ThaiPublica > เกาะกระแส > “Swiss Made” สัญลักษณ์แห่งคุณภาพ จากมีดพับ นาฬิกา ถึงการท่องเที่ยวที่ขาย “อากาศและหิมะ”

“Swiss Made” สัญลักษณ์แห่งคุณภาพ จากมีดพับ นาฬิกา ถึงการท่องเที่ยวที่ขาย “อากาศและหิมะ”

31 ธันวาคม 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ประเทศเล็กๆอย่าง สวิสเซอร์แลนด์ ที่ไม่มีพรมแดนติดทะเลเลย ไม่น่าจะเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ที่ประชาชนมีรายได้ต่อคนสูง สวิสไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดๆเลย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบ ถ่านหิน หรือแร่โละมีค่าต่างๆ พื้นที่ราบลุ่มส่วนใหญ่ ก็ปลูกพืชอะไรแทบไม่ได้เลย ในแต่ละปี พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ปกคลุมไปด้วยหิมะ เป็นเวลานานหลายเดือน
สวิตเซอร์แลนด์มีระบบการปกครองแบบกระจายอำนาจ ที่ประกอบด้วย 26 จังหวัด ที่เรียกว่า Canton แต่ละจังหวัดมีอิสระปกครองตัวเอง เหมือนกับแต่ละมลรัฐในสหรัฐอเมริกา มีธรรมนูญ กฎหมาย สภา ศาล ธง ตำรวจ และระบบการศึกษาของตัวเอง ทำให้สวิสไม่มีเมืองที่ใหญ่โตแบบปารีส หรือ ลอนดอน แต่เมืองสำคัญๆจะมีขนาดพอๆกัน เบิร์น (Bern) คือ เมืองหลวง บาเซิล (Basel) เป็นเมืองอุตสาหกรรม โลซาน (Lausanne) เป็นเมืองที่ตั้งของศาลสูง เจนีวา (Geneva) เมืองที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ สหประชาชาติ ส่วนซูริก (Zurich) เป็นเมืองเศรษฐกิจ

หากไม่นับโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ นักเทนนิสชั้นนำของโลกแล้ว สวิสแทบไม่มีคนที่มีชื่อเสียงระดับโลกเลย ถ้าถามคนทั่วไปว่า เมื่อพูดถึงสวิตเซอร์แลนด์ สิ่งแรกพวกเขาคิดถึงคืออะไรมากที่สุด คำตอบอาจเป็น สวิสชีส ที่มีรูวงกลมหลายวง รองมาอาจเป็นช๊อกโกแลต นาฬิกา ไอศครีม องค์กรกาชาดสากล การเล่นสกี เทือกเขาแอลป์ และหิมะ แต่ละคำตอบล้วนสื่อความหมายว่า คนทั่วไปคิดอะไรบางอย่างอยู่ในใจ เมื่อพูดถึงสวิตเซอร์แลนด์

ตราสินค้า Swiss Made

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Swiss_made#/media/File:Swiss_army_knife_closed_20050612.jpg

จากประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรเลย และพื้นที่เพาะปลูกก็มีไม่พอที่จะเลี้ยงประชากรตัวเอง เส้นทางสู่ความมั่งคั่งของสวิตเซอร์แลนด์ จึงต้องอาศัยความสามารถในการคิดประดิษฐ์ของคนในประเทศ และการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน การที่คนสวิสเป็นคนช่างคิดประดิษฐ์ เมื่อบวกกับชื่อเสียงของประเทศที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพ ทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ผลิตในสวิส กลายเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของโลก อย่างเช่น มีดพับและนาฬิกา โดยเฉพาะมีดทหารสวิส กลายเป็นทูตตราสินค้าของคำว่า “Swiss Made” ที่โด่งดังไปทั่วโลก

มีดทหารสวิส เป็นมีดพับสำหรับพกติดตัว อุปกรณ์ต่างๆของมีด ทำหน้าที่ได้หลายอย่าง มีดทหารสวิสได้รับความนิยมทั่วโลก เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารจีไอสหรัฐฯ ซื้อติดตัวกลับประเทศ พวกทหารจีไอเรียกมีดพับของสวิสว่า “มีดทหารสวิส” (Swiss Army Knife) เพราะชื่อเรียกในภาษาเยอรมันว่า “Offiziersmesser” ออกเสียงยาก

