อเท็จจริง

ดังนั้น ถ้าเมื่อไหร่ที่กระทรวงสาธารณสุขตื่น กางตัวเลขเงินบำรุงโรงพยาบาลติดลบ กับภาระหนี้ที่แท้จริงของแต่ละโรงพยาบาลแล้ว ก็จะทราบว่าอนาคตสาธารณสุขไทยอยู่ในขั้นวิกฤติ แม้หลายฝ่ายมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องดราม่าที่จใช้เป็นเหตุผลยกเลิกระบบกองทุนสุขภาพถ้วนหน้า(หรือระบบเดิม 30 บาทรักษาทุกโรค) ซึ่งข้อเรียกร้องที่ผ่านมาไม่ได้ต้องการยกเลิก แต่ขอให้ภาครัญปรับปรุงการบริการจัดการของสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ว่าค่าใช้จ่ายรายหัวต่อคนต่อปีถึงมือโรงพยาบาลรัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วย

กางข้อมูลวิกฤติทางเงินโรงพยาบาลรัฐ

จากข้อมูลฐานะทางการเงินของโรงพยาบาลรัฐทั้งหมด 896 แห่ง ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน ถ้าดูตัวเลข ณ 31 ตุลาคม 2560 มีโรงพยาบาลที่ขาดทุนเฉพาะปี 2560 จำนวน 382 แห่ง เป็นเงิน 3,160 ล้านบาท

โรงพยาบาลรัฐที่เงินบำรุงติดลบ 558 โรงพยาบาล เป็นเงิน 12,700.80 ล้านบาท โรงพยาบาลรัฐที่เงินทุนหมุนเวียนติดลบ 217 แห่ง เป็นเงิน 1,861.89 ล้านบาท

แต่ถ้าโรงพยาบาลไหนที่ผลประกอบการขาดทุน และเงินบำรุงติดลบด้วยแล้ว นั่นแสดงถึงอาการวิกฤติทางการเงินอย่างรุนแรง จากข้อมูลพบว่าโรงพยาบาลที่เงินบำรุงติดลบอยู่ในระดับ 7 (ตามการจัดระดับความเสี่ยงฐานะการเงินโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข) ถือว่าวิกฤติสูงสุดหรือรุนแรงมากที่สุด มีจำนวน 87 แห่ง ขาดทุน 1,989.96 ล้านบาท

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคำว่า “เงินบำรุงโรงพยาบาล” ในทางบัญชีคือเงินรายได้ของโรงพยาบาล ที่ได้จากการให้บริการรักษาผู้ป่วย นอกจากนี้ โรงพยาบาลรัฐยังมีรายรับจากงบประมาณของรัฐบาลโดยตรง แต่จะเป็นงบประมาณในการสร้างตึก ซื้อเครื่องมือที่มีราคาแพง เมื่อโรงพยาบาลรัฐเก็บค่ารักษาผู้ป่วยจากผู้ป่วยโดยตรง ลงบัญชีเป็น “เงินบำรุงโรงพยาบาล” สำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำงานของโรงพยาบาล เช่น จ้างลูกจ้าง (ที่ไม่มีตำแหน่งข้าราชการบรรจุ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ด้านอื่นๆ คนงาน คนขับรถ ฯลฯ รวมทั้งจ่ายค่าทำงานนอกเวลาราชการของบุคลากรทุกประเภท) ถ้ามีผู้ป่วยมาใช้บริการมากโรงพยาบาลเก็บเงินได้มาก มีเงินบำรุงเหลือจากการใช้จ่ายเหล่านี้แล้ว ก็อาจจะเอาไปสร้างตึก ซื้อเตียง ซื้อเครื่องมือแพทย์ ฯลฯ เพื่อพัฒนาโรงพยาบาล

ต่อมาหลังจากมีระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งบริหารจัดการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. โรงพยาบาลไม่มีเงินช่วยจากภาครัฐในการสร้างตึก ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ เงินเดือนของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะรวมอยู่ในเงินรายหัวต่อคนต่อปีที่ สปสช.เป็นคนกำหนดเสนอให้รัฐบาลพิจารณาอนุมัติ ดังนั้นโรงพยาบาลได้รับเงินค่ารักษาผู้ป่วยจาก สปสช., มีรายได้ผู้ป่วยจากกองทุนประกันสังคม ในระบบประกันสังคม และจากกรมบัญชีกลาง (ระบบสวัสดิการข้าราชการ) ซึ่งงบประมาณจากประกันสังคมและกรมบัญชีกลางนั้นโรงพยาบาลพอมีกำไรบ้าง (รายรับสูงกว่ารายจ่าย) แต่ระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น โรงพยาบาลได้รับจาก สปสช. น้อยกว่ารายจ่ายในการรักษาผู้ป่วย ทำให้โรงพยาบาลต้องนำเงินบำรุงเก่า (ที่สะสมไว้ก่อนมีระบบ 30 บาท) ออกมาใช้จนหมด ปัจจุบันทำให้โรงพยาบาลที่เงินบำรุงติดลบไม่มีเงินจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาเจ้าหน้าที่ และบางแห่งไม่มีเงินจ่ายค่ายา (ซื้อเชื่อจากบริษัทยา) ค่าน้ำ/ไฟ/สาธารณูปโภคอื่นๆ