มีดทหารสวิสผลิตโดยบริษัท Victorinox AG และ Wenger SA ผลิตครั้งแรกในปี 1891 โดยบริษัท Karl Elsener ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Victorinox การออกแบบที่เล็กกระชับ แข็งแรง และใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทำให้มีดทหารสวิส กลายเป็นไอคอนของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก แต่มีดพับที่เป็นต้นแบบจริงๆของทหารสวิสนั้น เป็นสีดำ ใช้งานได้ 4 อย่าง และไม่มีสกรูใช้เปิดก๊อกขวดไวน์ เพราะถือว่าไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อการมีชีวิตรอดของทหาร

หนังสือชื่อ Swiss Watching ของ Diccon Bewes เขียนไว้ว่า ทุกวันนี้ Victorinox ผลิตมีดทหารสวิสทั้งหมด 100 กว่าแบบ วันหนึ่งผลิตได้ 28,000 อัน ทั้งปีผลิตได้ 6 ล้านอัน ในประเทศอื่นๆ สิ่งแรกที่พ่อแม่จะให้ของขวัญแก่ลูก อาจเป็นสมาร์ทโฟน แต่ในสวิส พ่อแม่จะให้มีดพับ Vitorinox ที่เป็นโมเดลสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ตัวมีดเป็นสีแดงกับน้ำเงิน ใช้งานได้ไม่กี่อย่าง เช่น ใบมีดใหญ่ขึ้นแต่ไม่คม ไขควง ที่เปิดกระป๋อง และช้อน แต่ทุกครั้งที่มีโมเดลใหม่ๆของมีดพับ คนที่ตื่นเต้นมากที่สุดคือพวกทหารสวิส แม้จะมีมีดพับนี้อยู่แล้ว และพกติดตัวตลอดเวลา แต่ในทางจิตใจ ทหารสวิสทุกคนยังคงเป็นลูกเสือ

ประเทศที่เที่ยงตรงเหมือนนาฬิกา

ที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Swiss_Made_Heuer_Carrera.jpg

สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ความสำคัญกับเรื่องเวลา ทุกอย่างดำเนินไปแม่นยำเหมือนเข็มนาฬิกา เมื่อคนทั่วไปคิดถึงคุณภาพและความแม่นยำ ก็มักจะคิดถึงนาฬิกาสวิส นาฬิกาเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเป็นสวิสมากที่สุด และยังเป็นอุตสาหกรรม ที่ประสบความสำเร็จมากสุดของสวิสอีกด้วย เมื่อปี 2008 สวิสส่งออกนาฬิกา 26 ล้านเรือน แต่เปรียบเทียบกับจีนไม่ได้เลย เพราะจีนส่งออก 550 ล้านเรือน แต่นาฬิกาสวิสมีราคาเฉลี่ยเรือนละ 563 ดอลลาร์ ส่วนนาฬิกาจีน ราคาเฉลี่ยเรือนละ 2 ดอลลาร์ การส่งออกนาฬิกาของสวิส จึงมีมูลค่าถึง 15.8 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

ในปี 2017 สวิสออกกฎหมายกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ ที่จะติดเครื่องหมายคำว่า “Swiss Made” จะต้องมีคุณสมบัติบางอย่าง สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม ต้นทุนการผลิต 60% และขั้นตอนการผลิตที่สำคัญ ต้องทำในสวิส ดังนั้น นาฬิกาที่จะถือว่าผลิตในสวิส อุปกรณ์เกี่ยวกับการทำงานของนาฬิกา และการประกอบ จะต้องทำในสวิส โดยต้องได้รับการตรวจตราจากผู้ผลิตนาฬิกา เพราะฉะนั้น ลำพังตัวชิ้นส่วนนาฬิกาที่ต้องผลิตในสวิส ก็จะมีต้นทุนมากกว่า 50% ของมูลค่าทั้งหมดอยู่แล้ว โดยยังไม่รวมค่าแรงในการประกอบนาฬิกา