ดังนั้น ถ้าบอกว่าเงินบำรุงติดลบก็คือ รายรับน้อยกว่ารายจ่าย แต่ความจริงโรงพยาบาลเป็นเจ้าหนี้ เรียกเก็บหนี้จาก สปสช. ไม่ได้ จนทำให้โรงพยาบาลเป็นลูกหนี้ (ไม่มีเงินจ่ายบริษัทยา ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ) จนส่อล้มละลาย ตามตัวเลขที่ปรากฏ ปัจจุบันระบบ กองทุนหลักประสุขสุขภาพถ้วนหน้านั้น เดิมทีประชาชนที่อยู่ในระบบนี้ประมาณกว่า 48 ล้านคน จ่ายแค่ 30 บาทเมื่อมาใช้บริการรักษา แต่ต่อมาจนถึงปัจจุบันรัฐบาลยกเลิกการเก็บเงิน 30 บาท เป็นการรักษาฟรีจึงเรียกเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยรัฐบาลจัดงบประมาณรายจ่ายต่อหัวในแต่ละปี ซึ่งปี 2560 อยู่ที่ 3,109.87 บาท/คน

แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมามีหลากหลายความเห็นที่ออกมาระบุว่าการที่โรงพยาบาลขาดทุนไม่ได้เป็นผลมาจาก สปสช. อาจจะเป็นเพราะการบริหารจัดการที่ไม่ดี มีเจ้าหน้าที่มากเกินไป เป็นต้น เช่น นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

ส่วนข้อร้องเรียนที่ผ่านมาเกี่ยวสปสช.อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในข่าวเปิดรายงานดีเอสไอระบุ สปสช. ไม่มีหน้าที่ซื้อยา-เวชภัณฑ์ แถมเอาเงินส่วนลดจากองค์การเภสัชไปใช้เอง เที่ยวต่างประเทศ ซื้อรถตู้ ให้เงินทำวิจัย, เจาะงบ สปสช. ใช้เงินเหมาจ่ายรายหัวประชาชนผิดประเภท, “วินัย สวัสดิวร” เลขา สปสช. แจงปมขัดแย้ง ให้เงินหน่วยบริการอื่น 252 ล้านระบุไม่ใช่เหตุให้ รพ.ขาดทุน – พร้อมเปิดเผยข้อมูลการจัด “ซื้อยา-อุปกรณ์”)

ย้อนมติ”ประยุทธ์” จัดงบช่วยสภาพคล่อง รพ. 5,000 ล้าน

อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน 2560 รัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติ ครม. อนุมัติเงิน 5,000 ล้านบาทเพื่อช่วยเยียวยาโรงพยาบาลที่ขาดสภาพคล่อง โดยรายงานข่าวจากเว็บไซต์วอยซ์ทีวีระบุว่า ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เรื่องปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้ มีปัญหาตั้งแต่เริ่มมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ผ่านมา ได้ใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลมาช่วยตลอด ประคับประคองกันมาเรื่อยๆ พอมาถึงจุดนี้ต้องยอมรับว่า เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยก็มีมากขึ้น แต่ขณะที่งบค่าใช้จ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นไม่เป็นอัตราส่วนที่เหมาะสมกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ส่งผลให้เกิดสภาวการณ์เรื่องรายจ่ายคล่องตัวลดลง ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้รับทราบและเข้าใจ โดยได้มีการพูดคุยกับผู้แทนสำนักงบประมาณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะมีการดำเนินการ ดังนี้

ในระยะสั้น รัฐบาลจะอนุมัติงบกลางปี 2560 จำนวน 5,000 ล้านบาท ช่วยเหลือเพื่อให้เกิดสภาพคล่อง ส่วนในระยะยาว จะมีการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศ มีโครงการชัดเจนหลายเรื่อง มีการตั้งคณะกรรมการไปแล้วหลายชุด เช่น ชุดหนึ่งอยู่ระหว่างปรับพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งสำคัญมากเป็นแม่บท ในส่วนของการเงินการคลัง และเรื่องอื่นๆ มีหลายภาคส่วนให้คำแนะนำ พร้อมที่จะรับฟังและจะนำสิ่งที่ดีที่สุดมาปฏิรูป ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ทุ่มเททรัพยากรทุกอย่าง ทั้งคน เงิน เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยตรง ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดกำไร และการที่ทุกฝ่ายช่วยกันเต็มที่จะทำให้ระบบสุขภาพยังยืนอยู่ได้ โดยในอนาคตต้องมีการปฏิรูปเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

หลังจากนั้นจากเอกสารข่าวกระทรวงสาธารณสุขโดยนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ในขณะนั้น) ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการจัดสรรงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข 5,000 ล้านบาท ว่ามี 3 ส่วน 1. ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยใน 3,000 ล้านบาทและและสนับสนุนการดูแลรักษาผู้ป่วยทารกวิกฤติ 300 ล้านบาท โดยกระจายให้โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป 860 แห่ง รวม 3,300 ล้านบาท 2. ค่าตอบแทนบุคลากร รวมทั้งการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (P4P) 1,000 ล้านบาท ในโรงพยาบาลทุกระดับ โดยจัดสรรให้เขตบริการสุขภาพดำเนินการ และ 3. ชำระต้นทุนการบริการส่วนขาดจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 600 ล้านบาท

ดูตัวเลขเงินบำรุงโรงพยาบาลติดลบ 558 แห่ง