แต่นาฬิกาสวิสอย่างยี่ห้อ Rolex หรือ Omega รวมทั้งนาฬิกา Swatch สำหรับตลาดล่าง ได้พิสูจน์ให้ลูกค้าได้ประจักรก็คือ การเป็นตราสินค้าที่เป็นสัญลักษณ์ของคุณภาพ และความไว้วางใจของลูกค้าต่อตัวนาฬิกา นาฬิกาสวิสจึงสะท้อนฐานะทางสังคมของคนใส่ว่า คุณคือใคร เว็บไซด์ของสมาคมผู้ผลิตนาฬิกาสวิส มีนาฬิกาของสวิสทั้งหมด 206 ยี่ห้อ แม้จะเป็นคนชอบเล่นนาฬิกา หรือชอบร้านนาฬิกา แต่หลายๆยี่ห้อ คนสวิสเองก็คงไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเหมือนกัน

การท่องเที่ยวที่ขายอากาศกับหิมะ

แม้สวิตเซอร์แลนด์จะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ แต่ก็เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยทิวทัศน์ธรรมชาติ ที่สวยงาม เทือกเขาแอลป์เป็นภาพลักษณ์ทางธรรมชาติของสวิส ที่กลายเป็นทรัพยากรที่สร้างความสำเร็จให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของสวิส ความสำเร็จด้านการท่องเที่ยวของสวิส เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง ธุรกิจท่องเที่ยวสวิสเริ่มต้นจาก นักท่องเที่ยวที่ชอบผจญภัยของอังกฤษ ต่อมาคือนักท่องเที่ยวที่มีรายได้เหลือใช้ 360 ล้านคนในยุโรปตะวันตก ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง โดยนักท่องเที่ยวเหล่านี้ หันมานิยมและชื่นชมต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติแบบสวิส

การท่องเที่ยวของสวิสจึงเริ่มต้นจากภูเขา เมื่อวิศวกรสวิสสามารถสร้างรถไฟ ที่จะพานักท่องเที่ยวขึ้นลงยอดเขาได้ปลอดภัย ทำให้การท่องเที่ยวภูเขากลายเป็นอุตสาหกรรมขึ้นมา รางรถไฟขึ้นยอดเขา จุงเฟรา (Jungfrau) สร้างเสร็จในปี 1912 ทำให้สถานีรถไฟ จุงเฟราจ๊อก (Jungfraujoch) กลายเป็นสถานีรถไฟที่อยู่สูงสุดของยุโรป ช่วยให้การท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาว เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่มีฐานะ แต่ไม่ต้องการผจญภัย ระบบรถไฟและการท่องเที่ยวของสวิส จึงเป็นฝาแฝดที่พัฒนาไปด้วยกัน

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Jungfrau#/media/
File:Muerrenbahn-02.jpg

แต่ในเวลาเดียวกัน รถไฟก็พัฒนากลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของสังคมสวิส สวิตเซอร์แลนด์ที่ไม่มีรถไฟ ก็เหมือนกับเยอรมนี ที่ไม่มีถนนออโต้บาห์น สวิสไม่ใช่ประเทศแรกในยุโรป ที่สร้างระบบรถไฟขึ้นมา แต่เมื่อสวิสสร้างขึ้นมาแล้ว รถไฟกลายเป็นระบบขนส่ง ที่สามารถเชื่อมแทบทุกจุดของประเทศเข้าด้วยกัน ถ้าดูแผนที่รถไฟของสวิส จะคล้ายกับระบบการไหลเวียนของเส้นเลือดในร่างกาย คนสวิสจึงเดินทางด้วยรถไฟมากที่สุดในโลก คนหนึ่งเดินทางรถไฟเฉลี่ย 2,103 กิโลเมตรต่อปี อังกฤษอาจเป็นชาติแรกที่สร้างรถไฟขึ้นมา แต่สวิสเป็นชาติที่รู้ว่า จะบริหารรถไฟให้ดีได้อย่างไร

รถไฟไต่ขึ้นเทือกเขาแอลป์ อาจเป็นเส้นทางที่สร้างชื่อเสียงมากสุดให้กับรถไฟสวิส แต่เส้นทางรถไฟที่ขึ้นเขาต่างๆในสวิส มีความยาวแค่ 500 กิโลเมตร เทียบกับระบบรถไฟทั้งหมด ที่มีความยาวกว่า 5 พันกิโลเมตร รถไฟจึงเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจสวิส ไม่เพียงแต่สำหรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว แต่ยังเป็นระบบขนส่งสำหรับการเดินทางระยะไกลของคนทำงาน ที่เดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน เช่น จากบาเซิลมาซูริก รวมทั้งการขนส่งสินค้า

จุดเด่นของระบบรถไฟสวิสคือ การให้บริการแก่คนท้องถิ่น สวิสถือว่ารถไฟเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานประเทศ รายได้จากเส้นทางมีคนใช้หนาแน่น ถูกนำไปอุดหนุนเส้นทางที่คนใช้น้อย ทั้งนี้เพื่อให้ระบบรถไฟทั้งหมด อยู่รอดได้ และไม่มีชุมชนไหนหลุดหายไปจากเครือข่ายเส้นทางรถไฟ สวิสยังมีระบบรถยนต์โดยสาร ที่มาเสริมระบบรถไฟถึง 761 เส้นทาง เพื่อให้ชุมชนที่รถไฟไปไม่ถึง สามารถเชื่อมโยงด้วยระบบรถยนต์โดยสาร การเดินรถไฟกับรถยนต์โดยสาร จะมีการประสานงานกันด้านตารางเวลา ทำให้ผู้โดยสารเปลี่ยนจากรถไฟไปต่อรถโดยสาร ได้อย่างรวดเร็ว สวิสจึงเป็นแบบอย่างว่า ระบบขนส่งสาธารณะที่ดี ก็ต้องเป็นแบบนี้แหละ

ระบบขนส่งสาธารณะ ที่มีการประสานงานระหว่างการขนส่งในรูปแบบต่างๆ อย่างเช่นที่สวิสทำอยู่ เกิดขึ้นได้ เพราะสวิสวางแผนการขนส่งสาธารณะทั้งหมด ให้เป็นระบบเดียวกัน ในเดือนธันวาคมของทุกปี ตารางเดินรถใหม่ของปี จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตลอดปี ผู้โดยสารสามารถหาตารางเดินรถต่างๆ ไปทุกแห่งในสวิส แม้การเดินทางจะต้องอาศัยระบบขนส่ง 3-4 แบบก็ตาม
หากเข้าไปเว็บไซด์ของรถไฟสวิสที่เรียกว่า SBB แล้วระบุจุดเดินทางระหว่าง 2 จุด ตารางเดินรถโดยสารด้วยระบบขนส่งต่างๆจะปรากฎออกมาให้เห็นเลย ไม่ว่าการเดินทางนั้น จะต้องอาศัยทั้งรถไฟ รถยนต์โดยสาร หรือรถรางในเมือง ที่สำคัญ ผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารใบเดียว แต่เดินทางได้ตลอดเส้นทาง ระบบขนส่งของสวิส นอกจากจะมีประสิทธิภาพแล้ว ยังให้ความสะดวกและเป็นมิตรกับคนเดินทาง

ยิ่งไปกว่านั้น รถไฟสายระหว่างประเทศจากเพื่อนบ้าน ที่วิ่งผ่านเข้ามาในสวิส ผู้โดยสารในสวิสก็สามารถใช้บริการได้ด้วย เช่น รถไฟของเยอรมัน วิ่งระหว่างบาเซิลไปอินเตอร์ลาเกน แม้รถไฟคันนี้จะมาจากฮัมบูร์ก หรือนั่งรถไฟของฝรั่งเศส จากเบิร์นไป Neuchatel แม้รถไฟคันนี้จะวิ่งต่อไปปารีส ในช่วงที่รถไฟจากต่างประเทศวิ่งอยู่ในสวิส ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของตารางการเดินรถไฟภายในประเทศของสวิสเช่นเดียวกัน

สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศเล็กๆ ไม่มีทางออกที่ติดทะเล มีประชากร 8 ล้านคน แต่มีรายได้ต่อคนสูงอันดับ 2 ของโลก คือเฉลี่ยนคนละ 78,813 ดอลลาร์ต่อปี ไม่มีประเทศไหนที่มีขนาดเท่ากับสวิส จะประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ได้เท่ากับสวิส หรือมีอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ในระดับเดียวกับกับสวิส ความสำเร็จของสวิสคือความสามารถในการแข่งขัน ที่มาจากความสามารถด้านนวัตกรรม และการยกระดับผลิตภาพ โดยอาศัยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่มาจากประวัติศาสตร์และบุคลิกภาพของคนในประเทศ

เอกสารประกอบ
Swiss Made: The untold story behind Switzerland’s success, R. James Breiding, Profile Books, 2012.
Swiss Watching: Inside Europe’s Landlocked Island, Diccon Bewes, Niclolas Brealey Publishing, 2010.